2503 สงครามลับ สงครามลาว (30)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (30)

 

การกลับมาของพญาอินทรี

ย้อนกลับไปต้นปี พ.ศ.2507 ก่อนกองร้อย SR เข้าป้องกันเมืองสุย หลังจากข้อตกลงเจนีวาผ่านไปเกือบปี วอชิงตันก็ทบทวนสถานการณ์ในลาวจนนำไปสู่การปรับนโยบายอีกครั้งหนึ่ง โดยมีสาเหตุสำคัญ 2 เหตุการณ์ ดังนี้

เหตุการณ์แรก มีนาคม พ.ศ.2507 เกิดความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอำนาจทางการเมืองและทางทหารภายในลาว

โดยฝ่ายเป็นกลางที่นำโดยกองแลได้แตกออกเป็น 2 ฝ่าย

ฝ่ายเป็นกลาง-กลุ่มใหม่ที่ท้าทายอำนาจกองแลได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายซ้าย-ขบวนการประเทศลาว เข้ากดดันและโจมตีทหารฝ่ายกองแล บีบบังคับให้กองแลต้องร่วมเป็นพันธมิตรกับวังเปาและลาวฝ่ายขวา

ในเวลานั้นอเมริกายังคงฝากความหวังไว้กับวังเปาเป็นหลัก เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เจ้าหน้าที่วอชิงตันมีความเชื่อถือในตัวนายพลวังเปาและกองกำลังชาวม้งมากยิ่งขึ้น

เหตุการณ์ที่ 2 ที่กระตุ้นอเมริกาให้ยุติท่าทีวางเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในลาวคือการสับเปลี่ยนตำแหน่งสำคัญภายในกระทรวงต่างประเทศเมื่อต้นปี พ.ศ.2506

เอเวอร์ริล เฮอริแมน เลื่อนขึ้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ พ้นจากความรับผิดชอบพื้นที่เอเชีย

ผู้ที่มารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ ฝ่ายภูมิภาคตะวันออกไกลคนใหม่คือ โรเจอร์ ฮิลส์แมน

ฮิลส์แมนให้การสนับสนุนการปฏิบัติการของซีไอเอในลาวอย่างเต็มที่ นั่นหมายถึงการกลับไปดำเนินการจัดส่งอาวุธแก่พวกม้งและเป็นฝ่ายเปิดฉากการรุกไล่กองทหารเวียดนามเหนือ หลังจากที่หยุดชะงักไปตั้งแต่กลางปี พ.ศ.2504 ที่ผ่านมา ระหว่างการเจรจาเจนีวา

แนวคิดของฮิลส์แมนในเรื่องการรบแบบกองโจรสอดคล้องกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในทำเนียบขาวซึ่งขณะนั้นประธานาธิบดีเคนเนดี้กำลังอยู่ในช่วงฟื้นคืนจากความตกต่ำอันเป็นผลจากความล้มเหลวของปฏิบัติการอ่าวหมูและกลับมาได้รับความนิยมในหมู่ชาวอเมริกันอีกครั้งหนึ่งจากความสำเร็จในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา

เคนเนดี้เริ่มเชื่อมั่นในตัวเองและพร้อมเผชิญหน้ากับฝ่ายคอมมิวนิสต์

สำหรับสถานการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาเริ่มหันเหทิศทางการปฏิบัติจากลาวที่ซีไอเอได้เริ่มไว้แต่แรกไปสู่เวียดนามใต้ ลดระดับความสำคัญของลาวเป็นเพียง “ที่หมายรอง”

เดือนมิถุนายน 2506 (1963) สภาความมั่นคงของสหรัฐ (NSC : National Securiy Council) ที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาในลาวได้เริ่มเข้ามามีบทบาทสนับสนุนแนวทางสงครามกองโจรนี้

ขณะนั้นกองทหารอเมริกันยังไม่สามารถเข้าไปในลาวได้ ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาภาพลักษณ์ตามข้อตกลงเจนีวา

แต่ซีไอเอก็ได้รับไฟเขียวให้ค่อยๆ ยกระดับการดำเนินการส่งกำลังบำรุงทางอากาศให้แก่ชาวเขาในลาว ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะเสบียงอาหาร “เพื่อมนุษยธรรม” อีกต่อไป แต่หมายรวมทั้งการทำการฝึกทางทหารแก่พวกชาวเขาอีกหลังจากที่ได้หยุดไประยะหนึ่ง

กลางปี พ.ศ.2506 เครื่องบินนานาชนิดเริ่มบินมาปรากฏบนท้องฟ้าเหนือล่องแจ้งพร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ อีกครั้ง

เมื่อได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธมากขึ้น วังเปาก็โหมการโจมตีก่อกวนข้าศึกโดยยุทธวิธีการรบแบบกองโจรตามที่เขาถนัด

บางครั้งวังเปาก็ลงไปทำการรบด้วยตนเอง ร่วมเดินเท้าไปตามทางในป่าอย่างชำนิชำนาญร่วมกับลูกน้อง

บัดนี้การลดบทบาทภารกิจในลาวของรัฐบาลสหรัฐในช่วงที่ผ่านมาได้สิ้นสุดลงแล้ว และสงครามย่อยๆ ของพวกเขาก็กำลังทวีความเดือดเข้มข้นขึ้นทุกขณะ

ความพยายามในการยกระดับขีดความสามารถทางการทหารให้กองกำลังของวังเปา ได้นำไปสู่การจัดตั้ง “ค่ายสฤษดิ์เสนา-กองพันพิเศษ” ขึ้นในประเทศไทย

 

“ค่ายสฤษดิ์เสนา-กองพันพิเศษ”

ความพยายามในการยกระดับขีดความสามารถในการรบให้แก่ทหารรัฐบาลลาว โดยเฉพาะกองกำลังชาวม้งของวังเปานั้น เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2504 ตามโครงการโมเมนตัมแล้ว ทั้งในพื้นที่ของกองกำลังชาวม้งที่ทุ่งไหหินโดยหน่วยพารู รวมทั้งบางส่วนก็มารับการฝึกที่ค่ายตำรวจพลร่มหัวหินอีกด้วย

ดังนั้น เมื่อสหรัฐหันกลับมาให้ความสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถการรบของกองกำลังในลาวใหม่ การฝึกก็ถูกยกระดับให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น อันเป็นที่มาของการก่อตั้ง “ค่ายสฤษดิ์เสนา”

จากบันทึก “อาจองค์ธำรงศักดิ์ น้อมใจภักดิ์พระจักริน” ของค่ายนเรศวร

การสร้างค่ายสฤษดิ์เสนานั้น ทางฝ่ายสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ดำเนินการทั้งสิ้น แต่เดิมเตรียมการไว้สำหรับเป็นค่ายสำรองในการทำงานของตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวรหัวหิน ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้ประเมินสถานการณ์เอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่าประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องถูกคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างแน่นอน และหน่วยตำรวจพลร่มจะเป็นหน่วยที่ทำการต่อต้านการรุกรานและต่อต้านการทำสงครามนอกแบบ ทำการรบแบบกองโจร

แต่การทำงานรับระดับชาติอยู่ที่ค่ายนเรศวรหัวหินนั้นไม่เหมาะ เนื่องจากสถานที่คับแคบ ชุมชนหนาแน่น อยู่ใกล้เขตพระราชฐาน จึงได้มีแผนการก่อสร้างค่ายสำรองขึ้นสำหรับตำรวจพลร่มที่มี “ภารกิจลับพิเศษ” เท่านั้น

แต่สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นเปลี่ยนแปลงไป จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เห็นด้วยกับแนวความคิดในเรื่องการปฏิบัติการของทหารและตำรวจ 2 ขั้นตอน คือในยามปกติใช้ตำรวจเข้าปฏิบัติ เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้นจึงใช้ทหารเข้าดำเนินการ

แต่จากข้อเท็จจริงในตอนนั้นไม่สามารถแยกได้ว่าขั้นตอนใดจะใช้ตำรวจ และขั้นตอนใดจะใช้ทหาร จึงเกิดช่องว่าง

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงตกลงใจให้จัดตั้ง “กองพันพิเศษ” ขึ้น 1 กองพัน พร้อมอนุมัติอัตราการจัดกำลังพลเป็นกำลังผสมของ “ทหารพลร่ม” และ “ตำรวจพลร่ม” โดยให้จัดกำลังพลจากทหาร 50% และจากตำรวจ 50% ผู้บังคับหน่วยเป็นทหาร รองผู้บังคับหน่วยเป็นตำรวจ ฝ่ายอำนวยการ กองร้อยและอื่นๆ อย่างละครึ่งทั้งสิ้น ยกเว้นงานสายเทคนิคจะมาจากสายตรงของสายงานนั้นๆ

ส่วนงานของกองร้อยส่งกำลังทางอากาศหรืองานของ Pathfinder และการสื่อสารในสนามก็จะเป็นความรับผิดชอบของหัวหน้างานที่เป็นตำรวจพลร่ม จึงเป็นลักษณะการอนุมัติกำลังพลเข้าปฏิบัติงานในค่ายแทนแผนเดิมที่อเมริกันได้วางไว้ เพื่อเป็นค่ายสำรองสำหรับตำรวจพลร่มค่ายนเรศวรหัวหินตามที่กล่าวมาแล้ว

เมื่อฝ่ายที่ปรึกษาอเมริกันและตำรวจเห็นด้วย ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าพื้นที่บริเวณเขต “วนอุทยานวังทอง” จังหวัดพิษณุโลก มีความเหมาะสมสำหรับเป็นที่ตั้งของกองพันพิเศษ ค่ายสฤษดิ์เสนา

เหตุผลสำคัญที่เลือกพื้นที่นี้นอกจากเห็นว่าเป็นบริเวณรอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-เลย เป็นตำบลสำคัญทางยุทธศาสตร์ทางทหาร พล.อ.สายหยุด เกิดผล เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำความเข้าใจกับฝ่ายตำรวจและเป็นผู้เสนอชื่อ “ค่ายสฤษดิ์เสนา” เพื่อเป็นเกียรติแก่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารสูงสุด

มีบันทึกว่า เจ้าของความคิดในการจัดตั้งค่ายสฤษดิ์เสนาและเป็นผู้เลือกที่ตั้งที่พิษณุโลกนี้ก็คือ “บิลล์ แลร์” ซีไอเอคนสำคัญที่ยังคงได้รับความเชื่อถือจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และผู้นำอื่นๆ ของไทย