เล่าเรื่องตัวตน “พูนศุข พนมยงค์” สตรีเบื้องหลังผู้นำอภิวัฒน์สยาม 2475

เมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา สถาบันปรีดีพนมยงค์ ได้จัดงานเสวนาผ่านระบบออนไลน์ หัวข้อ “บทบาทของสตรีผู้อยู่เคียงข้างผู้นำ” เนื่องในวาระชาตกาล 109 ปี ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยาของศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือนที่นำการอภิวัฒน์สยาม 2475 โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล, สุดา พนมยงค์ ,ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน และชานันท์ ยอดหงษ์

ความเป็นแม่-ภรรยาของ “พูนศุข” ผ่านเรื่องเล่าของลูก

ครอบครัวรับมืออย่างไรบ้างในความผันผวนทางการเมืองช่วงปรีดีนำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

สุดา : ก็ต้องยอมรับเหตุการณ์ ยอมรับความจริง มันก็รับมือลำบากเหมือนกัน วันดีคืนดีเราก็มีแต่แม่ พ่อก็ไม่อยู่กว่าจะได้พบกันอีกทีก็หลายปีมาก

ชีวิต 84 วัน หลังลูกกรงในสันติบาล

ดุษฎี : วันนั้นเป็นวันที่คุณแม่ไปเป็นเถ้าแก่สู่ขอคุณเครือพันธ์ ปทุมรส ให้กับคุณศักดิชัย บำรุงพงศ์ เจ้าของนามปากกา เสนีย์ เสาวพงศ์ ซึ่งตำรวจนั้นเข้ามาจับกลุ่มคุณเฉลียว และเมื่อหันมาเห็นคุณแม่ก็บอกว่าคุณแม่ก็มีหมายจับเหมือนกันเพราะฉะนั้นไปด้วยกันเลย และพาคุณแม่ขึ้นรถไปสันติบาล

พี่สาวตอนนั้นอยู่ที่ฝรั่งเศส ส่วนพี่ชายคนโต ปาล พนมยงค์ ก็โดนจับเช่นกันในข้อหากบฏสันติภาพ สภาพที่สันติบาลตอนนั้นเป็นครึ่งตึกครึ่งไม้ คุณแม่ขึ้นไปอยู่ชั้นบน หน้าต่างมีกรง ต้องนอนกับพื้นปูเสื่อ ด้วยความที่คุณแม่มีญาติพี่น้องเยอะทุกคนก็เห็นถึงความไม่เป็นธรรม แวะมาเยี่ยมและเอาอาหารใส่ปิ่นโตมาฝาก

นึกย้อนกลับไปตอนนี้ก็สงสารคุณแม่ ในห้องขังมองไปไกลสัก 400-500 เมตรก็จะเห็นเรือนไม้ที่ขังผู้รักสันติภาพทั้งหลาย รวมทั้งพี่ชายปาล พนมยงค์ คุณแม่ก็พยายามโผล่หน้าไปที่หน้าต่างเพื่อมองหาลูกชายแต่ก็ไม่เจอ เห็นเพียงแต่ผู้คนตัวเล็ก ๆ ไกล ๆ

ตัวครูดุษกับน้องวาณีเองก็ต้องไปอยู่โรงเรียนประจำวันจันทร์ถึงศุกร์ จนเมื่อวันศุกร์โรงเรียนปล่อยกลับบ้าน คุณน้าก็ต้องไปรับกลับมาเพื่อมาอยู่กับคุณแม่ในนั้นด้วยในวันเสาร์-อาทิตย์

 

ถูกจับกุมเพราะ “ปรีดี”

สุดา : ตอนที่คุณแม่ถูกจับ เราเข้าใจว่าเป็นการกดดันอย่างหนึ่งเพราะว่าตอนนั้นคุณพ่อออกไปแล้ว ก็คงจะจับกุมผู้ที่เป็นภรรยาเพื่อให้บอกมาว่าสามีไปไหน อยู่ที่ไหน

อีกข้อหนึ่งก็สืบเนื่องมาจากการรัฐประหารโดยคณะรัฐประหาร 2490 ได้ทำการยึดอำนาจและบุกเข้ามาที่ทำเนียบท่าช้าง ตอนนั้นเป็นช่วงหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองไม่กี่ปี ยังจำได้ถึงเสียงระเบิดตามจุดยุทธศาสตร์อย่างสถานีรถไฟบางกอกน้อยซึ่งอยู่ตรงข้ามทำเนียบท่าช้างได้ในเวลานั้น คืนหนึ่งในขณะที่เด็ก ๆ นอนไปแล้วก็ได้ยินเสียงเช่นนั้นอีก ก็นึกแปลกใจว่าสงครามจบลงไปแล้วทำไมยังมีเสียงแบบนั้น จนเช้าจึงได้ทราบเรื่องว่าเกิดอะไรขึ้น… รัฐประหารครั้งนั้น ได้อ้างเหตุผลการเข้ายึดอำนาจที่ทำเนียบท่าช้าง มีรถถัง ปืนกลสารพัด ว่าจะมา ‘เปลี่ยนรัฐบาล’ คุณแม่เองก็ตะโกนตอบกลับไปว่า ‘ทำไมมาเปลี่ยนที่นี่ ทำไมไม่เปลี่ยนกันที่สภา’

ปาล พี่ชายเราตอนนั้นที่อายุเพียงไม่ถึง 18 ปีก็เป็นผู้ใหญ่มาก ดูแลน้อง ๆ ทุกคน และคุณแม่ก็คอยบอกให้ทุกคนหมอบลงกับพื้น พี่ชายก็คอยช่วยดูแลเราไม่ให้ตกใจ ซึ่งครั้งนั้นก็คงมุ่งจะเอาชีวิตจริง ๆ เนื่องจากกราดยิงเข้าที่กำแพงห้องนอนพอดี

 

แม่ผู้พาครอบครัวฝ่ามรสุมการเมือง

สุดา : ก็คงต้องมาจากจิตใจอันเข้มแข็ง และยิ่งถ้าไม่มีหัวหน้าครอบครัว ท่านก็ยิ่งต้องสวมบทบาทเป็นทั้งพ่อและแม่ คอยดูแล ชีวิตความเป็นอยู่การกินนอน และให้พวกเราได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

 

สหายยื่นมือช่วยครอบครัวยามลำบาก

ดุษฎี : เรื่องนี้มีความลำบากตรงเรื่องการสื่อสาร มีเพื่อนมีญาติที่จะไปกราบไปหาคารวะก็สื่อสารกันลำบาก เพราะเมื่อกลับมาก็ต้องถูกรัฐบาลเผด็จการทหารในสมัยนั้นออกหมายจับ อย่างเช่นเมื่อพี่สาว (คุณสุดา) ที่อยู่ฝรั่งเศสจะไปเยี่ยมคุณพ่อที่จีนในปีพ.ศ. 2501 และคิดว่าอยู่ด้วยกันที่จีนสักพักก่อนจะกลับมาประเทศไทย แต่กลายเป็นว่า ไปไม่ได้แล้วเพราะโดนออกหมายจับจากไทยด้วยข้อหาไปหาคุณพ่อ ข้อหา “ข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร”

เรื่องความช่วยเหลือเองคุณแม่ก็เคยพูดเสมอว่าใครช่วยเหลืออะไรเราต้องจดจำไว้ บรรดาญาติมิตรเองก็มีหลายท่านที่ไม่เกรงกลัวอะไร คอยช่วยเหลืออยู่ในทุก ๆ เรื่อง

อย่างคุณอัญชนา โอบอ้อม เองที่มาคอยช่วยงานที่บ้าน เป็นคนที่คุณแม่ไว้ใจ และส่งเสริมอยากจะให้ได้รับความรู้จึงส่งให้ไปร่ำเรียนการเรือนที่ราชภัฏพระนครใต้ในปัจจุบัน ซึ่งภายหลังก็ได้แต่งงานกับคุณสุธี โอบอ้อม ซึ่งสองท่านนี้เป็นผู้ที่คอยช่วยเหลือตอนที่คุณพ่อต้องหลบหนีช่วงกบฏวังหลวงโดยได้ติดต่อคุณอุดร รักษมณี คนรู้จักของทั้งสองให้คุณพ่อหลบพักอยู่ที่บ้านฉางเกลือ ที่พักอาศัยของตนอยู่เป็นเวลา 6 เดือน โดยที่ไม่เคยได้รู้จักกันเป็นส่วนตัวแต่ในภายหลังได้ทราบว่าคุณอุดรนั้นเป็นคนหนุ่มสมัยนั้นที่ติดตามและศรัทธาคุณพ่อนับตั้งแต่เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ไมตรีจากเพื่อน-ครูโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์

ดุษฎี : แม้แต่ฝั่งโรงเรียนเองก็ช่วยเหลือดีมาก ตอนที่ยังเล็กและต้องเอาลูกไปฝากโรงเรียนประจำซึ่งไม่ใช่ช่วงที่โรงเรียนเปิดเทอม รวมถึงแม่ชีใหญ่ซึ่งเข้าอกเข้าใจครอบครัวเราเป็นอย่างดี ทั้งตอนกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 และตอนเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่สองแล้วตอนนั้นเข้าใจว่าฝรั่งเศสเป็นฝ่ายอักษะ แต่จริง ๆ ก็ไปเข้ากับฝ่ายนาซีซึ่งแม่ชีที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟฯ นั้นเป็นชาวฝรั่งเศส ก็ได้เดินทางไปหาคุณพ่อที่ทำเนียบท่าช้างเพื่อแสดงความเข้าใจว่าถึงฝรั่งเศสจะไปเข้าร่วมกับฝ่ายนาซี แต่ก็มีชาวฝรั่งเศสบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยอยู่เหมือนกัน รวมถึงกรณีอื่น ๆ ก็ดีกับครอบครัวของเรามาก

 

มุมโรแมนติกของพูนศุข-ปรีดี

ดุษฎี : ในสมัยนั้นเป็นยุคศักดินาถึงแม้ว่าผู้ชายและผู้หญิงจะหมั้นหมายกันแล้ว ก็ยังไม่สามารถออกไปเที่ยวด้วยกันได้เหมือนอย่างสมัยนี้ คุณพ่อเองก็เคยบอกว่าการไปหมั้น หมายเพราะตัวเองเป็นแค่ลูกชาวนาธรรมดา แต่สุดท้ายคุณตาคุณยายก็ยกให้ ในช่วงหมั้นและก่อนแต่งงานคุณพ่อเคยพาคุณแม่ไปดูละคร ซึ่งโรแมนติกมากสมัยก่อนเนื่องจากหนุ่มสาวจะไม่ได้ไปไหนด้วยกัน จำได้ว่าเล่นอยู่แถวแถวศาลหลักเมือง สนามไชยในปัจจุบัน แต่ไม่สามารถจำได้ว่าเรื่องอะไรนั้นเป็นครั้งเดียวที่ทั้งสองท่านไปดูละครด้วยกันก่อนแต่งงาน

ความสัมพันธ์ของทั้งสองท่านนั้นเท่าเทียมกันจริงๆ และผู้ชายเองก็ยกย่องฝ่ายภรรยาซึ่งในสมัยนั้นก็หาได้ยาก เวลาพูดถึงก็จะพูดถึงในแง่ดี พูดแต่เรื่องดี ๆ หรือเวลาขอความเห็นอะไรพวกเราคุยกันก็จะบอกว่าให้ถามคุณแม่สิ เพื่อยกให้เห็นว่าความเห็นของคุณแม่ก็สำคัญ และที่สำคัญมีความเกรงใจคุณแม่อย่างความชอบในการรับประทานอาหารอาจจะไม่เหมือนกัน คุณพ่อนั้นชอบรับประทานทุเรียน ส่วนคุณแม่นั้นเหม็นกลิ่นทุเรียนเป็นที่สุด ในยามที่เมืองไทยอากาศหนาวก็จะมีเพื่อนพ้องส่งทุเรียนไปให้ทานคุณพ่อก็จัดให้หลานอีกคนหนึ่งไปตั้งโต๊ะในสนามนั่งทาน เพื่อจะได้ไม่มีกลิ่นมารบกวนคุณแม่ ซึ่งก็มีความเกรงใจคุณแม่ เคารพซึ่งกันและกัน รวมถึงคอยดูแลกันอยู่เสมอ

เมื่อพูดถึงคุณแม่ผู้อยู่เคียงข้างคุณพ่อมาตลอดจนกระทั่งลมหายใจสุดท้าย…..

 

พ่อไม่ชวนเล่นการเมือง

สุดา : คุณพ่อไม่เคยยุให้เราทั้งสองเล่นการเมือง แต่ถ้าพูดเรื่องการเมืองก็คงจะมีบ้างในความหมายที่ให้เข้าใจในการเมือง เข้าใจในระบบประชาธิปไตย เข้าใจในการต่อสู้เพื่อสันติภาพ แต่นอกจากนี้พี่ปาลของเราก็เคยลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่อยุธยา รวมถึงได้ไปเป็นพลทหารซึ่งเขาก็รู้สึกดีใจและเต็มใจในการเข้ารับหน้าที่

ติดต่อพ่อช่วงลี้ภัยกันยังไง?

ไม่มีการติดต่อกัน แต่ในยุคนั้นมีเรื่องน่ารักอยู่คือ ในช่วงที่คุณพ่อไม่อยู่ เมื่อจับตัวไม่ได้ก็จับเมียจับลูกแทน จนคุณแม่บอกว่าอยู่ประเทศไทยไม่ได้แล้วต้องไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งความคิดหนึ่งนั้นก็คือการไปอยู่กับปาล ลูกชายคนโตและอีกความคิดหนึ่งนั้นคือการไปตามหาคุณพ่อ จนวันหนึ่งก็มีคนเอาจดหมายมาให้ เขียนสั้น ๆ และลงท้ายชื่อว่า Félix ที่แผลงมาจาก Félicitation แปลว่าปรีดี เป็นคุณพ่อนั่นเอง และหลังจากนั้นก็เริ่มมีการติดต่อกัน

จดหมายฉบับแรกนั้นมาถึงเมื่อคุณแม่ออกจากคุกแล้ว ช่วงนั้นไปอยู่ฝรั่งเศสไม่กี่เดือน จนได้พยายามติดต่อกันผ่านหลายองค์กรและในที่สุดก็ได้เดินทางไปหาที่ประเทศจีน

จะมีช่วงที่คุณพ่อยังอยู่ในประเทศไทยและแอบหลบซ่อนอาศัยอยู่ในบ้านผู้หวังดีที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนแต่ให้พักพิง ซึ่งเวลาจะติดต่อกันก็ต้องอาศัยคนที่ไว้ใจได้คอยส่งข่าวให้เท่านั้น

 

บทบาท “พูนศุข” ในจีนและฝรั่งเศส

ย้อนกลับมาตอนอยู่เมืองไทย เมื่อไม่มีหัวหน้าครอบครัว ไม่มีเงินเดือนแล้วเท่ากับไม่มีรายได้ ต้องอาศัยรายได้จากคุณแม่ที่มาจากครอบครัวที่มีอันจะกิน ทรัพย์สินจากที่บิดามารดาของท่านให้ไว้เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว

และตอนไปอยู่ที่ฝรั่งเศสนั้น ด้วยคุณงามความดีที่สร้างไว้เขาก็ยินดีต้อนรับแต่ก็มิได้มีการให้อะไรพิเศษ คือก็ให้พักอาศัยอยู่ได้แต่เรื่องการเงินนั้นคุณพ่อเองก็เรียกร้องเงินบำนาญอยู่หลายปีที่ไม่มีการจ่ายให้ จนมีการฟ้องร้องกระทรวงการคลังและในที่สุดก็ชนะความ คุณแม่ก็อาศัยจากดอกเบี้ยเงินฝากบ้างอะไรบ้างคอยส่งให้เรียน

แต่ตอนที่ไปอยู่ประเทศจีนตอนนั้น เขาก็เห็นว่าเป็นผู้ที่ทำคุณงามความดีให้กับประเทศชาติ มีอุดมการที่รักชาติและสันติภาพ เขาจึงต้อนรับเช่นแขกต่างประเทศ ซึ่งในช่วงนั้นก็ไม่มีการติดตามตัวจากรัฐบาลไทยเนื่องจากในช่วงนั้นจีนปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์ซึ่งรัฐบาลไทยไม่ให้การยอมรับ จึงมิได้มีการขอความร่วมมือกัน

ด้านกายภาพก็อยู่ด้วยความสบายมากเนื่องจากเขามีผู้ติดตามคอยช่วยดูแลอยู่ แม้แต่อาหารเองก็ได้รับการจัดเตรียมในฐานะชาวต่างชาติมากกว่าผู้อื่นที่ต้องจัดสรรปันส่วนเท่า ๆ กันทุกคน รวมถึงเรื่องสิทธิรักษาพยาบาลเราก็ได้รับเป็นพิเศษ

 

“พูนศุข” ในความทรงจำของ ม.ร.ว.สายสวัสดี

ม.ร.ว.สายสวัสดี กล่าวนำเมื่อเอ่ยถึงความสัมพันธ์กับท่านผู้หญิงพูนศุขว่า

“…ท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นผู้ที่ดิฉันรักใคร่และเคารพนับถือมากคนหนึ่ง ท่านเองก็เอ็นดูและรักดิฉันเหมือนลูกเหมือนหลาน ให้ดิฉันเรียกท่านว่าป้า…”

ดิฉันพบกับท่านผู้หญิงฯ ครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1972 ในรถไฟจากลอนดอนไปยังดอนแคสเตอร์เพื่อเดินทางไปมีตติ้งที่สามัคคีสมาคม ฉันนั่งรถไฟขบวนเดียวกันกับท่าน และเดินตามหาท่านจนพบ เมื่อได้พบแล้วจึงเข้าไปกราบท่าน บอกท่านว่าเราเป็นลูกเต้าเหล่าใคร พอท่านทราบ ท่านก็ก้มลงกอดดิฉันด้วยความดีใจ เพราะว่าท่านรักพ่อดิฉันมาก พ่อดิฉันเคยเป็นผู้ร่วมงานเสรีไทยด้วยกันกับอาจารย์ปรีดี เรียกกันได้ว่าเป็นมิตรแท้ หลังจากเสรีไทยจบแล้ว ก็ยังคงช่วยกันที่จะนำการปกครองแบบประชาธิปไตยมาสู่เมืองไทยอย่างแท้จริง แต่ก็ประสบความล้มเหลว และพ่อดิฉันก็เป็นเจ้าคนเดียวที่ยึดมั่น และประกาศความบริสุทธิ์ของอาจารย์ปรีดี ในกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เพราะฉะนั้นท่านจะซัพพอร์ทอาจารย์ปรีดี ท่านผู้หญิงถึงได้เอ็นดูดิฉันมาก เพราะว่าเป็นลูกพ่อ

หลังจากนั้นดิฉันเป็นทั้งอุปนายกและสภานายกสามัคคีธรรม ก็ได้เชิญท่านมาร่วมงานปราศรัยในมีตติ้งถึง 2 ครั้ง ในปี 1974 และ 1976 หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ทั้งๆ ที่รัฐบาลประกาศไม่ให้มีการชุมนุมคุยเรื่องการเมือง

นอกจากนั้น ฉันก็เคยไปเยี่ยมท่านและครอบครัวหลายครั้งที่ปารีส โดยมากจะเป็นในวันเกิดอาจารย์ปรีดี คือวันที่ 11 พฤษภาคม และครั้งสุดท้ายที่ได้ไปกราบท่านผู้หญิงที่ปารีส ก็คือเมื่อท่านอาจารย์ปรีดี ถึงแก่กรรมกะทันหัน ดิฉันเป็นผู้ที่ขอวีซ่าและช่วยจัดการ ให้ท่านเจ้าคุณปัญญานันทะเดินทางไปปารีส เพื่อจะไปเป็นประธานในงานฌาปนกิจของอาจารย์ปรีดี

หลังจากนั้น ดิฉันจะได้พบท่านผู้หญิงที่เมืองไทย ในวันสันติภาพ 16 สิงหาคมของทุกปี ทีแรกจะจัดงานที่โรงพยาบาลสงฆ์ และต่อมาก็จัดที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันสันติภาพนี้เป็นวันที่มีความหมายอย่างยิ่งสำหรับท่านผู้หญิงในประวัติศาสตร์ชาติไทย เพราะเป็นวันที่รำลึกถึงขบวนการเสรีไทย ซึ่งช่วยให้ประเทศไทยได้กลับคืนมาซึ่งเอกราชและอธิปไตยโดยสมบูรณ์ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด

ความสัมพันธ์ระหว่างสองครอบครัวจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก

เรามีการพบกันทุกปีตามงานต่างๆ คือวันสันติภาพ สนิทสนมกันมากขึ้นทุกทีจนเสมือนเป็นพี่เป็นน้องกัน พบกันครั้งแรกที่ปารีส ตอนที่ดิฉันไปกราบอาจารย์ปรีดีกับคุณป้าพูนศุข จนได้พบกับลูกๆ ท่านทุกคน ตอนนั้นยังไม่สนิท จนได้กลับมาเมืองไทย

สำหรับท่านพ่อ (ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน) ท่านบอกว่า ท่านเข้าใจและมองเห็นว่านายปรีดีทำงานเพื่อชาติแท้จริง โดยไม่เห็นประโยชน์ส่วนตัว ท่านพ่อก็เลยยินดีที่จะร่วมมือ เลยได้ใกล้ชิดกัน ท่านบอกว่าลืมความหลังเสียก่อน เมื่อก่อนเราอยู่ตรงข้ามกัน คุณพ่ออยู่ฝ่ายเจ้านาย ปรีดีอยู่ฝ่ายคณะราษฎร์ แต่ตอนหลังเรามีอุดมการณ์เดียวกัน ที่จะกอบกู้อำนาจอธิปไตยคืนมา

ราคาที่ต้องจ่ายของ ‘ท่านชิ้น’ เพราะสนับสนุนปรีดี

“ท่านกลายเป็นหมาหัวเน่าในหมู่เจ้านายด้วยกัน ว่ารักอาจารย์ปรีดีมากกว่าพระราชวงศ์” 

พ่อของฉันศึกษาเรื่องกรณีสวรรคตมากมาย มีอยู่ 4 ประการ ว่าทำไมจึงสวรรคตด้วยพระแสงปืน

  1. ถูกปลงพระชนม์
  2. ฆ่าตัวเอง suicide
  3. accident จากการเล่นปืนกับผู้อื่น
  4. accident ขณะท่านอยู่ตามลำพังบนเตียงในห้องนอนของท่าน เพียงองค์เดียว

พ่อไตร่ตรอง สืบสวนทุกอย่างแล้วก็ come to conclusion ว่าเป็น accident ขณะที่ท่านนอนอยู่พระแท่นบรรทมองค์เดียว เพราะฉะนั้นเมื่ออาจารย์ปรีดี ถูกกล่าวหาว่าเป็นการวางแผนปลงพระชนม์ พ่อจึงต้อง defend อย่างสุดความสามารถ และจะประกาศความบริสุทธิ์ของ อาจารย์ปรีดี ไปจนถึงวันตายของท่าน และท่านเป็นเจ้าองค์เดียวที่เห็นว่าอาจารย์ปรีดีบริสุทธิ์ โดยจะมีเจ้านายองค์อื่นเห็นว่าสมน้ำหน้า ก็อยากจะมาเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำร้ายเจ้าทำไม ก็สมน้ำหน้าแล้ว ก็ถูกแล้วที่ถูกหาว่าเป็นคนวางแผนเรื่องปลงพระชนม์

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข แบบอย่างแห่งความดีงาม

ม.ร.ว.สายสวัสดี กล่าวอีกว่า “นอกจากความกล้าหาญ ความอดทน มีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่เจ้ายศเจ้าอย่าง ท่านได้รับเครื่องราชฯ เป็นท่านผู้หญิง นามบัตรท่าน ท่านจะเขียนว่าพูนศุขเฉยๆ ท่านไม่เคยถ่ายรูปเต็มยศ ใส่สายสะพาย ไว้ให้ใครชม”

ชีวิตเริ่มต้นประวัติท่านเมื่อก่อนท่านแต่งงาน คุณสุดาเคยเล่าให้ฟังว่า อาจารย์ปรีดี เป็นผู้อาศัยอยู่ในบ้าน ท่านผู้หญิงเป็นลูกเจ้าของบ้าน ก็ต้องเรียกท่านผู้หญิงว่าคุณพูนศุข และท่านผู้หญิงเรียกว่า นายปรีดี พอแต่งงานแล้วท่านก็เรียก เธอกับฉัน นอกจากเวลาเขียนจดหมาย จะเรียกว่า พูนศุขน้องรัก และเรียกตัวเองว่าพี่

คุณป้าเคยเล่ามาว่า ทีแรก คุณป้าไม่ได้อยู่ขบวนการเสรีไทย เพราะว่าอาจารย์ปรีดี เก็บเรื่องนี้เป็นความลับ จนกระทั่งคืนหนึ่งท่านละเมอมากลางดึก ท่านผู้หญิงได้ถามว่า เธอละเมอเรื่องอะไร จึงต้องเล่าให้ฟัง และรับท่านผู้หญิงเข้าขบวนการเสรีไทย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ท่านผู้หญิงจึงเป็นคนช่วยเขียนรหัสและฟังข่าววิทยุสัมพันธมิตรเพื่อมารายงานอาจารย์ปรีดี เพราะฉะนั้น ท่านเคียงบ่าเคียงไหล่ ทำงานสำคัญนี้ด้วยกัน ในยามที่บ้านเมืองคับขัน

ท่านเดินผ่านป่าช้าไปคนเดียว เพื่อไปหาอาจารย์ปรีดีในขณะที่อาจารย์ปรีดีหลบซ่อนอยู่ที่ฝั่งธน ท่านเป็นผู้วางแผนพาอาจารย์ปรีดีหลบหนีด้วยเรือลำเล็กๆ สู่น่านน้ำสากล จนได้ลี้ภัยการเมืองไปประเทศจีน

ท่านเดินขึ้นศาลด้วยท่าทางสง่างาม เดินไปเพื่อจะฟังศาลสั่งขังท่าน และท่านก็พูดว่า ‘ฉันไม่กลัวคุก พ่อฉันเป็นคนสร้างคุกเอง’ หลังจากที่ท่านถูกขังได้ 84 วัน ท่านก็ได้รับอิสรภาพ 84 วันในห้องขัง แม้ท่านจะสูญเสียอิสรภาพ ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม แต่ท่านไม่เคยหลั่งน้ำตา แสดงความอ่อนแอให้ฝ่ายอธรรมเห็น ท่านเชื่อมั่นในพุทธวจนว่า ‘ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม’ เมื่อได้รับอิสรภาพ ท่านผู้หญิงต้องจากลูกชายคนโต ปาล ซึ่งถูกจับเรื่องกบฎสันติภาพเหมือนกัน ตอนนั้นยังอายุ ไม่ถึง 20 ปี ภาพที่ท่านลาปาล เป็นภาพที่ปาลกราบท่านแทบเท้า และท่านก็สวมกอดปาลลา อย่างสุดรัก สุดอาลัย เป็นภาพที่สุดแสนจะเศร้า นึกถึงทีไรก็น้ำตาซึม แต่ท่านก็จำเป็นต้องจากไป เพื่อจะพาดุษฎีและวาณีไปหาท่านปรีดี หลังจากที่ได้พลัดพรากจากกันเป็นเวลาถึง 5 ปี

ท่านร่วมทุกข์ร่วมสุขในต่างแดนคือประเทศจีนเป็นเวลา 15 ปี และต่อไปในฝรั่งเศสที่ชานเมืองปารีส 13 ปี ชีวิตแต่งงานยาวนานถึง 54 ปี เมื่ออาจารย์ปรีดี ถึงแก่กรรมกะทันหันในวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 ท่านไม่ได้ร้องไห้ตีโพยตีพาย เพียงแต่รำพึงว่า ‘เธออย่าเพิ่งทิ้งฉันไปเลย’ ศพของอาจารย์ปรีดี จัดวางไว้บนเตียงในห้องนอน ท่านผู้หญิงลงมานอนบนพื้นในห้องเดียวกันอยู่หลายวันจนถึงวันบรรจุศพ เพื่อนำไปทำพิธีฌาปนกิจ

หลังจากนั้นจะมีการวางพุ่มในวันที่ 11 พฤษภาคม ที่หน้ารูปปั้นของท่านประศาสน์การธรรมศาสตร์ งานนี้ท่านไม่เคยขาดจนปีสุดท้าย ที่ท่านไม่สบาย วันที่ 10 พฤษภาคม เข้าโรงพยาบาลแต่แล้วท่านก็ถึงแก่กรรมในดึกคืนวันที่ 11 ซึ่งเป็นวันเกิดของอาจารย์ปรีดี นั่นเอง

นอกจากความเข้มแข็งและอดทนแล้ว ความยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตและมีความยุติธรรม ท่านมีความเชื่อมั่นที่จะปกป้องในความบริสุทธิ์ของสามคนที่ถูกประหารชีวิตในคดีสวรรคต เป็นเรื่องที่อยู่ในจิตใจท่านตลอดเวลา

ท่านจะคุยกับฉันเรื่องนี้มาก เพราะฉันเป็นญาติกับชิต สิงหเสนี หนึ่งในผู้ที่ถูกประหาร และท่านเองก็สนิทสนมกับครอบครัวคุณเฉลียวเป็นอย่างมาก ซึ่งท่านไปเป็นเถ้าแก่วันหมั้น วันที่คุณเฉลียวถูกจับ เพราะฉะนั้นท่านก็มักจะมาคุยว่า จะให้ทำอย่างไร จะให้ความบริสุทธิ์เหล่านี้ปรากฏขึ้นได้ ท่านพิมพ์หนังสือให้เมื่อครั้งตอนเผาศพชิต สิงหเสนี คือหนังสือคำตัดสินใหม่ นอกจากนั้น ท่านก็จะพูดคุยอยู่กับลูกสาวคุณเฉลียว และคุณศักดิ์ชัยอยู่เป็นนิจ

สิ่งที่ประทับใจดิฉันมากอีกสิ่งคือ ท่านเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด ประพฤติตัวอยู่ในธรรมะ อยู่ในเจตนารมณ์บริสุทธิ์ อโหสิกรรมกับทุกสิ่งทุกอย่าง ท่านไม่ถือโกรธแค้นใคร หรือใดๆ อื่น ฉันไม่เคยได้ยินท่านพูดปรารภว่าโกรธแค้นใครเลยที่ทำร้ายต่อท่าน ทำร้ายต่ออาจารย์ปรีดี ท่านอโหสิกรรมต่อทุกๆ คนและทุกๆ สิ่ง

ยึดมั่นหลักการประชาธิปไตย แอนตี้เผด็จการ

ม.ร.ว.สายสวัสดี ตอบคำถามจากผู้ชมถึงท่าทีต่อการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ในตอนนี้หากท่านผู้หญิงพูนศุขยังมีชีวิตอยู่ว่า

ถ้าเกิดคุณป้าพูนศุขอยู่ ก็คงจะซัพพอร์ตฝั่งนักศึกษาในการเรียกร้องประชาธิปไตย ในการให้เผด็จการจบสิ้น ให้มีการยุติธรรม ความสัจจริงเกิดขึ้นในสังคม

ท่านและครอบครัวของท่านทุกคนยึดหลักการประชาธิปไตยที่สุดและแอนตี้เผด็จการอย่างถึงที่สุดเช่นกัน และอยากจะเสริมตอนที่อาจารย์ปรีดี เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านเป็นอยู่เพียง 6 เดือนเท่านั้น สำหรับฉันคิดว่า ‘นั่นคือยุคทองของประเทศไทย’

หลังจากสงครามแล้ว ท่านและพ่อตื่นเต้นมาก ที่จะจัดให้มีการปกครองประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จัดให้มีการเลือกตั้ง นายกคนแรกคือคุณควง อภัยวงศ์ แต่แล้ว คุณควงแพ้เสียงในสภา อาจารย์ปรีดีจึงได้ขึ้นเป็นนายกฯ และงานสำคัญของท่านคือการร่างรัฐธรรมนูญ

หลังจากพระเจ้าอยู่หัวอนันฯ เสด็จกลับมาแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็ออก อาจารย์ปรีดีก็กลับมาเป็นนายกฯ นั่นคือยุคทอง และวันทองสำหรับดิฉัน คือวันที่ 8 มิถุนายน 1946 คือเช้าที่อาจารย์ปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรี และคุณๆ ก็ทราบดี ว่าวันที่ 9 เกิดอะไรขึ้น เสียงปืนดังลั่นในพระที่นั่งบรมพิมาน เวลา 9 นาฬิกา 15 นาที นั่นล่ะค่ะ สำหรับฉันเป็น the end of democracy in thailand

สุดท้ายนี้ ฉันขอจบด้วย จดหมายที่อาจารย์ปรีดี เขียนถึงท่าน เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2512 สองอาทิตย์ก่อนวันแต่งงานครบ 41 ปี ข้อความตอนหนึ่งในจดหมายนี้ความว่า… “น้องต้องพลอยรับลำบากเนื่องจากศัตรูข่มเหงพี่ แต่น้องไม่ได้เสื่อมคลายในความรัก และเห็นใจพี่ตลอดมา น้องมิเพียงเป็นแต่ภรรยาที่ดีเท่านั้น แต่เป็นเพื่อนที่ดีที่สุด น้องอุทิศตนและเสียสละทุกอย่างเพื่อพี่ และราษฎรไทย ขอให้เราได้อยู่ร่วมกันโดยปลอดภัยในไม่ช้า” จดหมายนี้ที่แสดงถึงความรักผูกพันอันลึกซึ้งที่สองท่านมีต่อกัน

‘ชานันท์’ : ‘พูนศุข’ สตรีจากผลิตผลของความเป็นสมัยใหม่

ชานันท์ ได้กล่าวการศึกษาเรื่องราวของท่านผู้หญิงพูนศุขว่า ท่านผู้หญิงพูนศุขกับอาจารย์ปรีดีเป็นคู่ชีวิตที่ถูกพูดถึงมากในช่วงเวลานั้นตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พออาจารย์ปรีดีกลับมาจากฝรั่งเศส ก็ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ และมีชื่อเสียง

เมื่อเกิดสนธิสัญญาเบาว์ริ่งทำให้รูปแบบการผลิตในสยามเปลี่ยนแปลงไปมาก นำไปสู่ชนชั้นกลาง ชนชั้นกระฎุมพีในเวลานั้น ในช่วงเวลาก่อนการเปลี่ยนแปลงความปกครอง เชื่อว่าท่านผู้หญิง ได้อ่านหนังสือสมัยใหม่ ได้รับการขัดเกลาในด้านภาษา อ่านออกเขียนได้ เรียนรู้ในเรื่องแม่บ้าน ซึ่งช่วงเวลานั้นจะมีการอบรมจริยธรรมของแม่บ้านแบบกระฎุมพีที่ได้รับวัฒนธรรมมาจากตะวันตก ทำให้ได้อ่านหนังสือหรือนิตยสาร ผู้หญิงอ่านออกเขียนได้มีจำนวนมากขึ้น

นอกเหนือจากการเป็นแม่บ้านให้ชนชั้นนำ ก็จะเป็นนักเขียนหรือคอลัมนิสต์ ผลิตสิ่งพิมพ์สำหรับผู้หญิงออกมาเอง อย่างเช่น นิตยสารกุลสตรี สตรีศัพท์ สตรีนิพนธ์ ซึ่งมักจะให้ความรู้เกี่ยวกับการต่อสู้เรื่องสิทธิสตรี การต่อสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพทางเพศการเลือกคู่ครองด้วยตัวเอง ไม่ยอมให้พ่อแม่คลุมถุงชน การต่อสู้เรื่องผัวเดียวเมียเดียว เพราะตอนนั้นผัวเดียวหลายเมียเป็นวัฒนธรรมของชนชั้นสูงและค่อนข้างกดขี่สตรี และ สามัญชน ราษฎรหลายๆ คนไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ค่อนข้างจะต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้

เมื่อเกิดสนธิสัญญาเบาว์ริ่งทำให้รูปแบบการผลิตในสยามเปลี่ยนแปลงไปมาก นำไปสู่ชนชั้นกลาง ชนชั้นกระฎุมพีในเวลานั้น

วัฒนธรรมของกระฎุมพีก็คือ น้อมรับเรื่องการศึกษาสมัยใหม่เข้ามา และรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงตอนนั้นทำให้สยามก้าวเข้าสู่ทุนนิยมโลก เมื่อเกิดกระฎุมพี เป็นชนชั้นใหม่ทางสังคมที่อยู่ระหว่าง ไพร่ ทาส และ เจ้า ทำให้พวกขุนนางศักดินาทั้งหลายน้อมรับสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น มีการศึกษาสมัยใหม่ แม้แต่ระบบราชการเองก็พยายามปรับตัว ทำให้คนสามัญชนสามารถขยับสถานะทางสังคมได้ ผ่านการเข้าไปสู่การปกครองที่มีการปฏิรูปแล้ว

ในขณะนั้นเองก็มีการศึกษาสำหรับผู้หญิงเกิดขึ้นก็คือกลุ่มมิชชันนารี ทำให้เกิดโรงเรียนผู้หญิงสมัยใหม่ขึ้นมา เช่น โรงเรียนสตรีวังหลัง 2417 โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ 2450 ค่าเทอมค่อนข้างสูงเพราะคัดบุคคลที่จะเข้าไปเรียน อย่างเช่นที่เซนต์โยเซฟฯ คิดค่าเรียนเดือนละ 7 บาท เพราะสถานที่เหล่านี้มักจะผลิตอุดมการณ์ความเป็นแม่บ้านแม่เรือน

โรงเรียนผู้หญิงสมัยใหม่ได้สลายความรู้ในสมัยเก่า ที่จากเดิมคือผู้หญิงไม่สามารถเข้าเรียนหรือมีการศึกษาได้เลย ถ้าบุคคลทั่วไปหรือสามัญชนอยากมีการศึกษา ก็ต้องเข้าไปอยู่ในราชสำนัก สมัครเข้าไปเป็นแรงงานให้กับชนชั้นเจ้าในการรับใช้ ซึ่งก็จะไม่ได้ความรู้เป็นกิจจลักษณะ เพราะจะขึ้นอยู่กับเจ้า ว่าจะใช้สอยอะไร แต่เมื่อมีโรงเรียนสมัยใหม่ขึ้นมาแล้ว ก็เริ่มมีตำราเรียน มีแบบฝึกหัดที่ทำให้เขารู้ว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และการที่สมัครเข้าไปเรียนเท่ากับว่าคนกลุ่มนี้เป็นนักเรียนที่จ่ายค่าเทอมเข้าไปเรียน ไม่ใช่เป็นข้ารับใช้ ทำให้มีสำนึกของความเท่าเทียมมากขึ้นกว่าการไปศึกษาอยู่ในตำหนักต่างๆ ของชนชั้นสูง

ผู้หญิงสมัยใหม่เหล่านี้เมื่อเรียนจบมาแล้วมักจะเป็นนางพยาบาล เป็นคุณครู ซึ่งเป็นอาชีพใหม่ในช่วงเวลานั้น และ กลุ่มบุคคลเหล่านี้มักมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยด้วยตัวเอง ซื้อหนังสืออ่านเอง เพราะว่าตัวเองมีการศึกษา สามารถทำงานนอกบ้านได้ ถ้าไม่เป็นแม่บ้านชนชั้นนำก็ทำงานนอกบ้าน ผู้หญิงเริ่มมีพื้นที่อิสระนอกบ้านมากขึ้น จากสมัยก่อนที่เชื่อว่าลูกสาวจะต้องมีการเก็บตัวมากกว่า การไปโรงเรียน การออกไปเจอโลก

นิตยสารในช่วงเวลานั้นมีเยอะมาก อย่างเช่น สตรีนิพนธ์ 2457, สตรีศัพท์ 2465 เหล่านี้ให้ความรู้เยอะมาก และ ยังต่อต้านการเมืองที่ไม่ชอบธรรมมากๆ เช่น ในรัฐบาลและราชสำนักมีเรื่องของผัวเดียวหลายเมีย เขาก็พยายามต่อต้านเพราะมันเป็นการกดขี่สตรี และมีการเรียกร้องในเรื่องของความเท่าเทียมอย่างที่ท่านผู้หญิงพูนศุขกับอาจารย์ปรีดีเรียกตัวเองว่าฉันกับเธอ

นิตยสารฉบับหนึ่งเขียนว่า “ถ้าผัวเมียจะรักกัน ก็ควรจะใช้ ‘ฉัน’ กับ ‘เธอ’ อย่าไปเรียกแดดดี้ หนูจ๋า เพราะคนรักกันสามีภรรยาควรมีความเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่จะใช้เรียกอะไรที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมกัน”

การที่ท่านผู้หญิงและอาจารย์ปรีดี ใช้เรียกแทนตัวเองกันว่า “ฉัน” กับ “เธอ” ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นสัญลักษณ์ของความคิดใหม่ซึ่งเกิดในสังคมไทยก่อน 2475 เป็นโรแมนติกเลิฟ และ แสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียม เพราะกระฎุมพีสมัยใหม่เชื่อเรื่องความเท่าเทียม และการมีคู่ครองร่วมกัน เมื่อพูดถึงคู่ครองคู่ชีวิตนั่นหมายถึงเป็นสามีกับภรรยาคู่กัน ไม่ใช่เหมือนสมัยชนชั้นนำราชสำนักที่อีกคนหนึ่งเป็นเจ้า เป็นนางสนม หรือนางในเพราะมันเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจมากๆ

ในสังคมยุคนั้น ชนชั้นกลางเองไม่ได้เหมือนอย่างชนชั้นเจ้าที่จะมีบริวารมากมาย และ ยิ่งมีการปฏิวัติในด้านอุตสาหกรรมจึงต้องมีการแบ่งงานกันทำระหว่างผัวเมีย บรรดาสามีจะออกไปทำงานนอกบ้าน ส่วนภรรยารับผิดชอบงานในบ้าน เมื่อมีรายได้จากสามีเพียงผู้เดียว ผู้หญิงจึงต้องมีจริยธรรม ความประหยัด ความพอเพียง รู้จักบริหารจัดการในชีวิตเป็นอย่างไร สุขอนามัย ความรู้สมัยใหม่เป็นอย่างไร ในการที่จะบำรุงความเป็นอยู่ในครอบครัว

เราจะสังเกตได้ว่าผู้หญิงที่เรียนโรงเรียนสตรีนี้ใหม่ๆ มักเรียนไม่จบแล้วไปแต่งงานกัน ท่านผู้หญิงก็เป็นหนึ่งบุคคลในนั้น เพราะผู้หญิงเหล่านี้จะเป็นที่หมายปองของเหล่ากระฎุมพีด้วยกัน เพราะเขาเหล่านั้นจะเป็นผู้หญิงที่ฉลาด มีความคิดความอ่าน เหมาะกับการเป็นคู่ชีวิต เพื่อนคู่คิดมิตรคู่ยาก เหมาะที่จะปรึกษาหารืออะไรได้ และมีเรื่องของจริยธรรมสมัยใหม่ที่จะไม่เหมือนภรรยาที่รับใช้เลี้ยงหมูดูหมาอยู่แต่ในครัวเรือน แต่จะสามารถออกไปในพื้นที่สาธารณะ มีมารยาทในการเข้าสังคมแบบตะวันตกสมัยใหม่ ทำให้ผู้หญิงกลุ่มนี้เป็นที่หมายปอง

สำหรับเรื่องสำนึกของคู่ชีวิตจะมีเรื่องของเสรีภาพเสมอภาพที่จะรักกัน คณะราษฎรหลายๆ คนจะถ่ายรูปคู่เมื่อออกงานร่วมกัน ซึ่งจะแตกต่างจากชนชั้นนำสมัยก่อนที่จะออกมาคนเดียว ซึ่งเมื่อ civilized มากขึ้นและรับ modernize แล้ว เขาก็จะออกมาเป็นคู่มากขึ้น จะเห็นได้ว่า หลังจากการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ผ่านมาไม่กี่ปีก็จะมีการถ่ายรูปกลุ่มคณะราษฎร อาจจะแบ่งสายเป็นพลเรือน ทหารบก ทหารเรือ

นอกจากจะมีการถ่ายรูปกลุ่ม ถ่ายรูปรวม ก็ยังมีการถ่ายรูปคู่ด้วย

ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองก็อาจจะเป็นภาระให้ท่านผู้หญิงพูนศุขด้วย ซึ่งมีอยู่ครั้งหนึ่งท่านผู้หญิงโดนงูฉกและต้องรีบออกไปโรงพยาบาล ปรากฏว่าอาจารย์ปรีดีลืมสวมหมวก ก็ต้องรีบกลับไปเอาหมวกก่อน ในฐานะที่เป็นชนชั้นนำ ก็ต้องทำตามนโยบายของรัฐบาล ก็คือบุคคลที่เป็นภรรยาและอยู่เคียงข้างชนชั้นนำ ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐไปด้วยเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะ

 

บทบาทของสตรีผู้อยู่เคียงข้างผู้นำ

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นช่วงเวลาที่เรียกได้ว่าราษฎรเป็นประชาชนจริงๆ เป็นตัวแทนของรัฐจริงๆ การเป็นอยู่ของประชาชนจึงมีความสำคัญเพื่อว่าให้ประชาชนมีความแข็งแรง มีสุขอนามัยที่ดีในการสร้างชาติให้เป็นมหาอำนาจ และ ตัวแทนของรัฐบาลในตอนนั้น รัฐจึงให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยคุณก็ต้องทำให้มันสะอาด ซึ่งเป็นหน้าที่ของภรรยาแม่บ้านทั้งหลาย ท่านผู้หญิงพูนศุขเองก็เป็นคณะกรรมการในการพิจารณาให้รางวัลเคหะสถานดีเด่นด้วย

 

ดูแลจัดการธุรกิจโรงพิมพ์ :

เนื่องจากอาจารย์ปรีดีมีภาระหน้าที่มากมาย จึงมอบหมายให้ท่านผู้หญิงรับผิดชอบ ดูแลจัดการเรื่องโรงพิมพ์นิติสาสน์ มีหน้าที่ตรวจคำผิด พิสูจนือักษร ดูความถูกต้องความเรียบร้อยต่างๆ ขั้นตอนในการพิมพ์ รวมถึงบัญชีด้วย ซึ่งลูกศิษย์ที่มีความใกล้ชิดอาจารย์ปรีดี ได้บอกว่าท่านผู้หญิงมีความแม่นยำมากๆ ในการตรวจปรู๊ฟ จะเห็นว่า ท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นผู้หญิงสมัยใหม่ที่สามารถเคียงคู่กับอาจารย์ปรีดีได้ในเรื่องของธุรกิจส่วนตัวด้วย

 

เพื่อนคู่คิด :

ในบางครั้ง บางเรื่อง ท่านผู้หญิงพูนศุขก็ไม่ได้เห็นด้วยกับอาจารย์ปรีดี แต่ท่านก็ยังเชื่อว่าเป็นภรรยาก็จะไม่ก้าวก่ายในการตัดสินใจของสามี แม้กระทั่งวันที่อาจารย์ปรีดี รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนควง อภัยวงศ์ ท่านผู้หญิงไม่เคยเห็นด้วย เพราะมีสภาวการณ์หลายๆ อย่างที่ไม่น่าไว้วางใจ แต่ก็เป็นเรื่องที่นายปรีดีจะต้องตัดสินใจเอง ซึ่งในฐานะภรรยา ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

เช่นเดียวกับที่อาจารย์ปรีดีตั้งขบวนการประชาธิปไตย ที่ต่อต้านอำนาจของจอมพลป. พิบูลสงครามหลังรัฐประหาร 2490 ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้นำไปสู่กบฏวังหลวง 2492 ซึ่งท่านผู้หญิงพูนศุขไม่เห็นด้วยแต่แรกแล้วที่อาจารย์ปรีดีจะตั้งขบวนการประชาธิปไตยเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลในตอนนั้น

แต่เมื่อทัดทานไม่ได้ก็ไม่เป็นไร และเมื่อเหตุการณ์นี้กลายเป็นกบฏวังหลวง ท่านผู้หญิงก็คอยช่วยอาจารย์ปรีดี หาที่พักที่หลบซ่อนให้ มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่อาจารย์ปรีดีเสียใจมากๆ กับเหตุการณ์นี้จนจะฆ่าตัวตาย ท่านผู้หญิงเองก็เป็นคนที่ห้าม และปลอบประโลมให้ชีวิตดำเนินต่อไป

จะเห็นได้ว่าการช่วยเหลือของภรรยาคณะราษฎร หรือแม้แต่ในขบวนการเสรีไทย มักจะถูกบันทึกและถูกมองว่าเป็นการช่วยเหลือสามีมากกว่าที่จะช่วยเหลือทางด้านการเมือง สิ่งเหล่านี้เป็นลักษณะประการหนึ่งที่แบ่งความเป็นชายในพื้นที่สาธารณะ และแบ่งผู้หญิงไปในพื้นที่ส่วนบุคคลและให้ตัดขาดออกจากการเมือง

 

มิตรคู่ยาก : 

ท่านผู้หญิงพูนศุขอยู่เคียงข้างอาจารย์ปรีดีในยามยาก อย่างเช่น ตอนที่ถูกใส่ร้ายว่าสังหารรัชกาลที่ 8 ถึงแม้ว่าจะไม่มีชื่ออาจารย์ปรีดี ในจำเลยคดีที่อัยการยื่นฟ้อง แต่ทางตำรวจเองก็มีหนังสือถึงกระทรวงการคลังให้งดจ่ายบำนาญอาจารย์ปรีดี ตั้งแต่วันที่ยื่นฟ้องเป็นต้นไป และ เมื่อถึงรัฐประหาร 2490 ที่อาจารย์ปรีดีต้องลี้ภัย ไม่มีเงินบำนาญไว้เลี้ยงดูครอบครัว ซึ่งท่านผู้หญิงพูนศุขที่เป็นแม่บ้าน จึงทำขนมขายในช่วงเวลานั้น

ดังที่อาจารย์ปรีดีได้เคยกล่าวไว้ว่า “ลำพังตำรางเรียนที่พิมพ์ขายนั้นไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่จะได้รับการช่วยเหลืออุปถัมถ์มาจากครอบครัวของภรรยามาตลอด”

 

ในฐานะคู่ชีวิต :

ท่านผู้หญิงพูนศุขเคยกล่าวไว้ว่า “สามีภรรยาไม่ควรก้าวก่ายการงานซึ่งกันและกันแบ่งภาระหน้าที่ปฏิบัติทั้งในและนอกบ้านให้ชัดเจน” อย่างไรก็ตาม อาจารย์ปรีดีเคยบอกว่า “การอภิวัฒน์ 2475 ภรรยาก็มีส่วนร่วมด้วย” เพราะอาจารย์ปรีดีเองคำนึงว่า หน้าที่นอกบ้านจะสำเร็จได้ ก็เพราะว่าภรรยาที่อยู่หลังบ้านมีส่วนสนับสนุนตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน แม้กระทั่งหลัง 24 มิถุนา ที่พวกผู้ชายไปอยู่รวมกันที่พระที่นั่งอนันตสมาคม บรรดาภรรยาก็เป็นคนส่งอาหารไปให้

 

เรื่องอื่นๆ จากผู้ใกล้ชิด : 

คุณฉลบชลัยย์ พลางกูร  ได้บันทึกไว้ว่า เมื่อครั้นที่ตัวเองต้องเดินทางไปประเทศจีนท่านผู้หญิงพูนศุขทราบถึงโปรแกรมการเดินทางทั้งหมดว่าจะต้องเดินทางไปที่ไหนบ้าง และให้คนมารับจากฮ่องกงไปที่จีน ท่านผู้หญิงเป็นธุระจัดการในเรื่องของธุรกรรมต่างๆ ในการข้ามพรมแดน และเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนอำนวยความสะดวกเป็นอย่างมาก

น.ประภาสถิต ผู้ที่เขียนเรื่องเก้าปีในปักกิ่ง เคยได้บอกเอาไว้ว่า ท่านผู้หญิงพูนศุข ถนัดติดนิสัยการทำงานใต้ดินเหมือนสามี และรู้จักการทำงานใช้สอยคน รู้ว่าบุคคลไหน มีบุคลิกอย่างไร และเหมาะกับงานแบบไหน ในช่วงเหตุการณ์ตอนนั้น ถือว่ายังคงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ลูกผีลูกคนทางการเมือง ท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นคนที่เก่งมาก ที่สามารถจัดการอะไรต่างๆ แทนสามีได้

ในงานครบรอบ 100 ปีชาตกาลท่านผู้หญิงพูนศุขเมื่อปี 2554 อาจารย์ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ได้เคยปาฐกถาไว้ว่า “การทำงานหลังบ้านของผู้หญิง มักจะมีคนมองว่าเป็นการแทรกแซงทางการเมือง อันเนื่องมาจากรูปแบบการเมืองประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้ง และเมื่อมีภรรยาของผู้แทนฯ พ่วงเข้ามาด้วย คนมักจะมองบทบาทเหล่านี้ว่าไม่ค่อยดีเท่าไหร่สำหรับประชาธิปไตย ทั้งที่เราควรจะตระหนักได้ว่า การที่ผู้ชายหรือสามีออกมาทำงานนอกบ้าน ทำงานด้านการเมืองได้ขนาดนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภรรยาเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพียงแต่ว่าบทบาทของภรรยามักจะมาในรูปแบบการเป็นเมียและแม่ เป็นการดูแลเรื่องส่วนบุคคลของคนเรานั้น ทำให้ไม่ถูกมอง ไม่ถูกให้ความสำคัญ

ทั้งนี้ ชานันท์ กล่าวว่า ดร. ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า การที่ผู้หญิงเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือช่วยเหลือสามี ในเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปฏิวัติอภิวัฒน์ 2475 เสรีไทย หรือการรัฐประหารหลายๆ ครั้ง ผู้หญิงเองมีบทบาทสำคัญ แต่ไม่ได้ถูกให้ความหมาย โดยมีความเชื่อว่า คนที่เป็นเมีย มีหน้าที่ช่วยเหลือสามีเท่านั้น