ทางแพร่ง นปช. ‘ธิดา’ ปฏิวัติ ‘จตุพร’ ถึงเวลา ‘รีแบรนด์คนเสื้อแดง’? / เปลี่ยนผ่าน

เปลี่ยนผ่าน
ปรัชญา นงนุช

ทางแพร่ง นปช.
‘ธิดา’ ปฏิวัติ ‘จตุพร’
ถึงเวลา ‘รีแบรนด์คนเสื้อแดง’?

ความเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช. ถูกจับตาอีกครั้ง หลัง “ธิดา ถาวรเศรษฐ” ประธานที่ปรึกษา นปช. ออกมาทำแบบสอบถาม 3 ข้อ และเปิดให้แนวร่วมแสดงความเห็นเพิ่มเติม
คำถามที่อาจารย์ธิดาตั้งขึ้นในแบบสำรวจความคิดเห็นคนเสื้อแดง ก็ได้แก่
(1) ควรยุบ นปช.หรือไม่?
(2) ควรปรับเปลี่ยนคณะนำของ นปช.หรือไม่?
และ (3) เห็นด้วยกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่ต้องการให้ได้การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนไทยอย่างแท้จริง และนโยบาย 7 ข้อ ของ นปช.หรือไม่?
คำถามทั้ง 3 ข้อ สะท้อนถึงบทบาทที่ผ่านมา อนาคต และอุดมการณ์ของ นปช. ว่าสุดท้ายแล้วจะดำเนินไปสู่ทิศทางใด?
คำถามข้อแรกที่เช็กเสียงคนเสื้อแดงว่า ควรยุบ นปช.หรือไม่? นั้นมิได้เพิ่งถูกจุดประเด็นขึ้นเป็นครั้งแรก
เพราะผู้ที่พูดเรื่องนี้เป็นคนแรก คือ “จตุพร พรหมพันธุ์” ประธาน นปช. ที่เสนอเอาไว้เมื่อปลายเดือนธันวาคม พร้อมให้เหตุผลว่าเพื่อส่งมอบ “มรดกการต่อสู้” แก่ “คนรุ่นใหม่”

อย่างไรก็ดี คำตอบที่แนวร่วม นปช.มีต่อคำถามของอาจารย์ธิดา ดูจะไม่สอดรับกับข้อเสนอของตู่ จตุพร เพราะร้อยละ 90 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ไม่ต้องการให้ยุบ นปช. แต่ให้มีการปรับคณะนำใหม่ (ตามคำถามข้อสอง) ซึ่งแน่นอนว่าย่อมสะเทือนถึงเก้าอี้ประธาน นปช.ด้วย
“ส่วนมากประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ก็คือไม่ให้ยุบ ที่กดเข้ามา แต่บางคนก็ตลก คือบอกว่าให้ยุบ แต่แนะนำว่าควรปรับเปลี่ยน (ด้วย) ทีนี้พอถึงคำถามของเรา 3 ข้อนี้ เราจะไม่พูดเรื่องเปลี่ยนประธาน แต่จะพูดว่าเปลี่ยนคณะนำเลย คือทั้งหมด
“ดังนั้น ถ้าดูจากที่เขาตอบมา ความประสงค์ของเขาก็คือไม่ต้องการให้ยุบ แต่ต้องการให้ปรับเปลี่ยนคณะนำ หรือจำนวนมากก็บอกให้ประธานออกไปคนเดียว ประมาณนั้นก็มี” ธิดากล่าว
ต่อประเด็นนี้ จตุพรมองว่าการตั้งคำถามในโพลของธิดานั้น “ไม่ยุติธรรม” เพราะไม่ได้ใส่เหตุผลของการยุบ นปช. เพื่อส่งมอบมรดกการต่อสู้หรือการเปลี่ยนผ่านจาก นปช. เป็น “แดงราษฎร” ตามที่ตนเสนอ ประกอบเข้าไปด้วย
“เวลาการทำโพลก็ต้องบอกเหตุผล จะถามคำเดียวว่ายุบหรือไม่ยุบไม่ได้ เราต้องอธิบายความ ว่าเป็นข้อเสนอมอบมรดกให้กับกลุ่มราษฎร ไม่ใช่ไปถามห้วนๆ ว่ายุบหรือไม่ยุบ ธรรมชาติมนุษย์ ใครจะไปเห็นด้วยกับการยุบ เราก็บอกว่าเป็นธรรมชาติ เรียกว่าถามนำ
“แต่ถ้าอธิบายแบบเราว่า นปช.ขีดเส้นไว้ที่ ‘อำมาตยาธิปไตย’ นักศึกษาเขาทะลุเพดานไป เราวิ่งไปได้ 300 เมตร และไม่มีความประสงค์จะวิ่งต่อไป อยู่เท่านี้ แต่เด็กเขาจะวิ่งต่อไปเป็น 400 เมตร เราหวงไม้เอาไว้ (ทำไม?) เพราะฉะนั้น การตั้งคำถามในลักษณะแบบนี้ มันไม่แฟร์”
จตุพรตอบโต้

ถือเป็นศึกภายใน นปช. ที่ถูกแบ่งเป็น 2 สาย ระหว่าง “สายธิดา” กับ “สายจตุพร” ซึ่งแต่ละสายก็มีพรรคการเมืองและสื่อของตนเอง
โดยอาจารย์ธิดามีภาพพรรคไทยรักษาชาติติดตัว เพราะสามี “นพ.เหวง โตจิราการ” เคยเป็นอดีตสมาชิกพรรค รวมทั้งมีสำนักข่าว “ยูดีดีนิวส์” ตั้งอยู่ย่านแคราย ส่วนตู่ จตุพร ก็มีภาพพรรคเพื่อชาติติดตัว รวมทั้งมีสื่อ “พีซทีวี” ที่ย้ายจากห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว มาย่านรามอินทรา 40
สำหรับจุดตัดสำคัญคือเหตุการณ์ก่อนเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 หลังจตุพรพ้นโทษออกจากเรือนจำเมื่อ 2 ปีก่อน
โดยธิดาได้วิจารณ์เรื่องที่จตุพรไม่ยอมจัดประชุม นปช. ขณะที่ฝ่ายหลังแจงว่าที่จัดประชุมไม่ได้ เพราะต่างคนต่างอยู่กันมานาน
“2 ปีกว่าหลังจากประธาน นปช.ออกมา นอกจากเราไม่ได้ขับเคลื่อน เราก็ไม่มีการบริหารจัดการกันภายใน ในฐานะองค์กร ก็พากันไปอยู่พรรคการเมืองกันหมด
“เพราะฉะนั้น จึงเป็นเหตุว่าอาจารย์มารับทำยูดีดีนิวส์ ซึ่งได้ทำมาเป็นเครือข่ายเล็กๆ เป็นสื่อเล็กๆ ตั้งแต่ปี 2559 คุณจตุพรก็รับทราบ แล้วก็มาทำ อาจารย์หวังว่าเป็นที่ประสานงาน เป็นกระบอกเสียงของพี่น้องประชาชน และประชาชนผู้รักประชาธิปไตย แม้จะไม่ใช่ นปช.ก็ตาม” ธิดากล่าว
“นปช.ซีกหนึ่งก็ไปอยู่พรรคไทยรักษาชาติ ออกจากพรรคเพื่อไทยมาเหมือนกัน ก็ไปอยู่พรรคไทยรักษาชาติ พอไปอยู่พรรคไทยรักษาชาติ ก็แยกสถานที่ไปอยู่ที่แคราย แล้วก็ไปเคลื่อนตรงนั้น และพอไทยรักษาชาติโดนยุบ ผมเองก็มีหน้าที่ส่งพรรคเพื่อชาติจนถึงฝั่ง ก็ได้มา 5 เสียงเล็กๆ เพราะพรรคไม่มีตังค์อะไร ป้ายก็ยังติดไม่ครบเลย
“วันหาเสียงเสร็จ ผมยุติบทบาทและไม่เคยเหยียบพรรคเพื่อชาติแม้แต่เพียงวันเดียว แล้วก็บอกหัวหน้าพรรคก่อนที่จะแยกย้ายว่า ควรจะไปร่วมกับพรรคเพื่อไทย และก็ร้องขอตัวแทน นปช. คุณอารี ไกรนรา ว่าให้โหวตตามฝ่ายค้านทุกอย่าง ที่เหลือผมไม่เคยไปยุ่งเกี่ยวอะไร
“เพราะฉะนั้น ต่างฝ่ายต่างแยกออกมาจากพรรคเพื่อไทย แต่ผมถูกตัดสิทธิ์ และผมมีเจตนาต้องการจะเทรวมให้กับฟากฝั่งประชาธิปไตย และก็ได้เท่านั้น
“ตั้งแต่บัดนั้น อาจารย์ธิดาไม่ได้ลงผู้แทนฯ แต่คุณหมอเหวงลง ที่เหลือลงทุกคน ก็แยกเป็นสองทาง แยกออฟฟิศอยู่ แล้วจะประชุมกันอย่างไร? แล้วเราก็เห็นแล้วว่ามันไม่มีสถานการณ์ที่เราจะจัดชุมนุมอะไร ผมก็แสดงความคิดเห็นของผมผ่านช่องทางผมทุกวัน
“และ (สำหรับ) ผมเอง ใครมีตำแหน่งหน้าที่อะไรก็ใช้ได้ อาจารย์ธิดาเป็นประธานที่ปรึกษา นปช. ก็ใช้ไป ณัฐวุฒิก็เป็นเลขาธิการ นปช. ผมเป็นประธาน ก็ใช้ไป ธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ เป็นโฆษก นปช. คุณก็ใช้ไป แต่ว่าทุกคนก็รู้ว่าไม่ได้เป็นมติ แต่เป็นในนามส่วนตัว เราก็เป็นเสรีภาพ เพราะแสดงความประสงค์ชัดเจน
“ก็แยกออฟฟิศ แยกทุกอย่าง แล้วจะให้ทำยังไง? ถามว่าประชุมยังไง? เพราะฉะนั้น เราก็อยู่โลกความเป็นจริง ถ้าต้องการแบบนี้ ก็อยู่กันแบบนี้” จตุพรโต้คำวิจารณ์ของอาจารย์ธิดา

ตู่ จตุพร ยืนยันว่าไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง จึงเสนอให้มีการ “ส่งไม้-มอบมรดก” การต่อสู้ของ นปช.ให้กับคณะราษฎร ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ ยังปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่าตน “รับงานทหาร” มาทำลายคนเสื้อแดงด้วย
ประธาน นปช.อธิบายเพิ่มเติมว่า ข้อเสนอยุบ นปช.ของเขา เป็น “คนละเรื่อง” กับความขัดแย้งในศึกเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ ที่เพิ่งเกิดขึ้น
สืบเนื่องจากการที่จตุพรออกตัวสนับสนุน “บุญเลิศ บูรณุปกรณ์” สวนทางพรรคเพื่อไทยที่ประกาศหนุนหลัง “ส.ว.ก๊อง พิชัย เลิศพงศ์อดิศร” อีกทั้งแกนนำคนเสื้อแดงยังได้พูดจาพาดพิง “เจ๊ใหญ่” แห่งพรรคเพื่อไทยโดยเปิดเผย
“ในโซเชียลไปใส่ความเท็จว่าผมรับงานทหารมาทำลายคนเสื้อแดง ไอ้นี่เลวที่สุด เพราะฉะนั้น เวลาฟ้อง ก็อย่าร้องแล้วกัน คุณต้องพิสูจน์ผมทรยศยังไง? เพราะผมไม่ได้ทรยศ ผมไม่ได้ไปไหน ผมก็อยู่ที่เดิมของผม ผมเคยปราศรัยปี 2535 ยังไง ปี 2553 ก็อย่างนั้น ปัจจุบันก็อย่างนั้น ก็ยืนกรานกันมา
“ในขณะที่ผมถูกปั่นด้วยข้อความอันเป็นเท็จและก็ไม่แฟร์ เพราะฉะนั้น ใครอยากเป็นอะไรก็เป็นไป” จตุพรยืนยันอย่างดุดัน ก่อนกล่าวต่อว่า
“อย่าว่าแต่กับเจ๊เลย แต่กับนายกฯ ทักษิณ (ผมก็เห็นต่าง) ผมเป็นคนที่กล้าเห็นต่างในพรรค หลายคนเห็นต่างแล้วอยู่ไม่ได้ ผมเห็นเป็นจำนวนมาก แต่ก่อนหน้านี้ ผมเห็นต่างแล้วก็อยู่กันได้ ก่อนสุดซอย (ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม) ก็มี ตอนสุดซอยนี่หนักที่สุด และกรณีเชียงใหม่ไม่ได้เป็นกรณีแรก”
ทั้งหมดนี้จึงเป็น “ทางแพร่ง” ของคนเสื้อแดง-นปช.ว่าทั้งขบวนการจะเดินไปสู่ทิศทางใดต่อไป? ทว่าก็พอเห็นคำตอบสุดท้ายแล้วว่า โอกาสการยุบ นปช.นั้นเป็นไปได้ยาก แต่อาจมีการ “ปรับคณะนำ” แทน
โดยเฉพาะตำแหน่งประธาน นปช. ที่เริ่มมีการพูดถึงชื่อ “เต้น-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ซึ่งต้องจับตาว่าภายหลังเจ้าของฉายา “สุภาพบุรุษไพร่” พ้นโทษอย่างเป็นทางการช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้
ความเคลื่อนไหวขององค์กรคนเสื้อแดงจะเป็นอย่างไร? สุดท้ายใครจะอยู่ใครจะไปกันแน่?!