อวตาร-นางนาค : ชนเผ่า เรื่องเล่าและภูมิภาค / อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

อวตาร-นางนาค

: ชนเผ่า เรื่องเล่าและภูมิภาค

สําหรับการพาตัวเองไปสู่ความน่าจดจำในละครเวทีตลอดกาลของฉันคือเรื่อง ‘อวตาร’ โดยโปรดักชั่นของ Cirque du Soleil (เซิร์ก ดู โซเล็ย)

นี่เป็นครั้งที่ 2 ของการดูละครเวทีที่มีส่วนทำให้ฉันเติบโตทางจิตใจ หลังจากราว 30 ปีก่อนของละครเรื่องแรกคือ ‘สู่ฝันอันยิ่งใหญ่’

นับตั้งแต่นั้น ความเข้าใจถึงพลังในละครเวทีก็ยังคงคุณค่าแม้จะหดหายไปบ้างตามอายุไขและกาลเวลา ทว่าเมื่อได้พบกับ ‘อวตาร’ ในคราบละครกายกรรมอีกครั้ง ทุกอย่างก็กลับมา

เพิ่มเติมกว่านั้น คือความนิยมต่อละครกึ่งกายกรรมผสมเทคนิค ‘เหนือจริง’ ในองค์ประกอบฉาก เวทีและแสงสีเสียง ที่ต่างไปจากละครดั้งเดิมแบบ ‘สัจนิยม’ ก็คลั่งไปด้วยพลังจักรกลของศิลปะ

โดยเฉพาะความชื่นชอบแต่ทุนเดิมในภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่แล้ว การดัดแปลงอวตารฉบับภาพยนตร์ของเดวิด คาเมรอน และเลือกแต่วิถีชนเผ่าต่างๆ เพื่อเผยถึงต้นทางวิถีมนุษย์และธรรมชาติ คือฐานรากที่ทะลุเข้าไปในจิตใจผู้ชมโดยไม่ยาก

เชื่อไหม หลายสิบปีมานี้ แม้ฉันจะเขียนถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในกัมพูชาไม่น้อย แต่กระนั้น ฉันก็ยังรู้สึก ‘เหินห่าง’ ต่อความจริงบางด้านที่เรามองไม่เห็นและเป็นตัวตนของพวกเขา

อย่างกระนั้นเลยว่า การเสพละครเวทีดีๆ แต่เพียงครั้ง ก็อาจนำเราตกผลึกสู่ทางลัดทางความคิด

ไม่เท่านั้น ‘อวตาร’ ยังทำลายกำแพง 2 ด้านที่ขังฉันไว้ในรูปความคิดที่มีต่อศิลปะและมายาอันแช่แข็งและเคลื่อนไหว จากอะนาล็อกที่คงรากแต่หยุดนิ่ง สู่วิถีดิจิตอลที่โถมถากและเคลื่อนไหว ณ คาบใดคาบหนึ่งของเวลา

ดูเหมือน ‘อวตาร’ จะทำให้เราเห็นภาพล่วงหน้าอีก 12 ปีต่อมาถึงอิทธิพลของนวัตกรรมเทคโนโลยีที่มีต่อวิถีสมัยใหม่ แต่อวตารในคราบละครเวทีกลับทำได้ลึกกว่าโดยเนื้อหาที่ส่องลึกลงไปจิตใจ ณ จุดที่เรามองเห็นรากเหง้านั้นว่าสำคัญต่อตนทั้งแบบปัจเจกและองค์รวม

นี่คือกระจกสะท้อนของวิถีชนเผ่าที่เราควรหวงแหน ไม่เท่านั้น บัดนี้ เรายังมีอวตารในนามของชาวเจนซี (Gen Z) เกิดขึ้นมากมาย และพวกเขาตระหนักถึงความเสมอภาคของทุกวิถีชน ด้วยการปกป้องแสดงออกอย่างซึ่งหน้า

อย่างที่เห็นจากการออกมาร่วมกันเรียกร้องชุมชนบางกลอย

และนี่คือพลังในรอบ 12 ปีของภาพยนตร์เรื่องนี้ นับแต่ ‘อวตาร’ ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับพลังของโลกดิจิตอล

แต่พลันเมื่อเทคนิคเล่าเรื่องเปลี่ยนเป็นละครเวทีนั้น มิติของความเป็นมนุษย์ดั้งเดิมกลับถูกให้คุณค่าราวกับวิถีดั้งเดิมของชนเผ่าคือธรรมชาติอันพึงหวงแหน

อวตารจึงไม่ใช่แค่หนังไซไฟหรือการผจญภัยหรือศิลปะการแสดงทั่วไป

แต่เป็นกระแสหนึ่งซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการร่วมสมัยทางสังคม (จนนำไปสู่กระบวนการต่อสู้ทั่วไปในเรื่องต่างๆ) เช่น กรณีการต่อสู้เพื่อคนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกคุกคามเอาเปรียบ

ไม่แต่เท่านั้น ‘อวตาร’ ฉบับละครเวที ยังเต็มไปด้วยท่าทีเยี่ยงภูมิภาค จากการถอดเอาอัตลักษณ์ชนเผ่าต่างๆ ทั้งจากเทคนิคการแสดงแบบละครเวทีสมัยใหม่ที่ให้ทั้งความบันเทิงต่อผู้เสพและความคิดทางสังคมต่อผู้ชมไปด้วย การถลกหนังถลกไหล่ ในแบบทักษะเชิงซ้อนแต่สร้างแรงบันดาลใจ และนี่เองเล่าที่เรียกกันว่า พลังของละครเวที

อย่างไรก็ตาม แม้อวตารจะถูกออกมาขนาดนี้ ใครเลยจะคิดว่า วันหนึ่ง จะมีคณะกายกรรมแห่งภูมิภาคของเรา ‘เบิกเนตร’ ตัวเอง หยิบเอาเรื่องเล่าพื้นบ้านมาดัดแปลงเป็นละครเวทีกับเขาบ้าง

แม้จะไม่ใช่โปรดักชั่นยิ่งใหญ่อะไรแบบเซิร์ก ดู โซเล็ย แต่ PHARE Ponleu Selpak ได้เจริญรอยตาม โดยการหยิบเอา ‘นางนาค’ หนังไทยที่โด่งดังในเขมรมาดัดแปลงเสียด้วย

การต่อสู้เพื่อให้คณะอยู่รอดของ PHARE ครั้งนี้ มาจากภาวะเศรษฐกิจบีบคั้น นับแต่เสียมเรียบปิดเมืองจากโรคระบาดโควิดและนักท่องเที่ยวที่หายไปทำให้ชาวคณะกายกรรมใน PHARE ประสบปัญหาดำรงชีพ แต่พวกเขาก็ยังยืนหยัดที่จะประคับประคองตัวเอง กระทั่งเปิดการแสดงอีกครั้งในมีนาคมที่ผ่านมา

โดยไม่น่าเชื่อว่า มหากาพย์เรื่องเล่าที่สร้างแรงบันดาลใจต่อ PHARE กลับเป็นเรื่อง ‘นางนาค’ ทั้ง 2 เวอร์ชั่น คือฉบับคลาสสิคของวินัย ไกรบุตร และทราย เจริญปุระ กับ ‘พี่มากพระโขนง’ ในเวอร์ชั่นล่าสุด

ให้รำลึกถึงบทความ “แม่นาคพระโขนง ‘เรื่องแต่ง’ ผีผู้หญิง ผู้พิทักษ์ครอบครัว” ของท่านสุจิตต์ วงษ์เทศ ถึงความเป็น ‘นาค’ ต่อความเชื่อและคตินิยมที่เป็นเหมือนวัฒนธรรมท้องถิ่นของไทยและเขมรอันสืบเนื่องกันมาทั้งแบบ ‘ร่าม’ และ ‘ต่าง’

จะโดยเช่นนั้นหรือไม่ จึงทำให้มีนางนาคฉบับ PHARE ไปแล้ว ซึ่งเมื่อได้ชมผ่านออนไลน์ก็พบว่า เป็นการแสดงกึ่งละครเวทีผสมการแสดงกายกรรมในฉากตอนของนางนาค ไม่ว่าจะเป็นมุขตลกชาวบ้านในวิถีลำคลองที่ชาวเขมรคุ้นเคย รวมทั้งลับ ลวง หลอน สมบัติความนิยมของชนภูมิภาคนี้ เมื่อร่วมดนตรีโบราณซึ่งร่วมสมัยกับไทยแล้ว ละคร ‘นางนาค’ ฉบับกัมพูชา แม้จะไม่หวือหวาด้วยเทคนิคของฉากแสงสี แต่มีเสน่ห์ของกายกรรมเป็นจุดขาย

โดยเฉพาะเมื่อนครวัด-นครธมกลับมาคึกคักด้วยนักท่องเที่ยว ถึงตอนนั้น ‘นางนาค’ ฉบับนี้ อาจกลายเป็นสินค้าโอท็อปฉบับภูมิภาค

ดังที่ทราบว่า อิทธิพล ‘นาค’ มีอยู่แล้วในประเทศเพื่อนบ้าน

และเพิ่มเติมว่า เรื่องการไขว้ข้ามวัฒนธรรมกันไป-มานี้ เห็นทีคำว่า สมบัติผลัดกันชม น่าจะเป็นวลีที่เข้ากันได้กับศตวรรษนี้

กล่าวคือ นอกจากนางนาคฉบับไทยและเขมรที่ออกอาละวาดในลุ่มแม่น้ำโขงแล้ว ยังมีฮีโร่ตัวใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากจินตนาการของเด็กไทยยุคเจนซี (Gen Z)

ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพื่อให้เห็นภาพว่า เยาวชนของเรากำลังสร้างไอคอนหรือฮีโร่ของตนขึ้นเองโดยไม่ยึดติดกับเรื่องเล่าของชาวเจนอื่น (ซึ่งอาจไม่ตอบสนองจินตนาการของพวกเขาอีกต่อไป)

ดังนั้น ‘รายา’ ที่ว่านี้ จึงไม่ใช่ละครหลังข่าวของไทยที่เอาแต่ตบตีกันทั้งเรื่อง แต่เป็นแอนิเมชั่นที่ผสมผสานกันระหว่างบุคลิกของชนเผ่าต่างๆ ในเขตลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมดทั้งสิ้น ตั้งแต่หน้าตายันอาภรณ์ เอามาครบ เวียดนามยันลาว เขมร พม่าและไทย แลยังข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงเกาะสุมาตราโน่น!

และไม่ให้ตกเทรนด์แบบชนเผ่าในอวตาร เธอยังมีพาหะเป็นสัตว์คู่กาย หน้าตาคล้ายตัวนิ่มผสมกับตัวนาก มีบุคลิกประหลาด

ลองมาดูกันสักตั้งว่า ตำนานท้องถิ่นแบบไหนจะยั่งยืนและคลาสสิคและเป็นที่นิยม

ขอบคุณสายพันธุ์ ‘อวตาร’

และยินดีต้อนรับท้องถิ่นนิยม ‘รายา’ แอนด์ ‘นางนาค’

 

ล้อมกรอบ

PHARE องค์กรที่ก่อตั้งเพื่อฟื้นฟูเด็กเขมรที่ขาดแคลนและกำพร้าโดยการฝึกฝนการแสดงกายกรรม หวังเพียงเลี้ยงตนเป็นอาชีพ ทว่าพรสวรรค์และพละกำลังอันมากล้นของเด็กชาวเขมรและบางกลุ่มเป็นชนเผ่า ล้วนมีทักษะด้านกายกรรมอย่างน่าทึ่ง สร้างชื่อแก่ PHARE ให้ขึ้นมาอยู่แถวหน้าของวงการศิลปะแขนงนี้

นักแสดงที่สร้างชื่อเสียงมี แนม สุภา และ สก ดีนา ทั้ง 2 ถูกจับตาว่า นักกายกรรมระดับสากลของภูมิภาคในอนาคตทันทีหลังจากฝึกปรือประสบการณ์จากอะคาเดมีภายใต้ชายคาเซิร์ก ดู โซเล็ย กรุงมอลทรีออล-แคนาดา

ตลอดจนเคยร่วมแสดงระดับเทศกาลนานาชาติมาแล้ว ทั้งคู่มีความฝันที่จะพาตัวเองไปสู่การเป็นนักแสดงกายพรรมระดับอาชีพของเซิร์ก ดู โซเล็ย ตลอดจนผลักดันให้ ‘เซียะ’ (กายกรรม) เขมรเป็นที่รู้จักในระดับสากล

ย้อนไปก่อนหน้านี้ ในทศวรรษที่ ’80 และ ’90 กัมพูชามีนักแสดง ‘เซียะ’ กลุ่มเล็กๆ ที่เกิดการส่งไปศึกษาในสหภาพโซเวียตรัสเซียตามประเทศระบอบคอมมิวนิสต์ยุคนั้น

เพียง 4 ทศวรรษต่อมา มรรคาคณะกายกรรม ‘เซียะ’ กัมพูชา ดูจะไปไกลถึงในระดับภูมิภาคและสากลนานาชาติ