เดือนรอมฎอนระอุเมื่อกาตาร์ถูกตัดความสัมพันธ์ทางการทูต : บทความพิเศษ

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน หรือตรงกับวันที่ 10 เดือนรอมฎอน ตามปฏิทินอิสลามซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของโลกมุสลิมชาติสมาชิกกลุ่มสันนิบาตอาหรับ (ประเทศมุสลิม) ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย, บาห์เรน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, อียิปต์, หลังจากนั้น ลิเบีย, เยเมน และมอริเตเนีย นอกจากนี้ ยังมี มอริเชียส และมัลดีฟส์ ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศกาตาร์

ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่า รัฐบาลโดฮา ให้การสนับสนุนผู้ก่อการร้าย และแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น

ในขณะผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานว่าเหตุผลหลักๆ ที่อยู่เบื้องหลังวิกฤตทางการทูตครั้งนี้ ได้แก่ 1.สนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม 2.ท่าทีต่ออิหร่าน 3.ความขัดแย้งในเขตปกครองด้านตะวันออกของลิเบีย

ส่วนวันที่ 7 มิถุนายน 2560 รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบียแถลงจุดยืนสำคัญว่ากาตาร์จะเลือกใครระหว่างกลุ่มภราดรภาพมุสลิมและขบวนการฮามาส เพื่อแลกกับการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจกับพวกเรา

ซึ่งสอดคล้องกับนักวิเคราะห์ทั่วโลกว่า ประเทศเหล่านี้ต้องการกำจัดภราดรภาพมุสลิมและขบวนการฮามาสเพราะกลัวอำนาจและบัลลังก์ของตนในประเทศจะสั่นสะเทือนหลังเกิดอาหรับสปริงส์เพียงแต่ไม่มีโอกาสเท่านั้น

และกระทบชิ่งไปที่สื่ออัลจาซีเราะห์ ที่มีอิทธิพลต่อความคิดเชิงปฏิรูปการเมือง การปกครองสังคมอาหรับ ซึ่งได้โอกาสตัดสัญญาณสื่อนี้ในประเทศตนด้วยเช่นกัน

ในความเป็นจริงแล้วกาตาร์เองไม่ใช่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ถูกตัดความสัมพันธ์ทางการทูต และโลกอาหรับก็มีความขัดแย้งตลอดมาในอดีตถ้าเข้าใจพลวัตการเมืองโลกอาหรับ

ดร.ศราวุธ อารีย์ ให้ทัศนะซึ่งสามารถสรุปได้ว่า “ถ้าจะศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับทั้ง 6 ประเทศพบว่า ดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศเหล่านี้ ล้วนเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรออตโตมาน (Ottoman Empire) หลังจากการล่มสลายของอาณาจักรออตโตมานในปี 1923 ทำให้ดินแดนต่างๆ ในอ่าวอาหรับดังกล่าวกลายเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิอังกฤษ และประเทศอาหรับเหล่านี้ที่เคยอยู่ภายใต้อาณาจักรออตโตมานก็ได้รับเอกราชจนเจ้าผู้ครองนครในแต่ละท้องที่ก็ได้เป็นผู้นำประเทศ

ในประวัติศาสตร์เจ้าผู้ครองนครในแต่ละท้องที่เหล่านี้ล้วนเติบโตมาจากการเป็นผู้นำของตระกูลชนเผ่าใหญ่ๆ ในดินแดนอาหรับมาก่อน เช่น ตระกูลอิบนุสะอูด (Ibn Saud) แห่งซาอุดีอาระเบีย ชนเผ่าอุตัยบาอฺ (Utaiba) ของคูเวต ตะกูลอัฏ-ฏอนี (Al-Thani) แห่งรัฐกาตาร์ ตระกูลอัล-นะฮ์ยาน (Al-Nahyan) แห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตระกูลอัล-เคาะลีฟะฮ์ (Al-Khalifah) แห่งบาห์เรน และตระกูลอัส-สะบาฮ์แห่งคูเวต (Al-Sabah) เป็นต้น

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ระบอบกษัตริย์ในกลุ่มประเทศอ่าวเกือบทั้งหมด ถูกท้าทายโดยพลังอำนาจของกลุ่มนิยมแนวทางการเมืองอิสลาม (Political Islam) และการเรียกร้องประชาธิปไตย

แม้พลังทั้ง 2 ดังกล่าวจะมีการเรียกร้องที่ต่างกันบางประการ แต่พวกเขาทั้งหมดก็เห็นพ้องต้องกันถึงความไม่เหมาะสมของระบบการสืบทอดอำนาจทางสายเลือด

พลังท้าทายดังกล่าวถือเป็นภัยคุกคามต่อบรรดาระบอบกษัตริย์ในกลุ่มอ่าวอาหรับทั้งหลาย

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ผู้ปกครองต้องหาทางหยุดยั้งกระแสต่อต้าน โดยพยายามริเริ่มระบบการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับหนึ่ง

เช่น คูเวตได้จัดให้มีการเลือกตั้งหลังจากที่สามารถหลุดออกมาจากการยึดครองของอิรัก

ซาอุดีอาระเบียจัดให้มีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2005 หลังจากถูกกดดันจากทั้งการเมืองภายในและปัจจัยเชิงสถานการณ์ภายนอก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ใช้ระบอบกษัตริย์ในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับส่วนใหญ่ ก็จัดให้มี “สภาที่ปรึกษา” (Majlis as-Shura ในภาษาอาหรับ) ซึ่งได้มาจากการแต่งตั้งมากกว่าการเลือกตั้ง และอำนาจของสภา ก็คือ พิจารณาประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ที่สถาบันกษัตริย์พอจะอนุญาตให้ได้ มิใช่เป็นคณะที่จะมีอำนาจมากำหนดกฎหมายให้มีผลบังคับใช้

แม้กระนั้นก็ตาม กระแสการต่อต้านระบอบกษัตริย์ที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น ก็ทำให้ผู้ปกครองของหลายประเทศในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับเริ่มหันมาพิจารณาถึงแนวทางการปฏิรูป เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองอย่างจริงจังและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น

แม้กระนั้นก็ตาม เจ้าผู้ครองรัฐหรือกษัตริย์ ก็ยังคงมีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ ทรงคัดเลือกและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี (ในบางกรณีก็รวมถึงคณะรัฐมนตรีด้วย) ปรกติรูปแบบการเมืองในลักษณะนี้จะไม่มีพรรคการเมืองหรือพรรคฝ่ายค้าน อำนาจการตัดสินใจทางการเมืองมักผูกขาดอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองรัฐ โดยเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ อย่างการต่างประเทศและปัญหาความมั่นคงของชาติ

https://www.facebook.com/srawutaree/posts/10212228291956501

สําหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหรือกำลังเกิดขึ้นซึ่งนักวิเคราะห์มองว่ามีหลายประการ เช่น

1. ความมั่นคงทางด้านอาหารโดยกาตาร์นำเข้าจากเพื่อนบ้านโดยเฉพาะเดือนถือศีลอด

2. การเงินและลงทุน ที่จะมีผลต่อว่า ภาวะเงินเฟ้อ การลงทุนและตลาดหุ้น

3. การก่อสร้างไม่ว่าวัสดุที่นำเข้า ตลอดจนคนงานจากอียิปต์ที่เข้าไปทำงาน

4. การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกอีก 5 ปีข้างหน้า ที่สำคัญที่สุดไม่เฉพาะความแตกแยกระดับผู้นำแต่จะส่งผลต่อผู้นำศาสนาที่เริ่มนำหลักศาสนามาสนับสนุนทั้งสองฝ่าย อันส่งผลต่อมวลชนมุสลิมทั้งในโลกอาหรับ มุสลิมหรือแม้แต่สังคมมุสลิมไทยซึ่งเริ่มใช้โซเซียลมีเดียโจมตีซึ่งกันและกัน

หากปล่อยให้ความขัดแย้งนี้ดำเนินต่อไป ผลกระทบก็จะมีมากขึ้นและจะส่งผลต่อสันติภาพโลกซึ่งโลกอาหรับเองก็มีสงครามกลางเมืองอยู่ทั่วไม่ว่าอิรัก ซีเรีย เยเมน

ดังนั้น ในเดือนรอมฎอนอันประเสริฐและวันอีดิลฟิตร์ที่จะมีขึ้นวันที่ 25 หรือ 26 มิถุนายน 2560 ขอพรต่อพระเจ้าให้วิกฤตครั้งนี้ผ่านไปด้วยดีโดยใช้การทูตอย่างสันติเจรจารวมทั้งสนับสนุนแนวคิดผู้นำตุรกีประธานาธิบดีแอร์โดฆอนที่มีความกระตือรือรhนในการประสานไกล่เกลี่ยระหว่างขั้วทั้งสอง

ซึ่งท่านได้กล่าวไว้เนื่องในงานละศีลอดแก่คณะทูตานุทูตประเทศมุสลิมในอังการ่าว่า

“เราพร้อมจะทำทุกอย่าง เท่าที่เราสามารถเพื่อแก้ไขวิกฤตนี้ และในโอกาสนี้ข้าพเจ้าได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับผู้นำต่างๆ ทั้งเจ้าผู้ครองกาตาร์ พร้อมแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ่งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ข้าพเจ้าได้คุยโทรศัพท์กับกษัตริย์ ผู้ทรงถวายบริการแก่สองมัสยิดอันทรงเกียรติ ประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซีย กษัตริย์คูเวต พร้อมแลกเปลี่ยนทัศนะ ในกรณีวิกฤตนี้ ข้าพเจ้ายังต่อโทรศัพท์พูดคุยกับประธานาธิบดีฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีเลบานอน ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กษัตริย์บาห์เรน กษัตริย์จอร์แดนและนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เราจะทุ่มเทพละกำลังและความสามารถเพื่อให้วิกฤตนี้ผ่านพ้นด้วยดีในระยะเวลาที่เร็วที่สุด ขอให้ทุกท่านคำนึงถึงความประเสริฐของเดือนรอมฎอนและคำนึงถึงความต้องห้ามของเลือด ทรัพย์สิน และศักดิ์ศรีของมุสลิมด้วยกัน ดังหะดีษนบีที่กำชับให้เราปฏิบัติตาม มุสลิมทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมแก้ไขเหตุการณ์ที่อ่อนไหวนี้อย่างรอบคอบ และสุขุมคัมภีรภาพ เราจะเร่งดำเนินในทุกวิถีทางเท่าที่มีความสามารถเพื่อให้วิกฤตนี้ยุติลงอย่างรวดเร็ว…ขอแสดงความยินดีและขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติมาร่วมงานในวันนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารอมฎอนครั้งนี้ จะเป็นชานชาลาที่จุดประกายสร้างความดีและคุณประโยชน์แก่ประชาชาติโดยรวม”

(หมายเหตุโปรดดู https://youtu.be/-cA06rfyzkA แปลโดย อ.มัสลัน มาหะมะ)

แต่ก็มิได้หมายความว่าตุรกีจะมีความเหมาะสมทางการทูตในการเป็นคนกลางที่จะให้ทั้งสองฝ่ายมาคืนดีกันเพราะจุดยืนของตุรกีอีกฝั่งหนึ่งมองว่าหนุนกาตาร์

ดังนั้น ก็ควรมีองค์กรที่เป็นกลางพร้อมเป็นคนกลางให้ทั้งสองขั้วดีกันได้โดยวางเหตุผลว่าฉันถูก คุณผิด และยึดประโยชน์ส่วนรวมซึ่งเป็นภัยที่ร้ายกว่าหากเกิดสงครามหรือความสัมพันธ์ที่ยังคงตึงเครียดเช่นนี้ เพราะตลอดอาทิตย์นี้ผู้เขียนมีทัศนะว่าเพียงพอแล้วในการอธิบายเหตุผลแต่ละฝ่ายหรือแนวร่วมแต่ละฝ่าย