จักรกฤษณ์ สิริริน : จาก Snowflake Syndrome ถึง Strawberry Generation กับ “ทางแยกของสังคม”

เหมือนที่ผมเคยเขียนเกี่ยวกับ Generation ต่างๆ ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ของเราแห่งนี้ ว่าโลกของเรามี Generation มากมาย ไล่เรียงกันมาตามเวลา

เราคงตัด The Lost Generation และ The Greatest Generation ออกไปก่อน เพราะสมาชิกแทบไม่เหลือแล้ว ที่ยังพอมีอยู่บ้างก็คงเป็น The Silent Generation ส่วน The Baby Boomers นั้นต้องนับว่ามีมากพอสมควร

แต่ที่เป็นกำลังหลักของสังคมจริงๆ ในตอนนี้ก็คงจะเป็น Generation X และ Generation Y

โดยทุกวันนี้ Generation Y ก็ได้ก้าวขึ้นมาแทน Generation X เกือบหมดแล้ว และกำลังครองโลก ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของ Facebook Google YouTube LINE Twitter ล้วนแล้วแต่เป็น Generation Y ทั้งสิ้นครับ

ถัดจาก Generation Y ก็จะเป็น Generation Z ซึ่งก็คือส่วนใหญ่ของ #เยาวชนปลดแอก และ Generation ถัดไปอีกก็คือ Generation Alpha

 

พูดถึง Generation Y แล้ว ถือเป็น Generation ที่มี “ชื่อเล่น” มากที่สุด ที่คุ้นหูคุ้นตาก็คือ Millennial Generation หรือ Internet Generation และ Boomerang Generation

รวมไปถึง Gen Why, Gen Next, MyPod Generation, Baby Boomlets, Echo Boomers, Generation Now และ Generation Waking Up

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Strawberry Generation

Strawberry Generation เป็นคำเสียดสี มีที่มาจากประเทศไต้หวันครับ

Strawberry Generation ใช้เรียก Generation Y หรือผู้ที่เกิดระหว่างปี ค.ศ.1981 (พ.ศ.2524) ถึงปี ค.ศ.1996 (พ.ศ.2539) ว่าเป็นคนรุ่นที่เติบโตขึ้นมาผ่านการประคบประหงมของพ่อ-แม่มากเกินควร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเขาเกิดมาในยุคที่เศรษฐกิจรุ่งเรืองเฟื่องฟูถึงขีดสุด เปรียบไปก็เหมือนกับ “สตรอว์เบอร์รี่” ที่ถูกปลูกในเรือนกระจก ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ดีเยี่ยม และมีราคาสูงเมื่อเทียบกับผลไม้ชนิดอื่น

ในทางกลับกัน “สตรอว์เบอร์รี่” เหล่านี้บอบช้ำง่าย ซึ่งหมายถึง Strawberry Generation ไม่ทนมือทนตีน ไม่สามารถแบกรับความกดดัน หนักไม่เอา เบาไม่สู้ มีนิสัยเห็นแก่ตัว หยิ่งจองหอง และเกียจคร้าน

 

การที่ Strawberry Generation มีที่มาจากประเทศไต้หวันก็เนื่องมาจากในปี ค.ศ.2008 ได้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมือง นำโดยนักศึกษาไต้หวัน 400 คน โดยตั้งชื่อกลุ่มว่า “ขบวนการสตรอว์เบอร์รี่ป่า” หรือ Wild Strawberries Movement

เพื่อต่อต้านการเยือนประเทศจีนโดย Association for Relations Across the Taiwan Strait (ARATS) ก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงของ “ขบวนการสตรอว์เบอร์รี่ป่า” และนำไปสู่การจับกุมคุมขังสมาชิกเป็นจำนวนมาก

การตั้งชื่อกลุ่มว่า “ขบวนการสตรอว์เบอร์รี่ป่า” ก็เพื่อแสดงการคัดค้านว่า Strawberry Generation หรือ Generation Y ของไต้หวันนั้น หาได้บอบบางอย่างที่มีคำจำกัดความเอาไว้ไม่

เห็นได้จากความกล้าหาญของ “ขบวนการสตรอว์เบอร์รี่ป่า” นั่นเอง

 

อีกศัพท์หนึ่งซึ่งใช้เรียก Generation Y คล้ายๆ กับ Strawberry Generation ก็คือคำว่า Snowflake Syndrome

Snowflake Syndrome หมายถึง Generation Y ที่เป็น “โรคเกล็ดหิมะ” หรืออีกหนึ่ง “ชื่อเล่น” ของ Generation Y ที่เรียกว่า Snowflake Generation

Snowflake Generation มักถูกค่อนแคะว่าเป็นคนรุ่นที่มองตนเองว่าวิเศษวิโสกว่าคนอื่น ซึ่งก็คล้ายกับที่ผมได้บรรยายถึง Strawberry Generation ไปในตอนต้น

การที่ Generation Y ถูกเปรียบเปรยว่าเป็น Snowflake Generation ก็เนื่องจากว่า “เกล็ดหิมะ” มีความเปราะบาง เอามือแตะเบาๆ ก็หายวับไปกับตา

สะท้อนถึงความทะนุถนอมตั้งแต่แรกเกิดจนบางคนเข้าวัยทำงาน พ่อแม่ยังตามประคบประหงม จึงทำให้ Snowflake Generation อ่อนไหว ไม่เอาไหน สนใจแต่ตัวเอง ขี้เกียจ เหยาะแหยะ เหมือนทิชชู่โดนน้ำ!

 

อีกศัพท์หนึ่งซึ่งคล้ายกับ Snowflake Syndrome ก็คือ “ฮ่องเต้ซินโดรม” ที่สื่อถึงคนรุ่นคาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด-ไม่เคยเผชิญความยากลำบากใดๆ ในชีวิต

“ฮ่องเต้ซินโดรม” ภาษาอังกฤษเรียกว่า Rich Kid Syndrome เป็นโรคของคนรุ่น Generation Y เช่นเดียวกับ “โรคเกล็ดหิมะ”

Rich Kid Syndrome คือนิยามของผู้ซึ่งเติบโตมากับสิ่งของที่พ่อแม่ประเคนให้ เพื่อชดเชยความรักและความใส่ใจดูแลที่ขาดหายไป จากการที่ผู้ปกครองต้องออกไปทำงานหนักนอกบ้าน

Rich Kid Syndrome จึงเป็นเด็กเอาแต่ใจ มองตนเองเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล มีความอดทนต่ำ ไม่ชอบความยุ่งยาก ไม่ชอบอยู่ในกติกา หรือข้อจำกัดใดๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขาดความยอมรับนับถือในตนเอง (Low Self-Esteem) ไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ และไม่รู้วิธีจัดการกับตัวเองหากไม่ได้รับในสิ่งที่ต้องการ

จึงมักแสดงความรุนแรงหากถูกขัดใจ พร้อมระเบิดอารมณ์ และมีแนวโน้มอย่างมากที่จะเป็นโรคซึมเศร้า เพราะหากใส่อารมณ์กับคนอื่นไม่ได้ ก็จะเอามาลงที่ตัวเอง!

 

อย่างไรก็ดี ผมคิดว่า ทั้ง Rich Kid Syndrome ทั้ง Snowflake Syndrome และทั้ง Strawberry Generation ดูจะเป็นการวิเคราะห์และให้จำกัดความ Generation Y ที่เกินจริงไปมากพอดู

แน่นอนว่า การให้นิยามดังกล่าวกับ Generation Y ตอนที่พวกเขายังเด็กก็มีความเป็นไปได้อยู่ ทว่า เมื่อ Generation Y เติบโตแล้ว ผมคิดว่ามันเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเรามองดูความสำเร็จของ Generation Y ในวันนี้ ที่พวกเขาได้เดินพาเหรด ก้าวขึ้นมาแทน Generation X ไปจนเกือบหมดแล้ว

และที่สำคัญก็คือ ห้วงเวลานี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า Generation Y กำลังครองโลก เพราะไม่ว่าจะเป็นเจ้าของ Facebook Google YouTube LINE Twitter ล้วนแล้วแต่เป็น Generation Y ทั้งสิ้น

อีกทั้งผมเชื่อว่า ยังมี Generation Y อีกเป็นจำนวนมาก ที่แม้จะไม่ประสบความสำเร็จเหมือน Mark Zuckerberg เจ้าของ Facebook หากแต่ Generation Y หลายล้านคน มีแนวคิดเหมือนกับ “ขบวนการสตรอว์เบอร์รี่ป่า”

ที่กำลังก้มหน้าก้มตาสร้างเนื้อสร้างตัว เพื่อแสดงการคัดค้าน ว่า Strawberry Generation หรือ Generation Y อย่างพวกเขา

หาได้บอบบางอย่างที่มีคำจำกัดความเอาไว้ไม่!

 

อีกทั้งหลายคนยังแสดงตัวเพื่อมีส่วนร่วมในสังคม โดยเฉพาะในทางการเมือง ไม่ว่าจะการเป็นกองหนุนสำคัญของม็อบเยาวชน Generation Z ในหลายประเทศ ทั้งในไต้หวันเอง หรือฮ่องกง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบ้านเรา

ในนาม Milk Tea Alliance หรือ “พันธมิตรชานม”

แม้ว่า Generation Y จำนวนมากกำลังถูกตราหน้าว่าเป็น Ignorant People ที่วางเฉยกับการต่อสู้ของม็อบเยาวชน Generation Z

แต่ผมเชื่อว่า หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน บวกรวมกับสถานการณ์ที่ส่อให้เห็นนิสัยชอบใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะทางกาย วาจา ใจ

ไม่ว่าจะที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง สถานีรถไฟในอยุธยา และคำพูดคำจาของดาราบางคน หรือหมอบางท่านที่อยากลงโทษเยาวชนด้วยความรุนแรง

สะท้อนว่าสังคมไทยยังต้องการเฆี่ยนเด็กดื้อ หรือโบยตีคนที่ไม่เชื่อฟังเยี่ยงทาสยุคโบราณ ทั้งที่เราเลิกทาสมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว

ผมเชื่อว่าหากเกิดความรุนแรงขึ้นกับ #เยาวชนปลดแอก บรรดา Strawberry Generation คงจะเลิกเพิกเฉย และพาตัวเองเข้าสู่ทางแยกของสังคม

คือการเลือกระหว่างความรุนแรงกับสงบสันติอหิงสาอย่างแน่นอน!