อุเชนทร์ เชียงเสน | 14 (ตุลา) อีกครั้ง

การปรากฎตัวของขบวนการนักเรียนนักศึกษาในปัจจุบัน เริ่มมีการเปรียบเทียบอย่างน่าสนใจว่าจะทำให้เกิด “14 ตุลา” อีกครั้ง ในความหมายที่เป็นทั้งทางบวก ท้วงติง หรือข่มขู่กลายๆ เพราะ “14 ตุลา” มีความหมายได้หลากหลายเช่น (1) ชัยชนะของประชาชน โค่นล้มเผด็จการทหารลงได้ (2) นองเลือดและเตะหมูเข้าปากสุนัข ขับไล่เผด็จการได้แต่ต้องแลกด้วยเลือดเนื้อของเพื่อนผู้ร่วมขบวนการ และเปลี่ยนแปลงได้เฉพาะตัวผู้นำ ไม่ใช่โครงสร้างการเมือง ขณะ “ฝ่ายที่สาม” ได้ประโยชน์อย่างเป็นกอบเป็นกำ และ (3) การสังหารหมู่และพ่ายแพ้ในที่สุด หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปี เมื่อขบวนการถึงราก (radical) มากขึ้น ก็สูญเสียการยอมรับจากประชาชน และนำไปสู่การล้อมปราบในเหตุการณ์ “6 ตุลา”

อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบเฉพาะผลสรุปของเหตุการณ์ เป็นประโยชน์ในการเข้าใจปรากฎการณ์ในปัจจุบันหรือคาดการณ์อนาคตไม่มากนัก หากไม่ได้พิจารณาเปรียบเทียบความเหมือน/ความต่างของขบวนการอย่างเพียงพอ ดังนั้นเพื่อประโยชน์ในการถกเถียง ผู้เขียนจึงขอทดลองนำเสนอลักษณะสำคัญของขบวนนักเรียนนักศึกษานี้ ดังต่อไปนี้

1. การกลับมาใหม่ของขบวนการเคลื่อนไหวที่นำโดยนักศึกษา
นับตั้งแต่ขบวนการ 14 ตุลา ที่ก่อตัวขึ้นในต้นทศวรรษ 2510 แล้ว การปรากฎตัวอีกครั้งของนักศึกษาในต้นทศวรรษ 2560 ต้องใช้เวลานานถึงครึ่งศตวรรษเลยทีเดียว ก่อนหน้านี้หลายคนเชื่อว่าหมดยุคของนักศึกษาแล้ว เพราะนับตั้งแต่ “ป่าแตก” ปี 2523 เป็นต้นมา การเคลื่อนไหวสำคัญและมีผลเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทั้งเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 การปฏิรูปการเมือง 2540 การขับไล่รัฐบาลทักษิณในปี 2548-2549 การขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ในปี 2552-2553 การขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ในปี 2556-2557 หรือ “การเมืองภาคประชาชน” ที่เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาของตนเอง ผู้นำหรือตัวละครที่มีบทบาทหลักคือ นักพัฒนาเอกชน นักวิชาการ นักการเมือง คนชั้นกลาง คนชั้นกลางระดับล่าง คนชั้นกลางกลางเก่า คนรากหญ้า ขณะที่นักศึกษาเป็นเพียงตัวประกอบในฉากที่ไม่สำคัญนัก

การกลับมาใหม่ที่เกิดขึ้นและกระจายอย่างรวดเร็วในขอบเขตทั่วประเทศ ภายใต้การนำของพวกเขาเองอย่างแท้จริง จึงเป็นสิ่งใหม่และเหนือการคาดการณ์ของคนทั่วไป

2. กลุ่ม/องค์กรที่หลากหลาย อิสระและแข่งขันกันเอง
หากถือ “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.)” ที่ก่อตั้งขึ้นก่อนหน้านั้น เป็นองค์กรนำที่ทางการขบวนการ 14 ตุลา ปัจจุบัน “สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.)” เป็นเพียงหนึ่งในเครือข่ายองค์กรเคลื่อนไหวที่หลากหลาย ในรอบสองสามปีมานี้ มีการก่อตั้งองค์กร เปลี่ยนชื่อ แตกหน่อ ผนวกรวมกันใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วมาก ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด สะท้อนวิธีคิดของผู้เกี่ยวข้องและธรรมชาติขององค์กรที่มีลักษณะกระจัดกระจายเป็นเป็นอิสระต่อกัน ไม่เน้นการรวมศูนย์การเคลื่อนไหว

นอกจากนั้น องค์กรหรือกลุ่มเหล่านี้ก็มีการถกเถียง ประชันขันแข่งกัน หรือ “ขิง” กันเองในการจัดกิจกรรมต่างๆ อยู่ในที ทำให้ต้องคิดค้นกิจกรรมที่หลากหลายสร้างสรรค์และมีข้อเรียกร้องที่แหลมคมมากยิ่งขึ้น (ซึ่งจะกล่าวถึงในข้อต่อไป) อย่างการถกเถียงว่าจะลงถนนหรือไม่ในช่วงแรก นำไปสู่การลงถนนจริงๆ ในเวลาต่อมา การขิงกันเองในการตอบสนองต่อความคับข้องใจเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่แอบซ่อนอยู่ในป้ายผ้า ป้ายกระดาษทั้งที่ถูกเขียนและไม่ถูกเขียน ถูกพัฒนาเป็นข้อเรียกร้องที่เป็นทางการ ยกระดับ กระจายและรับลูกกันอย่างรวดเร็ว

ลักษณะกระจัดกระจาย ประสานร่วมกันเป็นครั้งคราว แต่ถือตนว่าเป็นอิสระต่อกัน และแข่งขันกันเองในบางครั้ง สะท้อนเห็นว่ากลุ่มต่างๆ มีศักยภาพในการนำและจัดการชุมนุมของตนเอง

3. กิจกรรมที่หลากหลาย/สร้างสรรค์
แม้มีข้อเรียกร้องที่เด็ดขาดจริงจัง แต่การชุมนุมในระดับต่างๆ กลับสนุกสนาน ครื้นเครง วัฒนธรรมมวลชนสมัยใหม่หรือวัฒนธรรมย่อยของกลุ่มเฉพาะ ถูกนำมาใช้อย่างลงตัว คาดไม่ถึง และบางครั้งก็ยากที่จะเข้าใจสำหรับคนทั่วไป ชื่อเพลง ภาพยนตร์ ถูกนำมาตั้งชื่อ กำหนดธีมในการชุมนุม อย่าง“วิ่งแฮมทาโร่” ที่ดัดแปลงเพลงการ์ตูนญี่ปุ่นมาล้อการเมือง และนัดวิ่งประกอบเพลงรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายห้ามการชุมนุม กิจกรรมนี้จัดโดยนักเรียนมัธยม มีการชุมนุมของเหล่าพ่อมด แต่งชุดเลียนแบบ สวมบทบาทตัวละครในแฮรี่ พอตเตอร์ เพื่อ “เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย” การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถูกเสนออย่างเป็นทางการครั้งแรกโดยพ่อมดเหล่านี้
นักกิจกรรมในอดีตมักมองว่ากิจกรรมทางการเมืองเป็นเรื่องจริงจัง และดังนั้นจึงต้องวางท่าทีแบบเคร่งขรึม เอาจริงเอาจัง แต่ภาพเหล่านี้ถูกแทนที่ด้วยการชุมนุมที่สนุกสนาน บันเทิงเริงรมย์ แกนนำรำเซิ้งนำหน้าการเดินขบวน รูปแบบกิจกรรมสันทนาการที่ใช้ในงานรับน้องหรืออื่นๆ ที่เคยถูกมองว่าไร้สาระ ถูกดัดแปลงใช้อย่างสร้างสรรค์ เพื่อสะท้อนปัญหา สร้างบรรยากาศรื่นเริง เปลี่ยนการชุมนุมที่เคร่งเครียดเป็นงานวัด

4. เนื้อหากว้างขวางครอบคลุมและหลากหลายผู้คน
มีผู้วิจารณ์ว่า ขบวนการนี้เป็นการเคลื่อนไหวประเด็นเดียว จึงไม่สามารถขยายแนวร่วมได้ หากได้ติดตามจะพบว่า แม้ขบวนการจะไม่ได้นำเสนอปัญหาของโลกนี้ทั้งหมด แต่สิ่งที่เป็นจุดเด่นเมื่อเปรียบเทียบกับขบวนการก่อนหน้า คือ มีการนำเสนอเนื้อหาที่กว้างขวาง (แม้จะมีสัดส่วนมากน้อยจะต่างกัน) ครอบคลุมตั้งแต่การเมืองและการกดขี่ในโรงเรียนที่นำเสนอโดยนักเรียน เพศสภาพและความหลากหลายทางเพศนำเสนอโดยกลุ่มผู้หญิงและ LGBT ปัญหาภาคใต้นำเสนอโดยเยาวชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ การพัฒนาและสิ่งแวดล้อม การทุจริตคอร์รัปชันและการดำเนินนโยบายของรัฐบาล การเมืองเชิงสถาบันทางการเมือง จนกระทั่งการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทั้งหมดนี้สะท้อนปัญหาโครงสร้างและระบอบอำนาจนิยม ที่ร้อยรัดปัญหาของพวกเขาไว้

ภาพของเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ ผู้หญิง ได้รับการยอมรับและมีบทบาทโดนเด่นไม่น้อยไปว่าผู้ชาย บทบาทและสัดส่วนของนักเรียนมัธยมในการชุมนุมต่างๆ เห็นได้ด้วยตาเปล่า เมื่อแกนนำหรือผู้ปราศรัยยคนใดมีทัศนะที่ไม่ถูกต้องก็ถูกตรวจสอบวิพากษฺวิจารณ์ผ่านทวิตเตอร์ในทันที หลายกรณีมีการยอมรับความผิดพลาดและพร้อมจะปรับปรุง นี่คือ ปรากฎการใหม่ของการชุมนุม
นอกจากนั้น เพราะไมได้เป็นตัวละครที่อยู่ในความขัดแย้งมายาวนาน ทำให้ขบวนการนี้เปิดกว้างและก้าวข้ามความขัดแย้งได้มากกว่า พวกเขาจึงไม่รู้จักและไม่รู้สึกอิหลักอิเหลื่อเมื่อแกนนำ กปปส. ที่ไม่เคยสำนึกผิดต่อ “อาชญากรรมทางการเมือง” ของตนเอง ขึ้นเวทีปราศรัยก่อนหน้านี้ มิหนำซ้ำล่าสุดยังเชิญชวนมาร่วมชุมนุมอีกด้วย

ส่วนข้อวิจารณ์ว่าขบวนการนี้ไม่มีข้อเสนอทางเศรษฐกิจ เน้นเฉพาะทางการเมือง หรือไม่หลุดพ้นจากระบบทุนนิยมนั้น สะท้อนความไม่เข้าใจและคาดหวังต่อขบวนการมากเกินไป ทั้งที่หลายเรื่องเป็นปัญหาของผู้วิจารณ์ที่ต้องผลักดันด้วยตัวเอง ไม่ใช่ฝากหรือผลักภาระให้กับพวกเขา เฉพาะข้อเรียกร้องที่มีอยู่ หากบรรลุได้เพียงเพียงครึ่งหนึ่งก็อาจเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการเมืองไทยขนาดใหญ่มากกว่า “การปฏิวัติตุลาคม”

5. ข้อเสนอใหม่ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
หากไม่นับรวมข้อเสนอโค่มล้มศักดินาของพวกฝ่ายซ้าย-คอมมิวนิสต์ นับตั้งแต่สิ้นสุดยุคคณะราษฎร นี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง โดยขบวนการมวลชน แม้สถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์จะถูกนำมาถกเถียงอีกครั้งในช่วงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แต่มักจะเกิดขึ้นโดยอ้อมผ่านบทบาทขององคมนตรี ไม่เคยถูกอภิปรายอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา แม้จะมีความไม่พอใจในขบวนการมวลชนในบางช่วงจังหวะ ความรู้สึกนี้ถูกกดไว้ด้วยความกลัว กฎหมาย ความเชื่อว่าพูดถึงไม่ได้ จนกลายเป็นเพดานให้กับตัวเอง
ขณะนี้ ตรงกันข้ามกับที่ “ผู้หวังดี” ได้เสนอว่าให้ยุติข้อเสนอนี้ไว้ก่อนเพื่อจะมีคนเข้าร่วมมากขึ้น แท้จริงแล้ว พลังของขบวนการนี้มาจากสิ่งที่พวกเขาพูด คือเรื่องสถาบันกษัตริย์ ที่สร้างความหวาดหวั่นวิตกอย่างมากให้กับผู้มีอำนาจ จึงกลายเป็นประเด็นต่อรองของเจ้าหน้าที่กับผู้จัดการชุมนุม มหาวิทยาลัยกับนักศึกษา การ “พูดคุย” ระหว่างตำรวจและนักเรียนเมื่อไปเยี่ยมบ้าน และมากกว่านั้น ประเด็นนี้ต่างหากที่ดึงดูดและเชื่อมร้อยให้ผู้คนเข้าร่วมมากขึ้น เพราะนี่เป็นความหวังหรือโอกาสเดียวที่จะผลักดันให้กลายเป็นจริงได้ในช่วงชีวิตของตนเอง

6. คนธรรมดาผู้กล้าหาญสู้เพื่อตัวเอง
ผู้เชี่ยวชาญอธิบายความสำคัญของนักศึกษา 14 ตุลา ว่าอยู่ที่ “ความเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา” และด้วยความเป็นนักศึกษาจำนวนน้อยที่มีโอกาสเลื่อนชั้นไปสู่ชนชั้นนำจากภาษีประชาชน การทำกิจกรรมจึงอยู่บนฐานของ “ชดใช้” หนี้สังคม ความเข้าใจนี้สะท้อนทัศนะแบบชนชั้นนำอยู่มาก ถือตัวว่าตัวเองเหนือกว่าและจึงต้องทำ“เพื่อคนอื่น”

ถึงปัจจุบัน ตัวแสดงทางการเมืองมีหลากหลายมากขึ้น สั่งสมความรู้และประสบการณ์มายาวนาน ทำให้นักศึกษาในช่วงหลังสูญเสียสถานะผู้นำของสังคม ต่างจากปัญญาชน 14 ตุลา พวกเขาเป็นใครที่ไหนก็ไม่รู้ มีชีวิตแบบคนธรรมดา ข้อความคิดที่ถูกเรียบเรียงขึ้นของพวกเขาจำนวนมาก มาจากงานเขียนของนักวิชาการหอคอยงาช้าง อย่างธงชัย วินิจจกูล คณะนิติราษฎร์ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นต้น ความคิดเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการอ่านงานของผู้เขียนโดยตรง เพราะถูกผลิตซ้ำและมีชีวิตไหลเวียนในโซเชียลมีเดีย ที่สามารถเข้าถึงได้ด้วยคลิกเดียว

ดังนั้น การขาดลักษณะปัญญาชนในฐานะผู้นำทางความคิด ไม่ได้สร้างปัญหาอะไรให้กับขบวนการนัก บางครั้งกลับส่งผลด้านบวก ทุกคนมีโอกาสเป็นแกนนำหรือส่วนสำคัญของขบวนการได้ ไม่จำกัดเฉพาะปัญญาชน นี่เป็นเรื่องของทุกคน แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาเหนือและแตกต่างออกไป คือ ความกล้าหาญที่จะพูดและเสนอสิ่งที่คิดอย่างตรงไปตรงมา และทำในสิ่งที่คนรุ่นเก่าไม่อาจคิดถึงได้ อย่างเช่นการชูสามนิ้วรับเสด็จฯ ควรตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ภายใต้ความพยายามที่กล้าหาญนี้ พวกเขาพูดและเข้าใจอย่างแจ่มชัดว่า “สู้เพื่อตัวเอง” เพื่ออนาคตของพวกเขาเอง ความเข้าใจแบบนี้นอกจากจะทำให้หนักแน่นในเดิมพันของตนเองแล้ว น่าจะมีส่วนคอยกำกับการอ้างสถานะอันสูงส่งของตนเองว่า “สู้เพื่อคนอื่น”

7. บทบาทและความโดดเด่นของนักเรียน

เมื่อราว 50 ปีก่อน นักเรียนมัธยมอาจเป็นแค่ตัวประกอบหน้าประวัติศาสตรเท่านั้น แต่ครั้งนี้กลับมีบทบาทคู่ขนานกับนักศึกษาเลยทีเดียว พวกเขาปรากฎตัวตามเวทีหรือกิจกรรมการเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งในฐานะผู้จัดกิจกรรมด้วยตนเอง (ทั้งในและนอกรั้วโรงเรียน) เป็นผู้จัดร่วมกับองค์กรอื่น เป็นโฆษกและผู้ปราศรัยที่โดดเด่น เป็นผู้เข้าร่วมอย่างกระตือรือร้น ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือจากการรวบข้อมูลพบว่านักเรียนเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมที่มีสัดส่วนสูงที่สุดในต่างจังหวัดหลายพื้นที่

แม้นักเรียนจะเน้นเรื่องระบอบเผด็จการ/อำนาจนิยมในโรงเรียน แต่ก็ถือว่าเป็นการต่อสู้ที่มีความหมายสำคัญมากเช่นเดียวกัน เพราะนั่นเป็นการปฏิเสธอำนาจที่บงการพวกเขาที่ใกล้ตัวที่สุด ให้คุณให้โทษได้โดยตรงในทันที เป็นการพยายามเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจในชีวิตประจำวัน และจึงเป็นที่มาของอาการตกอกตกใจของครู บุคคลาการด้านการศึกษา ดั้งนั้น สนามการต่อสู้ในรั้วโรงเรียนจึงกลายเป็นแนวของการปะทะทางความคิดที่รุนแรงไม่แพ้บนถนนราชดำเนิน ปรากฎการณ์หนึ่งที่สะท้อนเรื่องนี้ได้ดีคือ ท่วงทำนองต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของกลุ่มนักเรียนเลว และฉากของการปะทะทางความคิดของนักเรียนกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเรื่องสถาบันกษัตริย์

เอาเข้าจริง สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาในเรื่องนี้ นักเรียนมัธยมเป็นกุญแจที่จะไขไปสู่ความเข้าใจการเกิดขึ้นของขบวนการทั้งหมดนี้ เนื่องจากพวกเขามีช่วงเวลาที่ได้เรียนรู้การเมืองน้อยสุด มีอิสระน้อยสุด เพราะต้องอยู่อาศัยกับผู้ปกครอง เมื่อเปรียบเทียบกับนักศึกษาที่รับรู้และมีประสบการณ์มาก่อน มีความเป็นอิสระจากครอบครัวและสถานศึกษามากกว่า ว่านักเรียนเรียนรู้และเติบโตทางการเมืองได้อย่างไร มีเงื่อนไขและปัจจัยอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง และอะไรคือแรงจูงใจให้พวกเขาใส่ชุดนักเรียนออกมาโลดแล่นบนเวทีการเมือง (ผู้เขียนตั้งใจทดลองนำเสนอในโอกาสต่อไป)

เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่ผู้เขียนได้นำเสนอมาแล้วข้างต้น จะเห็นได้ว่านอกจากความเป็น “นักศึกษา” และบริบทของรัฐบาลทหารแล้ว ขบวนการนักเรียนนักศึกษาปัจจุบันมีลักษณะร่วมกับ 14 ตุลาไม่มากนัก และลักษณะเหล่านี้น่าจะส่งผลหรือทำให้เกิดสิ่งที่แตกต่างไปจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เว้นเสียแต่ว่าจะทำให้ผู้คนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมรู้สึกกระชุ่มกระชวยและเปี่ยมไปด้วยความความหวังราวกับได้กลับไป (อายุ) 14 (ปี) อีกครั้ง ในวัยที่ผ่านตัวเลขนี้มานานมากแล้ว