ทางออกและบทเรียนของการเสียชีวิต จาก “การวิ่ง” ทำไมคนไทยเสี่ยงกว่าอเมริกาอยู่ราว 55 เท่า ?

ระบาดวิทยาของการเสียชีวิตจากการวิ่ง

ก่อนอื่นขอแสดงความเสียใจต่อญาติและเพื่อน ๆ ของผู้เสียชีวิตจากการวิ่งเมื่อวันวานทั้งสามท่าน น่าเสียใจที่การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพกลับกลายเป็นเหตุการณ์ที่มีการสูญเสียทางสุขภาพอย่างน่าเศร้าสลดของผู้เกี่ยวข้อง

ผมเขียนบทความนี้เพื่อกระตุ้นให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เห็นความสำคัญของการสืบค้นหาสาเหตุ เพื่อป้องกันให้ความเสี่ยงแบบนี้น้อยลงกว่าที่เป็นอยู่

มีวารสารวิจัยทางการแพทย์รวบรวมสถิติการเสียชีวิตระหว่างการวิ่งแข่งขันมาราธอนในสหรัฐอมริการะหว่างปี 2000 ถึง 2010 พบว่ามีผู้ตายระหว่างวิ่งแข่งหรือภายใน 24 ชั่วโมงหลังวิ่งรวมเพียง 59 คน จากผู้เข้าร่วมแข่งขันตลอดสิบปีรวม 10.9 ล้าน คิดเป็นอัตราตายเพียง 0.54 ต่อนักวิ่ง 100,000 คน

หรือ ราวหนึ่งในสองแสน อัตราตายในนักวิ่งต่ำกว่าประชากรทั่วไปในวัยเดียวกัน

 

การที่ประเทศไทยมีนักวิ่งเสียชีวิตภายในวันเดียวถึง 3 ราย ซึ่งไม่ได้เป็นงานวิ่งขนาดใหญ่ โดยสองรายเสียชีวิตในงานวิ่งเดียวกัน ถือได้ว่ามีอัตราตายที่สูงกว่าปรกติมาก ๆ ไม่ทราบว่าวันนั้นมีงานวิ่งทั่วประเทศกี่แห่งและมีผู้เข้าร่วมการวิ่งกี่คน สมมติคร่าว ๆ ว่า 1 หมืนคน อัตราตาย 3 ต่อหมื่น ในวันเดียว จะสูงกว่าอัตราตายค่าเฉลี่ยจากงานวิจัยของสหรัฐอเมริกาอยู่ราว 55 เท่า

อัตราตายที่สูงขนาดนี้บ่งบอกว่าคนที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ไม่ควรเพียงแต่ให้คำอธิบายตามตำรา และให้คำแนะนำวิธีการวิ่งอย่างที่ทำอยู่เท่านั้น แต่จะต้องช่วยกันค้นคว้าหาสาเหตุการตาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องเศร้าซ้ำอีกในอนาคต

กลุ่มที่มีส่วนได้เสียอย่างสูง คือ ชมรม หรือ สมาคมการจัดการวิ่งแข่งขัน สมาชิกนักวิ่ง แพทย์ด้านโรคหัวใจ ด้านเวชศาสตร์การกีฬา นักวิทยาศาสตร์การกีฬา นักระบาดวิทยา และพยาธิแพทย์ ทั้งหมดนี้ต้องได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากกระทรวงสาธารณสุข

 

ด้วยความเคารพต่อความเป็นส่วนตัวและสิทธิของผู้เสียชีวิตและญาติ ผมคิดว่าถ้าเป็นไปได้ อยากขอให้ญาติอนุญาตให้นักวิชาการที่กระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งขึ้นได้ได้ค้นคว้าประวัติทางการแพทย์ของผู้เสียชีวิต ถ้าเป็นไปได้ ควรมีการตรวจศพของผู้เสียชีวิตโดยพยาธิแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านการตรวจหัวใจ เพื่อให้รู้สาเหตุของการตายที่แน่ชัด

ผลการสอบสวนสาเหตุการตายทั้งหมด ควรนำเสนอให้นักวิชาการในประเทศไทยได้วิพากษ์ ก่อนสรุปขั้นสุดท้ายและนำเสนอต่อประชาชน

ในอนาคต ควรมีการวิจัยร่วมกันของนักวิชาการและผู้จัดงานวิ่ง ตลอดจนนักวิ่งในระยะยาว เพื่อรวมรวมข้อมูลพื้นฐานและสถิติต่าง ๆ สำหรับการวิจัยด้านนี้ในประเทศไทย เพื่อให้การวิ่งเป็นการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนอย่างแท้จริง