Neuroarchitecture : เมื่อสถาปัตยกรรมส่งผลต่อสมอง และทิศทางใหม่ในการออกแบบเมือง? (1) / พื้นที่ระหว่างบรรทัด

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

Neuroarchitecture

: เมื่อสถาปัตยกรรมส่งผลต่อสมอง

และทิศทางใหม่ในการออกแบบเมือง? (1)

 

ในปี 2552 ได้มีการตีพิมพ์ผลวิจัยที่น่าสนใจมากเรื่อง “Does the installation of blue lights on train platforms prevent suicide? A before-and-after observational study from Japan” ในวารสาร Journal of Affective Disorders

โดยงานชิ้นนี้เสนอว่า การติดตั้งโคมไฟแอลอีดีที่ให้แสงสีน้ำเงิน (blue LEDs) บริเวณชานชาลาสถานีรถไฟในประเทศญี่ปุ่นสามารถลดปัญหาการฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดลงรางรถไฟได้ถึง 84%

โดยนักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า แสงสีนี้ส่งผลต่อสมองมนุษย์ในการช่วยลดความเครียดลงได้

แม้ผลวิจัยนี้จะยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป (งานวิจัยเมื่อปี 2563 ของนักวิจัยอีกชุดหนึ่งเสนอว่าแสงสีน้ำเงินมีประสิทธิภาพน้อยกว่าที่เคยเชื่อกัน)

แต่ด้วยข้อมูลและหลักฐานที่งานชิ้นนี้แสดงออกมาก็เพียงพอจะทำให้บางเมืองใหญ่ของโลกที่มีอัตราการฆ่าตัวตายในสถานีรถไฟสูงเลือกที่จะติดตั้งแสงสีน้ำเงินดังกล่าว

ในทัศนะผม งานวิจัยนี้คือภาพสะท้อนเล็กๆ ของกระแสแนวคิดใหญ่กระแสหนึ่งที่กำลังเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงกระบวนทัศน์ครั้งสำคัญต่อวงการออกแบบสถาปัตยกรรม ผังเมือง ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องรอบตัวมนุษย์

นั่นก็คือ Neuroarchitecture

Neuroarchitecture เป็นแนวคิดที่อาจสืบย้อนกลับไปได้ถึงราวทศวรรษ 2510 แต่พัฒนาการอย่างก้าวกระโดดในฐานะศาสตร์เฉพาะทางนั้นเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 นี้ทั้งสิ้น โดยปัจจุบันกระแสนี้เริ่มได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องแต่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนักในสังคมไทย

ผมเข้าใจว่าศัพท์คำนี้ยังไม่มีการแปลอย่างเป็นทางการในภาษาไทย และผมเองก็ไม่สามารถแปลคำนี้โดยที่ฟังดูไม่ตลกได้

ดังนั้น จะขอใช้ทับศัพท์อย่างย่อไปก่อนนะครับว่า Neuro-arch

Neuroarchitecture เกิดขึ้นจากการใส่คำว่า “neuro-” ที่หมายถึงอะไรก็ตามเกี่ยวกับระบบประสาทเอาไว้ข้างหน้า “architecture” เพื่อสื่อถึงการผสานความรู้ 2 ชุดเข้าด้วยกัน คือ ประสาทวิทยา (neuroscience) กับสถาปัตยกรรม

โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาผลกระทบทางสถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อมที่มีต่อกระบวนการทำงานของสมอง ระบบประสาทและจิตใจมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ และนำผลการศึกษาที่ได้ย้อนกลับไปใช้ในการออกแบบที่ตอบสนองไม่ใช่เพียงการใช้สอยกายภาพ

แต่มุ่งยกระดับสุขภาพจิตให้ดีขึ้นด้วย

ผมควรกล่าวไว้ก่อนนะครับ ไม่มีใครปฏิเสธว่าสถาปนิกทุกยุคทุกสมัยต่างตระหนักดีถึงผลกระทบของสถาปัตยกรรมที่มีต่อมนุษย์ และต่างถูกสอนว่าจะต้องสร้างงานที่ส่งผลเชิงบวกต่ออารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ (อาจยกเว้นคุก)

ดังนั้น หากมองผ่านๆ Neuro-arch จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะสถาปนิกต่างคำนึงถึงเรื่องนี้อยู่ตลอดและหยิบยืมศาสตร์อื่นๆ มาประยุกต์อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นจิตวิทยา, พฤติกรรมศาสตร์, จิตวิเคราะห์ ฯลฯ

แต่เอาเข้าจริงแล้ว สถาปัตยกรรมที่ถูกสร้างขึ้นกลับไม่มีตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมที่แสดงให้เห็นว่าการออกแบบนั้นส่งผลทางอารมณ์ต่อมนุษย์อย่างไร

ที่สำคัญคือ หลายกรณีเป็นเรื่องการตีความเฉพาะตัวตามรสนิยมและความชอบที่ไม่สามารถตัดสินได้

จริงหรือไม่ อาคารหรือพื้นที่บางประเภททำให้เรารู้สึกเครียด บางประเภทเข้าไปใช้แล้วมีความสุข รู้สึก บางประเภททำให้เกิดความรู้สึก บางประเภทกระตุ้นให้เราตื่นตัว และหากจริงมันจริงมากน้อยแค่ไหนหรือเป็นเพียงผลกระทบเล็กน้อย

คำถามเหล่านี้คือช่วงว่างที่ Neuro-arch ได้ก้าวเข้ามาช่วยตอบ

Dr. Fred Gage ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและผู้อำนวยการ Salk Institute ซึ่งศึกษาเรื่องนี้มานานชี้ให้เห็นว่าประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องจริงและจริงอย่างมีนัยยะสำคัญ

โดยจากการทดลองของ Dr. Gage พบว่าเมื่อมนุษย์เราเข้าไปใช้สอยอาคารหรือเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่หนึ่งๆ สมองจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบที่แตกต่างกัน และความเปลี่ยนแปลงนั้นส่งผลต่อมายังอารมณ์และการแสดงพฤติกรรมของเรา

ในงานวิจัยของ Dr. Oshin Vartanian แห่ง the University of Toronto ได้ทำการทดลองโดยให้คนเข้าไปอยู่ในห้องที่มีลักษณะแตกต่างกันสองแบบ

ห้องแรกปิดทึบ ห้องที่สองมีช่องหน้าต่าง และให้คนที่อยู่ในห้องทั้งสองทำงานที่มีความเครียดสูง

ผลการทดลองพบว่าคนที่อยู่ในห้องปิดทึบจะมีการตอบสนองที่แสดงออกว่าเครียดมากกว่าคนที่ทำงานแบบเดียวกันในห้องที่มีช่องหน้าต่าง

ที่สำคัญ คนที่ทำงานในห้องปิดทึบจะมีการหลั่งสาร cortisol (สารเคมีที่คนเราจะหลั่งออกมาเมื่อมีความเครียด) ในปริมาณมากกว่าอย่างชัดเจน

ซึ่งแสดงว่าการอยู่ในห้องปิดทึบไร้หน้าต่างนั้นสร้างความเครียดให้กับมนุษย์มากขึ้น

แม้สถาปนิกและคนทั่วไปจะเข้าใจมานานแล้วว่าห้องทึบย่อมสร้างความรู้สึกอึดอัดแก่เรามากกว่าห้องที่มีหน้าต่าง

แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับประสาทวิทยาได้เผยให้เห็นผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมต่อสมองว่ามีการทำงานในรูปแบบใดและนำไปสู่การแสดงออกทางร่างกายของเราอย่างไร

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ไม่ใช่จะมีแต่กรณีศึกษาที่ยืนยันความรู้เดิมๆ ให้ชัดขึ้นเท่านั้น ในหลายกรณีศาสตร์ทางด้านนี้ได้ช่วยเผยให้เห็นความเข้าใจที่ผิดพลาดของสถาปนิกในการออกแบบพื้นที่ที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์

ตัวอย่างในกรณีนี้คือ การออกแบบ the Seattle Central Library โดยสถาปนิกระดับโลก Rem Koolhaas ที่เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2547

อาคารดังกล่าวนอกจากจะออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดังแล้ว ยังได้รับรางวัลทางด้านสถาปัตยกรรมหลายรางวัล และเป็นที่ชื่นชอบของสถาปนิกเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดใช้งานจริง ผู้ใช้สอยเป็นจำนวนไม่น้อยกลับรู้สึกว่าเป็นงานออกแบบที่ไม่ดี สับสน สร้างความอึดอัด ไปจนถึงน่าหดหู่

แน่นอน ข้อวิจารณ์ลักษณะนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอต่อสถาปัตยกรรมระดับโลกเกือบทุกชิ้น ซึ่งยากต่อการพิสูจน์ว่าจริงแท้แค่ไหน

อาจะเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัวของผู้วิจารณ์หรืออาจเป็นเพราะความไม่เข้าใจที่ดีพอของคนทั่วไปที่มีต่อการสร้างสรรค์ทางสถาปัตยกรรม

แต่ด้วยความรู้ที่ก้าวข้ามศาสตร์สาขาต่างๆ ที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับ Neuro-arch ก็ได้ทำให้พบคำอธิบายบางอย่างที่ช่วยไขปริศนานั้น

Ruth Conroy Dalton ศาสตราจารย์ที่ the Lancaster School of Architecture และ Christoph H?lscher นักวิทยาศาสตร์ด้านการรับรู้ (cognitive scientist) ที่ ETH Zurich ได้ทำการศึกษาห้องสมุดแห่งนี้และพบว่าการออกแบบหลายจุดได้ทำให้ผู้ใช้สอยขาดสิ่งที่เรียกว่า “การรับรู้ในเรื่องทิศทาง” (sense of direction)

ตัวอย่างเช่น บันไดเลื่อนขนาดใหญ่ภายในห้องสมุดที่มีแต่ทางขึ้น ส่วนบันไดเลื่อนทางลงถูกออกแบบไว้ในตำแหน่งอื่นที่ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากบันไดทางขึ้น

การรับรู้ในเรื่องทิศทางเป็นความรู้สึกพื้นฐานของมนุษย์ที่จำเป็นต้องมีเมื่ออยู่ในสถานที่ทุกแห่ง และเมื่อใดก็ตามที่มนุษย์สูญเสียความรู้สึกนี้ จะส่งผลกระทบต่อจิตใจจนนำไปสู่ความรู้สึกสับสน หงุดหงิด และไม่สบายใจเมื่อต้องอยู่ในสถานที่นั้นๆ

ดังนั้น ย่อมไม่แปลกที่ the Seattle Central Library จะได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งในอดีตอาจถูกตีค่าเป็นเพียงแค่การแสดงออกที่ไร้เหตุผลและหลักฐาน

ตัวอย่างบางส่วนที่ยกมาเหล่านี้เผยข้อเท็จจริงของความเป็นมนุษย์ให้เราได้รับรู้ว่า สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรานั้นส่งผลต่อสมองและพฤติกรรมมนุษย์ได้มากกว่าที่เราเคยนึกถึง

ขอให้ลองนึกภาพตามนะครับ มนุษย์ส่วนใหญ่ในโลกสมัยใหม่อย่างเราๆ (ตามการคำนวณขององค์การอนามัยโลก) เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใช้เวลาอยู่ภายในสถาปัตยกรรมต่างๆ มากถึง 80-90% ของช่วงชีวิต ดังนั้น ผลกระทบที่สถาปัตยกรรมจะสร้างให้แก่สมองของเราและพฤติกรรมของเรานั้นจะมากมายมหาศาลกว่าตัวอย่างที่ผมยกมาขนาดไหน

โรคทางจิตใจต่างๆ ที่มนุษย์กำลังประสบอยู่มากขึ้นทุกวันๆ นั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพวกเราอยู่อาศัยในเมืองที่เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างที่ทำร้ายสมองและจิตใจของเราอยู่ตลอดเวลา

และหากเป็นเช่นนั้นจริง Neuro-arch อาจเป็นทางออกในการช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวก็เป็นได้

สิ่งที่น่าคิดคือ Neuro-arch ที่กำลังพัฒนาในประเด็นที่ซับซ้อนมากขึ้นนั้นกำลังเข้ามาท้าทายอำนาจของ “นักออกแบบ” ทั้งหลายที่เคยถือครองความชอบธรรมในการสร้างสิ่งแวดล้อมให้แก่มนุษย์

แต่การท้าทายนี้มิใช่การเข้าแทนที่ “นักออกแบบ” ด้วย “นักประสาทวิทยา” (รวมถึงนักจิตวิเคราะห์ นักพฤติกรรมศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ด้านการรับรู้ ฯลฯ) แต่อย่างใด

โลกยังคงต้องการนักออกแบบอยู่เช่นเดิม เพียงแต่นักออกแบบจำเป็นต้องปรับตัวและเปิดรับสิ่งใหม่ให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

และเมื่อย้อนกลับมามองสังคมไทย คำถามคือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรหันมาสนใจ Neuro-arch กันอย่างจริงจังเสียที