ความขัดแย้ง “จะนะเมืองอุตสาหกรรม” ความท้าทายแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

พระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ พล.ต.เกรียงไกร ศรีรักษ์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งท่านมารับหน้าที่ 1 ตุลาคม 2563 แทนแม่ทัพคนเก่าอย่าง “บิ๊กเดฟ” พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ได้ขยับเข้าไลน์ 5 เสือ ทบ. เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หลังนั่งเก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 4 ครบ 2 ปี รอเกษียณอายุราชการในปีหน้า

(แต่ เกิดเหตุลอบวางระเบิดชุดสับเปลี่ยนกำลัง ร.15 พัน. 1 หน้าเทพารีสอร์ท ม.4 ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ต้อนรับตำแหน่งใหม่ของท่าน)

แน่นอนที่สุดความท้าทายครั้งนี้ก็ตกถึงท่าน (พี่เกรียง) ที่หลายคนเรียกหลายประการ เช่น การปราบปรามยาเสพติด ที่แม่ทัพเก่าทำได้ดี

กระบวนการการพูดคุยที่คาดว่าสมัยนี้จะไปด้วยกันได้ดีเพราะท่านในฐานะแม่ทัพกับหัวหน้าพูดคุยทำงานด้วยกัน อีกทั้งมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับประชาสังคมทั้งเห็นต่างและเห็นด้วยกับรัฐ

ส่วนความท้าทายประเด็นร้อนก็น่าจะเป็นทหารพรานยิงรถโรงเรียนของดะโต๊ะนิเดร์ วาบา กับปอเนาะชือมา อำเภอหนองจิก ถูกปิด แม้จำเลยทางนิตินัยจะเป็น สช.

และล่าสุดสดๆ ร้อนๆ กรณี “เครือข่ายคนคัดค้านจะนะเมืองอุตสาหกรรมยกระดับการต่อสู้”

ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า แม่ทัพคนเดิมรับปากเป็นโซ่ข้อกลางในโครงการนี้ต่อหน้าตัวแทนผู้นำทุกภาคส่วน ไม่ว่าศาสนา นักวิชาการ สื่อมวลชน นักสิทธิชุมชนสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ที่เรียกว่า สล.3 (คณะทำงานพูดคุยกระบวนการพูดคุยสันติสุขระดับพื้นที่)

การเปลี่ยนผังเมืองจะนะ

จากสีเขียวเป็นสีม่วง

“ตัวเร่งอุณหภูมิความขัดแย้ง”

วันจันทร์ที่ 28 กันยายน 2563 ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา มีการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมในเขตจังหวัดสงขลา พิจารณาเปลี่ยนแปลงผังเมืองอำเภอจะนะจาก “สีเขียว” เป็น “สีม่วง” เพื่อเปิดพื้นที่ให้ก่อสร้างโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม

โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงผังเมืองรวม 3 ตำบล คือ ต.นาทับ ต.สะกอม และ ต.ตลิ่งชัน ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563

พบว่ามีเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยในโลกโซเชียลหลายภาคส่วน หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลามีคนไม่เห็นด้วยจากหลากหลายกลุ่ม รวมทั้งนักวิชาการเปิดเวทีชำแหละโครงการนี้และผู้อยู่เบื้องหลัง 5 วัน 5 คืน และประกาศรวมพลบุกกรุงเทพมหานคร

ในขณะที่ 2 ตุลาคม 2563 เวลา 15.00 น. เครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจะนะ จังหวัดสงขลา นำครูและนักเรียนจำนวนมากมาร่วมกันละหมาดฮายัด (หนึ่งในพิธีกรรมศาสนาขอพรพระเจ้า) ที่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา เพื่อแสดงพลังคัดค้านอย่างสันติต่อการประกาศเปลี่ยนผังเมืองจะนะเป็นเขตอุตสาหกรรม

เนื่องจากการยื่นขอแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา ตามมาตรา 35 ของ พ.ร.บ.การผังเมือง 2562 ที่อ้างว่าการแก้ไขผังเมืองรวมเฉพาะบริเวณให้เหมาะกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปนั้น ไม่ใช่เหตุผลที่สมควรต่อการเปลี่ยนผังเมือง จากพื้นที่เกษตร เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม จึงขอเรียกร้องให้ยกเลิกมติ ครม.ต่อเรื่องนี้ และยกเลิกมติคณะกรรมการเปลี่ยนผังเมือง

นอกจากนี้ ทางเครือข่ายได้เรียกร้องไปยังโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สถาบันปอเนาะ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีนักเรียนและบุคลากรกว่าแสนคนออกมาร่วมยืนหยัดไปด้วยกัน

เครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนามองว่า จะนะเป็นทั้งอาหารสมองและอาหารทะเล รวมผลิตภัณฑ์เกษตรอาเซียน

“เมื่อรัฐไม่ฟังเสียงประชาชน เครือข่ายจึงยกระดับการต่อสู้ทุกวิถีทางแต่ก็อยู่ภายใต้หลักการอิสลามและกฎหมาย ในการต่อสู้ปกป้องจะนะ “เมืองอุลามาอ์ (ผู้รู้ศาสนาอิสลาม)” ให้เป็นเมืองวิชาการอิสลาม และมีวิถีชีวิตชุมชนอันเป็นแหล่งอาหาร ทั้งสมอง ประมง และเกษตรกรรมของชาติและอาเซียน เพราะวิกฤตโควิดได้เป็นบทเรียนว่าเมืองอุตสาหกรรมมิใช่คำตอบ ซึ่งการประกาศเหตุผลเช่นนี้เป็นการส่งสัญญาณให้รัฐรีบใช้ช่องทางทั้งรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ในการเปิดพื้นที่พูดคุยร่วมแก้ปัญหาหาทางออก มิฉะนั้นปัญหาจะยิ่งลุกลามถ้ารัฐยังดื้อดันใช้ช่องของกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์นายทุน แต่อ้างประชาชน ซึ่งชาวเครือข่ายโรงเรียนเอกชน ชาวบ้านเขารู้สึก”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งควบตำแหน่งผู้นำ กอ.รมน.ที่ใหญ่กว่า ศอ.บต. และแม่ทัพคนนี้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา สถาบันปอเนาะ โดยเฉพาะกับประธานสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ คือนายข๊ดดะรี บินเซ็น

จึงอาจจะใช้จุดเด่นนี้ใช้ศาสตร์และศิลป์ในการร่วมแก้ปัญหา ก่อนมวลชนนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษานับแสนคนจะออกมาเคลื่อนไหวตามที่แกนนำเครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอำเภอจะนะประกาศ

อย่างไรก็แล้วแต่ ประเด็นความขัดแย้ง “จะนะเมืองอุตสาหกรรม” มิใช่ง่ายในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนรับกันได้ ถอยคนละก้าวแบบทุกฝ่ายชนะร่วมกัน ออกแบบร่วมกัน ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ปัญหานี้ถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในสามประเด็นร้อนชายแดนภาคใต้ที่รอหาทางออก โดยเฉพาะจากฝีมือแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่