มีกฎหมายอยู่ในมือ หรือว่าใช้ไม่เป็น/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

มีกฎหมายอยู่ในมือ

หรือว่าใช้ไม่เป็น

 

27 เมษายน พ.ศ.2564 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศโอนอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินตามกฎหมายสำคัญ 31 ฉบับให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้มีอำนาจบังคับบัญชารับผิดชอบแต่ผู้เดียวโดยมุ่งหวังให้การบริหารจัดการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคร้ายโควิด-19 สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นเอกภาพยิ่งกว่าเดิมที่ผ่านมา

จากวันที่ 27 เมษายน จำนวนรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีจำนวน 2,180 ราย แต่จนถึงปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง แถมยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย ทั้งข่าวคราวทั้งมาตรการต่างๆ ของรัฐดูสะเปะสะปะ มีการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจหลายครั้งที่กลับไปกลับมาจนประชาชนรู้สึกไม่มั่นใจมาตรการต่างๆ ของรัฐ

หรือการมีอำนาจที่รวมไว้ในมือแต่ผู้เดียว แต่ไม่รู้จักใช้อำนาจดังกล่าวให้เกิดผล

อำนาจที่ครอบคลุมเบ็ดเสร็จ

 

การโอนอำนาจตามกฎหมาย 31 ฉบับนั้น เป็นการพิจารณาจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในทุกเรื่องของการบริหารจัดการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยครอบคลุมนับแต่เรื่องโรคติดต่อ ยา การแพทย์ สาธารณสุข สถานพยาบาล ราคาสินค้าบริการ อาหาร การกระทำผิดคอมพิวเตอร์ คนเข้าเมือง การทหาร การยุทธภัณฑ์ การขนส่งจราจรทั้งทางบก น้ำ อากาศ รวมถึงเรื่องอื่นๆ อย่างครบถ้วน

เรียกได้ว่า จากอำนาจที่มีอยู่เดิมในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐมนตรีหลายกระทรวง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงแรงงาน โอนมาอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรีให้เป็นผู้สั่งการเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว

โดยคาดหวังว่า จะลดขั้นตอนการตัดสินใจ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพในการจัดการกับโรคร้ายอย่างบูรณาการมากขึ้น

แต่การณ์กลับกลายว่า ระบบบริหารราชการทั้งปวงแทนที่จะถูกกำกับจากฝ่ายการเมืองกลับอยู่ในมือข้าราชการประจำที่มุ่งทำงานตามพฤติกรรมอนุรักษนิยม

มากกว่าจะเป็นการจัดการเชิงรุกจากความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่ทันต่อสถานการณ์

มีกฎหมายในมือ ควรทำอะไรได้บ้าง

 

สถานการณ์ความรุนแรงในการแพร่ระบาดของโรคนั้น การทันต่อสถานการณ์ การมีมาตรการเชิงรุกใหม่ๆ ที่เหมาะสมควรกระทำได้อย่างรวดเร็ว ไม่ติดกับด้วยวิธีปฏิบัติในอดีตหรือข้อขัดข้องในระเบียบราชการ ดังนั้น หากพิจารณาถึงอำนาจที่มีตามกฎหมายของนายกรัฐมนตรีในขณะนี้แล้ว มีหลายอย่างที่ควรเกิดขึ้นได้ทันที เช่น

1) การขึ้นทะเบียนวัคซีนที่มีคุณภาพและได้รับการรับรองในระดับสากลให้สามารถทำได้ในเวลาอันสั้น อำนาจตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 กำหนดกระบวนการพิจารณาอนุญาตยา ซึ่งประกอบด้วยการพิจารณาคำขอ การตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร การประเมิน การตรวจวิเคราะห์ การตรวจสอบเพื่อออกใบอนุญาตขึ้นทะเบียนตำรายา ดังนั้น ยาที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรทุกตำรับต้องผ่านกระบวนการพิจารณาดังกล่าว โดยคณะกรรมการอาหารและยามีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการมาดูแลในเรื่องดังกล่าว

กระบวนการในขั้นตอนปกติของการขอขึ้นทะเบียนยาจากต่างประเทศ อาจต้องใช้เวลามากถึงหกเดือน หรือบางกรณีอาจใช้เวลามากกว่าหนึ่งปี แต่ในสถานการณ์ฉุกเฉินแม้มีประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องอนุญาตผลิตภัณฑ์ยาแบบมีเงื่อนไขในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม กรอบเวลาที่กำหนดก็ยังเนิ่นช้าถึงประมาณ 30 วัน

วัคซีนที่ว่าดี มีผลการรับรองจากองค์การอนามัยโลก หรือจากคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศที่มีความน่าเชื่อถือ แทนที่จะสามารถนำเข้ามาในประเทศเพื่อการป้องกันรักษาอย่างรวดเร็ว กลับติดขัดด้วยกระบวนการที่กำหนด

นายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจรักษาการตามกฎหมาย สมควรให้อำนาจเพื่อเร่งรัดกระบวนการมากกว่าการรอคอยการทำงานตามขั้นตอน

2) กระบวนการแจกจ่ายและจัดฉีดวัคซีนแก่ประชาชน การมีอำนาจในการกำกับหน่วยราชการทั้งในกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน ควรสามารถบูรณาการความร่วมมือในการใช้ทรัพยากรของหน่วยงานมาสนับสนุนในระบบแจกจ่ายและการจัดฉีดวัคซีน

จากแผนการจัดฉีดที่รัฐบาลแถลงว่าจะระดมฉีดให้ได้ครบ 100 ล้านโดสในสิ้นปี 2564 แต่ในขณะที่ความคืบหน้าในการจัดฉีดเป็นไปอย่างล่าช้าด้วยสาเหตุอย่างน้อยสองประการ คือยังไม่มีวัคซีนที่เพียงพอกับความต้องการและการไม่สามารถกำหนดจุดและบุคลากรที่ลงไปสนับสนุนการจัดฉีดได้อย่างเพียงพอและเป็นระบบ

เป้าที่กำหนดนั้นเมื่อทอนเป็นจำนวนวันจากจำนวนวันที่เหลือ เท่ากับต้องฉีดได้ราว 500,000 โดสต่อวัน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยความสามารถฉีดในช่วงหลังๆ แม้จะช่วยกันระดมฉีดกันแล้วก็ยังอยู่ไม่เกิน 100,000 โดสต่อวัน

นายกรัฐมนตรีนั้น มีอำนาจตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ที่สามารถระดมแพทย์ พยาบาล ทหารประจำการ นอกประจำการ อาสาสมัครป้องกันบรรเทาสาธารณภัย และบุคลากรอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อมาร่วมกันผลักดันภารกิจดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จ

ในขณะที่ภาพปัจจุบัน ยังคงเป็นภาระหนักแก่บุคลากรสาธารณสุขแต่เพียงฝ่ายเดียว

3) การกำหนดราคาสินค้าบริการเพื่อการป้องกันโรคระบาด การที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ซึ่งเดิมเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ดังนั้น สิ่งที่เป็นความต้องการของประชาชนและรัฐบาลพึงกระทำเป็นอย่างยิ่ง คือการออกประกาศให้วัคซีนทางเลือกเป็นสินค้าควบคุม และกำหนดราคาสำหรับวัคซีนแต่ละชนิดที่นำเข้าโดยเอกชน และกำหนดอัตราค่าบริการทางการแพทย์ที่มุ่งส่งเสริมให้คนที่มีความพร้อมอยากไปฉีดวัคซีนของโรงพยาบาลเอกชนเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐที่ควรมุ่งเน้นลงไปยังประชาชนทั่วไปที่อาจไม่มีความพร้อมด้านเศรษฐกิจ

สิ่งที่ประชาชนรู้สึกไม่ชัดเจนและเห็นว่ารัฐบาลยังไม่กระทำ คือไม่รู้ว่าจะฉีดวัคซีนทางเลือกได้เมื่อไร และจะมีราคาค่าบริการที่สูงขึ้นเพียงไร ยิ่งหากเป็นเรื่องตามใจชอบของโรงพยาบาลเอกชน ราคาที่นำเสนออาจสูงลิ่วจนเป็นภาระ

ทีไข่ไก่ ทีหน้ากากอนามัยยังกำหนดราคาได้ ทำไมไม่กำหนดราคากลางวัคซีนทางเลือก

4) ต้องยอมรับว่าในสถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิด ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการที่สับสนของภาครัฐ อีกส่วนหนึ่งมาจากการรับข้อมูลข่าวสารจากหลายแหล่ง และขาดระบบการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนและรวดเร็วจากรัฐ ในขณะที่นายกรัฐมนตรีมีกลไกการทำงานตาม พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ร.บ.การรักษาความั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

เหตุใดจึงไม่ใช้ศักยภาพด้านดิจิตอลในการสนับสนุนฝ่ายสาธารณสุข

แอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” ที่หลายคนเข้าไปใช้แล้วเกิดอาการ คนพร้อม หมอพร้อม แต่แอพพ์ไม่พร้อม เหตุใดจึงไม่เข้าไปช่วยพัฒนาปล่อยให้นายแพทย์ที่ควรดูแลเรื่องการรักษาโรคต้องมาเขียนโปรแกรม ไล่แก้และพัฒนาให้พร้อมเป็นรายวัน

การสื่อสารที่ควรเป็นเอกภาพและได้ผล คงไม่ใช่การมีโฆษก ศบค.มาออกรายงานทุกวัน แต่ต้องคิดถึงทุกช่องทางที่จะนำข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง ไปสู่ประชาชนเพื่อลดความสับสนต่างๆ ด้วย

 

ทั้งหมดนี้ คือบางตัวอย่างของการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีที่ยึดมาจากรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ โดยมีเป้าหมายว่า เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าเดิม

แต่หากเอาอำนาจเขามาแล้วงงๆ ไม่รู้จะทำอะไร รอเพียงข้อเสนอจากข้าราชการประจำแล้วละก็ คืนเขาไปเถอะครับ อย่าเก็บไว้ที่ตัวให้ประเทศชาติต้องเป็นปัญหายิ่งขึ้นกว่านี้เลย

คนอยู่ใกล้ชิด ช่วยนำกระจกเงาให้ท่านดูด้วย