‘ลบทวีต’ ปรับภาพลักษณ์บนโซเชียล / Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
Closeup portrait of worried young handsome man lying on sofa and using smartphone at night at home

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

‘ลบทวีต’ ปรับภาพลักษณ์บนโซเชียล

 

ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่ฉันคิดว่าค่อนข้างน่าสนใจมากทีเดียวและไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศอื่นเท่านั้น แต่ยังเห็นได้ชัดในไทยด้วย ก็คือการที่เพิ่งจะมีตัวเลขออกมาว่า ในปี 2020 ที่ผ่านมา ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย Twitter จำนวนไม่น้อยได้ตัดสินใจกลับไปย้อนอ่านสิ่งที่ตัวเองเคยทวีตเอาไว้ในอดีตและจัดระเบียบใหม่ด้วยการลบสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ออก

หากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้านี้แล้วก็นับว่ามีจำนวนคนที่กลับไปลบทวีตตัวเองเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 14% เลยทีเดียว

กระแสการกลับไปลบทวีตของตัวเองนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้ๆ กับการประท้วง Black Lives Matter ต่อต้านการใช้ความรุนแรงที่ตำรวจกระทำต่อคนผิวดำ น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สหรัฐอเมริกานำโด่งมาเป็นอันดับหนึ่งของจำนวนทวีตในอดีตที่ถูกลบทิ้งมากที่สุด

Tweet Deleter ที่เป็นเครื่องมือช่วยลบทวีตได้เปิดเผยสถิติออกมาว่าในปี 2020 มีจำนวนทวีตที่ถูกลบเพิ่มขึ้น 13.9% เมื่อเทียบกับในปี 2019 หรือหากนับกันเป็นตัวเลขก็คือ ในปี 2020 มีทวีตที่ถูกย้อนกลับไปลบมากถึง 205,309,876 ทวีต

ถัดจากสหรัฐ ประเทศที่ลบทวีตมากที่สุดรองลงมาก็คือญี่ปุ่น ที่ 11.23 ล้านทวีต และอังกฤษ ที่ 4.01 ล้านทวีต ในขณะที่ 3 ประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้ Twitter มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอินเดีย

ข้อมูลนี้ยังระบุอีกด้วยว่าทวีตที่คนนิยมย้อนกลับไปลบมากที่สุด ก็คือทวีตที่มีคำหยาบคายนั่นเอง

 

พฤติกรรมนี้น่าสนใจตรงที่ว่าก่อนหน้านี้พฤติกรรมการทวีตของผู้ใช้จำนวนมากคือทวีตทิ้งทวีตขว้าง คิดอะไรอยู่ในใจ มีอะไรอึดอัด อยากบ่น อยากระบาย ก็ทวีตๆ ไปแล้วก็ปล่อยให้มันจมหายไปในมหาสมุทรแห่งทวีตอันสุดลูกหูลูกตา

ทว่า เมื่อโซเชียลมีเดียมีความเกี่ยวพันกับตัวตนในชีวิตจริงมากขึ้นจนแทบจะแยกออกจากกันไม่ได้ และบ่อยครั้งที่นายจ้างต้องเช็กประวัติคนสมัครงานด้วยการเข้าไปสำรวจโซเชียลมีเดียก่อน ก็ทำให้คนในปัจจุบันหันมาแคร์ภาพลักษณ์บนโซเชียลมีเดียของตัวเองมากขึ้น

และต้องกลับไปกำจัดจุดอ่อนในอดีตทิ้งไปให้ได้มากที่สุด

ฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าในช่วงชีวิตที่แตกต่างกันของคนคนหนึ่ง เราอาจจะมีความคิดและความเชื่อที่ไม่เหมือนกันเลยก็ได้ วันนี้เราทวีตด่าเรื่องนี้ แต่อีกสักห้าปีข้างหน้าเราอาจจะได้ข้อมูลใหม่ที่พิสูจน์ให้เราได้เห็นว่าเราเข้าใจผิด

เมื่อเราเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นเราก็จะรู้สึกละอายถึงความไม่เดียงสาในตอนนั้นและอยากจะกลับไปลบทิ้งให้หมด

ในประเทศไทยช่วงหลังๆ มานี้เราจะเห็นได้ว่ามีการกลับไป “ขุด” ทวีตเก่าๆ ของเซเลบคนดังทั้งหลายกลับมาถกเถียงกันใหม่อย่างเผ็ดร้อน นี่ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนที่มีโปรไฟล์ดังๆ มีคนติดตามเยอะ ต้องกลับไปจัดระเบียบทวีตของตัวเองกันยกใหญ่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับคนที่ใช้ Twitter มานานหลายปีและทวีตวันละเยอะๆ

Twitter เองก็ดูเหมือนจะรู้อยู่ว่าแพลตฟอร์มของตัวเองมีลักษณะธรรมชาติที่ส่งเสริมให้คนคิดอะไรแล้วก็โพล่งออกไปแบบไม่กลั่นกรองอยู่แล้ว

ก็เลยออกตัวช่วยมาใหม่ให้คน “คิดก่อนทวีต”

 

ล่าสุดมีข่าวออกมาว่าบริษัทกำลังทดสอบฟีเจอร์ใหม่ที่จะขึ้นข้อความเตือนเพื่อกระตุ้นให้ผู้ตอบทวีตรู้ว่า สิ่งที่กำลังจะตอบไปมีเนื้อหาแย่ๆ อยู่ในนั้น แล้วถามเพื่อให้คิดทบทวนว่าจะปล่อยออกไปจริงๆ หรือเปล่า

ผู้ใช้ Twitter บนระบบปฏิบัติการ iOS ที่ได้เห็นฟีเจอร์นี้ อาจจะได้เห็นคำเตือนทำนองว่า นี่เป็นการตอบทวีตที่ค่อนข้างใจร้ายและน่าจะเขียนขึ้นมาตอนของขึ้นนะ แล้วก็ให้โอกาสผู้ใช้งานได้ตัดสินใจว่าอยากจะตอบแบบนี้จริงๆ หรือเปล่า ทั้งนี้ ก็เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานหลีกเลี่ยงการโพสต์อะไรที่ตัวเองจะต้องมานั่งเสียใจทีหลังนั่นแหละ

เพราะอย่าลืมว่าอะไรที่ปล่อยออกไปบนโซเชียลมีเดียแล้วมันก็อาจจะยังตามมาหลอกหลอนเราได้ตลอดไปแม้ว่าเราจะลบทิ้งไปแล้วก็ตาม

ตัวฉันเองก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เคยตกเป็นเหยื่ออารมณ์ของตัวเองและตอบกลับอะไรไปด้วยถ้อยคำที่รุนแรง แต่ช่วงหลังๆ มานี้ฉันจะใช้วิธีห้ามตัวเองไม่ให้รีบตอบอะไรเร็วเกินไป และสัญญากับตัวเองไว้ว่าฉันจะวางเรื่องนี้เอาไว้ก่อน สัก 5-6 ชั่วโมงหลังจากนี้ฉันจะหยิบกลับมาคิดใหม่

ถ้ายังมั่นใจว่าอยากโพสต์อยู่ ก็แปลว่าฉันอยากสื่อสารสิ่งนี้จริงๆ และพร้อมรับผลกระทบที่อาจจะตามมา ซึ่งก็พบว่าช่วยได้มากทีเดียว

อย่างไรก็ตาม การห้ามตัวเองก็ใช่ว่าจะได้ผลเสมอไป บางทีอารมณ์ที่พลุ่งพล่านจากการอ่านอะไรที่น่าโมโหบนโซเชียลมีเดียก็ร้อนแรงเกินกว่าจะยั้งมือตัวเองไหว

ถ้ามีเครื่องมือที่จะเด้งข้อความเตือนขึ้นมาแบบนี้ก็น่าจะช่วยเรียกสติได้เยอะอยู่

 

นอกจาก Twitter จะมีข้อความเตือนขึ้นมาให้คิดก่อนทวีตแล้ว ข้อความเตือนนั้นก็จะระบุด้วยว่าเพราะอะไรสิ่งที่ผู้ใช้งานพิมพ์ไปถึงเข้าข่ายเนื้อหาที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เมื่อเจ้าของทวีตได้อ่านทบทวนข้อความของตัวเองอีกครั้งก็จะได้เข้าใจว่าผิดตรงไหนและกลับไปแก้ได้ตรงจุด

หลังจากได้รับคำเตือนแล้ว ผู้ใช้งานก็จะมี 3 ตัวเลือก

1. ทวีตออกไปอยู่ดีโดยที่ไม่แก้ไขอะไรเลย

2. แก้ไขแล้วก็กดส่ง

หรือ 3. ลบทิ้งไปเลย

ถ้าเราเลือกข้อ 1 แล้วเกิดผลกระทบแย่ๆ ตามมา เราก็จะไม่มีอะไรให้กล่าวโทษได้เลยนอกจากตัวเราเองเท่านั้น

ฉันคิดว่าการย้อนกลับไปอ่านสิ่งที่เราเคยโพสต์ในโซเชียลมีเดียในอดีตเป็นเรื่องดีที่จะทำให้เราได้ทบทวนตัวเอง ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น และรู้ว่าเราอยากจะปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนแบบไหน ไม่ใช่เรื่องผิดที่เราจะปรับแต่งอะไรบางอย่างเพื่อให้มันสะท้อนถึงตัวตนในปัจจุบันของเราให้ได้มากที่สุด

และไม่ใช่เรื่องผิดเหมือนกันที่เราจะเลือกคงมันเอาไว้เหมือนเดิมในกรณีที่เราอยากเก็บไทม์ไลน์ทางความคิดเอาไว้ดูต่อไปในอนาคต หรือเรายังยืนหยัดในความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์ที่มีมาโดยตลอดและไม่เคยเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น

ส่วนหลังจากนี้ไป เราจะคิดก่อนทวีตได้แค่ไหนนั้น เทคโนโลยีก็ช่วยเราได้ในระดับหนึ่งแล้ว ที่เหลือก็น่าจะเป็นตัวเราเองนี่แหละที่จะเลือกใช้มันให้เป็นประโยชน์ได้หรือเปล่า

ไม่อย่างนั้นก็ค่อยผลักภาระให้ตัวเราเองในอนาคตให้กลับมาลบทวีตในอดีตเอาก็แล้วกัน