วิกฤตินิเวศ เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (33)/วิกฤติศตวรรษที่21 อนุช อาภาภิรม

วิกฤติศตวรรษที่21

อนุช อาภาภิรม

 

วิกฤตินิเวศ

เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (33)

 

ไฟป่าที่สหรัฐและออสเตรเลียกับภัยแล้ง

ไฟป่าที่เป็นข่าวใหญ่ในสหรัฐและออสเตรเลียอยู่ในกลุ่มป่าผลัดใบเขตอบอุ่น พรรณไม้หลักเป็นไม้ใบกว้าง ทิ้งใบในฤดูหนาว ฝนน้อย มักเกิดไฟป่าในฤดูร้อนและแห้ง เนื่องจากมีไม้แห้ง ซากพืชรวมทั้งหญ้าต่างๆ ที่เหี่ยวตายเป็นเชื้อเพลิงอยู่มาก

เป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงกว่าป่าสนเขตหนาว และป่าสนเขา

เป็นพื้นที่ที่ผู้คนจำนวนมากอยู่ร่วมกับป่าสร้างบ้านแปงเมือง ใช้ทำการเกษตรและเป็นที่หย่อนใจจึงเป็นข่าวใหญ่เสมอ

เป็นที่สังเกตว่าการที่ไฟป่าในบริเวณทั้งสองพื้นที่เกิดเร็วและรุนแรงขึ้น เกิดจากหลายเหตุปัจจัย

ที่สำคัญประการหนึ่ง มาจากวิกฤติภัยแล้งเนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ไฟป่าที่แคลิฟอร์เนียและอภิภัยแล้ง

 

ไฟป่าในสหรัฐเกิดขึ้นทั่วไป ที่เป็นข่าวใหญ่คือมีผลกระทบและก่อความเสียหายสูง เกิดบริเวณฟากตะวันตกของสหรัฐ โดยเฉพาะในรัฐแคลิฟอร์เนีย

ไฟป่าแคลิฟอร์เนียปี 2020 เกิดขึ้นเร็วและรุนแรงเป็นประวัติการณ์ พื้นที่ถูกเพลิงผลาญกว่า 4 ล้านเอเคอร์มากกว่าปี 2019 ราวเท่าตัว จำนวนไฟเกือบ 1 หมื่นจุด อาคารถูกทำลายกว่า 1 หมื่นหลัง ผู้เสียชีวิต 33 ราย ความเสียหายกว่า 12 พันล้านดอลลาร์ (มูลค่าปี 2020)

อภิภัยแล้งในรัฐตะวันตกของสหรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายรัฐคือแคลิฟอร์เนีย โอเรกอน เนวาดา แอริโซนา ยูทาห์ นิวเม็กซิโก โคโลราโด ไวโอมิง เป็นต้น

มีการศึกษาปรากฏการณ์นี้ โดยใช้วงแหวนในต้นไม้โบราณ ทำให้รู้สภาพของภูมิอากาศและความชื้นในดินของพื้นที่ดังกล่าวย้อนหลังไปได้ 1,200 ปี พบว่าเคยเกิดอภิภัยแล้งหรืออภิสภาพแล้ง (Megadrought) อยู่ 4 ครั้ง กินเวลาตั้งแต่หลายสิบปีจนถึงหลายร้อยปี

อภิภัยแล้งที่ผ่านมาเกิดจากเหตุปัจจัยใหญ่ คือ ภาวะเอลนิโญกับลานิญา

จากการเปรียบเทียบความชื้นในดินของฟากตะวันตกของสหรัฐตั้งแต่ปี 2000 ถึง 2018 พบว่าคล้ายกับช่วงที่เกิดอภิภัยแล้งในอดีต

แต่ครั้งนี้ซ้ำเติมด้วยภาวะโลกร้อน ภาวะโลกร้อนก่อให้เกิดสภาพแล้งทางอ้อมได้สองประการด้วยกัน

ประการแรก อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้น้ำระเหยได้เร็วขึ้น ทำให้ภูมิภาคนี้ที่แล้งอยู่แล้ว แล้งมากขึ้น

ประการที่สอง อากาศที่อุ่นขึ้นจะอุ้มความชื้นได้มากกว่าอากาศที่เย็น ทำให้พื้นดินแห้งได้มากกว่า

การศึกษาพบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยฟากตะวันตกของสหรัฐสูงขึ้น 1.2 องศาเซลเซียสนับแต่ปี 2000 นักวิทยาศาสตร์ประมาณว่า ภูมิอากาศที่อุ่นขึ้นมีผลทำให้ภัยแล้งรุนแรงขึ้นถึงราวครึ่งหนึ่ง คาดว่าอภิภัยแล้งครั้งนี้จะรุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่ง เช่น ปริมาณน้ำในทะเลสาบหลายแหล่ง ได้แก่ ทะเลสาบพาวเวล และทะเลสาบมีด ลดต่ำลงอย่างน่าใจหาย

(ดูบทรายงานของ Trevor Nace ชื่อ US drought could last a century as we now enter a Megadrought, study finds ใน forbes.com 20/04/2020)

 

ไฟป่าออสเตรเลียกับภัยแล้งแห่งสหัสวรรษ

ออสเตรเลียมีพื้นที่ป่าราว 134 ล้านเฮกตาร์ คิดเป็นร้อยละ 17 ของพื้นดินออสเตรเลีย เกือบทั้งหมดอยู่บริเวณชายฝั่งทางตอนเหนือและด้านตะวันออก ลงมาทางใต้ของประเทศ มีพื้นป่าร้อยละ 3 ของโลก เป็นประเทศที่มีป่ามากที่สุดอันดับ 7 ของโลก

ไฟป่าออสเตรเลียปลายปี 2019 ที่เข้าหน้าร้อนไปจนถึงต้นปี 2020 นับว่ารุนแรงเป็นประวัติการณ์ เช่น ก่อความเสียหายในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ วิกตอเรีย และควีนส์แลนด์ เป็นต้น

พื้นที่ถูกเพลิงไหม้กว่า 17 ล้านเฮกตาร์ ในนี้เป็นพื้นที่อุทยานและเขตป่าสงวนจำนวนมาก

สัตว์ป่า เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก และสัตว์เลื้อยคลานล้มตายไปกว่าพันล้านตัว ถ้านับแมลงจะเพิ่มเป็นหลายแสนล้านตัว

คนเสียชีวิต 33 ราย บ้านเรือนถูกเผาไหม้กว่า 3 พันหลัง

ไฟป่าที่รุนแรงในออสเตรเลียนี้เกี่ยวข้องในระดับหนึ่งกับ “ภัยแล้งแห่งสหัสวรรษ” ระหว่างปี 2002 ถึง 2009 โดยภาคตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลียประสบความแห้งแล้งเป็นประวัติการณ์ในรอบ 125 ปีเนื่องจากปรากฏการณ์เอลนิโญ พื้นที่ที่ได้รับผลกระเทือนมากที่สุด ได้แก่ ลุ่มแม่น้ำเมอร์รีย์-ดาร์ลิงในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ แต่เป็นลุ่มน้ำสำคัญ โดยสนองน้ำร้อยละ 75 ของออสเตรเลีย ร้อยละ 40 ของผลผลิตการเกษตรของประเทศ และเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนเกือบ 2 ล้านคน

ภัยแล้งดังกล่าวมีผลกระทบต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติ เช่น เกิดไฟป่าทำลายพืชพรรณและสัตว์ป่า แหล่งน้ำแห้งกระทบต่อการเพาะปลูก เกิดการกร่อนของดิน บางคนเห็นว่าเป็นภัยแล้งรุนแรงที่สุดนับแต่ชาวตะวันตกตั้งถิ่นฐานที่นี่ (ดูรายงานข่าวจากบีบีซี Case sturdy – the impact of drought in a developed country Australia ใน bbc.co.uk)

แต่ภัยแล้งในออสเตรเลียไม่หมดไปง่ายๆ ในปี 2018 ออสเตรเลียประสบภัยแล้งครั้งใหญ่ เมื่อปริมาณน้ำฝนของปีลดลงร้อยละ 11 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และต่ำสุดนับแต่ปี 2005 ในช่วงภัยแล้งแห่งสหัสวรรษ

ตอนสิ้นปี 2018 ช่วงคริสต์มาสอันเป็นฤดูร้อน อุณหภูมิรัฐทางตอนใต้ มีรัฐวิกตอเรียและนิวเซาธ์เวลส์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 10 องศาเซลเซียส

เมื่อถึงปลายปี 2019 ต่อต้นปี 2020 เกิดไฟป่าลุกลามเป็นประวัติการณ์ของออสเตรเลียดังกล่าวแล้ว

จากการที่สหรัฐเผชิญกับ “อภิภัยแล้ง” และออสเตรเลียพบกับภัยแล้งแห่งสหัสวรรษ และตั้งแต่เดือนมิถุนายน จนถึงต้นเดือนกรกฎาคม 2021 ฟากตะวันตกของสหรัฐและแคนาดา ได้เผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรง ผู้คนล้มตายไปกว่าร้อย เป็นสิ่งบ่งชี้ประการหนึ่งว่า วิกฤติโลกร้อนได้ก้าวมาถึงจุดพลิกผันที่ไม่มีวันหวนกลับ

ปัญหาไฟป่าจะกลายเป็นเพียงปัญหาหนึ่งจากผลกระทบของวิกฤติโลกร้อน

 

ไฟป่าในป่าฝนเขตร้อน

กับการใช้พื้นที่ใหม่และภาวะโลกร้อน

สําหรับไฟป่าในป่าฝนเขตร้อน ที่สำคัญเกิดขึ้นเพื่อใช้พื้นที่ป่าเพื่อการเกษตร การเหมืองแร่ ถนน เมือง อัตราการสูญเสียป่าฝนเขตร้อนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นไปอย่างน่าตกใจ ซึ่งจะก่อให้เกิดฝนตกน้อยหมุนวนให้เกิดไฟป่า ปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศ เร่งให้โลกร้อนขึ้น จนถึงจุดพลิกผันไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ป่าฝนเขตร้อนปัจจุบันปรากฏในสามพื้นที่ใหญ่คือลุ่มน้ำแอมะซอนซึ่งใหญ่ที่สุด และกำลังถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจของบราซิล

รองลงมา คือบริเวณลุ่มน้ำคองโกในทวีปแอฟริกาที่กำลังพัฒนา

อันดับสาม คือบริเวณเกาะต่างๆ ของอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งกำลังขยายพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันขนานใหญ่

ในที่นี้จะกล่าวถึงป่าฝนแอมะซอนเป็นสำคัญ

มีคณะนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาหลายแห่งในยุโรป ได้ศึกษาความคงทนของป่าฝนเขตร้อนของโลกที่ทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชียและโอเชียเนีย ว่ามีปฏิกิริยาตอบโต้กับปริมาณฝนที่เปลี่ยนไปอย่างไร โดยใช้ตัวแบบทางคอมพิวเตอร์และการวิเคราะห์ข้อมูล

พบว่าป่าฝนที่เจริญเต็มที่สามารถสร้างฝนสำหรับป่านั้นๆ ได้ โดยการคายไอน้ำจากใบ เมื่อมีฝนมาก ไฟป่าก็ลดน้อย ทำให้ป่าฝนขยายตัวออกไป

ในทางตรงข้าม เมื่อป่าฝนหดตัวลงจากการทำลายป่าหรือทำให้ป่าเสื่อมโทรม ปริมาณฝนก็จะลดลง ทำให้ต้นไม้พากันล้มตาย เร่งให้เกิดไฟป่า และป้อนกลับทำให้ป่าหดหายขึ้นอีก

คณะนักวิจัยยังได้สำรวจอีกว่า ถ้าเปิดให้มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างที่เป็นอยู่ จะเกิดอะไรขึ้น

พบว่า เมื่อมีการปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งของป่าแอมะซอนจะสูญเสียความคงทนทางธรรมชาติ เกิดความไม่เสถียร และมีแนวโน้มที่จะแล้งขึ้น กลายเป็นระบบแบบทุ่งหญ้าสะวันนา ที่แล้งกว่าและมีความหลากหลายทางชีวภาพน้อยกว่า

คณะนักวิจัยสรุปว่า พิจารณาจากปริมาณน้ำฝนพื้นที่ป่าฝนแอมะซอนถึงร้อยละ 40 อยู่ก้ำกึ่งระหว่างการเป็นป่าฝน และทุ่งหญ้าสะวันนา การเปลี่ยนระบบนิเวศจากป่าฝนเป็นทุ่งหญ้าสะวันนาต้องใช้เวลาอีกหลายทศวรรษ (ดูบทรายงานของศูนย์ Stockholm Resilience Centre ชื่อ 40/ of Amazon could now exist as rainforest or savanna-like ecosystems ใน phys.org 05/10/2020)

ฉบับหน้าจะกล่าวถึงความเข้าใจและทางแก้ปัญหาโลกร้อน