จักรกฤษณ์ สิริริน : จาก GDP ถึง GNH สู่ Well-Being Index หลบหน่อยพระเอกมา

แม้ว่า GDP (Gross Domestic Product) หรือ “ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ” จะเป็นดัชนีชี้วัดมูลค่าตลาดของสินค้าและบริการ ที่ผลิตขึ้นภายในประเทศหนึ่งๆ

โดยชาติไหนที่มี GDP เป็นบวกมากเท่าไร ก็เป็นเครื่องแสดงว่า “เศรษฐกิจประเทศนั้นดีมาก”

ประชาชนมีเงินจับจ่ายใช้สอยกันเต็มไม้เต็มมือ และนักลงทุนต่างชาติก็อยากจะเข้ามาลงทุน

แต่หากประเทศใดมี GDP ติดลบ ก็เป็นเครื่องบ่งบอกว่า “เศรษฐกิจชาตินั้นไม่ดี” เพราะหยุดชะงัก และชะลอตัว หรือไม่เป็นไปตามประมาณการ

ภาวะการจ้างงานต่ำ การลงทุนลดลง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม

ที่สำคัญก็คือ การบริโภคของประชาชนหดหาย

วิธีคำนวณ GDP นั้น ทำได้ 2 วิธี นั่นคือ การคำนวณรายจ่าย (Expenditure Approach) และการคำนวณรายได้ (Resource Cost-Income Approach)

การคำนวณ GDP ด้วย “รายจ่าย” เป็นวิธีที่พื้นฐานที่สุดในการวัด โดยมีสมการดังนี้

GDP = รายจ่ายเพื่อบริโภค + รายจ่ายเพื่อการลงทุน + รายจ่ายของรัฐบาล + รายจ่ายสุทธิของต่างประเทศผู้ซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศ

หรือ GDP = Consumption + Investment + Government Spending + (Exports-Imports)

 

ทว่าในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ได้มีการนำเสนอดัชนีชี้วัดตัวใหม่ขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง ซึ่งหลายฝ่ายได้พยายามนำมาทดแทน GDP นั่นก็คือ GNH

GNH (Gross National Happiness) หรือ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ”

GNH เป็นดัชนีชี้วัดอีกตัวหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นที่ประเทศภูฏานครับ

“ความสุขมวลรวมประชาชาติ” เป็นแนวคิดการพัฒนาประเทศ โดยอิงกับ “ความสุข” ของประชากร ไม่ใช่ “ความร่ำรวย”

กำหนดผ่าน 4 องค์ประกอบ กล่าวคือ 1) พัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน 2) การอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม 3) การรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และ 4) ธรรมาภิบาล

GNH คำนวณโดยตัวแปรย่อยทั้งสิ้น 124 ตัว จากปัจจัยจำนวน 9 ด้าน อันประกอบไปด้วย

1) สุขภาพ 2) การศึกษา 3) ความเข้าใจทางวัฒนธรรม 4) ธรรมาภิบาล 5) ความเข้มแข็งของชุมชน 6) การอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ 7) มาตรฐานการครองชีพ 8) การใช้เวลาว่าง

และที่สำคัญที่สุดก็คือ 9) ความเป็นอยู่ที่ดีในเชิงจิตวิทยา หรือ Psychological Well-Being ที่ผมจะกล่าวถึงต่อไป

โดยสูตรคำนวณ GNH มีดังนี้

GNH = 1 – (a1+a2+…+a124) / 124

เมื่อ a1, a2…a124 คือ “ค่าความสุข” ในเรื่องต่างๆ

โดยจะกำหนดให้มีค่าตั้งแต่ 0 ถึง 1 ดังนั้น ดัชนี GNH คือการ “วัดความสุข” ในด้านต่างๆ จากทั้งหมด 124 ตัวแปร

 

แต่ในขณะนี้ “หลบหน่อยพระเอกมา”

เพราะโลกของเราได้มีตัวชี้วัดใหม่ จากตัวเก่าเล่ายี่ห้อคือ GDP มาจนถึงกลางเก่ากลางใหม่หรือ GNH

นั่นก็คือ Well-Being Index

Well-Being Index หรือ “ดัชนีชี้วัดการมีสุขภาวะที่ดี” ครับ

อันประกอบไปด้วย 1) สุขภาพกาย 2) สุขภาพใจ 3) สุขภาวะทางสังคม และ 4) สิ่งแวดล้อม

Well-Being Index เป็นหนึ่งใน Nordic Model ที่คิดค้นขึ้นโดย Nordic Countries อันได้แก่ Iceland, Sweden, Norway, Denmark และ Finland

Well-Being Index ใช้ตัวชี้วัดหลักๆ 2 ด้านด้วยกัน กล่าวคือ

1) ความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจ หรือ Economic Well-Being และ 2) ความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคมของพลเมือง หรือ Social Well-Being of Citizens

Well-Being Index ประกอบขึ้นจาก “หลักความเสมอภาคของโอกาส” หรือ Equality of Opportunity อันประกอบไปด้วย

1) กระจายความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียม หรือ Equitable Distribution of Wealth และ 2) ความรับผิดชอบต่อสาธารณะ หรือ Public Responsibility

ผมเคยเขียนถึงประเด็นเดียวกันอย่างน้อย 2-3 ครั้ง ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ของเราแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น “จาก Slow Life ถึง Slowbalisation กับความแตกสลายทางชนชั้น”

หรือ “จาก Ikigai ถึง Xiaomi : เรามีชีวิตอยู่เพื่อมีชีวิต” และ “จาก Cyber Punk ถึง “ภาษีหุ่นยนต์” การประนีประนอมระหว่าง “คน” กับ “เครื่องจักร”

ทั้ง Hygge หรือ “ฮุกกะ” หลักคิดจากหนังสือ The Little Book of Hygge : The Danish Way to Live Well ของ Meik Wiking ผู้อำนวยการ “สถาบันวิจัยความสุข” แห่ง Denmark

รวมถึงแนวคิด Lagom หรือ “ลา-กอม” ของ Sweden

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทฤษฎี Universal Basic Income หรือ UBI ของ Rutger Bregman เจ้าของหนังสือ Utopia for Realists ล้วนเป็นทิศทางใหม่ทั้งนั้นครับ

 

UBI คือ “สิทธิขั้นพื้นฐาน” ของ “พลเมืองโลก” ในอนาคต ที่จะต้องมี “ปัจจัย 4” และ “รายได้” ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต “ในจำนวนเท่ากัน” ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจน

ทั้ง UBI ก็ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Hygge และ Lagom ก็ดี ล้วนเป็นก้าวย่างใหม่ ที่โลกกำลังเดินไป

ในความหมายของการหลอมรวม GDP และ GNH สู่ Well-Being Index

กล่าวคือ มี GDP เป็นพื้นฐาน และพัฒนาสู่ GNH ให้เกิดผลลัพธ์เป็น Well-Being Index ในท้ายที่สุด

โดยจุดหมายปลายทางของ Well-Being Index นั้น คือ “ความก้าวหน้าทางสังคม”

เพราะเป้าหมายของ Well-Being Index คือการนำไปสู่ Social Progress Index หรือ “ดัชนีความก้าวหน้าทางสังคม” หรือ SPI

SPI ประกอบด้วย 1) ความหลากหลายของความก้าวหน้าทางสังคม หรือ Social Progress 2) การเปรียบเทียบความสำเร็จ หรือ Bench-Marking Success และ 3) ความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ หรือ Catalyzing Greater Human Well-Being

โดย SPI จะทำการประเมินองค์ประกอบของประเทศจาก 3 มิติ ได้แก่

1) ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ หรือ Basic Human Need 2) พื้นฐานการมีชีวิต หรือ Foundations of Well-Being และ 3) โอกาส หรือ Opportunity มาคำนวณหาค่าเฉลี่ย

ผลการคำนวณจากคะแนนเต็ม 100 ปรากฏว่า Denmark มีคะแนนความก้าวหน้าทางสังคมมากที่สุดในโลก อยู่ที่ 90.57

ซึ่งหมายถึง “ประเทศซึ่งก้าวหน้าทางสังคมที่สูงมาก” หรือ Very High Social Progress

โดยคิดค่าเฉลี่ยจากสิทธิส่วนบุคคล (97.89) การเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (98.49) และความปลอดภัยส่วนบุคคล (93.75)

รองลงมาเป็น Finland ได้คะแนน 90.53 ตามมาด้วย Iceland และ Norway ครองอันดับ 3 ร่วมกันที่ 90.27 คะแนน โดยมี Sweden รั้งท้ายในอันดับที่ 8 ของโลก ที่คะแนน 89.66

 

การที่ Denmark ได้รับการประกาศให้เป็น Very High Social Progress อันดับ 1 ของโลกนี้ มีที่มาจากความโดดเด่น 2 ปัจจัย กล่าวคือ

1) การมีส่วนร่วมในความมั่งคั่ง และความเสมอภาคของประชาชน หรือ Prosperity and Equality Contribution และ 2) สุขภาพ และสวัสดิการของประชาชน หรือ Health and Well-Being Contribution

นอกจากนี้ ผลการจัดอันดับยังพบว่า “ดัชนีความก้าวหน้าทางสังคม” หรือ SPI นี้ มีความสัมพันธ์ไปในทางเดียวกันกับ GDP

เพราะโดยเฉลี่ยแล้ว ประเทศที่มี “รายได้สูง” หรือ GDP สูง ก็มักจะมี “ความก้าวหน้าทางสังคมสูง” ด้วยเช่นกัน

นำไปสู่ดัชนีชี้วัดอีกตัวหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า The Good Country Index ที่คิดค้นโดย Simon Anholt

โดย Simon Anholt ได้กล่าวว่า การที่ Denmark ได้รับการจัดอันดับสูงที่สุดนี้ ถือเป็นตัวอย่างอันดีสำหรับประเทศอื่นๆ

“แสดงให้เห็นว่า การดำเนินกิจการต่างๆ นั้น แม้จะดูเหมือนว่ารัฐทำเพื่อประชาชนในชาติตน ทว่า Denmark ยังได้มองไปถึงผลประโยชน์ของมวลมนุษยชาติอีกด้วย” Simon Anholt กระชุ่น

“ไม่ว่าจะเป็นด้านประชากร หรือด้านทรัพยากรธรรมชาติของโลก” Simon Anholt กล่าว และว่า

“โดยส่วนตัว ผมถือเป็นนิมิตหมายอันดี ว่าดัชนีชี้วัดใหม่ๆ เหล่านี้ จะได้รับการพัฒนาขึ้นไปเป็นกฎแห่งการอยู่รอดของมวลมนุษยชาติได้ต่อไปในอนาคต” Simon Anholt ทิ้งท้าย