เปิดแผนฟื้นประมงปี 64 ลุงป้อม’ ย้ำปราบค้ามนุษย์ตั้งกองทุน-เพิ่มสวัสดิการ

ยังคงฝ่ามรสุมการเมือง ไปพร้อมๆ กับเดินหน้าทำงานต่อเนื่องเพื่อประชาชน และพัฒนาประเทศ สำหรับการรับผิดชอบด้านนโยบายสำคัญของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

ซึ่งแม้จะเป็นช่วงสถานการณ์โควิด ที่รัฐบาลจำเป็นต้องทุ่มเทสรรพกำลังเข้าดูแลเพื่อควบคุมโรคระบาด และการจัดหาวัคซีนเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปให้ได้เร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม ภารกิจด้านอื่นๆก็ยังมีความสำคัญ เพื่อเตรียมพร้อมประเทศสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังจากที่วิกฤตโควิดผ่านพ้นไปแล้ว

ดังเช่นภารกิจด้านการประมงแห่งชาติ ที่จำเป็นต้องเตรียมพร้อมทั้งเรื่องการจัดสรรทรัพยากร การทำประมงอย่างยั่งยืน

รวมทั้งการพัฒนาการประมงของไทยให้ปลอดสัตว์น้ำและสินค้าสัตว์น้ำที่มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย ตามที่สหภาพยุโรป หรืออียู ได้จัดลำดับประเทศไทย อยู่ในระดับเทียร์ 2 หรือประเทศที่เฝ้าจับตามอง จากก่อนหน้านี้ถูกใบเหลือง ในระดับเทียร์ 3

สะท้อนให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังในระดับนโยบายส่งผ่านไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติงาน และยังมีเป้าหมายยกระดับให้อยู่ในกลุ่มเทียร์ 1 ให้ได้โดยไว

เพื่อเตรียมพร้อมการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เมื่อแรงงานในระบบมีความพร้อม ก็พร้อมจะรีสตาร์ตอีกครั้ง ให้รุดหน้าไปไกลกว่าเดิม!!

สำหรับนโยบายในปี 2564 นี้ พล.อ.ประวิตร ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ได้เน้นย้ำ เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรประมง เพื่อให้ทรัพยากรประมงและสินค้าประมงตลอดสายการผลิตของประเทศมีความยั่งยืน

เน้นการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลและน้ำจืด โดยใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดเพื่อกำหนดมาตรการในการทำการประมง รวมถึงการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน

การพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มุ่งเน้นคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ผลผลิตสัตว์น้ำปลอดภัย ตลาดนำการผลิต และทรัพยากรมีความสมดุลและยั่งยืน และการพัฒนาอุตสาหกรรมประมง ให้สินค้าประมงมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และการตรวจสอบรับรองสินค้าประมงเพื่อการส่งออก

ขณะที่การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ในปีที่ผ่านมาได้ปรับปรุงกฎหมายไปแล้วถึง 17 ฉบับ เพื่อให้ทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์ ปรับปรุงการบริหารจัดการประมงทะเลไทย ให้บริหารจัดการจำนวนเรือประมงให้สอดคล้องกับปริมาณทรัพยากรประมง

รวมถึงการออกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ และการออกใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำ

พร้อมติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมงให้เป็นไปตามกฎระเบียบของประเทศไทย และกฎระเบียบระหว่างประเทศ ผ่านระบบ e – PSM (Electronic Port State Measure) เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเรือประมงที่ไม่ใช่สัญชาติไทย รวมถึงวิเคราะห์พฤติกรรมของเรือว่าต้องไม่มีพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย

และเพื่อความมั่นใจ ยังได้ใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับด้วยมาตรการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงไปยังแหล่งที่มาของสัตว์น้ำ ครอบคลุมตั้งแต่การตรวจสอบการทำประมงในทะเลการตรวจสอบที่ท่าเทียบเรือ และการตรวจสอบที่โรงงาน โดยสามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้ทุกขั้นตอน เช่น ข้อมูลเรือ ข้อมูลการทำประมง และข้อมูลการจับสัตว์น้ำขึ้นท่า

ให้การประมงไทยให้ปลอดสัตว์น้ำ และสินค้าสัตว์น้ำที่มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย

นอกจากนั้น ยังให้ความสำคัญกับเรื่องแรงงานประมงลักลอบทำงานผิดกฎหมาย ที่ส่งผลต่อการประเมินผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือทิปรีพอร์ต ซึ่งประเทศไทยอยู่ในสถานะเทียร์ 2 ในส่วนของประเทศที่มีความพยายามแก้ไขปัญหาและตรวจสอบการลักลอบการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง มา 3 ปีติดต่อกันแล้ว

จึงตั้งเป้าว่าจะต้องขึ้นระดับเทียร์ 1 หรือประเทศที่ดำเนินการสอดคล้องกับมาตรการขึ้นต่ำตามกฎหมายในการป้องกันและบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์

รวมทั้งพัฒนาแอพพลิเคชั่น ‘PROTECT-U’ ใช้ เป็นช่องทางแจ้งเหตุและช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ใช้ได้ถึง 7 ภาษา ประกอบด้วย จีน อังกฤษ เมียนมา เขมร ลาว เวียดนาม จีน และไทย เดินหน้าขยายการใช้งานให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เสี่ยง พัฒนามาตรการความร่วมมือเพื่อการคุ้มครองผู้เสียหายกับประเทศต้นทางและปลายทางอย่างต่อเนื่อง

สำหรับสวัสดิภาพของแรงงาน ยังมุ่งให้ความสำคัญเรื่องคุ้มครองสวัสดิภาพของคนประจำเรือ และป้องกันการใช้แรงงานผิดกฎหมายในภาคการประมง รวมทั้งการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย และการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานประมงทะเล

ซึ่งได้ดำเนินการเยียวยาเจ้าของเรือประมงจำนวน 53 ลำที่นำเรือประมงออกจากระบบ

เปิดโครงการ สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมงวงเงินสินเชื่อ 10,300 ล้านบาท ล่าสุดมีผู้ประสงค์เข้าร่วมโครงการกว่า 5 พันราย ในวงเงิน 6,111 ล้านบาท ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร อนุมัติเงินกู้แล้ว 323 ราย วงเงิน 109,338 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารออมสิน อนุมัติเงินกู้แล้ว 65 ราย วงเงิน 203,606 ล้านบาท

พร้อมจัดทำข้อเสนอร่างพ.ร.บ.กองทุนการประมงแห่งชาติ เพื่อจัดตั้งกองทุนการประมงแห่งชาติ เพื่อช่วยเหลือชาวประมง ให้มีทุนในการดำเนินธุรกิจและต่อยอดต่างๆ

นอกจากนี้ ยังยกเว้นค่าธรรมเนียมเพาะสัตว์เลี้ยงน้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยในปีที่ผ่านมา มีเกษตรกรได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม 21,041 ราย วงเงินรวม 49,494 ล้านบาท

รวมทั้งเยียวยาเกษตรกร ชาวประมง และผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยการจ่ายเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ให้แก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมงและผู้ทำการประมงรวม 188,134 ราย คิดเป็นเงิน 2,822 ล้านบาท

สร้างรายได้จากอาชีพประมงในแหล่งน้ำชุมชนโดยการสนับสนุนลูกพันธุ์กุ้งก้ามกราม 200,000 ตัวต่อแหล่งน้ำ ให้แก่แหล่งน้ำชุมชน 1,436 แห่ง ในพื้นที่ 19 จังหวัด

โครงการพัฒนาเสริมทางเลือกอาชีพด้านประมงซึ่งได้สนับสนุนพันธุ์ปลานิลแปลงเพศ ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ 37 จังหวัด 44,311 ราย รายละ 800 ตัว และสนับสนุนอาหารสัตว์นำร่องจำนวนรายละ 120 กิโลกรัม

ทั้งหมดก็เพื่อพัฒนากิจการประมงไทยให้ยั่งยืน ปฏิบัติตามกฎหมายเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ

เตรียความพร้อมสำหรับการรีสตาร์ตธุรกิจ หลังวิกฤตการณ์โควิดผ่านไป

พลิกฟื้นได้เร็วที่สุดเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม