‘บิ๊กป้อม’สั่งเอาจริง! ยกระดับแก้ค้ามนุษย์ ลุยประมงผิดกฎหมาย ตั้งเป้า‘เทียร์1’ในปี64

ยังคงเดินหน้าทำงานในหน้าที่รับผิดชอบอย่างเต็มที่  สำหรับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่แม้จะปรับบทบาทจากมิติความมั่นคงภายใน มาเป็นเรื่องการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน

แต่ก็ยังรับบทบาทสำคัญของรัฐบาล เพราะคำว่าคุณภาพชีวิตของประชาชน ล้วนกินความหมายโดยกว้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ ให้ประชาชนส่วนใหญ่มีโอกาสได้เข้าถึงเพื่อลืมตาอ้าปาก พร้อมป้องกันไม่ให้ทรัพยากรเหล่านี้ถูกทำลายไปโดยเปล่าประโยชน์ รวมถึงเรื่องที่ดินทำกิน และแหล่งน้ำ รวมทั้งปัญหาหนี้นอกระบบที่เกาะกินประชาชนคนไทยมาเป็นเวลานาน

ซึ่งทุกอย่างก็มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรม รวมถึงบทบาทพิเศษเพิ่มเติมตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ นั่นก็คือเรื่องการดูแลปัญหาการค้ามนุษย์ ที่เชื่อมโยงกับเรื่องแรงงานประมง

ซึ่งนอกจะเป็นปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์แล้ว ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั้งหมดจึงจะเป็นบทพิสูจน์ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการว่าจะมีผลลัพธ์อย่างไร!??

หลังจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กลับเข้ามาสู่ครม.รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกครั้ง แต่ครั้งนี้กลับไม่ได้ควบตำแหน่งรมว.กลาโหม เพื่อเปลี่ยนบทบาทไปดูแลมิติด้านสังคม ที่มากกว่าเรื่องความมั่นคง แต่ในที่สุดก็ต้องใช้คนให้ถูกกับงาน เมื่อคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2563 เห็นชอบให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และคณะกรรมการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์

ซึ่งเป็นการแก้ไขคำสั่งเดิมที่มอบหมายให้นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ เป็นผู้ดูแล เพื่อให้การดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เกิดการบูรณาการการทำงานอย่างมีประสิทธิผลและหลังจากรับหน้าที่อย่างเป็นทางการ พล.อ.ประวิตร ก็เดินหน้ามอบนโยบายสั่งการ เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

พร้อมรับทราบสถานการณ์การจัดลำดับประเทศไทย ในรายงานการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา หรือ ทิป รีพอร์ต ที่อยู่ในระดับ 2 หรือเทียร์ 2 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 อีกทั้งยังกำชับให้เพิ่มความพยายามในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ อย่างต่อเนื่อง

ทั้งด้านการดำเนินคดีผู้กระทำผิดกฎหมาย ด้านการคุ้มครองผู้เสียหาย และด้านการป้องกัน

ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งบูรณาการทำงาน เร่งขับเคลื่อนกลไกการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังและยั่งยืน เพื่อให้การค้ามนุษย์หมดไปจากประเทศไทย

สั่งการให้ตำรวจต้องบังคับใช้กฎหมายจริงจังกับคนเข้าเมือง และแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะแรงงานประมง เพื่อป้องกันการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ช่วยลดปัญหาการค้ามนุษย์ พร้อมเร่งรัดปรับแก้กฎหมายที่เป็นธรรม เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและประโยชน์แก่ผู้เสียหายให้ได้รับการเยียวยาจากการค้ามนุษย์ รวมถึงการสร้างการรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน แรงงาน เอกชน อย่างทั่วถึง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นรองรับการค้าการลงทุน เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟู ขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป
สั่งตั้งเป้าหมาย Tier 1 ให้ได้ในปี 2564 นี้ให้ได้

และไม่ใช่แค่การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด พล.อ.ประวิตร ยังให้ความสำคัญถึงเรื่องการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปพัวพันเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ซึ่งกำชับให้ดำเนินคดีทั้งด้านอาญาและวินัย รวมทั้งต้องสืบสวนสอบสวนเพื่อนำไปสู่การยึดทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด โดยตั้งแต่ปี 2555 ถึงปัจจุบัน มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องจำนวนหลายราย และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินสามารถดำเนินการยึดทรัพย์สินให้ตกเป็นของแผ่นดินได้แล้ว 41,671,199 บาท

ขณะที่ปัญหาของการประมงนั้น ได้ร่วมมือกับกระทรวงแรงงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การคุ้มครองแรงงานประมงสอดคล้องมาตรฐานสากล และสร้างเครือข่ายความร่วมมือป้องกันและปราบปราบการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศ จนกระทำผิดเกี่ยวกับการประมงลดน้อยลง

ภายใต้กรอบการดำเนินการ 5 ด้าน 1.ด้านนโยบายมีการตั้งคณะทำงาน กำกับ และติดตาม การป้องกันและแก้ไขแรงงานภาคประมง เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการ การออกกฎหมาย

2. ด้านการบังคับใช้กฎหมาย จากการตรวจเรือประมง ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก พบการกระทำความผิดเพียง 9 ลำจากทั้งหมด 37,054 เที่ยว หรือร้อยละ 0.024ขณะที่เรือประมงกลางทะเล ตรวจทั้งหมด 508 ลำ พบการกระทำผิด 2 ลำ หรือร้อยละ 0.39

3.ด้านการป้องกันมีการบริหารจัดการกิจการประมงทั้งหมด 160,950 คน มีการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าว 92,233 คน และออกใบอนุญาติทำการประมงพาณิชย์ในน่านน้ำไทย รอบปีประมง 63-64 จำนวน 10,202 ลำ และนอกน่านน้ำไทย 6 ลำ

4.ด้านการคุ้มครองการช่วยเหลือ มีการช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ 3 ราย

5.ด้านการสร้างความร่วมมือกับประทศต่างๆมีโครงการ”สิทธิจากเรือสู่ฝั่ง” ร่วมกับสหภาพยุโรป และองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ)
เป็นผลงานที่เห็นเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้จากรายงานจากอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน ก็ยืนยันว่า สถานการณ์ในปีนี้ถือว่าดีขึ้นในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการค้ามนุษย์ทางเพศ ด้านแรงงาน หรือการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก ทั้งนี้อันเป็นผลจากการล็อกดาวน์ตามมาตรการทางสาธารณสุข การเว้นระยะห่างทางสังคมตามวิถีชีวิตใหม่หรือ New Normal

อย่างไรก็ตามแต่ในช่วงผ่อนปรนมาตรการ ก็สามารถจับกุมการกระทำผิดบนสื่อออนไลน์ได้ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งพล.อ.ประวิตร เน้นย้ำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินคดีโดยเฉพาะคดีค้ามนุษย์ด้านแรงงานในเรือประมง ซึ่งได้มีการจับกุมคดีสำคัญ 2 ราย เป็นกรณีเรือประมงต่างชาติ กับ เจ้าของเรือและแพปลาในภาคใต้ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอิทธิพลในพื้นที่

นอกจากนี้ความร่วมมือกับต่างชาติก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่รัฐบาลได้ยกระดับความร่วมมือในการแก้ปัญหากับทางการสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย โดยตั้งคณะทำงานทวิภาคีภายใต้กำกับของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ขึ้น 2 คณะ

สร้างความเชื่อมั่นในรูปแบบความร่วมมือที่กระชับแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น เชื่อว่าผลงานในการแก้ปัญหาเชิงระบบจะมีความก้าวหน้าชัดเจนมากขึ้นในช่วงสิ้นเดือนมี.ค.64
มุ่งสู่เทียร์ 1 อย่างที่คาดหวังให้ได้!??