บทเรียน คำเตือน จากทายาทคณะราษฎร 2475 ถึงคณะราษฎร 2563 / บทความในประเทศ

ในประเทศ

บทเรียน คำเตือน

จากทายาทคณะราษฎร 2475

ถึงคณะราษฎร 2563

นับจากกุมภาพันธ์ ปี 2563 ต้องยอมรับว่าบรรยากาศการเมืองไทยค่อนข้างที่จะอึมครึม

ยังมองไม่เห็นทางออกจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลประยุทธ์ กับม็อบเด็ก ในนามคณะราษฎร จากการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย พร้อมแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ และประกาศจุดยืน 3 ข้อเรียกร้อง นำพาประเทศผ่านวิกฤต ของกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่เริ่มต้นจากแฟลชม็อบเยาวชนจากทุกทิศทั่วประเทศไทย จนเติบโตเป็นคณะราษฎร 2563 ที่เกิดการชุมนุมกระจายไปทั่วประเทศ

การเกิดขึ้นของคณะราษฎร 2563 ที่ลุกขึ้นไล่รัฐบาลประยุทธ์ ที่ถูกจับตามองว่า จะเคลื่อนไหวอีกครั้งกลางปี 2564 จะสำเร็จในรุ่นนี้ หรือเป็นการต่อสู้ยืดเยื้อยาวนาน ไม่มีใครตอบได้ เพราะรัฐราชการรวมศูนย์ที่ยิ่งใหญ่มีความแข็งแกร่งอย่างมาก

แต่หากการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริง อาจเปรียบได้กับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร 2475 ที่ผ่านมา 88 ปีแล้ว

อาทิตย์ที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา พ.ต.พุทธินาถ พหลพยุหเสนา บุตรชายคนที่ 4 ของพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หรือที่เด็กรุ่นใหม่เรียกว่า ‘ลุงแมว’ ไปร่วมงาน ‘รฤกคนดีมีค่า แห่งประชาธิปไตย’ ครั้งที่ 1 เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของคณะราษฎร 2475 ที่วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน กรุงเทพฯ

ลุงแมวมองการต่อสู้ของประชาธิปไตยไทยตลอด 8 ทศวรรษ พร้อมถอดบทเรียนให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ ตั้งแต่ครั้งที่คณะราษฎร 2475 ตัดสินใจจะนำระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเข้ามามอบให้กับประชาชนคนไทยทุกคน อย่างน่าสนใจ

พ.ต.พุทธินาถเล่าว่า ผ่านมากว่า 8 ทศวรรษ ประเทศไทยยังต้องใช้คำว่า เกือบจะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ แต่ว่าปัจุบันนอกจากจะไม่เจริญ กลับยิ่งถอยหลัง

ย้อนกลับไปในอดีตเวลาที่ต้องการให้ประเทศชาติเป็นประชาธิปไตย รัฐจะต้องส่งเสริมและปลูกฝังให้ความรู้กับประชาชน

แต่ในทางตรงกันข้าม รัฐไทยในอดีตนั้น กลับไม่ส่งเสริมความรู้เรื่องประชาธิปไตยให้กับประชาชน กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่คณะราษฎร 2475 ได้นำการปกครองระบอบประชาธิปไตยเข้ามาในไทย

ในเวลานั้นการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยให้กับประชาชนยังเท่ากับศูนย์

ลุงแมวย้ำว่า การปลูกฝังจิตสำนึกประชาธิปไตย ต้องใช้เวลาที่จะสอน ที่จะฝึกเสริมเพิ่มเติมให้ประชาชนทุกคนได้เรียนรู้ จึงจำเป็นที่ต้องให้คณะราษฎร 2475 เข้าปกครองประเทศก่อน ซึ่งก็มีเหตุการณ์ให้การปกครองโดยคณะราษฎรในอดีตนั้นต้องหยุดชะงักไว้ เพราะเกิดการยุแยง โดยฝ่ายตรงข้ามทำให้กลุ่มคณะราษฎรแตกแยกกัน

ความหูเบา และหลงระเริงในอำนาจ พลิกผันสภาพสังคมให้แปลกประหลาด ตรรกะผิดเพี้ยนขึ้นไปเรื่อยๆ

ยิ่งปัจจุบันยิ่งหนักกว่าเดิม หลายคนพอได้เป็นใหญ่เป็นโตยิ่งหลงระเริงในอำนาจ มองไม่เห็นข้อผิดพลาดในตัวเอง

พ.ต.พุทธินาถชี้ให้เห็นหน้าที่ของรัฐบาลในมุมมองของคนที่เปลี่ยนผ่านการปกครองมาแล้วหลายยุคว่า รัฐบาลต้องสร้างคนให้มีคุณค่าต่อแผ่นดิน ด้วยการใช้เครื่องมือทุกอย่าง

ยกตัวอย่างเช่น กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข เป็นกระทรวงที่สำคัญที่สุดของบ้านเมือง กระทรวงศึกษาธิการจึงจำเป็นต้องมีหน้าที่ให้ความรู้ ให้สติปัญญากับคนที่อาศัยอยู่ในบ้านเมือง

แต่ปัจุบันการศึกษาไทยกลับสอนให้คนท่องจำ แต่ไม่สอนให้คิดวิเคราะห์

ส่วนกระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่สร้างคนตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ให้เป็นเด็กที่เกิดมามีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ มีหน้าที่อยู่ในกระบวนการป้องกัน ไม่ใช่แก้ไข สิ่งเหล่านี้คือหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ใช่คิดว่าคนเป็นสัตว์ พยายามที่จะออกกฎหมายมาบังคับอยู่ตลอดเวลา

เหมือนกับคิดว่าคนในประเทศคิดอะไรไม่เป็น

จากบทเรียนในอดีต พ.ต.พุทธินาถได้ส่งสัญญาณแจ้งเตือนคนรุ่นใหม่ ด้วยการบอกว่า ‘ถ้าเกิดในอนาคตการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่สามารถที่จะนำประเทศไทยเข้าสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างตั้งมั่นอยู่ในแผ่นดินไทยได้อย่างถ่องแท้ อยากให้ระวังเรื่องการยุแยงให้แตกสามัคคี และอย่าหูเบา’

พ.ต.พุทธินาถกล่าวถึงการลุกขึ้นมาต่อสู้ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ว่า อาจจะมีล้ำเส้นไปบ้าง แต่อยากจะให้สู้ต่อไป อย่าถอยหลัง ขอขอบคุณลูก-หลานทุกคนที่กล้าลุกขึ้นออกมาเดินหน้าเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยที่แท้จริง

การที่ลูก-หลานกล้าเสี่ยงชีวิต เสี่ยงอันตรายออกมาทำเพื่อประชาชน คล้ายกับช่วงที่บิดาของตนร่วมกับคณะราษฎรปี 2475 เสี่ยงชีวิตตัวเองและครอบครัวออกมาต่อสู้ เพื่อจะนำระบอบประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพเข้ามาในประเทศไทย

ซึ่งตนเห็นด้วยกับการออกมาต่อสู้ของคณะราษฎร 2563 และเห็นว่าข้อเรียกร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ต้องแก้ไข ให้ยกเลิกไปเลย แล้วเขียนขึ้นมาใหม่ไม่ออกนอกประเด็น ให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นหลัก

‘การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทยนี้ ขอเปรียบเทียบว่าเหมือนกับการต่อสู้กับสิ่งเลวร้าย เรื่องที่ต้องระวังที่สุดคือการโดนเล่ห์เหลี่ยมชั้นเชิงของฝ่ายตรงข้าม เพราะในอดีตเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ดังนั้น ต้องมีสติ ใช้สติสัมปชัญญะ ปัญญา ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการต่อสู้ที่จะต้องฟันฝ่ามันไปให้ได้ อย่าใช้อารมณ์เด็ดขาด เพราะจะทำให้แพ้ภัยตัวเอง’

พ.ต.พุทธินาถกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อคิดจะลุกขึ้นมาสู้ มานำผู้ใหญ่ในประเทศ ขอให้ลูก-หลานร่วมมือกัน สามัคคีกัน แม้จะขัดแย้งทางความคิดกันบ้าง แต่ห้ามแตกแยก เพราะเมื่อใดที่ใช้อารมณ์จะส่งผลให้ความหวังในการที่จะมีประชาธิปไตยเต็มใบสูญหายไป แล้วจะมองไม่เห็นหนทางที่จะกลับมาต่อสู้ได้อีกครั้ง สิ่งที่คณะราษฎร 2475 ทำมาก็จะสูญเปล่า

นำความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาในรั้วมหาวิทยาลัย ที่เรียนเพิ่มเติมนอกตำรานำมาผสมผสานกัน แล้วรวมเป็นสติปัญญา ปราศจากอารมณ์ นำมาใช้ในการต่อสู้

จำไว้ว่าระบอบประชาธิปไตยจาก 2475 ที่มีค่าเท่ากับศูนย์จะทำให้สมบูรณ์เป็นประชาธิปไตยเต็มใบได้ มันต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 40 ปี แต่คณะราษฎรในตอนนั้น มีเวลาเพียงแค่ 15 ปี การต่อสู้ในปัจจุบันถ้าลูก-หลานมีสติ สามัคคี ความคิดแตกต่างกันได้ แต่ห้ามแตกแยก การจะได้ประชาธิปไตยเต็มใบอาจจะใช้เวลาน้อยกว่าคณะราษฎร 2475 ก็เป็นได้

‘ขอให้มีสติปัญญา เข้มแข็ง มั่นคง แข็งแรง ให้สุขภาพร่างกายพลานามัยสมบูรณ์ อย่าเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วก็สามัคคีด้วยใจ เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยใจ รักชาติก็ต้องรักด้วยใจ ไม่ใช่ถูกบังคับให้รัก ทุกอย่างต้องเกิดขึ้นด้วยใจ ไม่ว่าจะทำอะไรทุกคนต้องทำด้วยความร่วมใจ แล้วทุกอย่างจะประสบความสำเร็จ’

พ.ต.พุทธินาถกล่าวทิ้งท้ายการสนทนาด้วยคำอวยพรที่ฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่กล้าลุกขึ้นออกมาต่อสู้