สปสช.กับ ‘โควิด’ จากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สู่ตัวช่วยสำคัญท่ามกลางโรคระบาด

 

สปสช.กับ ‘โควิด’

จากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

สู่ตัวช่วยสำคัญ

ท่ามกลางโรคระบาด

 

ตลอด 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ออกจาก Comfort Zone สำคัญ อย่างการเป็น “หลักประกัน” ในยามเจ็บไข้ได้ป่วย ไปสู่การเป็นตัวช่วยสำคัญของรัฐ ในยามโกลาหล ขาดที่พึ่งพา และต้องการการตัดสินใจที่รวดเร็วกว่าระบบราชการ ที่ต้องผ่านหลายขั้นตอนทางกฎหมาย

หากจำกันได้ ตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาดระลอกแรก เมื่อเดือน มี.ค. – เม.ย. 2563 สปสช. เป็นตัวจักรสำคัญในการเริ่มเปิดแนวรบการ “ตรวจคัดกรองเชิงรุก” เพื่อค้นหา และคัดแยกผู้ที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงและมีอาการต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้อโควิด-19 โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

สปสช. จะสนับสนุนค่า Swab และค่าตรวจแล็บ ให้กับคนไทยทุกสิทธิ และหากตรวจพบว่าติดเชื้อ ก็จะได้รับการส่งต่อไปรักษาทันที โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

สิ่งนี้ กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ไทยสามารถจัดระบบการคัดกรอง และนำผู้ป่วยเข้ารักษาได้ทันท่วงที ไม่ทำให้กลุ่มเสี่ยงตกหล่น จากการต้องจ่ายค่าตรวจแล็บด้วยตัวเอง ซึ่งในวันนั้น อยู่ที่ราว 2,000 – 3,000 บาท ต่อครั้ง

ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงเวลาที่การรักษาโควิด-19 ยังคงมีความสลับซับซ้อน ว่าโรคนี้ มีผลกระทบอย่างไรบ้าง กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการเป็น Clearing House ค่ารักษาพยาบาลของคนไทยทุกคน

เริ่มตั้งแต่ค่าตรวจเชื้อ ตรวจพบเชื้อ หรือต้องนอนโรงพยาบาลสนาม กระทั่งหากมีอาการป่วยรุนแรง เชื้อไวรัสเริ่มลงปอด ค่าใช้จ่ายอาจพุ่งขึ้นไปถึงหลักแสนบาท และหากป่วยหนัก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ต้องนอนโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน อาจพุ่งขึ้นไปถึงหลายแสนบาท

ซึ่ง สปสช. ก็เป็นคนคอยเคลียร์ค่าใช้จ่ายให้ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชน

 

 

ทั้งหมดนี้ ตอบโจทย์การก่อตั้ง สปสช. เมื่อ 18 ปีก่อน ได้เป็นอย่างดีว่า ในยามทุกข์ยาก ในยามเจ็บป่วย และในยามที่ประสบปัญหาเรื่องภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ รุมเร้านั้น ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีความจำเป็นเพียงใด ในการช่วยชีวิตผู้คน ไม่ให้ต้อง “ล้มละลาย” ซ้ำ เพราะลำพังความเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 ก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว

ที่ผ่านมา บทเรียนจากหลายประเทศ ชัดเจนว่าการต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเอง หรือ Out of Pocket Payment นั้น กลายเป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้ประชาชนหลายคน ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาโรคนี้ในช่วงแรก

สหรัฐอเมริกา ประเทศใหญ่ซึ่งไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น มีประชาชนจำนวนมาก เจ็บป่วยและเสียชีวิตอยู่ที่บ้าน เพราะไม่สามารถเข้าถึงการรักษาโควิด-19 ได้ เนื่องจากไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลราคาแพงของโรงพยาบาลเอกชน และ “ชุดตรวจ” และค่าตรวจในช่วงเวลาแรกๆ นั้นก็ประสบปัญหา คือประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้ ไม่มีการตรวจฟรี มีแต่ต้องจ่ายเงิน

กว่ารัฐบาลอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะจับปัญหานี้ได้ และอนุมัติเงินช่วยเหลือชุดใหญ่ออกมา ก็มีผู้เสียชีวิตไปแล้วหลักหมื่นคน

หรือในแอฟริกา หลายประเทศก็พบกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ นั่นคือ คนที่จ่ายประกันสุขภาพเอกชน สามารถเข้าถึงการรักษาได้รวดเร็วกว่า มีมาตรฐานที่ดีกว่า ส่วนคนที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพนั้น หลายคนต้องเจ็บป่วยอยู่ที่บ้าน ไม่สามารถเข้าถึงตั้งแต่ต้นทางอย่างการตรวจ กว่าจะไปถึงขั้นตอนการรักษา ก็ป่วยหนัก หรือเสียชีวิตแล้ว

หลังการระบาดระลอกแรกไม่นาน องค์การอนามัยโลก ถึงกับออกมาบอกว่า ไม่มีช่วงเวลาไหนที่โลก ต้องการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีคุณภาพเท่ากับช่วงเวลานี้..

และไทย เป็นตัวอย่างที่ดี ว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถจัดการโรคโควิด-19 ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ได้ดีเพียงใด

 

1 ปีเศษผ่านไป ถึงช่วงเวลาที่ “วัคซีน” เริ่มเข้ามาเป็นเงื่อนไขใหม่ ในการจบโรคระบาดนี้ให้เร็วที่สุด ท่ามกลางการระบาดระลอก 3 สปสช. ยังคงทำหน้าที่สำคัญเหมือนเดิม ตั้งแต่การช่วยจัดการการตรวจเชิงรุก การช่วยจ่ายค่ารักษาในโรงพยาบาลสนาม – Hospitel ไปจนถึงในโรงพยาบาลเอกชน

แต่สิ่งที่เพิ่มเติมคือช่วยบริหารจัดการในส่วนของ “วัคซีน” ให้สะดวก – ราบรื่น ตามไปด้วย

ต้องไม่ลืมว่า ในห้วงเวลาปกตินั้น สปสช. มีระบบในการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้รวดเร็วที่สุดอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อนหน้านี้ สปสช. ก็จัดงบค่าบริการสำหรับการฉีด ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ครั้งละ 20 บาท

แต่ในครั้งนี้ การจัดการโควิด-19 สปสช. ก็จ่ายค่าบริการสำหรับการฉีด เพิ่มเป็น 40 บาท เพื่อให้การฉีดวัคซีน เป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น อำนวยความสะดวกให้กับหน่วยฉีดมากขึ้น

และที่สำคัญก็คือ หากเกิดผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน สปสช. ก็พร้อมรับผิดชอบค่ารักษาจากการฉีดวัคซีน รวมถึงเป็น Clearing House ให้กับทุกระบบประกันสุขภาพ กระทั่งค่าเสียหายอันเกิดจากการฉีดวัคซีน สปสช. ไม่ว่าจะเป็นผื่น มีไข้นานหลายวัน เกิดอัมพฤกษ์ชั่วคราว จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลจากอาการใดๆ ก็แล้วแต่ ก็จ่ายทันที

และหากมีผู้เสียชีวิต แม้จะยังไม่ได้พิสูจน์ชัดว่ามาจากวัคซีน ระบบหลักประกันสุขภาพก็พร้อมจ่ายก่อนล่วงหน้าทันที 4 แสนบาท

 

ทั้งนี้ ภารกิจของระบบที่สำคัญ ที่จะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในวัคซีน ก็คือการช่วยเหลือเบื้องต้นให้เร็วที่สุด และพิจารณาให้เร็วที่สุด ไม่จำเป็นต้องรอความเห็นจากการพิจารณาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งอาจต้องใช้เวลายาวนาน

เพราะสิ่งต้องยอมรับก็คือ วัคซีนหลายตัวที่ใช้งานแบบฉุกเฉินในเวลานี้ ยังไม่ได้มีข้อมูลเพียงพอ เรื่องภาวะแทรกซ้อน และข้อควรระวัง ว่ามีผลกระทบกับยา หรือโรคประจำตัวอื่นใดบ้าง ไม่เพียงเท่านั้น หากพบภายหลังจากบรรดาคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญว่า การเสียชีวิต ไม่เกี่ยวกับวัคซีน หากแต่เกิดขึ้นจากโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ สปสช. ก็จะไม่ “เรียกคืน” เงินจำนวนดังกล่าว

หลักการสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ การทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นที่พึ่งพิงของคนทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกระดับ และเป็นตัวช่วยรัฐ ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับวัคซีน เพื่อนำไปสู่การฉีดแบบปูพรม ให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ให้มากที่สุด

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา และในอนาคตข้างหน้า ถือเป็นการทลายกำแพงข้อจำกัด ของทั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และองค์กรอย่าง สปสช. ที่อาจถูกมองว่า “ตั้งรับ” มาตลอด ไปสู่การทำงานเชิงรุกมากขึ้น และสะท้อนการปรับตัวที่รวดเร็ว ยืดหยุ่น พร้อมรองรับกับทุกปัญหาเฉพาะหน้า

ทั้งหมดนี้ ยิ่งสะท้อนว่า หาก 18 ปีที่ผ่านมา ไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์อาจเลวร้ายกว่านี้มาก และไทย อาจเผชิญกับวิกฤตผีซ้ำด้ำพลอยมากกว่านี้..