วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ : ความโปร่งใสของข้อมูลการฉีดวัคซีนในจังหวัดต่าง ๆ

การรับรู้สถานการณ์ที่แท้จริงที่จำเป็นเป็นสิทธิพื้นฐานของพลเมือง ประชาชนเข้าไม่ถึงข้อมูลหลายอย่างไม่ใช่เพราะมีใครต้องการปิดบัง แต่เป็นเพราะระบบการเก็บ การวิเคราะห์ และ การเผยแพร่ยังไม่ดี

ประเทศไทยได้เตรียมการจัดสร้างข้อมูลการฉีดวัคซีนของประเทศไทยก่อนไว้ล่วงหน้าก่อนที่วัคซีนจะมาถึงเป็นแรมเดือน ถึงวันนี้ คนไทยได้วัคซีนไปแล้วกว่า 13 ล้านโดส ประชาชนในแต่ละจังหวัดคงจะอยากทราบว่าในจังหวัดของตัวเองฉีดวัคซีนไปถึงไหนแล้ว เมื่อไหร่เราจะได้ภูมิคุ้มกันหมู่สู้กับโควิดได้ซักที

กระทรวงสาธารณสุขจัดแสดงความก้าวหน้าของการฉีดวัคซีนหลายรูปแบบ รูปแบบที่นำเสนอในบทความนี้ถือว่าแปลกใหม่กว่าเพื่อน ลองเข้าไปดูและติชมได้ที่นี่เลยครับ

https://dashboard-vaccine.moph.go.th/PropotionalHeatMap/

ขออธิบายที่มาของศัพท์ต่าง ๆ เพื่อผู้อ่านจะได้เข้าใจเวลาไปเห็นอย่างอื่น ๆ ที่คล้ายกัน
คำว่า dashboard มาจากคำว่า ‘dash’ เป็นกริยาแปลว่าเคลื่อนไปข้างหน้าเร็ว ๆ ส่วน ‘board’ คือ แผ่นกระดาน dashboard ในสมัยก่อน คือ แผ่นกระดานกันโคลนคั่นระหว่างม้าลากรถกับตัวรถ เวลาม้าวิ่งเร็วโคลนหรือก้อนหินจะกระฉอกหรือกระเซ็นทำให้นายหัวที่บังคับม้าเสื้อผ้าเลอะหรือบางครั้งเจ็บตัวจากก้อนหิน จึงต้องมีแผ่นกระดานกันไว้สักหน่อย แผ่นนี้เขาเรียกว่า dashboard

เมื่อโลกพัฒนาไป แผ่นกระดานกันโคลนก็กลายเป็นสิ่งตกแต่งให้รถม้าสวยงาม พอเข้ายุคอุตสาหกรรม เปลี่ยนจากรถม้าเป็นรถยนต์ คนขับรถแทนที่จะมีแต่แผงกันโคลน ก็กลายเป็นแผ่นที่คอยดูการทำงานของเครื่องยนต์ เช่น ความเร็ว ความร้อน รอบเครื่องยนต์ บางทีก็เรียกว่า control panel

คำว่า dashboard ในปัจจุบันก็จึงมีความหมายเหมือน control panel

เมื่อเข้าสู่ยุคไอที ผู้บริหารองค์กรอยากเห็นสถานภาพโดยรวมของกิจการ คล้าย ๆ กับสารถีหรือโชเฟอร์คอยดูระบบต่าง ๆ ของรถยนต์ที่ตัวเองขับอยู่ ฝ่ายไอทีขององค์กรก็เลยต้องสร้าง dashboard ให้ผู้บริหารเห็นภาพรวมได้ง่าย ๆ ในจอเดียว

เว็บไซต์ข้างบนเป็น dashboard ส่วนหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุขที่ผู้บริหารควรจะดูทุกวันว่าความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนของประเทศ ภูมิภาค (เหนือ อีสาน ใต้ ฯลฯ) หรือ เขตบริการสาธารณสุขต่าง ๆ ไปถึงไหนแล้ว การอยู่บนเว็บไซต์ ถ้าไม่ถูกผู้ร้ายแฮ็ค ประชาชนทั่วไปก็จะดูได้ และรับรู้สถานการณ์พร้อม ๆ กับผู้บริหารสาธารณสุข นี่คือตัวอย่างความโปร่งใสของกระทรวงนี้

แต่ทว่าสิ่งที่ dashboard นี้นำเสนอเป็นสิ่งใหม่ ถ้าไม่มีคำอธิบายและทำให้ดู บางทีผู้ใช้ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขหรือชาวบ้านก็ไม่เข้าใจ ใช้ไม่ถูก

โลกเปลี่ยนไป มีสิ่งที่ดีขึ้นเรื่อย แต่มีหลายอย่างที่เราไม่เคยใช้ ต้องเรียนรู้บ้างนิดหน่อยจึงจะใช้ได้ จะเห็นว่าคนรุ่นอายุเกิน 80 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ เพราะสมัยที่ท่านหนุ่ม ๆ สาว ๆ ยังไม่มีเทคโนโลยีแบบนี้ กว่าจะเรียนรู้ได้ต้องใช้ความพยายาม ทั้งต้องจิ้มดีด และ ต้องจำให้ได้ว่าจะไปหาหน้าไหนทำอะไร ถ้าไม่เรียนรู้สิ่งใหม่ อยู่แต่ในโลกเก่า ๆ จะทำอะไรในอนาคตก็ยากและต้องพึ่งคนอื่นมากขึ้น เงินทองถึงมีเก็บไว้ก็ใช้ลำบาก คุณภาพชีวิตจะเร็วลงตามอายุ

เอาเป็นว่า เรามาเรียนรู้วิธีการใช้ dashboard ที่ว่านี้ด้วยกัน เป็นบทเรียนที่เรียกว่า data visualization คือ มองเห็นข้อมูลอย่างทะลุปรุโปร่ง

เมื่อกดลิ้งค์ข้างบนเข้าไป คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือจะพาเราไปเข้า “การให้บริการวัคซีน COVID-19” พร้อมทั้งระบุวันที่และเวลาปัจจุบัน
หน้าแรกจะเป็นประชากรทั้งประเทศ 65 ล้านคนตามสำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานว่าฉีดวัคซีนเข็มสองไปได้กี่เปอร์เซ็นต์ วันนี้ยอดรวมสะสมทั้งหมดได้เพียง 5.86% เท่านั้นครับ ถ้าอยากดูว่าฉีดเข็มแรกไปแล้วเท่าไหร่ก็เปลี่ยนจากค่า “เข็มสอง” ให้เป็น “เข็มหนึ่ง” ตัวเลขเปอร์เซ็นต์ของผมเปลี่ยนไปเป็น 20.67%

เลื่อนลงมาข้างล่างนิดนึงจะเห็นแถบสี ขวาสุด สีฟ้าสดใส แสดงว่าฉีดได้เกิน 80% ถัดมาทางซ้ายสีเขียว 60-79% สีเหลือง 40-59% สีน้ำตาลอ่อน 20-39% และ สีน้ำตาลเข้ม 0-20%

ใต้แถบสีนี้ เราเรียกว่า proportional heatmap คำว่า proportional แปลว่าตามสัดส่วนของประชากร จังหวัดที่มีประชากรมาก จะมีเนื้อที่มาก

ข้อดีของ proportional heatmap คือ เห็นขนาดของประชากร จังหวัดที่มีประชากรมากจะมีน้ำหนักต่อภาพรวมของประเทศมาก ข้ออ่อนคือตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ไม่ชัดเจน ต่างจากแผนที่ทั่วไป

แต่แผนที่ทั่วไปมีจุดอ่อนตรงที่จังหวัดพื้นที่มากมีอิทธิพลต่อการรับรู้มาก ทั้งที่จังหวัดพื้นที่มากส่วนใหญ่จะมีประชากรเบาบาง จึงทำให้การวางแผนระดับประชากรไม่ดี

ส่วน heat คือ ความร้อน สีร้อนหม่นหมอง คือ สภาพของประชากรที่ยังรอวัคซีน เมื่อสภาพดีขึ้นจะขยับไปทางขวาจนกลายเป็นสีฟ้าในที่สุด

ความจริงการแบ่งในระดับที่ใหญ่กว่าจังหวัด คือ ภูมิภาค ทำนองเดียวกันภูมิภาคที่ประชากรมากก็จะมีพื้นที่มาก

ภูมิภาคที่ประชากรมาก คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะอยู่ซ้ายบนสุด
ภูมิภาคที่ประชากรน้อยที่สุด คือ ภาคตะวันตก จะอยู่ขวาล่างสุด

ทำนองเดียวกันภายในภูมิภาค เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดที่ประชากรมากที่สุด คือ นครราชสีมา ก็จะอยู่บนซ้ายสุดของภูมิภาค จังหวัดที่ประชากรน้อยที่สุด เห็นเป็นจุด ๆ เพราะเนื้อที่ไม่พอที่จะแสดงตัวหนังสือ ก็จะอยู่ล่างขวาสุดของภาคนี้ ถ้าอยากรู้ว่าเป็นจังหวัดอะไรก็กดลงไป สีของจังหวัดอื่น ๆ ก็จะจางลง สีของจังหวัดนี้คงเดิม เขยิบขึ้นไปดูมุมบนสุดของเว็ปไซต์ก็จะเห็นว่าที่นั่นคือจังหวัดมุกดาหาร มีประชากรสามแสนกว่า ฉีดวัคซีนเข็มหนึ่งไปแล้ว 18.34% ซึ่งก็ยังเป็นสีน้ำตาลเข้ม

ลากเม้าส์หรือจิ้มนิ้วทำยังไงก็ได้ให้กลับมาทั่วประเทศอีกครั้ง ลองหาดูสิครับว่า สีฟ้าที่เราปรารถนาอยู่ที่ไหนบ้าง เราก็จะเห็นกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีประชากรมากที่สุดอยู่ขวาบนของ heatmap และเห็นภูเก็ตฟ้าใสเหมือนกันอยู่ค่อนไปทางขวาล่างของภาคใต้ สีที่ดูแย่ไม่มาก (โดยเปรียบเทียบ) คือ สีน้ำตาลอ่อนและสีเหลือง ก็จะเป็นจังหวัดปริมณฑลของ กทม. และ จังหวัดท่องเที่ยวทางภาคใต้

ฮะแอ้ม ชาว กทม. อย่าเพิ่งดีใจนะครับ ท่านก็รู้แล้วมิใช่หรือ ว่าคนจากจังหวัดใกล้เคียงเขาแห่เข้ามาฉีดวัคซีนใน กทม. ตั้งแต่ไหน แต่ไรแล้ว และตัวเลขประชากรนี้ก็เป็นตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตัวเลขประชากรเท่าไหร่ไม่มีใครรู้ กลางคืนคนออกไปนอนบริเวณปริมณฑลที่ค่าเช่าบ้านราคาถูกกว่า กลางวันเข้ามาทำงาน สีสรรที่แสดงจึงบอกเป็นแนว ๆ เท่านั้น

ที่จะเตือนอีกอย่างหนึ่ง คือ อย่าเพลินดูเฉพาะวัคซีนเข็มแรก เพราะมันไม่พอจะคุ้มกันเรา กลับไปข้างบนของเว็ปไซต์เปลี่ยนจาก “เข็มหนึ่ง” เป็น “เข็มสอง” ก็จะพบความจริงที่ว่าทุกจังหวัดยกเว้นภูเก็ตและสมุทรสาคร ยังเป็นสีน้ำตาลเข้ม และทั่วประเทศฉีดได้ครบสองเข็มเพียง 5.86%

ช่วยกันลุ้นนะครับ ว่าเมื่อไหร่เราจะเปลี่ยน heatmap นี้ให้ความร้อนหายไป กลายเป็นสีฟ้าสดใสหมดได้ทั้งกระดาน