เมื่อ รมต.กลาโหมจีนโดนลูบคม?

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ถือเป็นหลักโดยทั่วไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศประเทศหนึ่งจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์และอำนาจต่อรองที่ทัดเทียม อีกนัยคือเหนือกว่าเล็กน้อยหรือไม่น้อยจนเกินไป

นั้นทำให้กลายเป็นเกมการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจระดับต่างๆ ตั้งแต่ภูมิภาคจนถึงระดับโลก ซึ่งเคยเป็นบันทึกหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ อย่างยุคสงครามเย็น หรือช่วงเวลาปรับดุลอำนาจใหม่ในยุคศตวรรษที่ 21 ในขณะนี้

มักเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “สมดุลแห่งอำนาจ”

 

เมื่อช่วงธันวาคมปีที่แล้ว ได้เกิดภาวะของการดุลอำนาจกันระหว่างจีนและอินเดีย แต่สถานที่กลับเกิดขึ้นที่เนปาลและบังกลาเทศ ผลลัพธ์ที่ได้คือ การเสียเหลี่ยมของจีนแผ่นดินใหญ่

อย่างที่ทราบกัน จีนกำลังแผ่อิทธิพลทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจในแถบเอเชียใต้เพื่อเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เช่นเดียวกับส่วนอื่นทั่วโลก เพื่อกระชับโครงข่ายอิทธิพลในหลายประเทศให้อยู่ภายใต้การควบคุมของจีน แต่สงครามการค้ากับสหรัฐ หรือปมพิพาททะเลจีนใต้ คือเครื่องแสดงการท้าทายจีนที่ต้องเผชิญ เอเชียใต้ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญที่จีนต้องครอบงำเหนือประเทศแถบนี้

แต่อุปสรรคใหญ่สำคัญที่จีนต้องเจอในภูมิภาคเอเชียใต้คือ อินเดีย ซึ่งก็ต้องการขึ้นมาเป็นชาติเจ้าอำนาจในแถบเอเชียใต้

การแข่งขันเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับประเทศรอบข้างในแถบนี้จึงเกิดขึ้นบ่อย ยกเว้นครั้งล่าสุดที่เป็นการเสียเชิงครั้งใหญ่

 

หลังจากที่ฮาช วาธัน ชริงลา รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย เดินทางเยือนประเทศในแถบหิมาลัยอย่างเนปาลเป็นเวลา 2 วัน จีนก็รีบตอบโต้ทันที ด้วยการส่งเว่ย เฟิง เหอ รัฐมนตรีกลาโหมจีน บินไปเนปาลทันที

นายพลเว่ยต้องการพบปะระดับทวิภาคีกับรัฐมนตรีกลาโหมเนปาล หรือก็คือ เค. พี. ชาร์มา โอลี นายกรัฐมนตรีเนปาลนั่นเอง แต่การพบปะระดับทวิภาคีก็ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะไม่ได้ดำเนินตามหลักปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม นายพลเว่ยก็ได้รับการปลอบใจด้วยการได้เข้าคารวะเยี่ยมนายกรัฐมนตรีโอลีและประธานาธิบดีบิธา เดวี บันดารี แห่งเนปาล

และนายพลเว่ยก็ยังถูกปฏิเสธคำขอที่จะร่วมประชุมช่วงพักเที่ยงกับปุชปา คามาล ดาฮาล อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคคอมนิวนิสต์เนปาล และทำให้นายพลเว่ยได้เพียงแค่ประชุมทวิภาคีกับผู้บัญชาการทหารบกของเนปาลแทน

สรุปใช้เวลาในเนปาลเพียง 10 ชั่วโมงและเดินทางออกจากเนปาลในวันเดียวกัน

นับเป็นการโดนลูบคมครั้งใหญ่สำหรับนายพลเว่ย ที่เป็นถึงสมาชิกสภาแห่งรัฐของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

 

ถ้ากรณีเนปาลเรียกว่าย่ำแย่ กรณีบังกลาเทศแทบเรียกว่าเงียบหาย รายงานระบุว่า นายพลเว่ยจะมีการวางแผนเดินทางเยือนบังกลาเทศแบบด่วนเพื่อประชุมทวิภาคีร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายกลาโหมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

แต่กำหนดการนั้นกลับต้องเลื่อนออกไป

นักวิเคราะห์ระบุว่า การเดินทางเยือนบังกลาเทศที่จบลงตั้งแต่ยังไม่เริ่มนั้นก็เพราะชีก ฮาซิน่า นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศนั้น มีความสัมพันธ์อันดีกับนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย

แสดงให้เห็นว่าประเทศในภูมิภาคนี้พยายามรักษาระยะความสัมพันธ์กับจีนไม่ให้มากเกินไป

 

ทั้งนี้ นอกจากจีนและอินเดียจะอยู่ในห้วงดุลแห่งอำนาจ ในไม่ช้า สหรัฐก็จะกลับมาแสดงตัวในการเมืองระหว่างประเทศอีกครั้ง ภายใต้รัฐบาลโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ ที่ได้ประกาศชัดแล้วว่าจะกลับมามีบทบาท หลังบทบาทนี้ลดลงในช่วงยุคของโดนัลด์ ทรัมป์

ไมเคิล คูเกลแมน รองผู้อำนวยการโครงการเอเชียและผู้ช่วยอาวุโสของศูนย์วู้ดโรว์ วิลสันในวอชิงตัน ดี.ซี. ได้วิเคราะห์นโยบายต่างประเทศของไบเดน โดยเฉพาะในแถบเอเชียใต้ว่า แม้ไบเดนจะมีนโยบายต่างประเทศหลายอย่างที่ต่างจากทรัมป์ แต่กับเอเชียใต้ ไบเดนเดินรอยตามทรัมป์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนสหรัฐ-อินเดียให้มากขึ้น เพราะตัวไบเดนเองก็มีความเป็นมิตรกับอินเดียอย่างมาก รวมถึงการสานสัมพันธ์กับปากีสถานให้มากขึ้นโดยเฉพาะกระบวนการสร้างสันติภาพในประเทศ

แน่นอนว่า ผลประโยชน์ร่วมกันหลักๆ 2 อย่างที่ขับเคลื่อนความร่วมมือนั้นคือ การต่อสู้กับการก่อการร้ายและการตอบโต้อิทธิพลของจีน