“พิชัย นริพทะพันธุ์” วิพากษ์พัฒนาการประชาธิปไตยไทย เพื่อไทยจะเสื่อมไปเอง “ถ้าไม่มีรัฐประหาร”

รวม 7 ครั้งที่เข้าค่ายทหารตามคำสั่งเรียกปรับทัศนคติ แต่กลับไม่มีทีท่าหยุดวิจารณ์รัฐบาลและ คสช. ฝ่ายหนึ่งเห็นดีเห็นงามตามความเคลื่อนไหว อีกฝ่ายเห็นเขาเป็นดั่งตัวป่วน สร้างความวุ่นวาย เล่นเกมการเมืองจนน่ารำคาญ

เรากำลังพูดถึง “พิชัย นริพทะพันธุ์” อดีต รมว.พลังงาน แกนนำพรรคเพื่อไทยสายตรง “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้ที่วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเขาแสดงออกอย่างคงเส้นคงวา

กระนั้น แม้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลทหาร แต่ก็ไม่ใช่ทุกเรื่อง เพราะการรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองเวลานี้ เป็นผลงานที่เขาพอจะมองได้ว่าจับต้องได้ เช่นเดียวกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) ที่เขาบอกว่า ประเทศไทยต้องการพื้นที่พัฒนาเขตอุตสาหกรรมเพื่อการเติบโตในอนาคต ดังนั้น อีอีซี จึงน่าจะตอบโจทย์

“มติชนสุดสัปดาห์” จับเข่าคุย “พิชัย นริพทะพันธุ์” ประเด็นการเมือง ตั้งโจทย์ว่า “อุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย” แม้หลายคนจะรู้สึกสะอิดสะเอียนเมื่อคำว่า “ประชาธิปไตย” ออกมาจากปาก “นักการเมือง” ก็ตาม

– รู้สึกอย่างไรที่คนไทยส่วนหนึ่งมองว่าคุณเป็นเหมือนตัวป่วน สร้างความวุ่นวาย

ต้องเปิดใจแล้วอ่านสิ่งที่ผมสื่อ ผมไม่ได้ป่วน ข้อมูลที่ใช้ล้วนมาจากหน่วยงานรัฐ ผมพูดตั้งแต่แรกเลยว่าเมื่อมีรัฐประหาร จะเกิดปัญหาความเชื่อมั่นของต่างประเทศ สุดท้ายก็เป็นปัญหาจริงๆ ผมวิจารณ์ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าพูดไม่ตรง ผมจะเสียเอง ไม่มีใครเชื่อผม ผมกลายเป็นตัวตลก ไม่ใช่ว่าผมเอะอะจะเลือกตั้งหรือประชาธิปไตย แต่ผมบอกว่า ถ้าคุณไม่กลับไปสู่ระบอบที่ทั่วโลกยอมรับ เขาก็ไม่เชื่อมั่นที่จะค้าขายลงทุน

– อย่างให้ช่วยวิเคราะห์ท่าทีต่อการเลือกตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เชื่อว่ามีการทำโพลจากฝ่ายความมั่นคง และพบว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งค่อนข้างมาก จึงมีความพยายามดิสเครดิตพรรคเพื่อไทยในทุกทาง ซึ่งเรื่องนี้ทหารไม่เข้าใจ ทุกครั้งที่ผมถูกเรียกปรับทัศนคติ ผมจะบอกนายทหารยศนายพลโท พลเอกเสมอว่า หากพวกคุณอยากชนะพรรคเพื่อไทย พวกคุณต้องคิดและทำให้ดีกว่าพรรคเพื่อไทย ก็แค่นั้น ไม่ยากเลย แต่หากคิดกันไม่ได้ ทำกันไม่เป็น ก็ยากที่จะชนะ

– แต่เราก็มองได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ พูดเพราะเป็นห่วงบ้านเมือง ไม่อยากให้กลับไปมีปัญหาเหมือนในอดีต

ความจริงหากปล่อยให้ระบอบประชาธิปไตยดำเนินไป ทุกพรรคการเมืองจะต้องมีขึ้นมีลง และพรรคเพื่อไทยก็เหมือนกัน หากปล่อยให้ดำเนินการไปตามระบอบ มีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง พรรคเพื่อไทยก็มีโอกาสที่จะเสื่อมถอยไปเอง ย้อนไปปี 2549 ถ้าไม่ปฏิวัติ พรรคไทยรักไทยก็เริ่มที่จะถดถอยและเสื่อมความนิยมแล้ว แต่พอปฏิวัติ ก็เท่ากับไปทำให้วงจรของระบอบหยุดชะงัก สุดท้ายเมื่อเรากลายเป็นพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย เราก็ได้รับความนิยมขึ้นมาใหม่ คือถ้าบอกว่าเราไม่ดี ก็ต้องปล่อยให้ประชาชนได้เรียนรู้เองว่าเราไม่ดีอย่างไร ผมเชื่อว่าหากปล่อยให้ระบอบประชาธิปไตยดำเนินไปโดยไม่มีอำนาจนอกระบบเข้ามาขัดขวาง ทุกพรรคการเมืองจะมีขึ้นมีลง และพรรคการเมืองก็จะแข่งกันพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น

ปี 2557 ที่มีการปฏิวัติ หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่บอยคอต ในภาวะที่มีการประท้วงและประชาชนไม่พอใจกันมาก พรรคเพื่อไทยเองก็ยังประเมินว่าเราน่าจะได้คะแนนเสียง ส.ส. ลดลง ไม่น่าเกินครึ่ง อาจจะเหลือแค่ 200-210 เสียงเท่านั้น ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์สามารถที่จะจับมือกับพรรคอื่นตั้งรัฐบาลได้ และพรรคเพื่อไทยก็จะไปเป็นฝ่ายค้าน ประเทศไทยก็ไม่เสียหายขนาดนี้ แต่พอพรรคประชาธิปัตย์บอยคอตและต่อมามีการปฏิวัติ ผลก็คืออย่างที่เห็นในวันนี้

– ถ้ามองแต่การเลือกตั้งอย่างเดียว วันหนึ่งเกิดวิกฤตขึ้นมาจะทำอย่างไร

ประเทศอื่นๆ เขาก็มีวิกฤตเหมือนเรา เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย หรือแม้แต่สหรัฐ แต่เขาก็ใช้ระบอบประชาธิปไตยเข้ามาแก้ไข ไม่ต้องมีปฏิวัติ ประเทศเขาก็เดินหน้าได้ พัฒนาได้ ประชาชนไม่ลำบาก ดังนั้นหากพัฒนาหลักคิดของระบอบประชาธิปไตย เคารพเสียงประชาชนส่วนใหญ่ วิกฤตไม่น่าจะเกิด นอกจากจะพยายามให้มีอำนาจนอกระบบ

– อะไรที่ทำให้มั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยจะกลับมาชนะเลือกตั้ง

ผมว่า ยิ่ง คสช. อยู่นานก็ยิ่งเพิ่มคะแนนเสียงให้พรรคเพื่อไทย เพราะโอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นได้มีน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย ต่างประเทศเขาไม่เอาด้วย การลงทุนหายหมด ที่โตได้ก็โตแบบกระท่อนกระแท่น และยิ่งโจมตีพรรคเพื่อไทยมากเท่าไหร่ ประชาชนก็จะรู้สึกว่าพรรคเพื่อไทยถูกกลั่นแกล้งมากเท่านั้น ประชาชนจะเลือกพรรคเพื่อไทยเพราะรู้สึกว่าไม่อยากให้ใครมาบังคับ บางคนที่ในอดีตไม่ชอบพรรคเพื่อไทยก็อาจจะเลือกได้ เพราะไม่ชอบรัฐบาลทหารมากกว่า อีกทั้งพรรคคู่แข่งก็มีน้อย พรรคประชาธิปัตย์เองก็ยังหาจุดยืนไม่ได้ว่าจะสู้เพื่อประชาธิปไตยเหมือนในอดีต หรือจะเชียร์ทหาร

ยิ่ง กปปส. กลับมาเข้าพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งๆที่เคยประกาศว่าจะไม่เล่นการเมืองแล้ว ยิ่งทำให้ประชาชนเห็นชัดว่าพรรคประชาธิปัตย์และ กปปส. มีส่วนร่วมทำให้เกิดการปฏิวัติ ทำให้ประเทศไทยเสียหาย ประชาชนลำบาก เรื่องเหล่านี้ประชาชนมีวิจารณญาณ เขาไม่ได้โง่ เขาคิดได้ ส่วนพรรคอื่นก็ยังยาก โดยเฉพาะพรรคทหาร ผมอยากเห็นเหมือนกันว่าพรรคทหารจะได้กี่เสียง

– คิดว่านักการเมืองเป็นอุปสรรคสำคัญต่อพัฒนาการการเมืองไทยหรือไม่

แน่นอน นักการเมืองมีส่วน แต่ถามว่าหากไม่ให้นักการเมืองบริหารแล้วจะให้ใครทำ และอุปสรรคคือการเมืองไทยมีอำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซงด้วยมีปฏิวัติบ่อย ทำให้การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยถูกขัดขวาง และยังมีการแบ่งชนชั้นกันในประเทศ ชนชั้นบนพยายามที่จะรักษาอำนาจของตน โดยไม่ยอมปล่อยอำนาจให้กับประชาชนส่วนใหญ่ บางครั้งก็อ้างว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้บ้าง ไม่ฉลาดบ้าง เพื่อให้อำนาจอยู่กับพวกตน ทั้งๆ ที่หลายประเทศในโลกซึ่งประชาชนมีความรู้น้อยกว่าประเทศไทย เขาก็สามารถพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไปได้ดี ดังนั้นการให้เวลากับระบอบประชาธิปไตยเพื่อพัฒนา เป็นเรื่องจำเป็น

– คนไทยส่วนหนึ่งรู้สึกว่านักการเมืองเป็นผู้ร้ายที่เข้ามาโกงกินประเทศชาติ

นักการเมืองมีทั้งคนดีและไม่ดี จะเหมาว่านักการเมืองเลวหมดหรือเถียงว่าดีหมดคงไม่ได้ แต่นักการเมืองที่มาจากระบอบประชาธิปไตย เป็นตัวแทนของประชาชน หากทำไม่ดี ด้วยยุคข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน ประชาชนจะรู้ได้ และก็จะไม่เลือกเข้ามาอีก การเลือกตั้งทุกครั้งจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้แทนถึง 30% นั่นคือการพัฒนาของระบบการคัดสรรคน ควรปล่อยให้ระบบนี้ดำเนินไป โดยไม่มีอำนาจนอกระบบมาขวาง โดยระบบจะคัดสรรนักการเมืองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่จะดีวันนี้หรือพรุ่งนี้ แต่มันเป็นพัฒนาการ กระนั้นอำนาจนอกระบบก็มักจะใช้วาทกรรมว่านักการเมืองเป็นผู้ร้าย ทั้งๆ ที่พอปฏิวัติมา พวกที่เข้ามาก็ถือเป็นนักการเมืองเช่นกัน และในอดีตถึงปัจจุบันก็พิสูจน์แล้วว่า ผู้มีอำนาจจากการปฏิวัติ ไม่ได้ดีกว่านักการเมืองจากการเลือกตั้งเลย

หากดูย้อนหลังจะพบว่า ประเทศพัฒนาในช่วงที่เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยมากกว่าเผด็จการ รัฐบาลเผด็จการตรวจสอบไม่ได้ด้วย ดังนั้นไม่อยากให้ประชาชนหลงเชื่อวาทกรรมว่านักการเมืองเป็นผู้ร้าย เพื่อหวังที่จะรักษาอำนาจ เพราะทุกคนที่เข้ามาสู่การเมืองก็คือนักการเมืองทั้งนั้น อยู่ที่จะมาจากการเลือกตั้งหรือยึดอำนาจเข้ามาเท่านั้นเอง แต่นักการเมืองจากการเลือกตั้งสามารถถอดถอนได้ ไม่เลือกเข้ามาได้ ส่วนนักการเมืองจากการยึดอำนาจ เราไม่สามารถที่จะเอาออกได้ นอกเสียจากเขาจะออกไปเอง

– ถ้าอย่างนั้น คิดว่ารัฐประหารครั้งนี้ให้บทเรียนอะไรกับคนไทยหรือไม่

คิดว่าคนส่วนใหญ่คงรู้สึกกันแล้วว่าการปฏิวัตินั้นทวนกระแสโลก ไม่ทำให้ประเทศก้าวหน้าได้ มีแต่จะเสื่อมถอย ประชาชนส่วนใหญ่คงรู้ถึงความลำบากทางเศรษฐกิจกันอย่างมาก อีกทั้งยังโดนจำกัดสิทธิเสรีภาพในความคิดเห็น คนไทยได้รับสิทธิเสรีภาพมาโดยตลอด ย่อมจะทนไม่ได้

– ประเมินการเมืองหลังการเลือกตั้งอย่างไร

ยังมองยาก และยังต้องดูการเจรจาต่อรองกับอำนาจนอกระบบ ว่าจะยอมให้ประเทศเดินหน้าหรือให้ประเทศล้าหลัง เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังสร้างเงื่อนไขไว้มาก รัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะทำงานได้ไม่ง่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของฝ่ายไหน เพราะจะติดข้อจำกัดมาก สุดท้ายต้องดูว่าประชาชนส่วนใหญ่อยากเห็นประเทศเป็นอย่างไร เพราะในที่สุดแล้วพลังของประชาชนจะขับเคลื่อนประเทศนี้ให้ก้าวหน้าไปได้ และรัฐบาลในอนาคตต้องเก่งและฉลาด มีการบริหารจัดการที่ดี มีการสื่อสารกับประชาชนอย่างต่อเนื่องว่าทำอะไร หรือไม่ได้ทำอะไร เป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง คือต้องเป็นรัฐบาลที่ดี ไม่งั้นคงถูกเล่นงานแน่

– ในฐานะนักการเมืองคนหนึ่ง อยากบอกอะไรกับผู้มีอำนาจ

ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก หากผู้มีอำนาจยังไม่พัฒนากรอบความคิด ก้าวตามการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน จะทำให้ประเทศไทยล้าหลังอย่างรวดเร็ว หากยังมีองค์ความรู้ไม่เพียงพอ และไม่ยอมพัฒนาวิสัยทัศน์ ยังพยายามย้อนยุคพาประเทศกลับไปในอดีต ผู้มีอำนาจก็จะกลายเป็นตัวถ่วงการพัฒนาของประเทศนี้ จะทำให้ประเทศนี้ล้าหลัง เช่นเดียวกันกองทัพเองจะต้องเข้าใจก่อนว่าโลกได้เปลี่ยนตลอดเวลา กรอบคิดของกองทัพคือการปกป้องประเทศ แต่วันนี้คือยุคของความชำนาญพิเศษ ไม่ใช่ว่าจะกระโดดเข้ามารัฐประหารได้เหมือนในอดีต และเมื่อเข้ามาแล้วคิดว่าตัวเองฉลาดที่สุด เก่งที่สุด สุดท้ายกลายเป็นปัญหาที่มากขึ้นเรื่อยๆ