ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | พิมรี่พาย กับสำนึกเรื่องชาติที่เปลี่ยนไปของสังคม

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ข่าวพิมรี่พายถูกคนบางกลุ่มเหยียดหยามว่าเป็นแค่ข่าว “ดราม่า” ซึ่งทำให้คนทะเลาะกันตามปกติของสังคมก้มหน้าที่คนเล่นโทรศัพท์ทั้งวัน

แต่ที่จริงข่าวพิมรี่พายเชื่อมโยงกับประเด็นความเหลื่อมล้ำด้านความเป็นอยู่ในสังคม ปฏิกิริยาที่ผู้คนมีต่อข่าวนี้จึงลุกลามจากเรื่อง “ดราม่า” เป็นเรื่องรัฐบาล

พิมรี่พายเอาเงินตัวเองไปซื้อแผงโซลาร์เซลล์และโทรทัศน์ให้เด็กบนดอย เรื่องเล่าที่พิมถ่ายทอดจึงมีศูนย์กลางที่ปฏิกิริยาเด็กทั้งหมด และในเมื่อพิมรี่พายทำคลิปโดยตากล้องและทีมตัดต่อที่รู้วิธีใช้ภาพให้มีประสิทธิภาพ ผลคือปฏิกิริยาของเด็กทะลุทะลวงไปกระตุ้นปฏิกิริยาในใจผู้ชม

ช็อตที่น่าสะเทือนใจที่สุดในคลิปพิมรี่พายเกิดในวินาทีที่เด็กจ้องตาเขม็งก่อนรอยยิ้มจะปรากฏขึ้นทันทีที่เห็นทีวี กล้องบันทึกภาพเด็กหลายคนจากหลายมุมเพื่อแสดงความพิศวงและสีหน้าแห่งความปีติ

หรือพูดสั้นๆ คือภาพสื่อสารได้มีประสิทธิภาพสูงสุดถึงความ “ไม่มี” ของเด็กบนดอย

พิมรี่พายถูกโจมตีว่าทำคลิปสร้างภาพเร้าอารมณ์ แต่ที่จริงการเร้าอารมณ์เกิดจากผู้ชมที่ดูคลิปแล้วเปรียบเทียบกับตัวเองจน “ตาสว่าง” ถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะขณะที่ผู้ชมส่วนใหญ่ดูคลิปผ่านโทรศัพท์มือถือจนทีวีเป็นของตกยุค คลิปกลับพูดถึงสังคมที่ทีวีและไฟฟ้ายังเป็นของฟุ่มเฟือย

แม้ “ความเหลื่อมล้ำ” เป็นคำที่ทุกคนชอบพูดกัน แต่ที่จริงสำนึกว่าอะไรคือความเหลื่อมล้ำจะเกิดขึ้นเมื่อสิ่งหนึ่งถูกเปรียบเทียบกับอีกสิ่งเสมอ และความแหลมคมของคลิปนี้คือการทำให้ผู้ชมสำนึกว่าตัวเองซึ่งเป็นฝ่าย “มี” คือส่วนหนึ่งของความเหลื่อมล้ำเหนือฝ่าย “ไม่มี” โดยไม่ต้องพูดคำนี้ตรงๆ

พูดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น คลิปนี้สร้างสำนึกเรื่องความเหลื่อมล้ำเพราะคนดูรู้ว่าตัวเองว่า “มี” หลายอย่างที่เด็กในคลิป “ไม่มี”

ยิ่งกว่านั้นก็คือสิ่งที่เด็กเหล่านั้นเพิ่งจะ “มี” อย่างโทรทัศน์นั้น เป็นเทคโนโลยีตกยุคที่ทุกบ้านมีเพราะรู้สึกว่าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องมีทุกบ้านเท่านั้นเอง

สองสามปีนี้นักวิชาการไทยชอบพูดคำที่นักวิชาการฝรั่งพูดมานานอย่าง Empathy หรือ “ความเห็นอกเห็นใจ” จนสื่อที่เป็นติ่งนักวิชาการแห่พูดเรื่องนี้ราวเกิดมาไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน แต่ด้วยวิธีเล่าเรื่องของพิมรี่พาย ความรู้สึกเรื่อง Empathy หรือ “เห็นอกเห็นใจ” เกิดขึ้นโดยไม่ต้องพูดคำนี้ออกมา

กศน.อมก๋อยในฐานะหน่วยงานรัฐมีสิทธิห้ามไม่ให้บุคลากรรับของบริจาคจากประชาชน แต่ในสังคมที่พิมรี่พายทำให้ “ความเห็นอกเห็นใจ” พุ่งทะลุเพดาน ความรู้สึกว่ารัฐขัดขวางไม่ให้คนทำความดีก็จุดชนวนให้เกิดการด่ารัฐจนรัฐต้องยกเลิกคำสั่งนี้แทบจะภายในวันเดียวกัน

มีข้อถกเถียงว่าการบริจาคเงินของพิมรี่พายเหมือนการวิ่งของตูน บอดี้สแลม ที่ไม่ได้แก้ “ปัญหาโครงสร้าง” อะไร แต่ที่จริงการประเมินคุณค่าของการช่วยเหลือสังคมโดยบรรทัดฐานนี้อาจไม่เป็นประโยชน์กับใครเลยนอกจากคนที่อยากบรรยายว่าอะไรคือ “ปัญหาโครงสร้าง” ของสังคม

การวิ่งของตูนไม่ได้ทำงานบนการสร้าง “ความเห็นอกเห็นใจ” อย่างพิมรี่พาย เหตุผลง่ายๆ คือตูนวิ่งรับบริจาคหาเงินเข้าโรงพยาบาลรัฐซึ่งสังกัดกระทรวงที่มีงบประมาณกลุ่มสูงสุดของประเทศ โอกาสที่ประชาชนจะ “เห็นอกเห็นใจ” หน่วยงานงบฯ เป็นแสนล้านจึงแทบเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง

คนบริจาคเงินให้ตูนเพราะอยากทำบุญ และไม่ว่าจะเป็นการทำบุญให้พระ, ให้ศาสนสถาน หรือให้โรงพยาบาล

เหตุแห่งการทำบุญนั้นไม่จำเป็นต้องมีอะไรเกี่ยวข้องกับความรู้สึก “เห็นอกเห็นใจ” เลยก็ได้ แต่อาจเกิดจากความรู้สึกอื่นเช่นอยากได้บุญเท่านั้นเอง

.

ขณะที่คนส่วนใหญ่ทำบุญเพราะแรงจูงใจนามธรรมอย่างทำความดีหรือต่ออายุศาสนา การ “เห็นอกเห็นใจ” กลับเกิดจากการมองเห็นความแตกต่างจนตระหนักว่ามี “ความเหลื่อมล้ำ” บางอย่างในสังคม

และในที่สุดคือการตั้งคำถามต่อไปว่า “ใคร” หรือ “อะไร” ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นมา

ถ้าการทำบุญจบที่การจ่ายเงินแล้วแยกกัน การ “เห็นอกเห็นใจ” ทำให้เกิดคำถามว่าอะไรคือต้นเหตุให้บุคคลหรือคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดตกอยู่ในสภาพแบบ หรือพูดอีกแบบก็คือการ “เห็นอกเห็นใจ” ทำให้เกิดเงื่อนไขที่จะมองเห็น “ความเหลื่อมล้ำ” และในที่สุดคือ “ความยุติธรรม” ในสังคม

เมื่อเทียบกับการวิ่งของตูนซึ่งทำให้เกิดการตั้งคำถามแค่เมื่อไรจะบริจาคเงินช่วยตูน คลิปพิมรี่พายจุดประกายให้สังคมตั้งคำถามว่าใครคือต้นเหตุแห่ง “ความเหลื่อมล้ำ” และ “ความอยุติธรรม” ผลก็คือหน่วยงานรัฐอย่าง กศน.ร้อนตัวว่าเป็นจำเลยสังคมจนนำไปสู่การสั่งห้ามรับบริจาคที่คนด่าทั้งเมือง

คลิปความขาดแคลนของเด็กบนดอยจุดประกายให้สังคมถกเถียงว่าบุคคลหรือองค์กรของรัฐที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้คือใคร

พรมแดนของการถกเถียงเรื่องนี้ไปไกลจนถึงขอบเขตที่เป็นอันตรายทางกฎหมาย, โจมตีรัฐบาลประยุทธ์ หรือกระทั่งแขวะ ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ชนะเลือกตั้งเขตนี้มานาน

ล่าสุด การที่พิมรี่พายบริจาคเงิน 5 แสนเพื่อติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้เด็กๆ เป็นชนวนให้เกิดการเปิดโปงว่ากองทัพภาค 3 เคยของบฯ ในปี 2562 เพื่อสร้างแผงโซลาร์เซลล์ในพื้นที่อมก๋อยขนาด 210 กิโลวัตต์ โดยกำหนดราคากลางถึง 45,205,109 ล้านบาท ซึ่งยังไม่มีคำชี้แจงจนปัจจุบัน

ไม่แน่ใจว่าสื่อหรือนักกิจกรรมที่เริ่มเปรียบเทียบว่าพิมรี่พายทำให้ “ตาสว่าง” ทั้งแผ่นดิน แต่ปฏิกิริยาทั้งหมดมาจากการแชร์ความเจ็บปวดกับความ “ไม่มี” ของเด็กบนดอยจนเกิดความเห็นอกเห็นใจ

รวมทั้งอยากรู้ว่าทำไมงบฯ ประเทศมหาศาลถึงทำให้คนไทยกลุ่มนี้มีความเป็นอยู่แบบนี้จนปัจจุบัน

นักวิชาการและ “โซเชียล” บางกลุ่มวิจารณ์พิมรี่พายด้วยสูตรมาตรฐานว่าเอามุมมองแบบ “คนชั้นกลาง” ไปตัดสินว่าคนบนดอยด้อยค่ากว่าคนเมือง

แต่การบอกว่าใครไม่มีอะไรเป็นเรื่องข้อเท็จจริง และความรู้สึกว่าคนในสังคมเดียวกันไม่ควรถูกทิ้งไว้ข้างหลังนั้นไม่ใช่การด้อยค่าแต่อย่างใด

พิมรี่พายชี้ประเด็นว่าประเทศไทยมีพื้นที่อย่างบ้านแม่เกิบซึ่งไม่มีไฟฟ้าและทีวี นัยยะสำคัญจึงได้แก่การตีแผ่ว่าประเทศนี้มีประชาชนที่ไม่มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่คนส่วนใหญ่ในสังคมมีกันแทบทั้งหมด

การเปิดโปงความขาดแคลนแบบนี้ไม่ใช่มุมมองของคนชั้นกลาง เพราะชนชั้นไหนก็อยากมีไฟฟ้าใช้เหมือนกัน

คลิปพิมรี่พายมีศูนย์กลางที่ปัญหาความไม่ทั่วถึงด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานในสังคมไทย และในสังคมที่คนส่วนใหญ่มีไฟฟ้าและมองโทรทัศน์เป็นของตกยุค

การมีสังคมซึ่งไม่มีไฟฟ้าและทีวีทำให้คนกลุ่มนี้ฉุกคิดถึงความเหลื่อมล้ำ เกิดความเห็นอกเห็นใจ และแน่นอนว่าคงมีบางส่วนคิดถึงความอยุติธรรมในสังคมส่วนรวม

แน่นอนว่าปัญหาสาธารณูปโภคพื้นฐานเป็นเพียงเศษเสี้ยวของปัญหาที่ประชากรชาติพันธุ์ในประเทศเผชิญ แต่ในสังคมที่รัฐมองคนกลุ่มนี้เป็นภัยความมั่นคงจนปลูกฝังวาทกรรมชาวเขา/ชาวเรา, ไร่เลื่อนลอย, ค้ายาเสพติด ฯลฯ

การที่คนในสังคมเจ็บร้อนแทนคนบ้านแม่เกิบก็สะท้อนว่าสังคมไทยเปลี่ยนไปพอสมควร

รัฐไทยพยายามควบคุมคนชาติพันธุ์ให้อยู่ใต้อำนาจการเมืองการปกครองมาเป็นเวลาหลายสิบปี แต่ข้อเท็จจริงคือการเป็นประชากรของรัฐไม่เท่ากับว่ารัฐจะดูแลคนกลุ่มนี้ ไม่ต้องพูดถึงการปฏิบัติที่เสมอภาคกับคนกลุ่มอื่นทั้งหมด แม้กระทั่งในเรื่องง่ายๆ อย่างการได้สัญชาติไทยสำหรับเด็กที่เกิดในดินแดนไทย

ที่ผ่านมานั้นความล้าหลังของรัฐได้รับการสนับสนุนจากสังคม แต่จากปฏิกิริยาสะเทือนใจของสังคมต่อเด็กบ้านแม่เกิบจนลามเป็นการด่ารัฐและรัฐบาล สังคมไทยได้เคลื่อนมาสู่จุดที่ประชาชนสำนึกว่าความเป็นชาติหมายถึงรัฐต้องมีพันธะในการดูแลประชากรทั้งหมด รวมทั้งต้องไม่มีประชากรที่ไม่ได้รับการดูแลอะไรเลย

จากสังคมที่รัฐและคนของรัฐฆ่าคนชาติพันธุ์อย่าง “ชัยภูมิ ป่าแส” และ “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ โดยไม่มีใครผิดอะไร สังคมไทยกำลังเกิดสำนึกใหม่เรื่องชาติที่ครอบคลุมทุกคนในชาติมากขึ้นเรื่อยๆ จนรัฐเป็นเหมือนลุงแก่ๆ ที่ล้าหลังที่สุดในสังคม

ซึ่งครอบครองอำนาจเพียงเพราะมีกระบอกปืน