กะเทาะเปลือก การเมืองเมียนมาและไทย จดหมายน้อยจากใจ / อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

กะเทาะเปลือก

การเมืองเมียนมาและไทย

จดหมายน้อยจากใจ

 

ชาวบ้านอย่างเราไม่รู้หรอกว่า ชนชั้นนำเขาติดต่อกันอย่างลับๆ มาตลอด หากการติดต่อลับเอื้อประโยชน์ต่ออาณาประชาราษฎร์ดีแน่ แต่นี่ตรงกันข้าม

ท่ามกล่างวิกฤตการณ์การเมืองเมียนมา 1 กุมภาพันธ์ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตัดสินใจทำรัฐประหาร ซึ่งย่อมสำเร็จโดยง่าย เพราะนอกจากมีกำลังพลในกองทัพเรือนแสน อาวุธครบมือแล้ว ยังทำได้ตามรัฐธรรมนูญเมียนมาที่ระบุว่า กองทัพมีอำนาจในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ปกป้องประเทศหากเกิดปัญหาความมั่นคง (ความมั่นคงกว้างมากๆ เพราะทหารอยากยึดครองความมั่นคง)

แต่ข้ออ้างการรัฐประหารกลับน่าขบขัน ท่านอ้างว่า มีการโกงการเลือกตั้ง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการทำรัฐประหาร

รัฐประหารถูกต้องและง่ายได้เลยกลายเป็นยุ่งยากและวิบัติของผู้นำทหารเมียนมาชั่วข้ามคืน และมีทีท่าว่าจะปกครองประเทศไม่ได้

คนทำรัฐประหารอาจต้องลี้ภัย ถูกยึดทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ อาจต้องขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หากสังหารผู้คนมือเปล่าล้มตายและบาดเจ็บ

เค้าลางพินาศค่อยๆ กลายเป็นจริง ผู้คนมหาศาลประกอบด้วยพระสงฆ์ นักศึกษา ข้าราชการ แพทย์และพยาบาล แรงงาน กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ชาวบ้านทั้งเด็กและคนแก่ทั่วประเทศออกมาประท้วงการรัฐประหาร แม้ว่าประกาศกฎอัยการศึก ใช้แก๊สน้ำตา อาจใช้กระสุนจริง จับกุมคุมขัง แต่คนเมียนมาก็ออกมาประท้วงอย่างต่อเนื่อง การลุกฮือโค่นล้มเผด็จการทหารเมียนมาโดยประชาชนประสบความสำเร็จมาแล้ว ดังนั้น ความพินาศจึงมาเยือนผู้นำรัฐประหาร

แล้วการดิ้นรนของผู้นำก็อุบัติขึ้นนานาประการ

ที่น่าสนใจสำหรับผมเวลานี้คือ จดหมายน้อยจากใจ

 

แม้ว่าพัฒนาการการเมืองต่างกันอยู่บ้าง การประท้วงต่อต้านผู้นำประเทศจากผู้คนกลุ่มต่างๆ ก็ไม่ต่างกันนัก

การประท้วงต่อผู้นำไทยที่ได้ทำรัฐประหารมาแล้วถึง 2 ครั้งจากเยาวชน นักศึกษา ประชาชนในชื่อเรียกต่างๆ นานา ก็ทวีความรุนแรงไม่แพ้กัน และเกิดขึ้นต่อเนื่องในไทย

ผู้นำไทยและเมียนมาต่างอ้างโรคโควิด-19 แต่ผู้คนก็ออกมาประท้วง ผู้นำไทยอ้างว่า เขารัฐประหารแล้ว อุตส่าห์แต่งเพลง สัญญาว่าอีกไม่นาน อ้างว่าคืนอำนาจให้ประชาชน มีการเลือกตั้งแล้ว แต่ผู้คนยังประท้วงต่อต้านรัฐบาล

อันเหมือนประท้วงในเมียนมา พล.อ.มิน อ่อง ลาย มีตำแหน่งอยู่ในรัฐสภา เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้นำข้าราชการแต่กลับไม่ทำหน้าที่ป้องกันประเทศ กลับรัฐประหาร ยึดอำนาจเลย แล้วบอกว่ามีการโกงการเลือกตั้ง

อะไรที่เหมือนกันนี้ บอกแก่เราว่า ใครลอกใครไม่รู้ แต่จะพังไปตามๆ กัน

ระหว่างนี้ก็เลยขอปรึกษาทางหนีทีไล่กันหน่อย

น่าขำ ที่เป็นความลับทางราชการ แต่นายกฯ ลุงตู่ภาคภูมิใจบอกแก่สื่อมวลชน ซึ่งก็คือบอกแก่คนไทยทั้งหลายว่า ผู้นำรัฐประหารเมียนมาเขาเขียนจดหมายน้อยมาขอคำปรึกษา

นายกฯ ไทยพูดน่ารักจังว่า ไม่ได้เขียนตอบกลับไป แต่ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อ ซึ่งก็คือ ประกาศให้ทั่วโลกรู้ และบอกดังๆ กับผู้นำเมียนมาอย่างน่ารักว่า ท่านสนับสนุนประชาธิปไตยอยู่แล้ว

สงสัยจัง เมียนมาทำรัฐประหารโค่นประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง แล้วเราสนับสนุนประชาธิปไตยอยู่แล้วอย่างไง

สนับสนุนรัฐประหารหรือรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งกันแน่

หรือไทยก็ยังไม่ใช่ประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้ง แต่ คสช. อันรวมถึงท่านยังประหารรัฐประชาธิปไตย การเลือกตั้งและประชาชนอย่างสนุกมืออยู่ 7 ปีแล้ว

 

ผมไม่มีทางทราบว่า จดหมายน้อยเขียนว่าอะไร แต่จดหมายน้อยบอกอะไรเราได้อีกหลายอย่าง ได้แก่

ผู้นำรัฐประหารเมียนมาคงเขียนจดหมายน้อยไปปรึกษาผู้นำประเทศต่างๆ ในอาเซียน ไม่ได้เขียนถึงเฉพาะผู้นำของเรา แต่ไม่เห็นผู้นำชาติไหนภูมิใจนำเสนอต่อสาธารณะ

ไม่นานนัก นายกฯ ของเราก็บอกทำนองว่า เอาตามอาเซียน มีข้อตกลงเยอะ เช่น TAC ผมเข้าใจว่า ข้าราชการเขียนสคริปต์มาให้ท่านอ่าน ซึ่งก็เหมือนทุกครั้ง ฟังดูเท่จังเลย อ้างกติกา ไม่ยุ่งเกี่ยวกิจการภายใน ไม่ทราบว่า ข้าราชการได้รายงานท่านว่า ประธานอาเซียนตอนนี้ นายกฯ ประเทศบรูไนได้โทรศัพท์ไปคุยกับมิน ออง ลาย แล้ว ถามเขาหน่อยว่า เขาคุยอะไรกัน ไทยจะได้ว่าตัวถูกต้อง ไม่หน้าแหก

ในไม่ช้า ข้าราชการก็ร่วมแจม ท่านแจมว่า

ผลประโยชน์เมียนมา ผลประโยชน์ไทย ความมั่งคั่งเมียนมา ความมั่งคั่งไทย ฟังดูดี แปลว่า เราจะร่วมกันพังพินาศไปด้วยกัน ไม่พูดถึงประชาชนคนเมียนมาสักคน เอาคนที่อยู่ชายแดนไทย-เมียนมาก็ได้ ธุรกิจเจ๊งกันทั้งไทยและเมียนมา แล้วคนเมียนมาที่หนีห่ากระสุน สำลักแก๊สน้ำตาและน้ำผสมสารเคมีฉีดไล่พวกเขาล่ะ

ไม่พูดถึงความทุกข์แสนสาหัสของคนเมียนมาเลย

 

โทรศัพท์จากแดนไกล

จดหมายน้อยก็เรื่องจริง ไม่รู้ว่าเขียนกันหยดย้อยแค่ไหน แต่สารในนั้นน่าเป็นดังที่ผมว่ามา แล้วเสียงโทรศัพท์จากแดนไกลก็ดังขึ้นแถวๆ ทำเนียบรัฐบาล เป็นเสียงจากที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงของประธานาธิบดีโจ ไบเดน สหรัฐ คนรับสายคือ ผู้นำระดับสูงฝ่ายความมั่นคงของไทย

ช่วงเดียวกัน มีข่าวแถลงออกไปทั่ว เป็นคำแถลงของที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงของประธานาธิบดีสหรัฐ

แต่เป็นเสียงที่ไม่มีใครได้ยิน

ไม่มีใครรู้ว่า ทั้งสองคนพูดคุยอะไรกัน มีแต่ข้อสงสัยหลายประการ เช่น

ผู้นำระดับสูงฝ่ายความมั่นคงไทย ตอบคำถามสื่อมวลชนว่า เขาไม่ได้พูดเรื่องมาตรา 112 เขาแค่โทร.มารายงานตัว แค่แนะนำตัว พูดสั้นๆ รู้แล้วว่า พูดทางโทรศัพท์ พูดสั้นๆ

หลายคนสงสัยว่า คนอย่างที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงของประธานาธิบดีสหรัฐ เขาหน้าใหญ่ใจโตในตำแหน่งมาก ปกติฝรั่งเขากร่างนะครับ เขาโทร.มารายงานตัวเองหรือ

ไม่นานนัก นักการเมืองที่คุมความมั่นคงไทยเหนือไปอีก ยืนยัน โทร.มาจริง แต่ไม่ได้พูดเรื่องมาตรา 112 แต่เขาเป็นห่วงเรื่องการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามรัฐ การปิดปากและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไม่แปลกเลยที่ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงของประธานาธิบดีสหรัฐเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน นี่เป็นหลักการสากล

ผู้ใหญ่ฝ่ายไทยยืนยันว่า โทรศัพท์มาไม่มีอะไร แต่สายตรงจากทำเนียบขาวนั้นน่าสนใจในเรื่องดังต่อไปนี้

หนึ่ง เขาโทร.และพูดถูกคนครับ โดยตำแหน่งแล้ว ผู้นำระดับสูงฝ่ายความมั่นคง ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เป็นทั้งแหล่งนโยบายและการตัดสินใจ ที่ได้จากข้อมูลอันกลั่นกรองมาแล้ว เท่าที่ทราบ ท่านนายกรัฐมนตรีไทยใช้ข้อมูลและนโยบายตรงนี้ ตัดสินใจ

สอง ฝ่ายความมั่นคงไทยถึงสองระดับ ยืนยันว่า ไม่ได้กดดันอะไร แล้วสายตรงหมายความถึงอะไรครับ ถ้าไม่สำคัญและต้องการรู้อะไรและอยากให้ทำอะไร เขาไม่โทรศัพท์สายตรงมาหรอกครับ เขาพูดเจาะจงมากๆ ประเด็นความมั่นคง ชนิดยิ่งยวดของไทย ซึ่งทำเนียบขาวกังวลเลยทีเดียว

ถ้าเป็นผม แค่รับโทรศัพท์ก็กดดันแล้วครับ คนโทรศัพท์เป็นใคร?

สาม เขาเตือนอะไรไทย?

ถ้าเขาพูดเรื่องการปราบปรามฝ่ายไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล พูดเรื่องสิทธิมนุษยชนในไทยจริง ผมว่าเขาเตือนผู้นำไทยว่า ทางการไทยควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไร เขาอาจมองว่า ท่านไม่เห็นหรือ การปราบปรามฝ่ายไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล และละเมิดสิทธิมนุษยชน มีผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองและความมั่นคงในไทย สิ่งนี้ทำเนียบขาวกังวล กังวลความมั่นคงของไทย เขาโทรศัพท์มาถูกเวลาครับ

กังวลความไม่มั่นคงไทยนะสิครับ ถามได้