รายงานพิเศษ / ปีครึ่ง ระบบ ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ ในมือ ‘อนุทิน’

รายงานพิเศษ

ปีครึ่ง ระบบ ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ ในมือ ‘อนุทิน’

 

จนถึงขณะนี้ ผ่านมาเกือบ 1 ปีครึ่ง หลังอนุทิน ชาญวีรกูล รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี พ่วงด้วย รมว.สาธารณสุข นับได้ว่ากระทรวงสาธารณสุข ถือว่าเป็นกระทรวงที่สร้าง “สีสัน” และเป็นกระทรวงที่มีข่าวปรากฏมากที่สุดในบรรดาคณะรัฐมนตรีทั้งหมด

ทั้งด้วย “วาระ” ที่อนุทินนำมาอย่างเรื่อง “กัญชา” เพื่อการแพทย์ หรือการอยู่ท่ามกลางมรสุมของโรคระบาดโควิด-19 ได้ทำให้กระทรวงนี้ รวมถึงด้วยบุคลิกของตัวอนุทินเอง ที่ให้สัมภาษณ์ อธิบายความแต่ละเรื่องอย่าง ‘มีสีสัน’ ส่วนความคืบหน้าแต่ละนโยบาย ยังต้องว่ากันอีกเรื่อง

แต่ที่หลายคนลืมไปก็คือ ในช่วง “ฮันนีมูน” หลังจากอนุทินรับตำแหน่งที่กระทรวงสาธารณสุขใหม่ๆ นั้น “วาระหลัก” อีกอย่างหนึ่ง ก็คือเรื่องการสานต่อโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือระบบ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ให้ดียิ่งขึ้น

ถึงขั้นไปดึงเอาหมอเลี้ยบ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มานั่งเป็น “ที่ปรึกษา” ว่าด้วยการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พร้อมกับยืนยันว่าจะไม่ยกเลิกระบบ “บัตรทอง” และอะไรที่ดีอยู่แล้ว จะต้องดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นั่นเป็นการประกาศที่ดูจะยุติ “ความขัดแย้ง” ก่อนหน้านี้ที่เคยมี เพราะโดยปกติ รมว.สาธารณสุข จะต้องสวมหมวก 2 ใบ ทั้งหมวกของรัฐมนตรี คุมภาคราชการ คือกระทรวงสาธารณสุข และคุมทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผ่านการเป็นประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยตำแหน่ง คุมหน่วยงานที่จัดการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ด้วย

ที่ผ่านมา หากรัฐมนตรีมาจากข้าราชการประจำ หรือมาจากความ “ไม่รู้” ก็จะฟังเสียงผ่านข้าราชการประจำเป็นหลัก เพราะฉะนั้น นโยบายด้านหลักประกันสุขภาพ ก็จะเป็นไปเพื่อความแข็งแกร่งของระบบรัฐราชการ ลดอำนาจของ สปสช. โดยเชื่อว่า Pain Point เกิดจาก สปสช. มีอำนาจที่ “แข็ง” เกินไป กระทั่งทำให้ระบบการเงินของโรงพยาบาล เป็นอิสระไม่มากพอ

แต่หากมาจากอีกด้าน รัฐมนตรี หนุนเสริม สปสช.​ และเอาใจฝั่งเอ็นจีโอเรื่องหลักประกันสุขภาพมากเกินไป ก็จะทำให้ฟากกระทรวงสาธารณสุข ฟากข้าราชการประจำไม่พอใจ ออกมาแต่งดำ ก่อม็อบไล่ เหมือนสมัยที่ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เคยเจอมาก่อนหน้านี้

ด้วยเหตุผลดังกล่าว รมว.สาธารณสุขจึงเลือกที่จะไม่แตะ “เผือกร้อน” และไม่ต้องการจัดการเรื่องใหญ่ดังกล่าว เพราะอาจไปกระทบกับหน่วยงานอย่างกระทรวงสาธารณสุข จนทำให้เก้าอี้รัฐมนตรีสั่นคลอน ไม่สามารถอยู่ได้อย่างปกติสุข

แล้วสมัยอนุทินเป็นอย่างไร…ต้องบอกว่าอนุทินนั้นรับไม้ต่อจากเรื่องระบบที่ “คาราคาซัง” มาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ…ซึ่งกลายเป็นความขัดแย้งรอบใหม่ ที่ถูกตีตกมาจาก รมว.สาธารณสุขคนก่อนหน้า เนื่องจากบรรดาเอ็นจีโอและ สปสช.​ ถูกลดอำนาจ ไปเพิ่มให้ฝ่ายข้าราชการประจำมากขึ้น

อันที่จริงมี “คำสัญญา” ก่อนหน้านี้ 2-3 เรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายหลักประกันสุขภาพจากปากอนุทิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดความแออัด ลดคิวของโรงพยาบาลให้กับผู้ป่วยบัตรทอง การลดความเหลื่อมล้ำสิทธิประโยชน์ ใน 3 กองทุนสุขภาพ หรือเรื่องล่าสุดอย่างการรีแบรนด์ 30 บาทรักษาทุกโรค ให้เป็น 30 บาทรักษาทุกที่..

ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมข้อที่เป็นเรื่อง “ถกเถียง” เพื่อความอยู่รอดระยะยาวของระบบหลักประกัน อย่างการหาช่องทางเพิ่มเงินเข้าสู่ระบบ ด้วยการหาช่องทาง “ร่วมจ่าย” อาทิ การร่วมจ่ายผ่านระบบภาษี Earmarked Tax จากภาษีบุหรี่ ซึ่งถูกตีตกไปเหมือนกันในช่วงท้ายรัฐบาลที่แล้ว การเปิดช่องให้บริจาคเข้ากองทุน จากภาษีเงินได้ หรือการจ่ายค่า “พรีเมียม” ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

ทำให้ที่ผ่านมาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในยุคอนุทินจึงเป็นไปอย่างน่าผิดหวัง การลดความแออัด ที่ยุคสมัยนี้อาจสามารถแก้ได้ด้วยการจองคิวง่ายๆ ผ่านแอพพลิเคชั่น หรือทำได้ดีกว่านั้น ด้วยเทคโนโลยีแบบ “บล็อกเชน” ซึ่งสามารถจัดการข้อมูลจำนวนมากและจัดลำดับความสำคัญของคนไข้ ในอาการป่วยแบบต่างๆ ซึ่งต้องอาศัยการ “รื้อ” ระบบไอทีขนานใหญ่ จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ไม่มีการแก้ปัญหาใดที่เป็นรูปธรรม

ส่วนการลดความเหลื่อมล้ำในกองทุนสุขภาพ 3 กองทุนยิ่งไปกันใหญ่ เนื่องด้วยสถานะของรัฐบาล เป็นไปแบบ “เบี้ยหัวแตก” กล่าวคือ กระทรวงสาธารณสุขนั้น คุมโดยพรรคหนึ่ง กระทรวงแรงงาน อีกพรรคหนึ่งคุม ขณะที่กระทรวงการคลัง มาจากโควต้านายกรัฐมนตรีและมีรัฐมนตรีมาจากข้าราชการประจำ และเปลี่ยนคนมาแล้วถึง 3 รอบ ทำให้แต่ละกองทุนสุขภาพ ไม่เคยพูดคุย ไม่เคยได้หารือกัน และความเหลื่อมล้ำระหว่างทุกกองทุน โดยเฉพาะเมื่อเทียบ “สวัสดิการข้าราชการ” กับ 30 บาทรักษาทุกโรคก็ยังคงโดดเด้งต่อไป

ขณะที่เรื่องอย่าง 30 บาทรักษาทุกที่ นั้น เมื่อผสมเข้ากับความ “อลเวง” จากการปิดคลินิกชุมชนอบอุ่นของ สปสช. หลังจาก ส.ส. พรรคเพื่อไทยเอาไปอภิปรายในสภาว่ามีการ “โกง” และสวมสิทธิ์กันครั้งมโหฬาร ในคลินิก ว่ามีการใส่น้ำหนัก ให้อ้วน วัดความดันให้มากเกิน เพื่อจะได้ตรวจสุขภาพเพิ่ม และเก็บเงินจาก สปสช.ให้มากขึ้น

ก็ทำให้ 30 บาทรักษาทุกที่ซึ่งเริ่มนำร่องที่กรุงเทพมหานคร (ซึ่ง สปสช.มีหมายเหตุว่า ทุกที่เฉพาะหน่วยบริการปฐมภูมิภายในเครือข่าย คือ เฉพาะคลินิกเท่านั้น ไม่ใช่ทุกที่ทุกโรงพยาบาลตามที่ประชาชนเข้าใจ) ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จดี ขณะเดียวกันคลินิกที่ทยอยเปิด ทยอยให้เข้าร่วมโครงการ จนถึงวันนี้ก็ยังไม่เพียงพอกับจำนวนคนไข้ ทว่ารัฐมนตรีกลับไปโฆษณาว่า นโยบายนี้ “30 บาทรักษาทุกที่ ประสบความสำเร็จเรียบร้อยไปแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีความพยายาม “นำร่อง” เรื่องการ “รักษาทุกที่” ที่ภาคอีสาน ในเขตสุขภาพที่ 9 ในนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และเขตสุขภาพที่ 7 ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ รวมถึงเขตสุขภาพที่ 8 อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ เมื่อไม่กี่วันก่อน พร้อมกับตั้งเป้าทั่วประเทศในปี 2565 ให้ผู้ป่วย “บัตรทอง” สามารถเข้ารับบริการปฐมภูมิได้ทุกหน่วยบริการ และโรคมะเร็ง สามารถเข้าได้ทุกโรงพยาบาล ฟังดูเหมือนดี และหากทำได้จริงก็เป็นประโยชน์

แต่ต้องไม่ลืมว่า การจัดงบประมาณทุกวันนี้ยังเป็นแบบ “เหมาจ่ายรายหัว” ลงไปยังหน่วยบริการ และทุกอย่างแทบจะคงตัว ตามรายหัวประชากรในแต่ละพื้นที่อยู่แล้ว ซึ่งก็ต้องตั้งคำถามว่า จะไปเพิ่มภาระให้บางหน่วยบริการ เช่น โรงพยาบาลใหญ่ ที่ชาวบ้านอาจ “เชื่อถือ” มากกว่า และมี “คุณภาพ” ที่มากกว่าหรือไม่

เรื่องพวกนี้ ถ้ามีระบบ “จัดคิว” และรื้อระบบบริหารจัดการการเงินใหม่เรียบร้อยก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าตอบ ณ วันนี้ ก็ต้องบอกว่า ทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่พร้อมและความโกลาหล ซึ่งทำให้ระบบภาพใหญ่กว่านั้น “บิดเบี้ยว” ไปด้วย

สังเกตได้ว่า จนถึงวันนี้ แม้จะเริ่ม “30 บาทรักษาทุกที่” ไปหลายเขตสุขภาพแล้ว ทั้งกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ก็ยังไม่สามารถโฆษณาได้เต็มปากว่าโครงการนี้ “ประสบความสำเร็จ”

เพราะฉะนั้น ในอีก 2 ปีเศษที่เหลือของอนุทิน (หากรัฐบาลนี้อยู่ครบเทอม) ก็ควรถอยออกมาโฟกัสที่ระบบใหญ่มากขึ้นว่าอะไรคือปัญหา และจะแก้ Pain Point ระยะยาวอย่างไร เพราะยังมีหลายเรื่องที่ควรทำ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการระบบคิว การลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ และการสร้าง “ความยั่งยืน” ให้กับระบบ มากกว่าจะมุ่งเน้นไปกับการพีอาร์ในเรื่องยิบย่อย

หากยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื้อรังในระยะยาวได้ ปัญหาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็จะ “วนซ้ำต่อไปเรื่อยๆ และก็ต้องลุ้นกันอีกทุกครั้งว่า เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนรัฐมนตรี เรื่องพวกนี้ จะถูกหยิบยกแก้ไขอย่างจริงจังหรือไม่

หรือจะถูกมองข้ามไปเหมือนที่แล้วๆ มา