สุรชาติ บำรุงสุข | เมียนมา-จีน ความสัมพันธ์บนกองเพลิง!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

หนึ่งในข่าวใหญ่ของการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารของเมียนมาคือ การจุดไฟเผาโรงงานอุตสาหกรรมทอผ้าของจีนประมาณ 32 แห่งในพื้นที่ของย่างกุ้ง และมีมูลค่าความเสียหายราว 37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

จนถึงวันนี้การแสดงออกถึงการต่อต้านจีนอย่างรุนแรงในการเมืองพม่ายังดำเนินต่อไป และคงต้องยอมรับว่า การต่อต้านจีนที่เกิดคู่ขนานกับการต่อต้านรัฐบาลทหารนั้น เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่น่าจับตามองสำหรับการเมืองในเอเชีย ซึ่งการต่อต้านจีนที่เกิดขึ้นครั้งนี้สะท้อนปัญหาสำคัญประการหนึ่งว่า ปีกนิยมประชาธิปไตยในเมียนมามีความหวาดระแวงจีนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะมองว่าจีนไม่เคยสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย แต่จีนจะสนับสนุนรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทนในทางการเมืองและเศรษฐกิจกับจีนเป็นหลัก

ดังนั้น เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ความหวาดระแวงจีนก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นด้วย ภาพโปสเตอร์การประท้วงหน้าสถานทูตจีนเป็นรูปของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงที่กำลังชักหุ่นที่เป็นรูปของนายพลมินอองลาย สะท้อนความรู้สึกของผู้ประท้วงได้เป็นอย่างดี ซึ่งสำหรับผู้ประท้วงแล้ว จีนคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการรัฐประหารของทหาร แม้รัฐบาลปักกิ่งพยายามยืนยันตลอดเวลาว่า จีนไม่เคยรับทราบมาก่อนว่า ผู้นำทหารเมียนมาจะก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง … แต่ประชาชนเมียนมาดูจะไม่เชื่อคำกล่าวของรัฐบาลจีนเท่าใดนัก

ในขณะเดียวกันการต่อต้านจีนที่ขยายตัวเป็นความรุนแรงอย่างมากนั้น ได้สร้างความกังวลให้กับรัฐบาลจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนโฆษกของกระทรวงการต่างประเทศของจีน ต้องออกมาแถลงถึงความกังวลใจต่อปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชาวจีนในเมียนมา โดยเฉพาะรัฐบาลจีนได้พยายามกดดันให้ทางการเมียนมาใช้ “มาตรการที่มีประสิทธิภาพ” ในการจัดการกับผู้ก่อเหตุ ในอีกด้านรัฐบาลปักกิ่งได้เรียกร้องให้ผู้ประท้วงแสดงออกภายใต้กรอบทางกฎหมาย เพื่อที่จะไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อความสัมพันธ์แบบสองฝ่ายระหว่างจีนกับเมียนมา

การต่อต้านจีนอันเป็นผลจากการรัฐประหารในเมียนมาครั้งนี้ จึงเป็นภาพสะท้อนที่สำคัญของความรู้สึกของประชาชนชาวเมียนมาที่มีต่อจีน ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ และเป็นประเด็นสำคัญของการเมืองในภูมิภาคอีกด้วย

หากย้อนกลับไปในอดีต จะเห็นได้ว่าประชาชนเมียนมารับรู้มานานจากการรัฐประหารครั้งก่อนแล้วว่า รัฐบาลทหารของตนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลปักกิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับกองทัพของสองประเทศ และมีทัศนะว่า จีนเป็นผู้สนับสนุนที่สำคัญต่อการดำรงอยู่ของระบอบการปกครองของทหารที่เนปิดอว์ ดังนั้นเมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ประชาชนเมียนมาจึงมองว่า จีนมีท่าทีในการสนับสนุนรัฐบาลทหารของตนไม่ต่างจากในอดีต และที่สำคัญ จีนไม่เคยแสดงท่าทีประนามการยึดอำนาจที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

ผลจากความรู้สึกเช่นนี้ทำให้กระแสต่อต้านจีนในเมียนมาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และขยายตัวออกไปอย่างคาดไม่ถึง ขยายไปจนสุดโต่ง เช่น การสร้าง “วาทกรรมแห่งความเกลียดชัง” ต่อชาวจีน และทั้งมีการเรียกร้องให้มีการทำร้ายชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเมียนมา ตลอดรวมทั้งทำลายโครงการที่จีนได้เข้ามาลงทุนด้วย การเกิดกระแสเช่นนี้ ย่อมทำให้เกิดความกังวลจากบทเรียนในประวัติศาสตร์ว่า กระแสความเกลียดชังชาวจีนครั้งนี้ จะย้อนรอยกลับไปสู่ “การจลาจลต่อต้านจีน” ในปี 1967 อีกหรือไม่ เพราะการต่อต้านชาวจีนไม่ใช่เพิ่งเกิดครั้งแรกหลังรัฐประหาร 2021

สำหรับจีนเองก็กังวลอย่างมากว่า การต่อต้านจีนและการต่อต้านรัฐประหารที่ขยายตัวเป็นความรุนแรงในเมียนมานั้น จะไปไกลเกินกว่าที่จะควบคุมได้ อันจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของจีนในเมียนมาโดยตรง และทั้งยังเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของจีนในทางสากลโดยตรง เพราะจีนพยายามสร้างภาพว่า ประชาชนในประเทศที่จีนเข้าไปมีบทบาทนั้น มีความรู้สึกในทางบวกกับพฤติกรรมของรัฐจีน

มุมมองหรือการมีทัศนะต่อต้านจีนเช่นนี้เกิดจากทัศนะของคนในสังคมเมียนมาที่มองว่า รัฐบาลทหารได้รับความสนับสนุนจากจีนโดยตรง และอยู่รอดได้ด้วยการค้ำจุนของจีน เช่น จีน (และรัสเซีย) เป็นประเทศที่คัดค้านการวีโต้ของสมัชชาความมั่นคงของสหประชาชาติ ซึ่งก็เท่ากับเป็นการแสดงการปกป้องรัฐบาลทหารเมียนมาในเวทีสากลนั่นเอง หรือสำนักข่าวของทางการจีนรายงานการยึดอำนาจที่เกิดขึ้นว่า เป็นเสมือนการ “ปรับคณะรัฐมนตรี” ซึ่งสำหรับชาวเมียนมาแล้ว ท่าทีเช่นนี้เท่ากับเป็นการแสดงออกในการปกป้องการรัฐประหารในอีกแบบหนึ่ง หรือจีนพยายามยืนยันเสมอว่า รัฐประหารเป็น “กิจการภายใน” ของเมียนมา ที่ไม่ควรแทรกแซง ซึ่งเท่ากับเป็นสัญญาณว่า จีนยอมรับการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลทหาร

ในทางเศรษฐกิจ ประชาชนเมียนมามีความรู้สึกถึงการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจของจีนมานาน การต่อต้านจีนในทางการเมืองครั้งนี้ จึงเป็นผลรวมของทัศนะต่อจีนที่ก่อตัวในสังคมเมียนมามาระยะหนึ่งแล้ว และแน่นอนว่า การเผาโรงงานอุตสาหกรรมของจีนเป็นการเพิ่มความซับซ้อนของเหตุการณ์ที่มีความซับซ้อนในตัวเองอยู่แล้ว นอกจากนี้ การต่อต้านจีนครั้งนี้มีข้อเรียกร้องให้เลิกซื้อสินค้าจีน และที่สุดโต่งมากขึ้นคือ การเรียกร้องให้โจมตีท่อส่งน้ำมันของจีนที่พาดผ่านเมียนมาไปยูนาน ซึ่งท่อส่งน้ำมันนี้เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่จีนได้ลงทุนดำเนินการในเมียนมา

นอกจากนี้ จีนมีความคาดหวังอย่างมากในทางเศรษฐกิจที่จะเชื่อมต่อเมียนมาเข้ากับโครงการ “ความริเริ่มแถบและเส้นทาง” (โครงการ BRI) ซึ่งลงนานโดยรัฐบาลของพรรคสันนิบาตประชาธิปไตยแห่งชาติ (พรรค NLD) ซึ่งผลจากการลงนามในครั้งนั้น จีนได้แสดงตนอย่างชัดเจนในการเป็นผู้ปกป้องรัฐบาลเมียนมาในปัญหาโรฮิงญาในเวทีสหประชาชาติ

ว่าที่จริงแล้วนอกจากจีน การลงทุนทำอุตสาหกรรมในเมียนมายังมีทุนต่างชาติส่วนอื่นจากเอเชีย ได้แก่ทุนจากไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ และไทย เป็นต้น และทุนจากประเทศเหล่านี้มีโรงงานอุตสาหกรรม ที่ช่วยสร้างงาน และช่วยในการพยุงระบบเศรษฐกิจของเมียนมาด้วย ซึ่งในส่วนของไต้หวัน ได้มีความพยายามในการลดผลกระทบจากการต่อต้านจีนด้วยการเขียนป้ายติดที่หน้าโรงงานว่า เป็นโรงงานของไต้หวัน ไม่ใช่ของปักกิ่ง หรือมีความพยายามในการชักธงไต้หวัน เพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างจากโรงงานจีน เป็นต้น และวันนี้โรงงานของทุนสัญชาติเอเชียจึงพยายามแสดงสัญลักษณ์ว่า โรงงานของเขาไม่ใช่ของจีน

ทีท่าของการต่อต้านจีนอย่างรุนแรงในสังคมเมียนมาครั้งนี้ ไม่แต่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงความ “กราดเกรี้ยวทางการเมือง” ของผู้ประท้วง เพราะหลายฝ่ายในสังคมรับรู้อยู่พอสมควรถึง การขยายอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจของจีนในเมียนมา และผู้คนมองด้วยความโกรธแค้นว่า จีนพยายามสนับสนุนรัฐบาลทหารเนปิดอร์ อีกทั้งจีนไม่เคยแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อฝ่ายประชาชนที่ถูกปราบปราม และมีผู้คนเป็นจำนวนมากถูกสังหารจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร หรือถูกจับกุมคุมขัง ตลอดรวมถึงการที่จีนไม่เคยแสดงออกด้วยวาจาที่จะประนามการใช้อาวุธสังหารผู้ชุมนุมในการต่อต้านรัฐบาลทหารแต่อย่างใด

หากพิจารณาโดยเปรียบเทียบ สิ่งที่ปรากฏอย่างชัดเจนทั้งต่อรัฐประหารในไทยและในเมียนมาก็คือ จีนใช้วิธี “ปิดปากเงียบ” โดยการไม่แสดงท่าทีในทางการทูต แต่ขณะเดียวกันก็มักให้การสนับสนุนทางการทูตกับรัฐบาลทหารอยู่เบื้องหลัง ซึ่งการแสดงออกด้วยท่าทีเช่นนี้ จึงทำให้ถูกมองด้วยความเชื่อว่า จีนเป็น “ผู้พิทักษ์” ของรัฐบาลทหาร หรือจีนถูกมองในทำนองเดียวกันว่าเป็น “ผู้อุปถัมภ์” คนสำคัญของรัฐบาลอำนาจนิยมในกัมพูชา หากแต่ในไทยและกัมพูชานั้น ยังไม่เกิดกระแสต่อต้านจีนในแบบที่เกิดในเมียนมา

ประเด็นเช่นนี้จึงน่าสนใจว่า กระแสต่อต้านจีนจะขยายตัวไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงใด เพราะภูมิภาคนี้มีการขยายอิทธิพลของจีนเป็นองค์ประกอบสำคัญในทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างเห็นได้ชัด และมีจีนเป็นผู้สนับสนุนระบอบอำนาจนิยมในภูมิภาค หรืออย่างน้อยจีนได้แสดงท่าทีตอบรับรัฐบาลอำนาจนิยมอย่างไม่รีรอในทางการเมือง เช่นที่เห็นได้ในกรณีของไทยหรือกัมพูชามาแล้ว

ฉะนั้น ประเด็น “ความสัมพันธ์บนกองเพลิง” ระหว่างจีนกับเมียนมาจึงท้าทายรัฐบาลปักกิ่งอย่างน่าสนใจ และ “เถ้าถ่านของโรงงาน” ในเขตย่างกุ้งสะท้อนถึงความรู้สึกของเจ้าของประเทศต่อการขยายอิทธิพลของจีนในบ้านของพวกเขาอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้ด้วย!