โควิด-19 ได้บทเรียนอะไร จาก Spanish Flu 1918?/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

โควิด-19 ได้บทเรียนอะไร

จาก Spanish Flu 1918?

 

ปี ค.ศ.1918 หรือ 103 ปีก่อน โรคระบาดไข้หวัดใหญ่ที่เรียกขานกันทั่วไปว่า Spanish Flu คร่าชีวิตคนทั้งโลกกว่า 50 ล้านคน

มีคนล้มป่วยถึง 500 ล้านคน

วันนี้เมื่อเกิดการระบาดของ Covid-19 ก็ควรจะย้อนกลับไปดูว่าโลกได้บทเรียนอะไรจากการระบาดใหญ่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้นบ้าง

คำตอบง่ายๆ ก็คือ พอเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ผู้คนก็สร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคระบาดไข้หวัดสายพันธุ์นั้น

และชีวิตก็กลับสู่ภาวะปกติในช่วงต้นปี 1920

นักประวัติศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่ศึกษาวิจัยเหตุการณ์ครั้งนั้นสรุปว่าไวรัสหวัดตัวนี้ไม่ได้อยู่ดีๆ ก็อันตรธานหายไปเฉยๆ

มันกลายพันธุ์หลายรอบ แพร่จากคนสู่หมูและสัตว์อื่นๆ

จนมันกลายเป็น “ไข้หวัดประจำถิ่นและตามฤดูกาล”

นักวิจัยหลายคนที่ศึกษากรณีนี้บอกว่าเจ้าหวัดใหญ่แห่ง 1918 ไม่ได้หายไปเสียทั้งหมด บางส่วนของมันยังอยู่กับเราจนถึงวันนี้

ไม่มีใครบอกได้แน่ชัดว่าจุดเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ครั้งนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร

แต่ ณ จุดใดจุดหนึ่งในวิวัฒนาการของมัน ไวรัสผ่านจากนกสู่คน

ตั้งแต่ต้นจนจบ ไวรัสหวัดนกตัวนี้สามารถอาละวาดแพร่ระบาดไปทั้งเมืองได้ภายในไม่กี่สัปดาห์

ก่อนหน้านั้นมนุษย์ไม่เคยต้องเผชิญกับภัยคุกคามอันรุนแรงและน่ากลัวขนาดนั้นมาก่อนเลย

มันจึงเป็นปีศาจหน้าใหม่ที่สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก

 

ประธานาธิบดีวู้ดโร วิลสัน ของสหรัฐยังติดหวัดร้ายแรงนี้ระหว่างที่กำลังเจรจาหาทางสงบสงครามโลกครั้งที่ 1 ในช่วงนั้นด้วย

ก่อนหน้านี้ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าไข้หวัดตามฤดูกาลนั้นมักจะทำลายชีวิตของคนสูงวัยและเยาวชน

แต่ในกรณีของโรคระบาด 1918 ประมาณครึ่งหนึ่งของคนเสียชีวิตเป็นหนุ่มสาววัย 20 ถึง 30

แปลว่าคนในวัยทำงานและวัยฉกรรจ์ล้มป่วยและเสียชีวิตต่อหน้าต่อตากันเป็นจำนวนมาก

สังคมจะอยู่ได้อย่างไรหากต้องเจอกับภัยคุกคามที่มาในรูปของโรคระบาดที่คร่าเอาชีวิตของ “เสาหลัก” ของการทำมาหากินของประเทศนั้นๆ

ประมาณกันว่า ประมาณ 8-10% ของคนหนุ่ม-สาวขณะนั้นมีอันต้องตายเพราะติดเชื้อของโรคระบาดช่วงนั้น

แต่แม้ในขณะที่โรคระบาดกำลังทำลายชีวิตคนทั้งโลก การสู้รบของสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ยังร้อนแรงต่อเนื่อง

ที่ตายด้วยโรคระบาดก็ตายไป ที่เสียชีวิตด้วยกระสุนและระเบิดที่ยิงและโยนใส่กันก็สูญหายคู่ขนานกันไป

และที่ตายด้วยโรคระบาดในสนามรบก็มีไม่น้อย…เพราะทหารของฝ่ายต่างๆ ใช้ชีวิตอยู่ใกล้ชิดกันในสมรภูมิ จึงติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

มนุษย์เข่นฆ่ากันเองในสงคราม โดยหารู้ไม่ว่าทุกฝ่ายที่ประหัตประหารกันอยู่นั้นเกิดมีศัตรูร่วมมาทำลายชีวิตของนักรบทุกฝ่าย

นั่นคือไวรัสไข้หวัดใหญ่

 

โรคระบาดครั้งนั้นถูกเรียกขานเป็น Spanish Flu เพราะประเทศสเปนวางตัวเป็นกลางในสงคราม และเป็นประเทศแรกที่รายงานการติดเชื้อ

ความจริงก่อนหน้านั้นทั้งจีน, ฝรั่งเศส และสหรัฐ ต่างก็มีคนติดเชื้อไข้หวัดใหญ่นี้แล้ว

แต่เพราะการควบคุมการออกข่าวระหว่างสงคราม ทำให้สื่อทั้งหลายในประเทศเหล่านั้นไม่อาจจะรายงานเรื่องนี้ได้

เพราะหวั่นว่านักรบของตนจะเสียขวัญ และประชาชนจะตื่นตระหนก

แค่ข่าวสงครามก็ทำให้เครียดและสิ้นหวังพอแล้ว รัฐบาลต่างๆ จึงเซ็นเซอร์ข่าวเรื่องโรคระบาดไม่ให้มีการเปิดเผยความจริงแต่อย่างใด

เมื่อสเปนเป็นประเทศเดียวที่สื่อเสนอข่าวนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า Spanish Flu จนถึงทุกวันนี้

ที่กลายเป็นเรื่องใหญ่ของกษัตริย์สเปน “อัลฟอนโซที่ 13” และผู้นำในรัฐบาลหลายท่านติดเชื้อหวัดนี้ด้วย

ทำให้มีการโยงประเทศสเปนกับการระบาดของหวัดใหญ่ครั้งนั้นอย่างเหนียวแน่นมากขึ้นไปอีก

ผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาเรื่องนี้บอกว่าในกระบวนการธรรมชาติปกติ (แต่ไม่เสมอไป) นั้นเจ้าไวรัสตัวนี้จะลดความรุนแรงลงตามกาลเวลา

เพราะเชื่อกันว่าไวรัสตระหนักว่าการที่มันจะมีฤทธิ์เดชที่แพร่เชื้อต่อไปได้นั้นจะต้องไม่ฆ่าคนที่ช่วยเป็นพาหะให้

แม้ถึงปี 1920 หลังจากเริ่มแพร่ระบาดมาได้ปีเศษๆ แล้ว ภัยคุกคามจากไวรัสตัวนี้ก็ยังไม่หายไป

แต่จำนวนคนสียชีวิตเริ่มลดลง

นักวิทยาศาสตร์บางคนเริ่มหันไปทำวิจัยหัวข้ออื่น

แต่ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาล Johns Hopkins ที่ทุ่มเทศึกษาเจ้า Spanish Flu นี้ส่งเสียงออกมาดังๆ ว่า

เป็นเรื่องเสื่อมเสียศักดิ์ศรีของนักวิจัยทางการแพทย์อย่างยิ่งที่ยอมให้การระบาดครั้งนั้นผ่านไปโดยไม่มีผู้เชี่ยวชาญสืบเสาะหาสาเหตุของการเกิดโรคระบาดที่ฆ่าคนจำนวนมากมายอย่างนั้น

แต่น้อยคนจะรู้ตอนนั้นว่าไวรัสตัวนี้ไม่ได้หายไปพร้อมกับจำนวนคนที่ติดเชื้อและเสียชีวิตน้อยลงจนกลายเป็น “ไข้หวัดตามฤดูกาล”

เพราะต่อมาในปี 2009 นักวิจัยเชี่ยวชาญด้านไข้หวัดใหญ่สองคนแห่ง National Institute of Health ชื่อ David Morens กับ Jeffery Taubenberger เขียนบทความร่วมกับหมอคนดังของสหรัฐ Anthony S. Fauci ตีพิมพ์ในนิตยสารทางการแพทย์ชื่อดัง New England Journal of Medicine

ตอนหนึ่งระบุว่า

“รุ่นหลาน” ของหวัด 1918 นั้นได้รับมรดกตกทอดจากรุ่นแรกและสามารถทำให้เกิด “ยุคแห่งโรคระบาด” ที่ทอดยาวมากว่า 100 ปี

ตอนที่บทความนี้ได้รับการตีพิมพ์นั้นเป็นช่วงเดียวกับที่ไข้หวัดสายพันธุ์ H1N1 กำลังแพร่ระบาด

มันคือไวรัสรุ่นที่ 4 ที่สืบทอดมาจากรุ่น 1918

นักวิทยาศาสตร์คณะนี้ยืนยันว่าโรคระบาดหลังจาก 1918 อีกหลายครั้งเช่นเมื่อปี 1957, 1968 และ 2009 นั้นล้วนแล้วแต่เป็นการส่งไม้ต่อจากไวรัสรุ่นปู่-ทวด 1918 ทั้งสิ้น!

 

ดังนั้น หากจะถามว่าไข้หวัดระบาดครั้งประวัติศาสตร์ของปี 1918 นั้นจบลงอย่างไร คำตอบที่ถูกต้องที่สุดก็คือ

มันไม่เคยหายไปอย่างหมดสิ้น

ไวรัสหวัดใหญ่ 1918 เพียงแต่แปลงร่างกลายพันธุ์และออกลูกออกหลานเพื่อรอจังหวะช่องทางที่มันจะเติบใหญ่และอาละวาดอีกครั้งหนึ่ง

ไวรัสฉลาดขึ้น ปรับตัวได้คล่องแคล่วขึ้น และสั่งสม “ลูกเล่นแห่งวิวัฒนาการ” ของมันเองเพื่อรอโอกาสที่จะโจมตีเท่านั้นเอง

ความเหมือนและความต่างของ ไวรัส H1N1 กับ Corona Virus ปัจจุบันมีประเด็นที่น่าสนใจ

ความเหมือนคือทั้งสองมาจากสัตว์มีปีก ตัวหนึ่งมาจากนก อีกตัวมาจากค้างคาว

ทั้งคู่เป็นไวรัสทางเดินหายใจ

ทั้งสองทำให้ประชาชนต้องสวมหน้ากากในที่สาธารณะ

ทั้งคู่บังคับให้เมืองและโรงเรียนต้องปิดตัวลง

และที่เหมือนกันอีกอย่างคือในทั้งสองกรณีนั้น ผู้นำรัฐบาลทำให้ปัญหาหนักหน่วงขึ้นด้วยการมองข้ามสัญญาณเตือนภัยตอนแรกๆ ที่เกิดการระบาด

แต่ Influenza virus กับ Corona Virus ไม่ใช่ไวรัสตัวเดียวกัน

ผู้รู้บอกว่าแพทย์ไม่สามารถจะใช้วิธีการรักษาคนติดไข้หวัดใหญ่มาใช้กับคนติดเชื่อโควิด-19 ได้

เพราะมันเป็นไวรัสคนละประเภท คนละตระกูล คนละสายพันธุ์

สำหรับไข้หวัดใหญ่นั้นจะแสดงอาการหลังติดเชื้อภายใน 1-4 วัน

แต่โคโรนาไวรัสนั้น เรื่องของเวลาจะถูกยืดออกไปไม่ว่าจะเป็นอาการ, ความป่วยไข้และแม้แต่อาการแทรกซ้อนในระยะยาว

ยิ่งเมื่อไวรัสตัวใหม่นี้สามารรถจะไปซ่อนตัวอยู่ในมนุษย์ได้โดยไม่แสดงอาการ ก็ยิ่งทำให้การป้องกันการแพร่ระบาดยากเย็นขึ้นอีกหลายเท่า

ดังนั้น การเข้าใจความเหมือนและความต่างของโรคระบาด 1918 กับ 2021 วันนี้จึงช่วยเป็น “กระจกสะท้อนความหมายที่แท้จริง” สำหรับวันนี้

 

มีคำเตือนว่าอย่าได้ท้อเพราะสงครามนี้ยืดเยื้อยาวนานแน่

ถ้าหากจะถามว่าการระบาดของปี 1918 บอกอะไรให้เรารู้ว่า Covid-19 วันนี้จะจบอย่างไร

เกจิอาจารย์ท่านหนึ่งตอบว่า

“คำตอบที่น่าเศร้าคืออดีตไม่ได้บอกอะไรให้เราหาทางออกจากปัจจุบันมากนัก…”

เพราะกุญแจสำคัญคือคำว่า Coronavirus ครั้งนี้มันมาพร้อมกับคำว่า “novel” หรือ “ใหม่”

ใหม่…แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

หรือมีอะไรคล้ายๆ กับที่เคยมาก่อน แต่ก็ไม่เหมือนกันทั้งหมด มิหนำซ้ำยังมีอะไรใหม่ที่แปลกแยกไปจากเดิมในแหวกแนวไปอย่างคาดไม่ถึงอีกด้วย

ก็เหมือนที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านบอกไว้คือ

“เราสู้ไปเรียนรู้ไป…อย่าเพิ่งหมดแรงเสียก่อนก็แล้วกัน”