การเมืองกับข้าราชการสาธารณสุขในยุคโควิด

วิชาการเมืองหรือรัฐศาสตร์ คือ วิทยาศาสตร์สังคมที่ว่าด้วยการจัดสรรอำนาจซึ่งจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด

จะเป็นวิทยาศาสตร์ได้ ข้อสรุปต้องมาจากการสังเกตหรือพบเห็นได้ซ้ำ ๆ ในหลายที่ และหลายจุดของกาลเวลา วิทยาศาสตร์ต้องมีคำอธิบายเป็นตรรกะที่ประกอบด้วยหลักฐาน (ผลการสังเกตอื่น ๆ) ที่น่าเชื่อถือ การสรุปธรรมชาติของทางการเมืองจึงต้องอาศัยการย้อนมองประวัติศาสตร์ และ ดูปรากฏการณ์ที่อยู่รอบข้าง

เมื่อสี่ห้าทศวรรษก่อนหน้านี้ วัฒนธรรมของระบบข้าราชการสาธารณสุขไทยมีความจำเพาะแตกต่างกับสาธารณสุขในต่างประเทศและกระทรวงอื่น ๆ ในประเทศไทย ไทยเราให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานและกำลังคนด้านสาธารณสุขมากกว่าประเทศอื่น ๆ ที่มีฐานะการเงินใกล้เคียงกัน กระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงที่ค่อนข้างสะอาด ปราศจากการติฉินนินทาด้านการฉ้อราษฎร์บังหลวง จนกระทั่งราวสามทศวรรษที่แล้ว กระทรวงสาธารณสุขเป็นที่หมายตาของนักการเมือง ในแง่ของงบประมาณเครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ และฐานเสียงที่มาจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน กระทรวงสาธารณสุขจึงถูกการเมืองที่ไม่ดีครอบงำ ข้าราชการชั้นสูงแก่งแย่งตำแหน่งโดยเข้าหานักการเมือง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายไม่เป็นอันทำงาน ข้าราชการระดับกลางในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคหลายคนต้องโทษจำคุกเพราะเข้าร่วมกระบวนทุจริตกับนักการเมือง

ยีสิบปีที่ผ่านมา ประชาธิปไตยไทยพัฒนาไปบ้าง นักการเมืองและข้าราชการชั้นสูงเข้าใจในกฎของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่พยายามไปหาทุกข์ มาขังตนเอง ระบบบริหารราชการแผ่นดินได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย โปร่งใส มีส่วนร่วมมากขึ้น เมฆร้ายทางการเมืองก็ค่อยจางหายไป จนกระทั่งเราก้าวเข้าสู่ยุคโควิดตั้งแต่ปี 2020 ความต้องการ (needs) ในการทำงานร่วมกันระหว่างผู้นำทางการเมืองกับระบบราชการสาธารณสุขของโลกสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน

 

ในปี 2020 ที่ผ่านมา โลกขาดผู้นำทางการเมืองที่จะหลอมรวมจิตใจและความพยายามของมนุษยชาติให้สู้กับโควิด

มีระบบการเมืองหลายประเทศที่รัฐบาลสามารถปกป้องประเทศของตนให้พ้นจากภัยด้านสุขภาพ ไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศนั้น

มีประเทศจำนวนน้อยมาก (ทีผมนึกได้มีประเทศเดียว คือ จีน) ที่นำไปประชาชนพ้นภัยทั้งด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจสังคม

แต่มีประเทศนับไม่ถ้วนที่ผู้คนต้องเจ็บป่วยเสียชีวิตไปพร้อม ๆ กับปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่

ที่แย่ไปกว่านั้นยังมีอีกหนึ่งประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา ที่ผู้นำทางการเมืองพยายามทำลาย (disrupt) ระบบความร่วมมือด้านสุขภาพระหว่างประเทศ คือ องค์การอนามัยโลก ซึ่งหน่วยหนึ่งในสหประชาชาติอันเป็นระบบราชการสูงสุดของโลก เมื่อองค์การอนามัยโลกอ่อนแอ ประเทศยากจนหมดที่พึ่ง โควิดเป็นตัวอย่างในหลาย ๆ ตัวอย่างที่ยืนยันว่าแนวคิดชาตินิยม American First คิดประโยชน์เฉพาะส่วนของชาติตนไม่สามารถแก้ปัญหาของส่วนรวมและของตนเองได้ นอกจากนี้ โควิดยังบอกเราว่า ความผิดพลาดทางการเมืองเป็นตัวกำหนดความล้มเหลวในการควบคุมโควิด

 

อันที่จริง การที่ประเทศต่าง ๆ ควบคุมโควิดได้ไม่ดี จะไปโทษฝ่ายการเมืองอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องโทษความไม่รู้ (อวิชชา — ignorance) ของมนุษย์

องค์การอนามัยโลกและหน่วยงานควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (US-CDC) ซึ่งมีนักวิชาการอยู่จำนวนมาก ให้คำแนะนำในระยะแรกอย่างสับสนด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น แนะนำว่า การสวมหน้ากากอนามัยป้องกันโรคได้เฉพาะเมื่อผู้สวมมีเชื้อและมีอาการ ดังนั้น ถ้าไม่มีอาการอะไรก็ไม่ต้องสวม คำแนะนำนี้แพร่หลายและใช้มากในช่วงที่โรคกำลังระบาดในประเทศตะวันตกใหม่ ๆ ผลก็คือ เกิดการระบาดหนัก

องค์การอนามัยโลกเองก็เคยออกคำแนะนำในระยะแรกว่าไม่ควรห้ามคนเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศ เพราะมักจะไม่สามารถห้ามได้ คำแนะนำเช่นนี้ทำให้โรคระบาดข้ามประเทศได้อย่างอิสระ

ขณะนี้นักสาธารณสุขในประเทศตะวันตกก็กำลังแนะนำว่าให้ฉีดวัคซีนในบุคลากรการแพทย์และผู้สูงอายุและผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอก่อน ไม่ควรสนใจไปฉีดวัคซีนกลุ่มที่อาจจะแพร่โรค เพราะไม่มีหลักฐานว่าการฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่เชื้อได้ ซึ่งความเชื้อสุดท้ายน่าจะเป็นความเชื่อที่ผิด วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำลายเชื้อโรค ทำให้โอกาสที่เชื้อจะเพิ่มจำนวนและกระจายออกไปสู่คนอื่นน้อยลงไปมาก การหาหลักฐานว่าฉีดวัคซีนไปแล้วเมื่อรับเชื้อจะไม่แพร่เชื้อนั้นทำได้ยากหรือทำไม่ได้เลย เนื่องจากในงานภาคสนาม เราจะไม่ทราบเลยว่าเชื้อจะเข้าร่างกายเมื่อไรออกเมื่อไหร่ เพราะทั้งเข้าและออกเกิดขึ้นโดยไม่มีอาการ ไม่เหมือนกับประเมินการเจ็บป่วย เพราะเราสามารถรู้แน่ชัดว่าป่วยจริงไหม กว่าจะหาหลักฐานว่าฉีดวัคซีนโควิดแล้วป้องกันการแพร่เชื้อได้เหมือนระบบของวัคซีนทั่ว ๆ ไป ก็ต้องรอไปอีกนานจนกว่าทุกคนจะได้รับวัคซีนครบถ้วนโรคระบาดจึงจะสงบ

เรื่องทฤษฎีทางการแพทย์ทำนองนี้ เราคงต้องรอให้คุณหมอทั้งหลายเถียงกันให้สะเด็ดน้ำ ส่วนมากการตัดสินใจก็จะขึ้นกับว่านักการเมืองเชื่อเสียงฝ่ายไหนมาก คุณหมอนักวิชาการทั้งหลายก็ต้องทำใจเมื่อพวกท่านกันเองยังหาข้อสรุปไม่ได้ ผู้นำทางการเมืองก็จะเลือกข้างที่เขาไว้ใจมากกว่า ถ้าเป็นสิ่งที่เราไม่เห็นด้วยแต่ผู้นำตัดสินใจไปแล้วก็ไม่ต้องโวยวายมาก ในบางกรณี ความสามัคคีทำให้ทำงานด้วยกันได้อาจจะสำคัญกว่าความถูกต้องที่นำไปสู่ความแตกหักขององค์กร ในทางกลับกันถ้าผู้นำตามสิ่งที่เราแนะนำก็ไม่ต้องดีใจมาก ความถูกผิดของเรื่องทั้งหลายจะรู้จริงเมือเวลาผ่านไป อย่าลืมย้อนกลับมาดูก็แล้วกัน อย่างเรื่องการเลือกฉีดวัคซีนกลุ่มไหนก่อน

เราก็มาคอยดูว่าประเทศไทยซึ่งเลือกแนวทางตะวันตกฉีดวัคซีนให้คนอ่อนแอก่อน กับประเทศอินโดนีเซียซึ่งฉีดวัคซีนให้คนทั่วไปก่อน โดยที่วัคซีนก็ดูเหมือนจะมีทั้งจากจีนและอังกฤษเหมือนกันทั้งสองประเทศ ใครจะไปถึงดวงดาว (คือ เห็นผลชัดเจนว่าวัคซีนลดโรคระบาดได้) ก่อนกัน

 

ทีนี้กลับมาลองพิจารณาจำแนกเปรียบเทียบความเข้มแข็งของระบบราชการกับระบบการเมืองโดยทั่วไปในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับโควิดบ้าง

ระบบราชการเป็นระบบที่มั่นคงต่อเนื่องมากกว่าระบบการเมือง ผู้นำของระบบราชการส่วนใหญ่ถูกเพาะเลี้ยงเติบโตมาในระบบ ระบบราชการจึงมีแนวโน้มที่จะอนุรักษ์นิยม คือ รักษาอำนาจของระบบและรักษาเสถียรภาพของข้าราชการไว้

ผู้นำของระบบการเมืองแบบพรรคเดียวในประเทศทางสังคมนิยมก็มีแนวโน้มแบบเดียวกันกับระบบราชการ คือ พรรคต้องให้แน่ใจว่าได้ผู้นำที่จะสร้างความเข้มแข็งให้พรรค นาน ๆ ทีจึงจะมีผู้นำพรรคที่คิดนอกลู่นอกรอยจากระบบ สร้างความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ที่เห็นได้คือ พรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงปลาย 1970 ถึงต้น 1980 และพรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตในช่วงปลาย 1980 ถึงต้น 1990 พรรคทั้งสองรับเอาแนวคิดตลาดมาบริหารเศรษฐกิจ ยอมแลกเอาความยากจนออกไป เอาความเหลื่อมล้ำเข้ามาในสังคม

แต่ที่พรรคทั้งสองไม่ยอมเด็ดขาด คือ อำนาจทางการเมืองของพรรค ในระบบการเมืองแบบพรรคเดียว พรรคเป็นซุปเปอร์ราชการที่มั่นคงและอนุรักษ์นิยมเปลี่ยนแปลงยาก ต้องรอจนกว่าจะมีผู้นำรุ่นใหม่ที่มาความสามารถและบารมีมากพอมาเปลี่ยนแนวทางใหม่ในอนาคต

 

ในโลกทุนนิยม ผู้นำพรรคการเมืองมีแนวโน้มที่จะอนุรักษ์นิยมน้อยกว่า เพราะทุนนิยมเน้นการแข่งขันและความแปลกใหม่ ไม่ชอบความซ้ำซาก นักการเมืองทุกคนต้องหาเสียงว่าตนเองสามารถทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ด้วยนโยบายทางการเมืองที่ไม่ซ้ำกับพรรคที่ครองอำนาจอยู่ในขณะนั้น เมื่อได้รับเลือกตั้งเข้ามาได้ ย่อมมีความชอบธรรมที่เปลี่ยนโครงสร้างต่าง ๆ รวมทั้งระบบราชการ ให้สอดคล้องกับแนวคิดที่ทำให้ตนเองได้รับชนะเลือกตั้ง การเป็นข้าราชการในโลกทุนนิยมจึงต้องระแวดระวังพายุทางการเมือง

ในยุคโควิด ข้าราชการสาธารณสุขที่รักษาตัวรอดเป็นยอดดีระดับโลก น่าจะเป็น Dr Fauci ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีทรัมพ์ให้เป็นที่ปรึกษาด้านโควิด หมอแกออกมาพูดให้ความรู้แก่ประชาชนอเมริกันเป็นระยะ ๆ หลายครั้งแสดงแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับประธานาธิบดี แต่ก็ไม่เห็นว่าเค้าได้รับโอษฐภัยแต่อย่างไร ตอนก่อนเลือกตั้ง เค้าบอกว่าใครเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปก็ยินดีทำงานด้วยทั้งนั้น พอไบเดนรับตำแหน่งเรียบร้อย หมอเฟาซีก็เป็นคนประกาศนโยบายใหม่ให้กับไบเดนด้วยน้ำเสียงที่แสดงความชื่นชม ข้าราชการไทยควรศึกษาวิธีการของเฟาซีว่าวางตัวอย่างไรท่ามกลางพายุการเมือง ไม่เพียงแต่อยู่รอดปลอดภัย แต่ยังทำงานสื่อสารกับประชาชนได้ดีโดยตลอด

อีกด้านหนึ่งก็ต้องชมวิธีการดูแลระบบราชการของนักการเมืองอเมริกัน ถึงแม้ทรัมพ์จะมีอะไรไม่ถูกต้องหลายอย่าง เขาก็เป็นสุภาพบุรษพอที่จะไม่ไปอัดคุณหมอต่อหน้าคนอื่นมากนัก ด้านหนึ่งที่ไม่ดี คือ สนับสนุนบทบาทของสำนักงานควบคุมโรค CDC น้อยเกินไป แต่ก็ไม่ได้ไปก้าวก่ายตำหนิข้าราชการสาธารณสุขคนหนึ่งคนใด ในช่วงโควิดระบาด นักการเมืองไทยส่วนใหญ่ก็รับฟังคุณหมอด้วยดี คุณหมอทั้งหลายทำงานหนักมาก ยามโควิดสงบก็ขอให้ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านสนับสนุนคุณหมอต่อไปนะครับ สงสารคุณหมอบ้าง

ในประเทศไทยพายุการเมืองในปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นเฉพาะยามโควิดสงบ พอโควิดกลับมาอีกครั้งการประท้วงก็หายไป ไม่รู้ว่าโควิดจะเป็นระฆังช่วยระหว่างยก หรือ โควิดจะเป็นบทพิสูจน์ว่าคนไทยมีเหตุผล ไม่ทำร้ายกันเองปล่อยให้เกิดโรคระบาด หรือ ที่ดีไปกว่านั้นก็คือ คนไทยยังมีพลังความสามัคคีกันอยู่ในระดับหนึ่ง

 

พูดถึงความสามัคคี ข้าราชการก็เป็นประชาชนเหมือนกัน รับข้อมูลทางการเมืองและแปลผลข้อมูลเหมือน ๆ กับประชาชนทั่วไป จริงอยู่ ระบบราชการมีความมั่นคงสูงมาก แต่ความเห็นทางการเมืองระหว่างข้าราชการบำนาญรวมกับข้าราชการชั้นสูงดูเหมือนจะตรงกันข้ามคนละขั้วกับข้าราชการรุ่นที่เพิ่งจะบรรจุใหม่ เช่นเดียวกับประชาชนในยุคเบบี้บูมและก่อหน้านั้น มีความเห็นต่างกับเจนเนอเรชั่นวายหรือแซดในยุคนี้

ในปัจจุบันความข้ดแย้งทางความคิดเห็นต่อการเมืองระหว่างรุ่นของข้าราชการยังไม่ได้แสดงออก เพราะข้าราชการรุ่นใหม่ต้องสงบเสงี่ยมเจียมตัวทำนองรู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี และอีกด้านหนึ่งแรงบีบคั้นให้ต้องเลือกขั้วการเมืองเหมือนกันยังไม่รุนแรงนัก นอกจากนั้น อย่างที่กล่าวแล้ว ตัวช่วยที่สำคัญ ก็คือ โควิด ซึ่งเป็นศัตรูร่วมของคนทั้งชาติและทั้งโลก การร่วมกันต่อสู้กับโควิดในรูปแบบต่าง ๆ อาจจะเป็นโจทย์ช่วยทำให้ข้าราชการต่างรุ่นได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และลดการแบ่งขั้วในที่สุด

เราอยากให้โควิดหมดไปเร็ว ๆ แต่ โควิดคงอยู่ไปอีกนานด้วยเหตุผลทางระบาดวิทยา ก่อนโควิดจะหมดไป ข้าราชการไทยก็จะเต็มไปด้วยคนในเจนเนอชั่นใหม่ ข้าราชการผู้ใหญ่ก็จะเกษียณไปเลี้ยงหลาน การเมืองไทยอาจจะมีวิธีจับขั้วใหม่ไม่เหมือนเดิม ข้าราชการในเจเนอเรชั่นใหม่ก็ต้องเรียนรู้ว่าจะวางตัวอย่างไรในพายุการเมืองทั้งในวันนี้ที่ท่านอาจจะไม่เห็นด้วยทั้งหมด และในวันข้างหน้าที่ท่านก็จะไม่เห็นด้วยทั้งหมดเช่นกัน