พ่อแม่จะฝากแก้วตาดวงใจไว้กับครูปฐมวัยแบบไหน

จากเหตุการณ์สำคัญที่เป็นข่าว เรื่องการใช้ความรุนแรงของครูปฐมวัยที่กระทำต่อเด็กอนุบาลชั้นปีที่ 1 ส่งผลต่อความรู้สึก ความสะเทือนอารมณ์ สำหรับทุก ๆ ท่านที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัย หลายคนกลับมาทบทวน และตั้งคำถามกับตนเอง ว่าเราสามารถผลิตรครูปฐมวัยที่ดีให้กับสังคมไทยได้มากน้อยเพียงไร ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อยู่บ่อย ๆ

เป้าหมายสำคัญของการสร้างครูปฐมวัย

เป้าหมายสำคัญของกระบวนการผลิตและสร้างครูอนุบาล คือการสร้างบุคลากรครูที่ทรงคุณค่าให้กับประเทศที่จะออกไปพัฒนาเด็กปฐมวัยต่อไป ครูปฐมวัยจะต้องออกไปทำหน้าที่หล่อหลอมฟูมฟักต้นกล้าของสังคมไทย ให้เติบใหญ่เป็นพลเมืองที่ดี มีสุขภาพจิตที่ดี มีความร่าเริงแจ่มใส สามารถสร้างความสุขให้กับตนเองและผู้อื่นได้ และพร้อมที่จะเติบใหญ่เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าต่อสังคมไทยต่อไป

คุณลักษณะครูปฐมวัยที่ดีควรเป็นอย่างไร

การสร้างครูปฐมวัยที่ดีควรเป็นอย่างไร ขออนุญาตกล่าวถึงคำสอนของท่านอาจารย์ที่เป็นบูรพคณาจารย์ทางด้านการศึกษาปฐมวัย ท่านอาจารย์คุณหญิง ดร.เบญจา แสงมลิ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ และผู้นำทางด้านการสร้างครูอนุบาลคนแรกของประเทศไทย ท่านได้กล่าวถึงคุณลักษณะของครูอนุบาลที่ดีและบุคลิกภาพครูไว้ ดังนี้ ครูอนุบาลต้องมี 9 นัก คือ 1. นักรัก ครูผู้ดูแลเด็กจะต้องเป็นคนที่รักเด็กและทำตัวให้เด็กรัก 2. นักเล่น ครูผู้ดูแลเด็กจะต้องเป็นคนที่สามารถเล่นกับเด็กได้ 3. นักร้อง ครูผู้ดูแลเด็กจะต้องเป็นคนที่สามารถร้องเพลงเด็กได้ และสามารถเลือกเพลงที่เหมาะสมกับเด็ก 4. นักรำ ครูผู้ดูแลเด็กต้องมีความสามารถในการเคลื่อนไหวและการทำท่าทางประกอบจังหวะต่าง ๆ 5. นักเล่า ครูผู้ดูแลเด็กต้องเป็นนักเล่านิทาน หรือเรื่องราวต่าง ๆ 6. นักคิด ครูผู้ดูแลเด็กต้องเป็นคนที่คิดเก่ง ในเรื่องของการคิดกิจกรรม คิดประดิษฐ์สื่อของเล่น คิดหาทางส่งเสริม กระตุ้นพัฒนาการเด็ก 7. นักทำ ครูที่ดีต้องเป็นผู้ที่ขยันในการทำงาน ทำสื่ออุปกรณ์ต่าง ๆ 8. นักฝัน เด็กปฐมวัยเป็นวัยที่ช่างเพ้อฝันจินตนาการ ดังนั้นครูจะต้องเป็นคนที่ช่างฝันจินตนาการร่วมกับเด็กด้วย 9. นักแต่ง ครูปฐมวัยจะต้องเป็นผู้ที่สามารถแต่งนิทาน เรื่องราวต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับเด็ก ตกแต่งห้องเรียนสถานที่ แต่งเพลง และการรู้จักแต่งตัว เบญจา แสงมะลิ (2552)

ปัจจุบันสังคมไทยมีครูปฐมวัยเป็นอย่างนั้นมากน้อยเพียงใด เป็นสิ่งที่ท้าทายต่อกระบวนการผลิต และพัฒนาครูเป็นอย่างยิ่ง

ความคาดหวังของสังคมต่อบทบาทหน้าที่ครูปฐมวัย

บทบาทของครูปฐมวัย คือเป็นผู้ที่วางรากฐานพัฒนาการเด็กในทุก ๆ ด้าน ซึ่งเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ที่จะต้องทำ และพัฒนาอย่างองค์รวม

พระราชบัญญัติ การพัฒนาเด็กปฐมวัย  พ.ศ. 2562 กล่าวถึงบทบาทหน้า ของผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลเด็กปฐมวัย พอสรุปสาระสำคัญ ได้ ดังนี้ 1. ให้มารดาได้รับการดูแลในระหว่างตั้งครรภ์เพื่อให้บุตรที่อยู่ในครรภ์มีสุขภาวะและพัฒนาการที่ดี 2. เด็กปฐมวัยอยู่รอดปลอดภัยและได้รับความคุ้มครองให้พ้นจากการล่วงละเมิดไม่ว่าในทางใด 3. ให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการที่ดีรอบด้านทั้งทางร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และ สติปัญญาให้สมกับวัย เพื่อให้เกิดทักษะพื้นฐานในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต สามารถเรียนรู้ อย่างสอดคล้องกับหลักการพัฒนาศักยภาพของแต่ละบุคคลและความต้องการจ าเป็นพิเศษ  4. สร้างคุณลักษณะให้เด็กปฐมวัยมีอุปนิสัยใฝ่ดี มีคุณธรรม มีวินัย ใฝ่รู้ มีความคิด 5. บ่มเพาะเจตคติของเด็กปฐมวัยให้เคารพคุณค่าของบุคคลอื่น มีจิตวิญญาณของการอยู่ร่วมกัน ในสังคมอย่างเสมอภาค และมีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและพลโลก 6. ให้ผู้ดูแลเด็กปฐมวัยได้รับความรู้ ทักษะ และเจตคติที่ดีในการพัฒนาเด็กปฐมวัย

จากเหตุการณ์ดังกล่าว แสดงถึงความรู้ ความเข้าใจ ของครู ผู้ดูแลเด็กเหล่านั้นยังไม่เข้าใจเรื่องการอบรมเลี้ยงดูและการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัย รวมทั้งความคาดหวังของบางครอบครัวที่ไม่ถูกต้องในเรื่องการพัฒนาเด็กปฐมวัย เรายังพบว่ามีการเรียกร้องให้ครูปฐมวัย และสถานศึกษาที่เปิดสอนในระดับปฐมวัยต้องสอนให้เด็กอ่านออก เขียนได้ มากกว่าการจัดกิจกรรมการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กปฐมวัย ความเข้าใจผิดเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการทำงานของครูปฐมวัย และส่งผลต่อถึงเด็กปฐมวัยโดยตรงที่ท่านอาจมองไม่เห็น ณ.เวลานี้

เป้าหมายการพัฒนาเด็กปฐมวัย

การเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กปฐมวัยเป็นสิ่งสำคัญ ที่เราทุกคนไม่ควรมองข้าม การพยามยามให้เด็กทำบางสิ่ง หรือพยายามฝึกเด็กในบางเรื่องเมื่อเด็กยังไม่พร้อม เป็นการสร้างความเครียดและความกดดันให้กับเด็กและครู เมื่อเด็กทำไม่ได้ ผู้เรียนเกิดความรู้สึกท้อทอยต่อการเรียน มองห้องเรียน และโรงเรียนด้วยความหวาดกลัว ครูเกิดอารมณ์หงุดหงิด อาจเลยเถิดไปถึงพฤติกรรมการใช้อำนาจต่อไป

พัฒนาการของเด็กทุกคนสร้างได้ด้วยกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กได้ลงมือกระทำแล้วเกิดความสุขที่ได้ทำ หรือเราเรียกว่าการเรียนรู้ผ่านการเล่นนั้นเอง พัฒนาการทั้ง 4 ด้านของเด็กจะสามารถพัฒนาไปพร้อม ๆ กันได้แบบองค์รวม โดยที่พัฒนาทางสติปัญญาและพัฒนาการด้านร่างกาย สังคม อารมณ์ของเด็กจะทำงานอย่างมีความสัมพันธ์กัน ผ่านกระบวนการทำงานของสมอง การทำกิจกรรมการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดความสุข เด็กก็อยากเรียนรู้ สมองจะเปิดรับ และสร้างพลังงานแห่งความสุขให้เกิดขึ้นขณะกำลังทำงาน สมองเกิดกระบวนการคิด การแก้ปัญหา ส่งผลถึงพลังทางกาย และทักษะชีวิต และทักษะทางสังคม เกิดพฤติกรรมความมานะในการทำงาน และส่งผลถึงความสำเร็จในการทำสิ่งนั้น ๆ  เมื่อเด็กประสบกับความสำเร็จ สังคมรอบข้างจะยอมรับความสามารถของเขา ซึ่งจะสร้างความภูมิใจและความเชื่อมั่นในตนเองให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญขั้นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ที่สมบรูณ

เรามาช่วยกันแก้ปัญหา และปรับเปลี่ยนแนวคิด และหันมาทำในสิ่งที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย ในแนวทางเดียวกัน เรื่องต่าง ๆ และเหตุณ์การที่ร้าย ๆ ดังกล่าวจะได้หมดไปในวงการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อความวางใจของพ่อแม่ต่อไป

เอกสารอ้างอิง.

พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562

เบญจา  แสงมลิ. (2552). แก้ว 9 ประการของครูอนุบาล. ใน 70 ปีโรงเรียนสาธิตลอออุทิศ. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.