ในประเทศ/แกะรอยระเบิดการเมือง จากหน้ากองสลากเก่า ถึงโรงละครแห่งชาติ

แกะรอยระเบิดการเมือง จากหน้ากองสลากเก่า ถึงโรงละครแห่งชาติ

จากความสับสนอลหม่านในตอนแรก

ผ่านไปไม่ถึง 24 ชั่วโมง ทุกอย่างก็ชัดเจนตามลำดับ

เสียงดังคล้ายระเบิดเมื่อเวลา 3 ทุ่มครึ่งของคืนวันที่ 15 พฤษภาคม บริเวณโคนต้นไม้บนฟุตปาธหน้าโรงละครแห่งชาติ ใกล้ท้องสนามหลวง

ไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เกิดจากฝีมือคน

เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนตรวจพบ “ไอซีไทเมอร์” หรือตัวตั้งเวลา ชิ้นส่วนใช้ประกอบระเบิด “ไปป์บอมบ์” ตกอยู่ในบริเวณห่างจุดเกิดเหตุประมาณ 15 เมตร

ตามมาด้วยถ่านเม็ดกระดุมและสายไฟ

จากหลักฐานดังกล่าว ส่งผลให้ข้อสันนิษฐานของ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ว่าเกิดจากแรงลมพัดปะทะป้ายโฆษณา ทำให้ท่อพีวีซีที่ยึดอยู่กับป้ายแตกหัก จนเกิดเสียงดังคล้ายระเบิด

ถูกพัดพาหายไปพร้อมแรงลม

ตรงกันข้ามกับรายละเอียดที่ พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ออกมากล่าว เบื้องต้นพบลักษณะระเบิดเป็นพีวีซี แนวโน้มน่าจะเป็นประทัดยักษ์ระเบิดแล้วจึงกระเด็นไปโดนป้ายโฆษณา

คาดว่าคนร้ายต้องการสร้างสถานการณ์ก่อกวน เหมือนหน้ากองสลากเก่าเมื่อ 2 เดือนก่อน “แม่ทัพภาคที่ 1 ระบุ

หากนำคำกล่าวของ พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ มาผสมผสานกับคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม

เมื่อครบ 3 ปีอาจมีบางพวกที่อยากดิสเครดิตการทำงานของรัฐบาล และ คสช.”

จึงนำมาสู่ข้อสรุปเบื้องต้นได้ว่า

เหตุระเบิดหน้าโรงละครแห่งชาติ น่าจะมีส่วนเกี่ยวพันต่อเนื่องกับเหตุระเบิดหน้ากองสลากเก่า ถนนราชดำเนินกลาง เขตพระนคร เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา

จุดประสงค์เพื่อสร้างสถานการณ์ก่อกวนรัฐบาล และ คสช. ในห้วงเวลาครบรอบ 3 ปี นับจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

มีลักษณะคล้ายกันหลายประการระหว่างระเบิดหน้ากองสลากเก่าเมื่อวันที่ 5 เมษายน กับระเบิดหน้าโรงละครแห่งชาติเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม

ไม่ว่าการที่จุดเกิดเหตุทั้ง 2 จุด จะอยู่ในบริเวณใกล้ท้องสนามหลวง นอกจุดคัดกรอง แต่ก็อยู่ในพื้นที่ไข่แดง

ยังพบหลักฐานสำคัญ”ไอซีไทเมอร์” ชิ้นส่วนประกอบระเบิดไปป์บอมบ์ ตกอยู่ในที่เกิดเหตุเช่นเดียวกัน

ทั้ง 2 เหตุการณ์เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่มีความหมายในทางการเมือง

กล่าวคือ ระเบิดหน้ากองสลากเก่าเกิดขึ้นในห้วงเวลาการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ฉบับปี 2560 ขณะที่ระเบิดหน้าโรงละครแห่งชาติ เกิดขึ้นในห้วงเวลา คสช. เข้ายึดอำนาจควบคุมประเทศครบรอบ 3 ปี

ด้วย 3 ลักษณะคล้ายกันดังกล่าว เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดคลี่คลายคดีระเบิดสันนิษฐานว่า ทั้ง 2 เหตุการณ์คนร้ายน่าจะเป็นรายเดียวกัน

โดยคุณสมบัติของผู้ก่อเหตุ นอกจากมีความเชี่ยวชาญการประกอบระเบิดเป็นพิเศษ ยังต้องมีความรู้ด้านอิเล็กทรอนิกส์

ย้อนกลับไปประมาณ 1 เดือนเศษ ในเหตุระเบิดหน้ากองสลากเก่า เจ้าหน้าที่ตรวจพบเศษซากชิ้นส่วนท่อพีวีซี ขนาด 0.5 นิ้ว ยาว 4 นิ้ว ประจุดินดำ ชิ้นส่วนโลหะและส่วนประกอบแผงวงจร”ไอซีไทเมอร์”

ลักษณะประกอบระเบิดคล้ายกับเหตุการณ์ระเบิดตู้โทรศัพท์สาธารณะหน้าห้างเมเจอร์ รัชโยธิน เมื่อปี 2550 รวมถึงใช้ในการก่อเหตุระหว่างการชุมนุมทางการเมืองปี 2553

เป็นระเบิดชนิดแรงดันต่ำ คนที่นำมาใช้มุ่งสร้างสถานการณ์ปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองโดยไม่ประสงค์ต่อชีวิต และเลือกลงมือในพื้นที่เชิงสัญลักษณ์

กระนั้นก็ตาม ระเบิดหน้าโรงละครแห่งชาติ มีบางจุดแตกต่างออกไปจากระเบิดหน้ากองสลากเก่า

ตรงที่ระเบิดมีขนาดเล็กกว่า

หลังจากระเบิดแล้วยังทำให้วัสดุที่ใช้หุ้มดินระเบิดถูกทำลายไปพร้อมกัน เป็นคำตอบว่าทำไมเจ้าหน้าที่จึงตรวจสอบไม่พบสารประกอบระเบิดในจุดเกิดเหตุ

ส่วนที่พบท่อพีวีซีแตกเป็นท่อนๆ คาดว่าเกิดจากแรงระเบิดไปป์บอมป์ที่คนร้ายนำมาวางไว้ในบริเวณดังกล่าวนั่นเอง

ล่าสุดมีการขยายผลไปถึงขั้นที่ว่า ยังมีลักษณะคล้ายคลึงกับระเบิดที่ใช้ก่อเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย

เกิดข้อสันนิษฐานตามมามากมาย

ใครคือผู้ก่อเหตุ”กระตุกหนวด”รัฐบาล และ คสช. ครั้งนี้

นับตั้งแต่หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เกิดเหตุลอบวางระเบิดในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานครหลายครั้ง

ไม่ว่าเหตุระเบิดทางเดินเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าห้างสยามพารากอน, เหตุระเบิดศาลอาญา รัชดาฯ, เหตุระเบิดศาลพระพรหม สี่แยกราชประสงค์

กระทั่งมาถึงเหตุระเบิดหน้ากองสลากเก่า และล่าสุด เหตุระเบิดหน้าโรงละครแห่งชาติ

ทุกครั้งไม่ว่าพยานหลักฐานจะเบาบางแค่ไหนก็ตาม แต่ก็จะถูกตั้งข้อสันนิษฐานอย่างหนักแน่นไว้ก่อนว่าเป็นระเบิดการเมือง โดยกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหาร คสช.

กรณีหน้าห้างสยามพารากอน และกรณีหน้ากองสลากเก่า คือตัวอย่างชัดเจน ถึงแม้ว่าจนบัดนี้ยังไม่สามารถตามจับกุมตัวคนลงมือก่อเหตุได้ก็ตาม

ส่วนกรณีหน้าโรงละครแห่งชาติ กลับมี”กลิ่นอาย”บางอย่างแตกต่างออกไป

แน่นอนว่า ด้านหนึ่งพุ่งเป้ากว้างๆ ไปยังกลุ่มฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการดิสเครดิตรัฐบาล และ คสช. ในวาระครบรอบ 3 ปี โดยเฉพาะงานด้านความมั่นคงและสร้างความปรองดอง

แต่อีกด้านก็ต้องยอมรับว่า ตลอดเส้นทางอยู่ในอำนาจ 3 ปีที่ผ่านมา การเมืองฝ่ายตรงข้ามถูกกวาดล้างจนอยู่ในภาวะง่อยเปลี้ย ทุกย่างก้าวอยู่ในสายตาฝ่ายความมั่นคงตลอดเวลา จนขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอะไรไม่ได้

ขณะเดียวกัน กลับเป็นรัฐบาล คสช. เสียเอง ที่ได้เปลี่ยนพันธมิตรดั้งเดิมให้กลายเป็นศัตรูจำนวนมาก

เห็นได้จากการที่คนในรัฐบาล คสช. กองทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปรากฏกระแสการแบ่งขั้ว ขัดแย้ง ไม่ลงรอยกันเป็นระยะ ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว

ตรงนี้เองคือเหตุผลหนึ่งทำให้คดีระเบิดการเมือง มีความสลับซับซ้อน ยากต่อการคลี่คลายว่าแท้จริงแล้วเป็นฝีมือการเมืองภายนอก หรือการเมืองภายในหมู่คนกันเอง

เหมือนที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวถึงเหตุระเบิดหน้าโรงละครแห่งชาติ ตอนหนึ่งว่า ฝ่ายความมั่นคงจับตาทุกคนที่ไม่หวังดีต่อรัฐบาล และ คสช. เชื่อว่ากลุ่มเช่นนี้มีตลอด

มีทั้งฝ่ายตรงข้ามและฝ่ายเดียวกันกับรัฐบาล”

ทั้งหมดกลับสู่ประเด็นคำถามเดิมๆ ทุกครั้งหลังเกิดระเบิดการเมือง ใครคือผู้ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ความวุ่นวายปั่นป่วน ไม่ว่าจะในทางตรงหรือทางอ้อม

มีแต่ต้องจับกุมคนกระทำให้ได้เท่านั้น

ถึงจะไขปริศนาคำตอบนี้ได้