1ปี ‘วันเฉลิม’ การสูญหาย ที่ไร้คำตอบ

ครบรอบ 1 ปี การหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้าร์ นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ขณะลี้ภัยทางการเมืองในประเทศกัมพูชา

หลังทางการไทยออกหมายจับในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.

เหตุการณ์เกิดขึ้นเย็นวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ขณะวันเฉลิมกำลังซื้ออาหารอยู่หน้าคอนโดฯ ที่พักกลางกรุงพนมเปญ พร้อมต่อสายโทรศัพท์คุยกับสิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวซึ่งอยู่เมืองไทย

ระหว่างนั้นมีเสียงโครมครามดังขึ้นจากฝั่งของวันเฉลิม ตามมาด้วยเสียงเอะอะโวยวาย

เสียงสุดท้ายที่สิตานันท์ได้ยินจากน้องชายคือ “โอ๊ย! หายใจไม่ออก” นาทีนั้นสิตานันท์ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นก่อนสัญญาณโทรศัพท์จะถูกตัดไป

สิ่งที่เป็นเครื่องยืนยันภายหลังว่า วันเฉลิมเป็นเหยื่อถูกบังคับสูญหาย คือคลิปกล้องวงจรปิดหน้าคอนโดฯ ที่พักของวันเฉลิม ที่เป็นเบาะแสเผยให้เห็นรถยนต์ 2 คันขับออกไปอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางชาวกัมพูชาท่าทางตื่นตกใจ

ทำให้เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไป

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา สิตานันท์ต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้น้องชาย ยื่นเรื่องต่อหลายหน่วยงานทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม รวมถึงสำนักงานอัยการสูงสุด

10 พฤศจิกายน 2563 สิตานันท์เดินทางไปกัมพูชา ยื่นหนังสือถึงผู้พิพากษาไต่สวนประจำศาลแขวงกรุงพนมเปญ

27 ตุลาคม 2563 ได้รับหมายเรียกให้ปรากฏตัวต่อหน้าศาลแขวงพนมเปญเพื่อสอบสวนเรื่องการควบคุมตัวและการกักขังที่มิชอบด้วยกฎหมายของน้องชาย ที่กรุงพนมเปญ ถึงปัจจุบันไม่ปรากฏความคืบหน้า

เช่นเดียวกับการทวงคืนความยุติธรรมจากทางการไทยโดยครอบครัวของวันเฉลิม ก็ดูเหมือนเป็นเรื่องห่างไกล

8 กรกฎาคม 2563 ดีเอสไอแถลง ไม่ถือคดีวันเฉลิมเป็นคดีพิเศษ ทำให้คดีถูกส่งไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา, 23 พฤศจิกายน อัยการสูงสุดส่งคดีกลับมาให้ดีเอสไอ เนื่องไม่พบหลักฐานว่าวันเฉลิมพำนักอยู่ในกัมพูชาในช่วงที่หายตัวไป หรือถูกลักพาตัวในกัมพูชาจริง

“สิ่งที่ทำกับเราตลอด 1 ปีเต็ม เขารู้ไหมว่าพวกเราเจ็บปวด เสียอะไรไปบ้าง มีแต่ประชาชนเข้าใจและเห็นใจกันเอง” สิตานันท์กล่าวในวันครบรอบ 1 ปีการหายตัวไปของน้องชาย

 

4 มิถุนายน 2564 ครบรอบ 1 ปีการหายตัวไปของวันเฉลิม

สิตานันท์พร้อมเจ้าหน้าที่องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เดินทางไปยังกระทรวงการต่างประเทศ สถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย และกรมสอบสวนคดีพิเศษ

ทำกิจกรรมยืนสงบนิ่ง 1 นาที ไว้อาลัยต่อความยุติธรรมที่ล่าช้า

สิตานันท์ยังได้ยื่นจดหมายทวงถามความคืบหน้าการติดตามหาตัวน้องชาย ต่อกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

พร้อมกล่าวเปิดใจ 1 ปีที่ผ่านมาพยายามติดตามหาน้องชายมาตลอด เรื่องนี้อาจเงียบหายไปในกระแสสังคม แต่ไม่เคยเงียบหายไปสำหรับเรา ทุกวันนี้ยังคิดอยู่ว่าน้องอยู่ที่ไหน บุคคลที่สูญหาย พอไม่รู้ชะตากรรม ครอบครัวจะทรมาน จินตนาการว่าเขาต้องเจออะไรบ้าง เป็นเรื่องน่าเจ็บปวดมาก

“ถ้ารู้ว่าตายก็คือตาย ไปพิสูจน์ว่าเขาตายแล้ว ตอนนี้ถ้าเจอเขาในสภาพไหน ก็อยากได้เขาคืน”

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯ เปิดเผยว่า ครบ 1 ปีการหายตัวของวันเฉลิม แต่กลับไม่ได้รับความยุติธรรมใดๆ

เห็นได้ชัดว่าทางการกัมพูชาล้มเหลวในการสอบสวนคดีเพื่อให้ทราบชะตากรรมและที่อยู่ของวันเฉลิม ที่สำคัญยังไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีด้านกฎหมายที่จะต้องดำเนินการสอบสวนอย่างเหมาะสมต่อการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เกิดขึ้นครั้งนี้ได้

แอมเนสตี้ฯ จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมผลักดันและให้คำมั่นเพื่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน ตลอดจนเร่งรัดกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานอัยการสูงสุด ดำเนินการสอบสวนและค้นหาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน

เพื่อนำตัวคนผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรม

 

4 มิถุนายน 2564 กลุ่มเพื่อนวันเฉลิม และนักกิจกรรม แอมเนสตี้ฯ พร้อมประชาชนกว่า 100 คน ร่วมทำกิจกรรมบริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ

ต่างสวมเสื้อฮาวายหลากสีสัน เป็นเสื้อแบบที่วันเฉลิมชอบสวมใส่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัว

มีการชูป้ายไวนิลขนาดใหญ่ ข้อความ อาทิ “คนก็หาย กฎหมายก็ไม่มี” Missing people Missing, “หนึ่งปีต้องมีความยุติธรรมให้วันเฉลิม After 1 year, there must be justice for wanchalearm” และ “คนหายที่ไม่หายไปจากความทรงจำ” เป็นต้น

จากนั้นเดินเท้าไปยังสกายวอล์กหอศิลป์ ยืนเรียงแถวพร้อมสวมหน้ากากใบหน้าวันเฉลิม และถือป้ายข้อความ “ราษดรัม” รัวกลอง นักกิจกรรมยืนสงบนิ่ง 12 นาที เพื่อรำลึกถึง 12 เดือนที่วันเฉลิมหายตัวไป

แสดงจุดยืนทวงคืนความยุติธรรม และร่วมส่งเสียงเป็นส่วนหนึ่งของการยุติสร้างความหวาดกลัวจากการถูกบังคับให้สูญหาย

มีการจุดเทียนที่เรียงเป็นข้อความ “stop enforced disappearance” ล้อมรอบด้วยลวดหนาม

นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข กล่าวว่า เรื่องการอุ้มหายไม่เพียงวันเฉลิม แต่ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างของรัฐบาลประยุทธ์ นี่คืออาชญากรรมของรัฐและฆาตกรรมทางการเมือง อันเนื่องมาจากการขจัดคู่ขัดแย้งทางการเมืองและทำลายชีวิต

วันเฉลิมคือรายที่ 9 เป็นผลสืบเนื่องจากการยึดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์

“ประจักษ์พยานที่บอกว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องการอุ้มหาย เพราะปฏิเสธการรับผิดชอบสืบสวนกรณีอุ้มหายเหล่านี้ วันเฉลิมคือส่วนหนึ่งของการใช้ความรุนแรงที่ผู้ลี้ภัยได้รับผลจากการกระทำ ทำนอกเหนือประชาธิปไตย จึงต้องผลักดันให้มีกฎหมายป้องกันการปราบปรามการทรมานและการอุ้มหาย แม้หยุดการอุ้มหายไม่ได้ แต่ช่วยให้เข้าถึงการเยียวยาและติดตาม” นายสมยศกล่าว

เหตุการณ์ที่เกิดกับวันเฉลิม ยังเป็นที่จับตาจากประชาคมโลก

4 มิถุนายน 2564 สถานเอกอัครราชทูต 11 ประเทศ ประจำประเทศไทย ประกอบด้วยสวีเดน เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก สหราชอาณาจักร ออสเตรีย นอร์เวย์ ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และแคนาดา

ร่วมกันโพสต์ข้อความและภาพประกอบบนเฟซบุ๊กเกี่ยวกับ “การบังคับสูญหาย” ปรากฏเป็นข้อความลักษณะเดียวกันว่า “การอุ้มหายมีอยู่จริง” และ “ลองจินตนาการดูว่าจะเป็นเช่นไร หากคนที่ท่านรักจู่ๆ ก็หายตัวไป”

เพื่อตอกย้ำให้ประชาชนที่อยู่ในประเทศไทย หันมาตระหนักในการกระทำความผิดในลักษณะเช่นนี้

เป็นการกระทำผิดที่ผู้ถูกกระทำอาจเป็นใครที่คุณรักก็ได้

 

การหายตัวไปของวันเฉลิม สะท้อนถึงประชาธิปไตยและความยุติธรรมในประเทศไทยที่มาถึงจุดวิกฤต

ไม่ต่างจากกรณีแกนนำราษฎร ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และไม่ได้รับการประกันตัวตามกระบวนที่ควรจะเป็น ทำให้ถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลาหลายเดือน

แม้ในที่สุดทั้งหมดจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แต่ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่วางไว้อย่างเคร่งครัด

แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีสัญญาณบ่งชี้ถึงกลไกความพยายามที่จะเพิกถอนอิสรภาพแกนนำราษฎร ว่ายังมีอยู่จริงและได้ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน

สัญญาณที่ว่าปรากฏขึ้นเมื่อแกนนำศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ยื่นหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา

ขอให้ถอดถอนการประกันนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ฐานกระทำผิดเงื่อนไข กรณีโพสต์เฟซบุ๊ก “สาส์นแรกแห่งอิสรภาพ” และการไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองยืนหยุดขัง 112 นาที บริเวณหน้าศาลฎีกา สนามหลวง

ในห้วงเวลาเดียวกับนายสนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ก็ทำหนังสือร้องเรียนในประเด็นดังกล่าวเช่นกัน

เป็นเหตุให้ต่อมาวันที่ 8 มิถุนายน 2564 ศาลนัดไต่สวนนายไพรัชกับนางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ พ่อ-แม่ของเพนกวิน และนายอดิศร จันทรสุข รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้กำกับดูแลเพนกวิน มาไต่สวนในประเด็นที่เพนกวินถูกร้องเรียน

ซึ่งนายอดิศร จันทรสุข แถลงต่อศาลว่า จากข้อความที่ปรากฏในเฟซบุ๊ก อาจมีข้อถกเถียงในเรื่องการตีความ แต่ถือเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพวิพากษ์วิจารณ์ภายในขอบเขตเงื่อนไข ตามที่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว หลังจากนี้จะกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด

เบื้องต้นศาลกำชับผู้กำกับดูแลทั้งสาม ทำหน้าที่สอดส่องดูแลให้จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราวอย่างเคร่งครัด

หากปรากฏว่ากระทำหรือโพสต์ข้อความในลักษณะเดียวกันอีก อาจเป็นการผิดเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราว ศาลจะใช้ดุลพินิจตามที่เห็นสมควร โดยเรียกมาไต่สวนเกี่ยวกับการผิดเงื่อนไขปล่อยชั่วคราว

 

เหตุการณ์บังคับสูญหายวันเฉลิมผ่านไป 1 ปี

ครอบครัวสัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ยังเดินหน้าทวงคืนความยุติธรรมต่อไป

ขณะที่สังคมไทยยังเฝ้ารอคำตอบข้อเท็จจริงทั้งจากทางการไทยและทางการกัมพูชา

ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข บุตรสาวนายสมยศ กล่าวว่า 1 ปีวันเฉลิม อยากเรียกร้องภาครัฐให้ความจริง อย่างน้อยเพื่อยุติความทรมานทางจิตใจ สำหรับคนอื่นๆ ขอให้ร่วมเป็นกำลังใจในขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อให้มีความยุติธรรมในสังคมไทยต่อไป

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หายตัวไปในวันที่ 4 มิถุนายน 2563 กลางกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

ปัจจุบันคดียังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด