ไซเบอร์ วอชช์เมน : เมื่อ “ปัญญาประดิษฐ์” ปรากฏ เราควรกลัวหรือตื่นเต้นดี?

ชัยชนะของ “อัลฟ่าโกะ” เหนือเซียนหมากล้อมแชมป์โลกเมื่อเดือนก่อน อาจเป็นจุดเปลี่ยนทั้งในความรู้สึก และความเชื่อที่มีมาแต่เดิม กับสิ่งที่เรียกว่า “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “เอไอ” (อย่าไปสับสนกับตัวย่อของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ทั้งที่ใช้ตัวย่อเดียวกัน) หลังจากเอาชนะสิ่งมีชีวิตที่ภูมิใจในเรื่องสติปัญญาและเป็นผู้สร้างสิ่งประดิษฐ์นี้ขึ้นมาอย่างมนุษย์ สิ่งที่ตามมาจึงเต็มไปด้วยภาพแง่ลบต่างๆ ที่อาจหมายถึง “เปลี่ยนโฉมอารยธรรม” ถึงกับคิดไปว่า

วันข้างหน้าอาจไม่ใช่ยุคของมนุษย์อีกแล้ว แต่เป็นยุคของเครื่องจักรและสมองกล มนุษยชาติอาจกำลังไปสู่จุดจบก็เป็นได้ หรือบางที เราอาจมองโลกมืดมนไปหน่อย

เข้าใจว่าอินกับภาพยนตร์อย่างคนเหล็ก ที่หุ่นยนต์อาจลุกขึ้นมาทรยศและฆ่าล้างมวลมนุษย์ให้หมดจากโลก นั้นเป็นเพราะบทหนังมันกำหนดไว้ว่ามนุษย์สามารถเอาชนะภัยที่ตัวเองสร้างขึ้นมาได้ไหม

แต่ตอนนี้ เรากลับมา ณ ปัจจุบันก่อน

 

ก่อนที่จะมีเอไอขึ้นมา มนุษย์ได้สร้างระบบประมวลข้อมูลที่มีเพียงชุดคำสั่งและตัวอักษรเพียงไม่กี่ตัว แต่นั่นได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนมาถึงปัจจุบันและช่วยเหลือมนุษย์ในหลายเรื่อง หากไม่มีสิ่งประดิษฐ์ที่ว่านั้นคือ “คอมพิวเตอร์”

สิ่งประดิษฐ์นี้ ได้เป็นหมุดหมายแรกของการสร้างระบบประมวลและเครือข่ายข้อมูลมหาศาล จากที่เก็บเข้าคลังที่เป็นตู้ทรงสูงที่เรียกว่า “ซูเปอร์คอมพิวเตอร์” สู่ข้อมูลที่ลอยบนอากาศ ไหลเวียนไปกับพลังของอินเตอร์เน็ต แล้วเราได้ต่อยอดวิทยาการ ดึงจินตนาการของหุ่นยนต์รับใช้ที่จะมีแต่ในภาพยนตร์หรือการ์ตูน ออกมาโลดแล่นมีชีวิตอยู่บนโลกของเรา

ทำให้มีความคิด และตัดสินใจเองบนชุดข้อมูลและคำสั่งที่เรากำหนด กลายมาเป็นเอไออย่างที่เราได้ยินกันในตอนนี้

เราใช้เอไอช่วยเหลือ สนับสนุนกิจกรรมหลายอย่างของเรา พร้อมๆ กับที่เราพัฒนาสิ่งประดิษฐ์นี้ไปด้วย ทำให้บริษัทหลายแห่งโดยเฉพาะกลุ่มไอทีและเทคโนโลยีขั้นสูงทุ่มทุนวิจัยและพัฒนา

ยกตัวอย่างเช่น กูเกิล ที่เรารู้จักในเรื่องการค้นหา จนเกิดประโยคติดปาก “ถามอากู๋” คงไม่สามารถบริหารข้อมูลนับล้านล้านชิ้น ประมวลผลสิ่งที่เราค้นหามากมายได้ หากไม่มีเอไอ

ทำให้กูเกิลกลายเป็นบริษัทแรกของโลกที่มีการวิจัยเอไอ และถูกใช้กับผลิตภัณฑ์หลักของกูเกิล เช่น Gmail, Google Street View, Google Photos, Google Translate รวมถึงแพลตฟอร์มชื่อดังอย่าง YouTube

หรืออีกตัวอย่างเช่น แอปเปิ้ล ก็มีเอไอเหมือนกัน หากเอ่ยชื่อทุกคนรู้จักแน่นอน นั่นคือ สิริ (Siri) หรือสิริโสภาที่ผู้เขียนชอบเรียก นี่คือเอไอที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเราค้นหาสิ่งต่างๆ ที่เราต้องการ รวมถึงคุยโต้ตอบกับผู้ใช้งานได้

ไม่เพียงเท่านี้ สิ่งที่เราให้เอไอใช้ทำอะไรต่อมิอะไร ก็จะถูกบันทึกเป็นข้อมูลด้วย นั่นทำให้บริษัทต่างๆ ได้ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคไว้ใช้กำหนดแผนการตลาด รวมถึงบริษัทใช้เอไอสร้างระบบการจัดการสำหรับอีคอมเมิร์ซอีกด้วย

แม้แต่ข้อมูลทางการแพทย์ของเราเอง เอไอจะประมวลตั้งแต่ประวัติการรักษา วินิจฉัยโรค ความเสี่ยงต่อโรคภัย หรือแม้แต่ข้อมูลพื้นฐานทางพันธุกรรม ก็สามารถทำให้เรามีชีวิตยืนยาวและได้รับการรักษาที่แม่นยำมากขึ้นแต่เกิดผลข้างเคียงน้อยลง

 

ที่กล่าวมาอาจเป็นด้านดีของเอไอ และบทบาทของมันในการสนับสนุนช่วยเหลือ ให้ชีวิตมนุษย์มีคุณภาพดีขึ้น แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เพราะเอไอแก้ปัญหาได้ไม่หมด โดยเฉพาะเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่นักเศรษฐศาสตร์มองว่าอาจทำให้ถ่างกว้างมากขึ้น

ขณะที่ความกังวลถึงด้านลบของเอไอ ก็มีจุดที่เข้าใจและน่าคิด อย่างเช่นไม่นานมานี้ สหรัฐกำลังออกกฎหมายเพิ่มมาตรการคุมเข้มกับบริษัทที่จีนเข้ามาลงทุนด้านเอไอที่ซิลิคอน วัลเลย์ เพราะหวั่นกันว่าจะใช้สิ่งประดิษฐ์ที่พัฒนาในสหรัฐกลับไปเพิ่มขีดกำลังการรบให้กับกองทัพจีนซึ่งเป็นมหาอำนาจคู่รักคู่ปรับ

หรือเอไอสามารถควบคุมเครื่องจักรให้ผลิตสินค้าและบริการได้เอง เสี่ยงทำให้แรงงานที่ประกอบอาชีพที่เครื่องจักรสามารถทำแทนได้ต้องตกงานกันไป

ซึ่งในเรื่องนี้ แดน เวลด์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยวอชิงตันกล่าวว่า เอไอได้สร้างความสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์และกำลังถูกติดตั้งเป็นวงกว้าง แต่ความสำเร็จนี้ยังนำไปสู่ความท้าทายครั้งใหญ่อีกด้วย เพราะเอไอมีศักยภาพที่จะเพิ่มกำลังการผลิตจนทำให้ผู้คนตกงานกันเป็นจำนวนมาก

ผลที่เกิดขึ้น เอไอจะทำให้ความต่างของรายได้เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ บางทีอาจมากกว่าเทคโนโลยีอื่นที่เรามีอยู่ในตอนนี้ เราทุกคนจำเป็นต้องคิดหาทางรับมือกับเรื่องนี้อย่างจริงจังและเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม บางส่วนมองว่าเครื่องจักรไม่ได้ทำลายมนุษย์อย่างที่เรากังวล โดย นายโนอาห์ สมิธ คอลัมนิสต์เศรษฐกิจของบลูมเบิร์กระบุว่า จริงอยู่ที่เรากังวลเพราะด้วยเหตุผลที่มีอยู่ แม้ว่าการปรับใช้เทคโนโลยีในอดีตไม่ได้ทำให้การใช้แรงงานมนุษย์เป็นสิ่งล้าสมัย มันไม่ได้รับประกันว่าเทคโนโลยีในอนาคตจะทำงานแบบเดียวกัน แต่อย่างน้อยในตอนนี้ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ยังไม่ได้ทำให้เราตกงาน

อีกทั้งเอไอยังเป็นพื้นที่ให้เราได้เรียนรู้ไปพรัอมกับมัน อย่างที่ จอห์น เพียวริเออร์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีของคลาวด์กีคส์ กล่าวว่า เราได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อเรียนรู้ อย่างแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ตโฟนสอนภาษาใหม่หรือเทคนิคทำสมาธิให้กับเรา หรือระบบจำลองสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อการฝึกให้กับนักบินและนักกีฬากอล์ฟ หรือยานอวกาศที่ส่งไปยังนอกโลก ได้ส่งข้อมูลกลับมาให้เรา

 

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เอไอคือวิวัฒนาการของเทคโนโลยี

แต่มันไม่ได้หมายความว่า มนุษย์อย่างเราเป็นส่วนเกิน

ขณะที่เทคโนโลยีฉลาดขึ้น เราก็ฉลาดไปพร้อมกับมันด้วย

หากเอไอถูกโปรแกรมให้เข้าใจสิ่งที่เราคิด พวกมันจะสามารถเติมเต็มช่องว่างที่เราอ่อนแอที่สุดได้

ทั้งหมดนี้ จึงเป็นเพียงมุมมองที่เราคิดในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคต

แต่โอกาสในตอนนี้ ทำให้เรารู้ว่าเราจะใช้สิ่งเหล่านี้กับวันข้างหน้าอย่างไร

อยู่ที่ตัวเราทุกคน