การเดินทางของอีสานฟิวชั่น และเส้นทางรำวง ‘ไทย-เขมร’/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

การเดินทางของอีสานฟิวชั่น

และเส้นทางรำวง ‘ไทย-เขมร’

 

ชะรอยความบันเทิงที่เปลี่ยนไปในระยะหลังๆ ทำให้ฉันหันไปสนใจต่อชุมชนชาวยูทูบ ที่หลากหลายและเต็มไปด้วยจริตเนื้อหานานานิยม

หนึ่งในนั้น คือรายการของยายไหม (ไหมไทยในฝรั่งเศส mai thai in france)

ไฮไลต์ที่ชอบคือ เมนูอาหารที่เธอปรนเปรอบำเรออ้ายเถิง-สามี กับอีหล่า-ลูกสาว และปู่กับย่าซึ่งโปรดปรานอาหารไทย โดยเฉพาะปู่นั้นจะกินจริงจังอย่างเอร็ดอร่อย โดยมียายไหมคอยสำรวจดูแลมิให้บกพร่องสมเป็นศรีภรรยา

นอกจากนี้ ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ยายไหมยังขยันใส่ชุดไหมไทยไปยืนขายเปาะเปี๊ยะที่ตลาดนัดฝรั่ง

เก่งจริงไรจริง ทำเองขายเอง ไม่พึ่งใคร

แต่ฉากเด็ดฉากเดียวที่ฉันจะเล่าคือเกือบทุกหลังมื้ออาหาร ในห้องนั่งเล่นของบ้าน ยายไหมจะเต้นรำใส่กล้องตามจังหวะดนตรีแบบอีสานฟิวชั่น

บางทีปู่ที่นั่งอยู่ใกล้ๆ ลุกมาขยับในจังหวะบอลรูม บางทีก็เต้นตามลูกสะใภ้

ส่วนอีหล่าลูกสาวมักเต้นแบบติ๊กต็อกที่ยายไหมไม่ถนัด เช่นเดียวกับอ้ายเถิงที่ชอบนั่งดูเมียเซิ้งอีสานทุกวัน

อ้ายเถิงนั้นยังนิยมพูดอีสานซึ่งกลายเป็นเรื่องดีเด่นอีกด้านของเขยฝรั่งไปแล้ว

ในความเพลิดเพลินเซิ้งรำของยายไหมนี้แหละ ที่ฉันอยากเล่าย้อนยุค ’50 ที่คณะ “รำโทน” (Roum Tong) เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่นักเที่ยวบารังและข้าราชการในพนมเปญสมัยนั้น ซึ่งเป็นยุคปลายอินโดจีน แคว้นกัมพูชาเพิ่งฟื้นตัวจากสงครามโลกแต่แล้วกระแสเรียกร้องเอกราชก็ตามมาจนก่อสถานการณ์หวาดระแวง

เหมือนเต้นรำหลังมื้ออาหารเย็นของยายไหมนี่แหละ แต่วิถีบันเทิงสมัยนั้นดูจะแอบซุกซ่อน ไม่ประจำวันและเสรีเหมือนที่ภาษากายของยายไหมและปู่ที่สำราญบานใจในยูทูบ ซึ่งก่อนหน้านั้น ฉันหาคำตอบไม่ได้หลังจากเคยผ่านตานิตยสารอินโดจีนและบทความศิลปวัฒนธรรมยุค ’50 (1953) ซึ่งเล่าถึงชาวคณะรำวงสาวและอาชีพบริการความบันเทิงแขนงนี้ในกรุงพนมเปญ

สัมผัสผับบาร์ในสมัยอดีตและการถือกำเนิดขึ้นของคณะ “รำวง” ยุคแรกๆ โดยนางรำเหล่านั้นมักสวมสมปด (ผ้าซิ่น) แต่บางรายก็สวมใส่กระโปรงสากลนิยม

เจ้าเข้าเอ๋ย อ้ายเถิง/พี่บ่าวบารังสมัยนั้น เขาต้องจ่ายเงินค่าตัวหญิงนางรำ แต่เนื่องจากสาวพื้นถิ่นเธอเต้นรำแบบยุโรปไม่เป็น ดังนี้ จังหวะรำของเธอจึงไม่ต่างกับเซิ้งเดินไปรอบๆ ห้องโดยปล่อยคู่ชายเอาไว้ข้างหลัง และท่าเต้นรำแบบนี้แหละที่พบได้จากยายไหม

ขณะเดียวกันเมื่อได้ชมภาพยนตร์ยุค ’60 หลายเรื่องพบว่า ความหลากหลายที่พบในเพลงประกอบภายนตร์เหล่านั้น คือดีเอ็นเอที่มาจากรำวงยุค ’50 โดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่อง “ปักษาสวรรค์” ที่นำเอาเพลงรำวงพื้นถิ่นหรือ “รำโทน”(Roum Tong) มาเป็นธีมหลักของภาพยนตร์ จนนึกเชื่อว่า ทีมโปรดักชั่นภาพยนตร์น่าจะทำวิจัยจากข้อมูลฝ่ายต่างๆ รวมทั้งบทความยุคอินโดจีน

ภาพยนตร์กำกับฯ โดยฝรั่งเรื่องนี้ มีการริเริ่มนำบทรำวงของเขมรไปเรียบเรียงใหม่ และบัดดลอิทธิพลของเพลงประกอบในปักษาสวรรค์ก็กลายเป็นอัตลักษณ์พิเศษแห่งวงการหนังเขมรยุค ’60

นอกจากนี้ มันยังเพิ่มจริตนิยมผสมไปด้วยดนตรีตะวันตกยุคปี ’70 ทั้งร็อกแอนด์โรลและทวิสต์ เรียกว่าบ้าคลั่งกันเลยชนิดที่ว่า มักมีบทเต้นรำหลังมื้ออาหารของราชนิกุลชาวเขมรราวกับเป็นวัฒนธรรมแบบหนึ่งที่พบกันทั่วไปในเขมรสมัยนั้น ซึ่งในภาพยนตร์ของกษัตริย์สีหนุ ก็มีหลายฉากเต้นรำที่สุดสะวิงและน่าจดจำ

อิทธิพลของความนิยมนี้ยังถ่ายผ่านโดยซิน สีซามุต นักร้องเขมรผู้มีเชื้อสายลาว ทั้งยังพบว่า ชาวเขมรส่วนใหญ่ก็นิยมรำวงและบทเพลงจำนวนมากก็รับมาจากลาว ทั้งบทเพลงสาละวัน จนสิ้นสุดทั้งหมดในยุคเขมรแดง (1975)

แต่ปริศนาของรำวงเขมรมันอยู่ตรงนี้ อาชีพของชาว “รำโทน” ในยุค ’50 นั้น ถูกตีตราว่าไม่ใช่ชาวเขมร แต่เป็นชาวสยาม (Siem/Siam) หรือชนชาติไทยในปัจจุบัน

ถึงตรงนี้ ทำให้นึกถึงภาษากายของยายไหมและอีสานฟิวชั่น หรือดีเอ็นเอรำโทนไทย (ในเขมร) มันอยู่ตรงนั้น?

เควนติน คลอเซ็ง ผู้กำกับฯ

จากปักษาสวรรค์ (1964) ในที่สุดการกลับมาของรำวงเขมรก็ปรากฏอีกครั้งในภาพยนตร์เรื่อง “กรอบเพชร” (Gem On the Run,2013) โดยเควนติน คลอเซ็ง (Quentin Clausin) ร่วมกับสก, วิสาล ซึ่งฉายในปี 2014 และฉายซ้ำอีกครั้งในปี 2015

ก่อนหน้านั้นเควตินเคยรับหน้าที่เขียนบทและกำกับฯ มาบ้าง กระทั่งเมื่อได้พบกับวิสาลซึ่งอยู่ในแวดวงดนตรี ดังนี้โปรเจ็กต์กรอบเพชรจึงเริ่มขึ้นและสร้างความตื่นตะลึงแก่คอหนังเขมรรุ่นใหม่จำนวนมากโดยเฉพาะการนำเอาบท “สาระวันหาคู่” (Saravan Rok Ku) ที่ขับร้องโดยสรัยเรียะ มาผสมแร็พและฮิปฮอปของ Gobeshite&12ME ทันใดนั้น การฟิวชั่นที่น่าสนใจของวงการหนังและเพลงกัมพูชาก็กลายเป็นกระแสวงกว้างของการพูดถึง

และเป็นเหมือนดีเอ็นเอเพลงประกอบภาพยนตร์ที่ดีที่สุดยุคหนึ่ง เว้นแต่ปัญหาระหว่าง co-director เควตินกับวิสาลที่ทำให้ผลงานเรื่องนี้ปังไม่สุด และสะดุดอารมณ์ถวิลหาความงดงามของแฟนหนังรุ่นใหม่ รวมทั้งความน่าเสียดายของดีเอ็นเอภาพยนตร์เขมรยุคใหม่ที่หยุดไว้โดยผลงานชิ้นนี้ของเควติน

โดยเฉพาะเพลง “สาละวันหาคู่” ที่สรัยเรียะขับร้อง เธอเป็นชาวพระตะบองที่สามารถร้องเพลงไทย และนั่นจึงทำให้สาละวันหาคู่มีความหลากหลายทั้งภาษาเพลงนอกขนบเขมร-ไทย-อังกฤษ-ฝรั่งเศส รวมทั้งภาษาแร็พและฮิปฮอป ซึ่งรึธึ่มของเพลงนอกจากดนตรีแล้วการแดนซ์รำโทนแบบดั้งเดิมและฟิวชั่นก็เป็นภาษาภาพเดียวกันอีกด้วย

และเครดิตภาพเหล่านี้ บอกถึงบทความในนิตยสารอินโดจีนปี ’50 ที่ฉากรำวงในห้องเล็กๆ ถูกนำมาเป็นแบบจำลองของฉากเมกาแดนซ์สาละวันอันสุดสะวิงและอย่างเป็นสากลด้วย เราแทบจะฟังและมองเข้าไปในเพลงนี้ด้วยความ “ฟิวชั่น” กล่อมกลอมและหลอมรวมไม่ว่าจะเป็นมิติรำวงเขมรในแบบ “EDM” (electronic dance music) และอีสานฟิวชั่นที่อยู่ในเนื้อเพลงบางตอน

น่าเสียดายที่มันเลือนหายไปทันทีต่อมา และแม้ว่าจะมีหนังแนวดราม่านอกกระแสอย่าง “เกาะเพชร” (2016) จะพอเห็นกลิ่นอายทางดนตรีนี้อยู่บ้างจากรสนิยมส่วนตัวของผู้กำกับฯ (Davy Chou) แต่ “Gem On the Run” ก็ยังเป็นหนึ่งของภาพยนตร์ที่ให้ความสำคัญกับเพลงพื้นถิ่นนิยมและการบุกเบิกวัฒนธรรมแบบฟิวชั่นที่พบได้มากในศิลปะภาพยนตร์

ในวันที่ “ฟิวชั่นนิยม” (Fusionism) กลายเป็นประตูสู่วัฒนธรรมแบบปัจเจกชน และการ “เลียบันจูลคะเนีย” หรือหลอมรวมในภาษาเขมรนี้ ดูที นับวันจะกลายเป็นต้นทุนสำคัญของมนุษย์ยุคใหม่และผู้ที่ได้เปรียบกว่าใครคือผู้ที่ผ่านรากเหง้าความแร้นแค้นผจญภัยในหมู่ชาวอีสานของไทย

บ่อยครั้ง ความเป็นอีสานฟิวชั่นของเธอช่างเกิดขึ้นง่ายๆ ราวกับการใช้ชีวิตสามัญ หุงต้มอาหาร จัดวาง กินดื่มและเต้นรำ!

ก่อนจะมีโอกาสรับรู้ว่า การฟิวชั่นวัฒนธรรมชีวิตคือทุกสิ่งของโลกยุคนี้ ที่ทั้งบันดาลสร้างสรรค์อาชีพ และใครจะนึกเล่าว่า แค่ทำอาหารกินและเต้นรำผ่านยูทูบของยายไหม เธอได้รับคำขอบคุณจากแฟนๆ ทั่วโลก รวมทั้งรัฐมนตรีไทยคนหนึ่งซึ่งยกให้เธอเป็นตัวแทนวัฒนธรรมในการสร้างชื่อเสียงประเทศ

จากยุคแร้นแค้นและสงครามของสาวรำโทนยุค ’50 ที่ยากลำบาก ถูกตราหน้าว่าเป็นอาชีพชั้นล่างที่หากินกับต่างชาติสำหรับสาวรำโทน จนแม้แต่ชาวเขมรเองก็ยังไม่ยอมรับและแปะป้ายว่าเป็นชาวไทย/อีสาน

วันนี้ การหาอยู่หากินนั้น คำตอบของ “ออล อะราวด์” อีสานฟิวชั่นดูจะย่างกรายทั่วไปแล้ว