‘ประวิตร’ เดินหน้า ฟื้นฟูคลองแสนแสบ ริเริ่มเรือโดยสารไฟฟ้า พลังงานสะอาด-ยั่งยืน

ยังเป็นผลงานที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับภารกิจส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ที่อยู่ในความดูแลของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องทรัพยากรสิ่งแวดล้อม การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ การแก้ไขปัญหาแรงงานชาวประมง การแก้ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ตลอดจนเรื่องของหนี้นอกระบบ ที่ทุกอย่างดำเนินการไปตามขั้นตอน มีผลสำเร็จเห็นได้เป็นรูปธรรม

ยังมีอีกผลงานที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นั่นก็คือเร่งรัดฟื้นฟูพัฒนาคลองสายสำคัญในเขตกทม. โดยมีหลักการเพื่อแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำ เสริมสร้างความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำให้ประชาชน ปรับปรุงภูมิทัศน์ และป้องกันปราบปรามการกระทำใดๆ อันเป็นการบุกรุกทำลายทรัพยากรเพื่อให้ระบบนิเวศกลับมาอยู่ในเกณฑ์ดีอีกครั้ง

ทั้งนี้ได้กำหนดให้คลองแสนแสบ ที่เป็น 1 ในคลองเป้าหมาย เป็นต้นแบบในการดำเนินการ ทั้งนี้คลองแสนแสบเป็นคลองที่อยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ มีความยาวตลอดสาย 72 กิโลเมตร ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีความยาวประมาณ 45.5 กิโลเมตร มีคลองสาขาเชื่อมต่อ 101 สาย ครอบคลุมพื้นที่ 21 เขตการปกครอง

คลองแสนแสบ มีบทบาทสำคัญในการะบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม การคมนาคมขนส่งทางน้ำ แต่ด้วยปัจจุบันกรุงเทพฯ มีแนวโน้มการขยายตัวของชุมชนเมืองมากขึ้น ส่งผลให้คลองแสนแสบกลายเป็นแหล่งรับน้ำทิ้งจากบ้านเรือน ชุมชน และสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบ ส่งผลให้น้ำในคลอง โดยเฉพาะพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร (ช่วงประตูน้ำ-มีนบุรี) มีค่าความสกปรกสูง ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยบริเวณดังกล่าว

ด้วยความสำคัญและเป็นภารกิจที่มีขอบเขตรับผิดชอบมาก พล.อ.ประวิตร จึงสั่งการให้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมากำกับดูแล ให้กรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานสนับสนุนต่างๆ จัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ

โดยเสนอแผนงาน/โครงการ ให้สอดคล้องตามกรอบแนวทางที่กำหนด จำแนกเป็นแผนงานระยะเร่งด่วนปี 2564 ตามกรอบดำเนินการได้แก่ 1.การเสริมสร้างความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำของประชาชน โดยมีแผนงาน ได้แก่ การขอใช้ที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ การก่อสร้างท่าเทียบเรือ จำนวน 8 ท่า การจัดหาเรือไฟฟ้า 12 ลำ และการบริหารจัดการเดินเรือ

2.การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณคลองแสนแสบ โดยมีแผนงานการทำความสะอาดและจัดระเบียบพื้นที่ริมฝั่งคลอง การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและภูมิทัศน์พื้นที่ริมฝั่งคลอง และการพัฒนา/ขยายผลพื้นที่ชุมชนริมฝั่งคลองต้นแบบ 3.การแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ โดยจะมีการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสีย 3 โครงการ และการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนขนาดใหญ่ 1 โครงการ

4.การป้องกันการบุกรุกทรัพยากรในคลองแสนแสบ มีแผนงาน ได้แก่ การสำรวจสิ่งก่อสร้างหรืออาคารต่างๆ ที่รุกล้ำลำคลองแสนแสบและคลองสาขา และ 5.การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในคลองแสนแสบ โดยมีแผนงาน ได้แก่ การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองแสนแสบ 1 โครงการ และการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ 1 โครงการ

สำหรับแผนในระยะกลาง-ระยะยาว ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ปี 2565 กทม. และกรมชลประทาน จะเป็นหน่วยงานหลัก โดยมีแผนงาน อาทิ โครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียคลองเตย โครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียดอนเมือง โครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียลาดพร้าว โครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพคลองบางขนากและคลองสาขา และโครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก พร้อมระบบรวบรวมน้ำเสียคลองแสนแสบจากบริเวณประตูระบายน้ำมีนบุรี ถึงบริเวณประตูระบายน้ำหนองจอก

เพื่อฟื้นฟูลำคลองให้กลับมางดงามดังเดิม

ไม่เพียงแค่การฟื้นฟูลำคลองเท่านั้นที่สำคัญ แต่การวางมาตรการป้องกันไม่ให้ลำคลองต้องกลับไปสกปรกเหมือนเดิม ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นการนำนวัตกรรรมใหม่ๆมาปรับใช้ จึงเป็นทางเลือก โดยพล.อ.ประวิตร ได้ออกไอเดียให้มีการใช้พลังงานสะอาดในแม่น้ำลำคลอง

โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมเจ้าท่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัทเอกชน หาแนวทางใช้เรือพลังงานไฟฟ้าในการคมนาคมคลองแสนแสบ และได้ทดลองไปเมื่อวันที 15 ส.ค. 2563 ซึ่งมีความสมบูรณ์แล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังมีข้อดี เนื่องจากเพราะคลื่นกระทบฝั่งน้อยลง และเสียงเงียบกว่าเรือแบบเดิม

อย่างไรก็ตามยังติดเรื่องการควบคุมเรือที่คนขับยังเคยชินกับการขับเรือไม้แบบเดิม ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะให้ทดสอบเรือไฟฟ้าใหม่นี้เป็นระยะเวลา 6 เดือน จึงค่อยเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการ พร้อมประสานบจ.ครอบครัวขนส่ง (2002) ที่ทำธุรกิจเดินเรือคลองแสนแสบ คาดว่าประมาณกลางปี 2564 ประชาชนจะได้ใช้เรือไฟฟ้านี้อย่างแน่นอน ในราคาที่ไม่แพงไปกว่าเดิม

สำหรับเรือต้นแบบที่พัฒนานั้น เป็นเรืออะลูมิเนียม รองรับจำนวนคนได้ 103 คน (ผู้โดยสาร 100 คน/ลูกเรือ 3 คน) ใช้ความเร็วในการเดินทาง 20 กม./ชม. ตัวเรือมีความกว้าง 3 เมตร ยาว 20.2 เมตร กินน้ำลึก 0.75 เมตร และรับน้ำหนักบรรทุกได้ 19 ตัน ขับเคลื่อนด้วยชุดมอเตอร์ 2 ชุด ชุดละ 15 กิโลวัตต์ อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ อยู่ที่การชาร์จไฟ 20,000 ครั้ง มีความจุแบตเตอรี่ที่ 135.75 กิโลวัตต์ชั่วโมง การชาร์จแบตเตอรี่ 1 ครั้งวิ่งได้ไกล 60 กม. หรือประมาณ 4 ชม.

นอกจากนี้การพัฒนาเรือไฟฟ้าจะไม่ใช่เฉพาะใช้ในคลองแสนแสบ ยังเตรียมนำร่อง เปิดบริการในเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดโครงการทดลองเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา และเปิดโครงการนำร่องท่าเรืออัจฉริยะ เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ยกระดับการขนส่งสาธารณะของประเทศ และตรวจสอบความพร้อมของการนำเรือโดยสารไฟฟ้ามาเริ่มให้บริการระบบการขนส่งโดยสารทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา

ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมเจ้าท่า และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) นำยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2563 มาเริ่มให้บริการในระบบการขนส่งผู้โดยสารทางน้ำ พร้อมพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางน้ำให้เป็นไปตามเป้าหมายเพื่อความยั่งยืน ยกระดับเรือโดยสารและท่าเรือให้ทันสมัย สะดวกปลอดภัย ไร้มลพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

พร้อมเปิดให้ประชาชนทดลองใช้ฟรี ระหว่างเส้นพระราม5-สาทร จนถึงวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายต่อเรือไฟฟ้าให้เสร็จ 27 ลำ ภายในเดือนเมษายน 2564

เป็นต้นแบบการใช้พลังงานสะอาด ที่ช่วยให้แม่น้ำลำคลองใสสะอาด

เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคน!!