สนทนากับ “ภูมิ มูลศิลป์” ถึงกระบวนการยุติธรรมต่อคดีชุมนุม และทางออกก่อนสายเกินแก้

กระบวนการยุติธรรมในช่วงไม่นานมานี้ ได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมโดยเฉพาะการเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองอย่างการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของคนรุ่นใหม่ในช่วงปี 2563 ที่ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองระดับโครงสร้างและสถานะอำนาจเบื้องหลังการเมืองไทยอย่างเปิดเผย ซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อาจถูกมองว่าเป็นความผิดทางอาญา นำไปสู่การดำเนินคดีนับตั้งแต่ต้นปี 2564

จนถึงตอนนี้ ก็มีบุคคลที่เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์ ถูกจับกุมและคุมขังระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่ได้รับการประกันตัวหลายครั้ง และศาลให้เหตุผลซ้ำๆถึงความกังวลหลบหนีหรือกระทำผิดซ้ำ

แม้ต่างฝ่ายต่างยกคำอธิบาย แต่เพราะด้วยสิ่งที่เรียกว่าเป็น “คดีการเมือง” ก็ได้สร้างความกังวลและคำถามตัวใหญ่ต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบว่า ระบบนี้จะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้จริง หรือ กำลังกลายสภาพเป็นเครื่องมือในการทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองตามความต้องการของผู้มีอำนาจกันแน่?

เมื่อพิจารณาสิทธิเสรีภาพในกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า ต้องสันนิษฐานเป็นผู้บริสุทธิ์ไปจนกว่าคดีจะมีคำตัดสินถึงที่สุด แต่ในทางปฏิบัติ สิ่งที่ปฏิบัติกับผู้ต้องหา สังคมต่างมองด้วยความกังวลว่า กระบวนการยุติธรรมได้ตัดสินคนผู้นั้นให้เป็นผู้กระทำผิดโดยที่ยังไม่เริ่มพิสูจน์หรือไม่?

 

รศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ ประธานหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ ได้ให้กรอบอธิบายหลักพื้นฐานสู่แนวทางปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะความเข้าใจถึง 2 แนวคิดว่าด้วยข้อสันนิษฐานอย่าง Presumption of innocence (สันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อน) กับ Presumption of guilty (สันนิษฐานว่าเป็นผู้กระทำผิดก่อน)

โดยระบุว่า เริ่มจากแนวคิด สันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อน นั้น เป็นกติกาสากลซึ่งบัญญัติไว้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 1948 ว่า “บุคคลซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีความผิดอาญา จะมีสิทธิได้รับสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าพิสูจน์ได้ว่่ามีความผิดตามกฎหมาย” ซึ่งข้อที่กำหนดนี้ ระบุว่าต้องเปิดเผยและผู้นั้นได้รับหลักประกันในการสู้คดี โดยแนวคิดนี้เพราะต้องการให้คนดังกล่าว มีสิทธิสู้คดีอย่างเปิดเผยและได้รับประกันเพื่อสำหรับการหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานมาต่อสู้คดี (ซึ่งต่างจากแนวคิดสันนิษฐานว่าเป็นผู้กระทำผิดก่อน ที่ต้องทำการพิสูจน์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับความเร็วและประสิทธิภาพในการตัดสินคดีมากกว่าความน่าเชื่อถือ ซึ่งวิธีนี้เคยปรากฎในรูปแบบศาลศาสนา)

ที่จริงแล้ว บทบัญญัตินี้ ยังส่งผลต่อการกำหนดกระบวนยุติธรรมทางอาญาอื่นๆ ทั้งสิทธิในการมีทนายความ สิทธิที่จะไม่พูดสิ่งที่จะเป็นการให้ร้ายตัวเอง และต้องการให้สร้างความเป็นธรรมเบื้องต้นสำหรับจำเลย เพราะจำเลยจะต้องต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะฉะนั้น หลักสันนิษฐานก่อนเป็นผู้บริสุทธิ์และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมดังกล่าว จะทำให้ต่อสู้กับรัฐได้ใกล้เคียงมากขึ้น โดยให้ศาลทำหน้าที่คนกลางว่า ความจริงที่จะปรากฎนั้นอยู่ในกระบวนการอย่างไร

อย่างไรก็ตาม หลักการนี้ก็มีข้อยกเว้น จริงๆแล้วเป็นการคุ้มครองไม่ให้ผู้บริสุทธิ์ถูกลงโทษระหว่างพิจารณาและศาลยังไม่ได้ตัดสิน แต่ในทางกลับกัน อาจทำให้ผู้ที่ไม่บริสุทธิ์หรือผู้กระทำผิดรอดพ้นจากการลงโทษเช่นกัน เพราะฉะนั้นการใช้หลักสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยหลักการต้องการคุ้มครองก็จริง แต่ถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้น อาจทำให้เกิดความเสียหาย คือผู้ไม่บริสุทธิ์ได้หลุดออกมาและกระทำการบางอย่างที่ส่งผลต่อสังคมไทยและกระทบต่อผู้บริสุทธิ์ในสังคมทั่วไป

รศ.ดร.ภูมิ กล่าวอีกว่า พอมาดูกรณีของไทยนั้น รัฐธรรมนูญหลายฉบับวางหลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้หลายฉบับ รวมถึงฉบับ 2560 ในมาตรา 29 ที่น่าสนใจหากเอามาใช้กับกรณีปัจจุบัน ในการคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลย ควรกระทำเท่าที่จำเป็น เพราะรัฐธรรมนูญไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้หลบหนี

อันนี้สำคัญ เพราะผู้ชุมนุมบางท่าน ศาลไม่ให้ประกันตัวหรือเกรงว่าหลบหนี แต่คนอื่นไม่ใช่ ถ้ามาดูวรรคท้ายในมาตรา 29 ก็ระบุไว้ว่า คำขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ต้องได้รับการพิจารณา จะเรียกประกันตัวเกินควรจากกรณีนั้นไม่ได้ ประโยคนี้ การไม่ให้ประกัน ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

เพราะฉะนั้นการที่หลายฝ่ายอาจพูดทำนองว่า ต้องให้ประกันเลย อาจต้องพิจารณาวรรคท้ายมาตรา 29 ด้วย หรือดูจากประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 106 เป็นต้นมา ที่ว่า การในขอปล่อยตัวชั่วคราว มีประเด็นว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว แต่จะมีเงื่อนไขในมาตราอื่นที่เป็นหลักเกณฑ์ หรือใน ป.วิอาญามาตรา 108 ซึ่งปกติศาลจะพิจารณาอะไร

1) ความหนักเบาของข้อหา 2) พยานหลักฐานที่ปรากฎมีเพียงใด 3) พฤติการณ์ต่างๆแห่งคดี มีความร้ายแรงแค่ไหน หรือกระทบสังคมอย่างไร 4) ความน่าเชื่อถือของผู้ร้องขอ 5) ผู้ต้องหาหรือจำเลยอาจหลบหนี 6) ศาลเองมองว่าภยันตรายหรือความเสียหายจากการปล่อยตัวชั่วคราวมีเพียงใด 

โดยผู้ชุมนุมให้เหตุผลว่า สิิ่งที่กระทำคือการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ แต่ในอีกมุมของสังคม มองการกระทำดังกล่าวไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธจริงหรือไม่ นี่เป็นประเด็นที่มีการพูดถึง

หรือถ้าพนักงานสอบสวนหรืออัยการคัดค้าน ศาลอาจพิจารณาไม่ให้ประกันตัว นอกจากนี้ ตามหลักการสากล ปกติต้องให้ประโยชน์ แต่มีข้อยกเว้นก็ได้ ในรัฐธรรมนูญไทยหรือปล่อยให้มาสู้ หรือไม่ปล่อยก็ได้และต้องมีเหตุตัวอย่าง

ต่อมาใน ป.วิอาญามีการแก้ไขเพิ่มเติมว่า ถ้ามีเหตุต่อไปนี้ 1) ผู้ต้องหาจะหลบหนี อันนี้เขียนชัดมากขึ้น 2) ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน 3)จะไปก่อเหตุอันตรายอื่น อันนี้ศาลมองข้อนี้ ในมาตรา 108/1 เพราะฉะนั้น จึงมีหลักการเพิ่มเติม เช่นหลักประกันความไม่น่าเชื่อถือ ว่าปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว จะเป็นอุปสรรคหรือก่อความเสียหายต่อการสืบสวน อันนี้หลักการเบื้องต้นในสากลจนมาถึงรัฐธรรมนูญไทย

กระบวนการยุติธรรม-ความสมานฉันท์ กับการขัดแย้งทางการเมือง

รศ.ดร.ภูมิศิลป์ กล่าวว่า สมมติว่าเรามองคนกลุ่มนี้ ไม่ได้อาชญากรรมที่กระทำผิดร้ายแรง แต่ต่อสู้ในมิติทางการเมือง ต้องขอย้ำในเรื่องมิติการเมือง

ประการแรก คนเหล่านี้มีแรงจูงใจทางการเมืองที่อาจทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย สิ่งหนึ่งที่มีการพูดถึงมานาน นักโทษทางการเมืองคนถูกนำตัวไปกักขังรวมกับบุคคลที่อาญชากรในความผิดอื่นหรือไม่

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รมว.ยุติธรรม ได้ให้ความเห็นถึงการสร้างเรือนจำสำหรับนักโทษคดีทางการเมือง แยกขังต่างหาก ซึ่งส่งผล 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมองว่าดี เพราะนักเคลื่อนไหวส่วนใหญ่เป็นเยาวชน ไม่ควรถูกขังรวม หรืออีกฝ่ายโดยเฉพาะผู้ชุมนุมกังวลว่า จะเป็นการเอาไปไว้ในคุกพิเศษสำหรับเอาผู้ชุมนุมไปขังไว้หรือเปล่า กระทรวงยุติธรรมอาจต้องสื่อสารให้ชัดว่า วัตถุประสงค์การมีที่คุมขังสำหรับคดีการเมืองคืออะไร?

ประการต่อมา สิทธิอื่นๆ การเยี่ยม ถึงแม้ปล่อยตัวชั่วคราวไม่ได้ ก็ควรมองในมิติมนุษยธรรม มีครอบครัวที่กังวลลูก หลายคนมีโรคประจำตัว การให้พ่อแม่เยี่ยมหรือพบทนายบ่อยๆ เป็นตามหลักการยุติธรรม

ประการที่ 3 ในความที่เป็นเยาวชน ก็มีกติกาสากลที่ว่า ต้องพิจารณาอายุ ต่ำกว่า 15 ต่ำกว่า 18 มีผลกระทบต่อชีวิตอย่างไร กระบวนการยุติธรรมปฏิบัติตามหลักสากลด้านนี้หรือไม่ ต้องมีเจ้าหน้าที่พิเศษดูแลหรือเปล่า

และเมื่อมองในมุมของการสร้างความสมานฉันท์เอง เราจะเน้นว่าหากเรามองว่าความผิดเหล่านี้ มีมูลเหตุทางการเมือง หากใช้กระบวนการตามกฎหมายปกติอย่างเคร่งครัด จะยิ่งเพิ่มการเผชิญหน้าหรือความโกรธเกรี้ยวของผู้ชุมนุมหรือสังคม และถักทอกลายเป็นความรุนแรงที่ยกระดับมากขึ้น

ในความพยายามพูดถึงกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านและเชิงสมานฉันท์ คือต้องการฟื้นฟูให้คู่ขัดแย้งหาทางออกร่วมกัน สามารถร่วมเดินกันได้แม้เห็นต่างกันตามหลักการประชาธิปไตย

ข้อกังวลประการหนึ่ง จะพบเหตุการณ์บ่อยครั้งที่มีการใช้ความรุนแรงขึ้น กับทั้งฝ่ายรัฐเองและฝ่ายผู้ชุมนุม ต่างกล่าวโทษไปมาว่าใช้ความรุนแรง เพราะฉะนั้น ถ้าย้อนกลับคณะกรรมการสมานฉันท์ ชุดอ.คณิต ณ นคร จะมีกระบวนการหนึ่งที่ควรนำกลับมาพูดคุยอย่างจริงจัง คือกระบวนการหาข้อเท็จจริง

ในกระบวนการยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน เป็นขั้นตอนสำคัญเพื่อดูรากเหง้าของปัญหาว่าเกิดขึ้นยังไง จะได้แก้ไขได้ หรือต่างฝ่ายต่างอยากจดจำว่าตัวเองมีบทบาทสำคัญอย่างไร มีความรุนแรงจากอีกฝ่ายอย่างไร หรือมีการใช้ข้อมูลโจมตีกันไปมา โดยเฉพาะตอนนี้ เราพบว่า ในการชุมนุม พอมีความรุนแรง คนกลางที่จะเข้าไปดูแลจริงๆ กลับไม่ค่อยมี มีความพยายามของกลุ่มสันติภาพ แต่อาจไม่ได้รับความเชื่อใจจากคนบางกลุ่ม

ถ้าย้อนกลับไปดูกรณีต่างประเทศ ก็มีพูดถึงกรรมการร่วมบริหารการชุมนุม คือคนเหล่านี้ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่รัฐ ฝ่ายเห็นต่าง หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมายเช่น กรรมการสิทธิมนุษยชน น่าจะรวมกันเป็นกรรมการร่วม เพื่ออย่างน้อยคอยดูแลประสานไม่ให้เกิดความรุนแรง

กล่าวโดยสรุป ถ้าจะใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเต็มรูปแบบ คิดว่าจะส่งผลกลายเป็นการสร้างความขุ่นเคือง ถ้าจริงๆเราใช้มิติกระบวนการทางอาญาอื่นที่หาทางออกร่วมกันทุกฝ่าย น่าจะเป็นความสำคัญมากกว่า

ประการที่ 2 พอมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรุนแรงขึ้นมา ก็น่าจะได้มีการสืบค้นข้อเท็จจริงและควรมีการบันทึกไว้

และประการที่ 3 ควรมีคนกลางคอยประสานกับทุกฝ่าย