เรื่องสั้นวันแม่/ปริญญา ตรีน้อยใส : สายฝนบนแผ่นดินรัก

สายฝนบนแผ่นดินรัก

ปริญญา ตรีน้อยใส

1.
คริสเตียง : ดูอาคารหลังนั้นสิ
ซอญญา : ไหน
คริสเตียง : ข้างขวามือไง
ซอญญา : งั้นแวะเข้าไปดูกัน
สมหญิง : พี่คะ ช่วยแวะตรงนี้ด้วยค่ะ
สมชาย : ได้ครับ แต่ต้องไปเลี้ยวข้างหน้า ตรงทางเข้า
สมหญิง : พี่รู้จักไหม
สมชาย : ไม่ครับ แต่ จีพีเอสบอกว่า ศาลาราชการุณย์
สมหญิง : ศาลา อะไรนะคะ
สมชาย : ศูนย์สภากาชาดไทย น่ะครับ
สมหญิง : งั้น ใช่แล้วล่ะ ถ้าเป็นศูนย์กาชาด
ซอญญา : ใช่ ใช่แล้ว ที่นี่แหละ
คริสเตียง : ในที่สุด ก็มาถึงจนได้
คริสเตียง ชายสูงวัย ที่ผมสีทองบนศีรษะเหลืออยู่ไม่มาก แสดงอาการดีใจ เมื่อรู้ว่า
การเดินทางอันยาวนานหลายชั่วโมง จะสิ้นสุดลง ด้วยถึงจุดหมายที่ต้องการ
ถ้าไม่ใช่เพราะ ซอญญา หญิงสาวผมดำที่มาด้วยกันขอไว้ เขาคงเลือกแวะพักที่พัทยา หรือไม่ก็บ้านเพ ไม่จำเป็นต้องดั้นด้นมาไกลถึงตราด เมืองที่ไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่เมื่อ
หญิงสาวสัญญาว่า ถ้าไม่พบสถานที่แห่งนี้ ก็จะยอมย้อนกลับไปลงเรือที่ตัวเมือง ไปพักผ่อน
ที่เกาะช้าง ตามคำแนะนำของเพื่อนว่า บนเกาะยังสวย สงบ และยังเป็นธรรมชาติมาก
ทั้งสี่คนในรถ คือ เขา หญิงสาวผมดำสองคน ซอญญาและสมหญิง และสมชายคนขับรถ
ออกจากกรุงเทพฯแต่เช้า แวะพักทานอาหารกลางวัน และดื่มกาแฟที่ตลาด ก่อนออกเดินทางจากตัวเมือง พร้อมกับฝนที่โปรยปรายลงมา ทำให้ชายหนุ่มคนขับรถไม่กล้าขับเร็ว ซึ่งเป็น
ที่ถูกใจของหญิงสาวทั้งสอง ที่กำลังช่วยกันหาสถานที่แห่งหนึ่ง สถานที่ที่อยู่ในความทรงจำ
ของหญิงสาวผมดำ ที่กำลังเดินทางย้อนอดีต หาสถานที่แห่งหนึ่งที่เคยเยือน เมื่อสี่สิบปีก่อน
ระหว่างทาง ชายหนุ่มผมทองเริ่มออกอาการ เพราะเบื่อที่รถวิ่งช้า ไปไม่ถึงไหนสักที
เลยช่วยสอดส่ายสำรวจสองข้างทาง และชี้ไปยังตัวอาคารมาแล้วหลายหลัง แต่ซอญญา
หญิงสาวที่มาด้วยกัน คอยปฏิเสธว่า ไม่ใช่ จนกระทั่งเหลืออีกไม่กี่กิโลเมตร ก็จะถึงคลองใหญ่ สุดชายแดนไทยแล้ว
นี่ถ้าไม่ใช่ เพราะความต้องการของหญิงสาวที่เขารัก เขาคงไม่ยอมเสียเวลาทำอะไร
แบบนี้แน่นอน
เมื่อสมชายขับรถพาผู้ร่วมทางอีกสามคน ไปถึงหน้าอาคาร ที่ตั้งอยู่ไม่ห่างจากทางหลวง
ตัวอาคารนั้น อยู่ท่ามกลางหมู่ไม้ใหญ่นานาพันธุ์ บรรยากาศจึงดูร่มรื่น เมื่อรวมกับฝนที่ตกพรำๆ อากาศจึงเย็นสบาย ทำให้ทุกคนหายเหนื่อยล้า และรู้สึกสดชื่นขึ้นมาทันที
คริสเตียง : อาคารหลังนี้น่าสนใจ
ซอญญา : ใช่ น่าสนใจมาก
เมื่อชายหนุ่มผมทองกล่าวถึง อาคารที่อยู่เบื้องหน้าว่าน่าสนใจ หญิงสาวผมดำคู่ชีวิต นอกจากจะเห็นด้วยแล้ว ยังรู้สึกว่า น่าจะมีอะไรบางอย่างพิเศษ เพราะตั้งแต่ยังอยู่ในรถยนต์บนทางหลวง ก่อนจะเลี้ยวเข้ามานั้น เธอรู้สึกว่า อาคารหลังเล็กๆ นี้ แม้จะเรียบง่าย แต่ก็ดูมั่นคง ดูคล้ายเป็นฐานที่มั่น ด้วยมีเนินหญ้าคลุมทั้งสองด้าน แนวกำแพงสีขาว ที่ทอดยาวไปตามเนินดิน นอกจากโอบล้อมลานโล่งด้านหน้า ยังช่วยนำสายตาไปยังทางเข้าอาคาร ที่เป็น
ซุ้มปูนสูงใหญ่ให้เห็นได้ชัดเจนจากไกล ในขณะที่ประตู กลับมีขนาดเล็ก เสมือนซอกหลืบ
พรางสายตาไม่ให้รู้ว่าเป็นทางเข้า
สภาพดังกล่าว ทำให้หญิงสาวหวนคิด นึกถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้ว
ตอนที่เธอและเพื่อนร่วมชาติอีกหลายหมื่นหลายแสนคน เดินทางรอนแรมหนีภัยเขมรแดง
มายังชายฝั่งทะเลในไทย โดยหวังว่าจะมีเรือพาออกไปกลางทะเล ไปสู่ดินแดนอื่นที่ปลอดภัย
ตลอดเส้นทางการเดินทางหลายวันนั้น ผู้คนร่วมชาติจากทั่วสารทิศ ทุกเพศ ทุกวัย
ล้วนอยู่ในอาการหวาดผวา กลัวเขมรแดงจะมาพบและจับไปคุมขัง เธอและเพื่อนร่วมทาง
จึงเลือกที่จะเดินทางเฉพาะเวลากลางคืน ส่วนกลางวัน จะเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนต้องหา
ที่หลบซ่อน และนอนหลับพักร่างกาย
เธอจำได้ว่า เมื่อถึงเนินเขาสุดท้าย ที่ทุกคนมองเห็นทะเลเบื้องหน้า ต่างรู้ว่า การเดินทางนั้นสิ้นสุดลง ด้วยถึงจุดหมายที่ทุกคนมุ่งหวัง ความทุกข์ยากและความหวาดหวั่น สิ้นสุดลง
ด้วยความหวังที่จะมีชีวิตรอดปลอดภัย

ขณะที่ เธอมองผ่านประตูทางเข้า ที่สองข้างเป็นผนังทึบตันนั้น เธอเห็นแสงรำไร
ยิ่งทำให้นึกถึงอดีตที่ผ่านมา ด้วยแสงเรื่อๆ ที่ส่องประกายยามรุ่งอรุณ สร้างขวัญและเสริมใจให้กับผู้ที่เดินทางด้วยความยากลำบากมาทั้งคืน ในขณะที่แสงสลัวๆ ยามอัสดง กลับเป็น
แสงแห่งความหวัง เมื่อทุกคนจะเริ่มต้นเดินทาง
พอเดินผ่านประตูทางเข้า ทุกคนจึงเห็นว่า ความแวววาวนั้น มาจากแผ่นโลหะวงกลม
สีทอง ส่วนแสงนั้น มาจากช่องเปิดด้านบน ทำให้เธอย้อนคิดถึงดวงจันทร์ที่ให้ความสว่างระหว่างการเดินทางยามค่ำคืน ในขณะที่ดวงอาทิตย์จะเป็นเข็มทิศนำทาง สู่ชายแดนไทย
ที่อยู่ทางทิศตะวันตก ดังนั้นแม้ปราศจากแผนที่ ปราศจากคนนำทาง แต่ทุกคนรู้ว่าจะต้อง
เดินไปทางใด
เมื่อซอญญา เดินเข้าใกล้แผ่นวงกลมสีทองที่ติดไว้บนผนัง เธอจึงรู้ว่าเป็นภาพปั้นนูนต่ำผู้หญิง ที่เธอจำได้ทันทีว่า คือพระราชินีของคนไทย ผู้ให้อาหารแก่ผู้อดอยากและโหยหิว
ผู้เยียวยาดูแลผู้ป่วยไข้ ผู้ให้ที่พักพิงผู้คนไร้ที่พึ่ง ยามบ้านเมืองแตกสลาย ผู้ต่อชีวิตให้กับ
คนสิ้นหวัง และผู้ที่คุ้มครองเธอและคนพลัดถิ่นอีกกว่าสองแสนคน ให้รอดพ้นจากทุกข์ภัย
ทั้งปวง
ขณะที่คริสเตียงและซอญญา เคียงคู่เดินตามทางที่กำหนดไว้ ชมภาพจำลองเหตุการณ์
ที่เกิดขึ้น ในค่ายผู้ลี้ภัยเขาล้าน ภาพเขียนและภาพปั้นของผู้คน สื่อให้เห็นความยากลำบาก ความสิ้นหวัง และความทุกข์ สภาพของคนที่ยอมรับในโชคชะตา และรู้ว่า เคราะห์กรรม
ได้นำพามาซึ่งความเลวร้ายทั้งปวง
จนชายหนุ่มผมทอง เอ่ยปาก ด้วยความรู้สึกเศร้ากับเรื่องราวต่างๆ ว่า
ทำไมชีวิตคนเรา ต้องเป็นแบบนี้
หญิงสาวผมดำ ไม่ได้ตอบกลับแต่อย่างใด เพราะไม่อยากบอกว่า ภาพจำลองทั้งหมด
ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง และไม่ได้เลวร้ายเท่าที่เธอและคนอื่นๆ ประสบมา สิ่งที่เกิดขึ้นจริงนั้น เกินคำใดๆ หรือภาพใดๆ ทั้งปวง
เริ่มต้นตั้งแต่ ฝนที่ตกพรำ ในเช้าวันที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติเขมรประกาศผลว่า
เธอสอบผ่านได้เข้าเรียนในคณะแพทยศาสตร์ พ่อและแม่ดูจะดีใจมากกว่าตัวเธอ พอรู้ข่าว
แม่ก็ออกไปประกาศให้เพื่อนข้างบ้าน เพื่อนร่วมงานที่กระทรวง และเพื่อนฝูงทราบเรื่องนี้
ส่วนพ่อ แม้ไม่พูดคุยให้ใครฟัง แต่เธอก็รู้ได้ เพราะพ่อดูจะมีอารมณ์ดีเป็นพิเศษ ออกปากชวน
ไปทานอาหารจีนที่ภัตตาคาร

ในเวลานั้น พนมเปญยังเต็มไปด้วยสีสันและคึกคัก รถราบนถนนวิ่งไปมาหนาแน่น
ร้านค้ามีคนซื้อขายกันทั้งวัน แม้แต่ภัตตาคารที่พ่อพามาเลี้ยงฉลอง ก็เต็มไปด้วยผู้คน
อาหารที่รับประทานก็ครบ ทั้ง หมู ไก่ ปลา อาหารทะเล อาหารทุกจาน รสชาติดี สวยงาม
และปริมาณมากมาย
เช่นเดียวกับ บ้านเมืองในเวลานั้น นอกจากชาวพนมเปญแล้ว ยังมีชาวบ้านจากต่างจังหวัด และชาวต่างชาติ โดยเฉพาะทหารอเมริกัน อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สังสรรค์
และบันเทิงกันเต็มที่ โดยไม่รู้ว่าอีกไม่นาน ทุกอย่างจะแปรเปลี่ยนไป
พอเธอเริ่มเข้าเรียน เพื่อนนักศึกษามหาวิทยาลัยเดียวกัน เริ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เรื่องคอรัปชั่น เรื่องทหารอเมริกันและเรื่องอื่นๆ ในขณะที่เธอและชาวบ้านทั่วไป
ไม่ค่อยได้สนใจ เช่นเดียวกับธุรกิจการค้าก็ยังคงดำเนินไปเหมือนเดิม
ในเวลานั้น พรรคปฏิวัติประชาชนเขมร ที่นำโดยพอลพต อดีตนักศึกษาหนุ่มจากกำปงธม เพิ่งสำเร็จการศึกษาทางด้านเทคนิคไฟฟ้า จากฝรั่งเศส เริ่มได้รับความนิยมจากชาวบ้าน
เพราะกล้าออกมาเปิดเผยความเลวร้ายของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องคน
ในครอบครัวของนายกรัฐมนตรี ทำธุรกิจผิดกฎหมายมากมาย
ทุกคนเหมือนจะรู้ว่า พอลพต ได้รับการสนับสนุนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและโซเวียต
ในการโค่นล้มรัฐบาลนายพลลองนอล ที่กองทัพสหรัฐอเมริกาสนับสนุน แต่ก็มิได้เฉลียวใจว่า
ยังมีพันธมิตรสำคัญคือ คอมมิวนิสต์เวียดนามและลาว ในขณะที่ชาวบ้านตามชายแดนเวียดนามและลาว ที่มีฐานะยากจน และถูกข้าราชการในท้องที่ข่มเหง เริ่มเข้าร่วมสนับสนุน
เมื่อรวมกับความแตกต่างระหว่างชนบทกับเมือง โดยเฉพาะเมืองหลวงอย่างพนมเปญ
ในเวลานั้น ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล เชื่อความคำโฆษณาของพวกเขมรแดงว่า คนเมือง สูบเลือดจากคนชนบท
สถานการณ์ค่อยๆ แปรเปลี่ยน พร้อมๆ กับกองกำลังเขมรแดงค่อยๆ รุกคืบเข้าสู่
เมืองหลวง ประกอบกับเศรษฐกิจในตอนนั้น เริ่มติดขัด เมื่อสภาครองเกสสหรัฐอเมริกา
ลงมติลดงบประมาณช่วยเหลือ และลดกำลังทหารอเมริกันในเขมร เพื่อเอาใจคนอเมริกัน
ที่สูญเสียบุตรหลานในสงครามเวียดนาม
เธอจำได้ดีว่า ประมาณปี พ.ศ. 2518 หลังจากเธอผ่านการสอบประจำภาค กองทัพ
เขมรแดง ก็ล้มรัฐบาลนายพลลองนอลสำเร็จ นอกจากทหารอเมริกันแล้ว บรรดาเศรษฐีนายทหาร ข้าราชการชั้นใหญ่ พ่อค้าคหบดี ต่างหอบสมบัติไปกรุงเทพฯ สิงคโปร์ หรือฮ่องกง

เพื่อเดินทางต่อไปยังสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือออสเตรเลีย ซึ่งในจำนวนนั้น รวมพ่อกับแม่
ที่อาศัยโอกาสไปราชการประเทศฝรั่งเศส ได้ขอลี้ภัยอยู่ที่นั่นเป็นการถาวร
พ่อคงจะรู้สถานการณ์บ้านเมือง และคาดการณ์ไว้แล้ว จึงชวนแม่ เธอ และน้องชาย
ไปฝรั่งเศสพร้อมกัน ซันนี่ หรือ สรรชัย น้องชาย เรียนจบชั้นมัธยมปลาย และตั้งใจจะไปเรียนต่อฝรั่งเศสพอดี ในขณะที่เธอขออยู่รอให้สอบเสร็จ แล้วจะตามไปสมทบที่ปารีสภายหลัง
นอกจากเธอจะไม่ได้ไปฝรั่งเศสแล้ว เธอยังต้องออกจากบ้าน ไปแอบหลบซ่อนตามหอพักบ้าง บ้านเพื่อนบ้าง เพราะเขมรแดงเข้ากวาดต้อนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย โดยกล่าวโทษว่า เป็นพวกนิยมตะวันตก แบบเดียวกับที่จับพ่อค้า โดยกล่าวโทษว่า ค้ากำไรเกินควร
ไล่ล่าข้าราชการ โดยกล่าวโทษว่า ฉ้อราษฎร์บังหลวง และขังฆ่าทหาร โดยกล่าวโทษว่า
เป็นศัตรูที่เคยสู้รบกันมา
สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น เมื่อนายพอลพต ประกาศแผนปฏิรูปประเทศ กำหนดเป้าหมายว่า ประชากรเขมรที่ในเวลานั้น ทั่วประเทศมีอยู่ไม่ถึงห้าล้านคน หากลดจำนวนลงเหลือครึ่งหนึ่ง ก็จะสมดุลกับสภาพพื้นที่ และกำลังการผลิตของประเทศ โดยผู้คนส่วนใหญ่
ที่อยู่ในชนบท จะต้องทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง ไม่พึ่งพาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ
เพื่อแก้ปัญหาดุลการค้า และปัญหาเศรษฐกิจ และประกาศให้ประชาชนทุกคน ออกจาก
เมืองหลวงไปอยู่ในชนบท ให้ไปปรับทัศนคติสำหรับสังคมยุคใหม่ โดยวางแผนให้ นครหลวงพนมเปญร้างผู้คนระยะหนึ่ง ก่อนที่จะคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมเท่านั้น ให้กลับมาพำนักต่อได้
พอเข้าฤดูฝนในปีนั้น เพื่อนของซอญญาสืบทราบมาว่า รัฐบาลเริ่มกวาดต้อนผู้คน โดยเฉพาะคนหนุ่มคนสาว ให้ออกไปชนบท ไปเพิ่มผลผลิตข้าวสำหรับส่งออกไปเวียดนาม เพื่อนที่มาจากเกาะกง จึงชวนเธอหนีออกจากพนมเปญ กลับไปหาครอบครัว และคิดไว้ล่วงหน้าว่า หากมีปัญหาอะไร ก็จะเดินทางต่อไปจนถึงชายแดนไทย ไปลงเรือรับจ้าง
ไปยังประเทศอื่นต่อไป
เธอจำได้ดีว่า ค่ำที่เธอและเพื่อนออกเดินทางจากพนมเปญ ฟ้าดินดูจะร่ำไห้ไปกับเธอ ฝนตกพรำๆ ยังช่วยกลบน้ำตาของเธอ ที่กำลังโศกเศร้าว้าเหว่ ด้วยในเวลานั้น เหลือแต่เธอ
ผู้เดียว
แม้จะรู้จุดหมาย แต่ก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แม้จะมีความหวัง แต่ก็ไม่รู้ว่า
จะมีโอกาสเจอพ่อแม่และน้องชายอีกไหม

2.
รณชัย : โทษ ขอโทษครับ ผมไม่ทันมองครับ
ซอญญา : เหมือนกันค่ะ กำลังสนใจสิ่งที่เขาจัดแสดง
รณชัย : ผมกำลังตรวจดูฝ้าเพดาน
เอ้อ ขอโทษนะครับ
ขอโทษจริงๆ ครับ ไม่ได้แก้ตัวนะครับ
ขณะที่ซอญญา กำลังจมดิ่งอยู่ในเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตัวเองในอดีต จึงไม่ทันสังเกตว่า
มีชายหนุ่มเดินตรงเข้าหา
เช่นเดียวกับรณชัย ที่มัวแต่เงยหน้ามองหารอยรั่วบนฝ้าเพดาน จึงไม่ทันเห็นหญิงสาว
ที่ยืนอยู่ข้างหน้า
ระหว่างที่กล่าวขอโทษ รณชัยเริ่มสังเกตเห็นหญิงสาว ที่เขาเดินชนว่า คล้ายกับหญิงสาวอีกคนหนึ่ง ที่รู้จักคุ้นเคยเมื่อหลายสิบปีก่อน เพียงแต่ว่า ผมที่ไม่ดำสนิท หากมีสีเทาประปราย
ยังสั้นและดัดเป็นลอน แต่ทว่าดวงตา จมูก และริมฝีปาก ยังคงภาพเดิม ต่างกันแค่ว่า ดวงตา
หญิงคนนั้น มีแววเศร้า ทุกข์ และหวาดกลัว ต่างไปจากดวงตาหญิงคนนี้ มีประกาย สุข และแกร่งกล้า
เช่นเดียวกับหญิงสาว ที่เริ่มฉุกคิดขึ้นมาว่า ชายหนุ่มที่อยู่ตรงหน้า คล้ายกับชายหนุ่ม
อีกคนหนึ่ง ที่เคยรู้จัก คุ้นเคย เมื่อนานมาแล้ว เพียงแต่ว่า ผิวพรรณเหี่ยวย่นตามวัย
เพียงแต่ว่า สีผมเปลี่ยนไป แต่ทว่าดวงตา ยังสดใส และเป็นมิตรเหมือนเดิม
รณชัย : มาจากกรุงเทพฯ ใช่ไหมครับ
ซอญญา : ไม่ค่ะ มาจากเมืองฮวง ฝรั่งเศส ค่ะ
รณชัย : ทำไมพูดไทยได้
ซอญญา : เคยพูดได้ดีกว่านี้ค่ะ ตอนนี้ลืมไปบ้างแล้ว
รณชัย : ไม่ครับ ชัดเจนดีครับ
ซอญญา : หรือคะ
เห็นน้องที่มาด้วยบ่นว่า เขาไม่ค่อยเข้าใจที่ซอญญาพูด

รณชัย : โทษครับ ไม่ได้แนะนำตัว
ผมเป็นสถาปนิกมาจากกรุงเทพฯ
ทางกาชาด ขอให้มาดูว่ามีปัญหาหลังคารั่ว น้ำฝนไหลเข้ามาในอาคาร
ผมเลยมัวแต่ดูเพดานจริงๆ
ตอนเข้ามา ก็ยังไม่เห็นใคร เลยไม่ระวังครับ
ขอโทษด้วยครับ
คำว่า สถาปนิก ยิ่งทำให้หญิงสาวมั่นใจว่า ชายหนุ่มที่เดินชน ต้องเป็นคนที่เธอเคยรู้จักแน่นอน
ซอญญา : ชะ ชัย ใช่ไหม
รณชัย : คะ ครับ ครับผม
อัป อับปะ อัปสร ใช่ไหม
อัปสร : ค่ะ ยังจำชื่อได้หรือ นานแล้วนะ
รณชัย : จะนานแค่ไหน ก็ยังจำได้
อัปสร : จำได้ แล้วทำไมไม่ทัก
รณชัย : ตอนแรกไม่แน่ใจ ไม่กล้าทัก กลัวผิดคน
อัปสร : จริงนะ ตั้งสี่สิบปีมาแล้ว
ตัว สร ก็เปลี่ยนไปเป็นยายแก่
ชัยจำได้ก็เก่งแล้ว
รณชัย : ไม่ ไม่จริง สรยังไม่แก่ครับ
อัปสร : ปากหวานเหมือนเดิมเลยนะ
รณชัย : ก็ …..
หญิงสาวยิ้มด้วยความพอใจ คำชมของชายหนุ่ม ทำให้นึกถึงคืนวันหวานที่ผ่านมา
บทสนทนาสั้นๆ ยังนำไปสู่เรื่องยาวในอดีต ที่ทั้งชายหญิงต่างระลึกถึง ช่วงเวลาที่ชายหนุ่ม
มารับงานเป็นสถาปนิก ปรับปรุงศูนย์ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเขาล้าน
ในตอนแรกที่ซอญญาเดินทางมาถึงนั้น ศูนย์ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ยังมีแค่เต็นท์ทหาร
ที่ตั้งแถวเรียงรายตามพื้นที่ ที่ยังไม่ได้ปรับแต่อย่างใด พอหน้าดินโดนฝน ก็แปรสภาพเป็นโคลน
พอน้ำฝนที่ไม่มีทางระบาย รวมกับเศษอาหาร ก็สกปรกเน่าเหม็น คนที่อ่อนล้า พอมาถึงศูนย์ฯ ก็เริ่มเจ็บป่วย คนบาดเจ็บมาแล้ว ก็เลยทรุดหนัก คนที่มีสภาพย่ำแย่ ก็อยู่ได้ไม่นาน

ยิ่งคนไหนไม่มีญาติพี่น้องมาด้วย อาจนอนตายอยู่ในเต็นท์เป็นวันๆ ก่อนที่จะมีคนมาเจอ
ยิ่งตอนแรก ยังไม่ทันสร้างส้วมชั่วคราว ชาวบ้านมักง่าย ถ่ายไปทั่ว เชื้อโรคเลยกระจาย
ผู้คนเลยล้มป่วยกันทั่วหน้า
อัปสร ยังจำได้ถึงวันที่เธอ เพื่อน และชาวบ้าน ที่ร่วมชะตากรรมเดินทางมานานหลายวัน
ภาพหาดทรายและทะเลที่อยู่ด้านล่างไกลออกไป ทำให้ทุกคนดีใจ เมื่อรู้ว่าเดินทางถึงจุดหมายชายแดนไทยแล้ว แต่ทุกคนต่างรีบทรุดตัวลงทันที เมื่อมีทหารหนุ่มสองนาย ถือปืนเดินเข้ามา
แต่ด้วยสภาพย่ำแย่ของคนที่รอนแรมมากว่าอาทิตย์ ทำให้ทหารทั้งสองนายรู้สถานการณ์ ว่าไม่อันตราย ไม่มีใครพร้อมจะต่อสู้ จึงแค่ส่งเสียงให้ทุกคนมารวมกัน ก่อนที่จะจัดแถว
เดินเรียงหนึ่ง ไปตามทางจนถึงทางหลวง ที่มีฐานทหารรักษาการตั้งอยู่
เมื่อไปถึง อัปสร พบว่ายังมีเพื่อนร่วมชาติอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ทุกคนมีสภาพคล้ายกัน
นั่งรวมกลุ่มกันใต้ต้นไม้ มีทหารยืนคุมอยู่ แต่ก็คอยส่งกระติกน้ำให้ดื่มกินด้วยความห่วงใย
น้ำในกระติก คงเป็นน้ำทิพย์ ที่สามารถชโลมร่างกายที่อ่อนแรง และประพรมจิตใจ
ที่หวาดกลัว จนทุกคนมีสีหน้าดีขึ้น โดยเฉพาะเด็กเล็กเลิกร้องไห้งอแง
หลังจากมีเสียงวิทยุดังขึ้น ทหารหนุ่มจึงให้ทุกคนเข้าแถวเรียงหนึ่งอีกครั้ง และเดิน
ตามทางริมทางหลวง โดยมีจุดหมายอยู่ที่ธงกาชาดสีขาวพร้อมกากบาทสีแดง ที่เห็นได้แต่ไกล เธอมารู้ภายหลังว่า ธงกาชาด ทำให้พื้นที่ปลอดการโจมตีของเขมรแดง ที่ตั้งฐานบนสันเขา
ตรงชายแดน
เมื่อทุกคนเดินทางถึงศูนย์ผู้ลี้ภัย อัปสรพบว่า นอกจากพวกที่รอนแรมมาพร้อมกันแล้ว ยังมีอีกหลายหมื่นคนที่เดินทางมาถึงก่อนหน้า และอีกหลายหมื่นคนที่เดินทางมาสมทบภายหลัง
หญิงสาวจำได้ดีว่า ตัวเลขของเพื่อนร่วมชาติ ที่ประสบเคราะห์กรรมเดียวกันในครั้งนั้น
มีจำนวนมากที่สุดถึงสองแสนคน ก่อนที่จะมีญาติพี่น้องมารับออกไป หรือได้รับสิทธิ์เป็นผู้ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ

3.
อัปสร ยังจำเรื่องตื่นเต้นที่เกิดขึ้น สองวันหลังจากที่มาอยู่ที่ศูนย์ฯ เช้าวันนั้น
เธอสังเกตเห็นว่า มีทหารเข้ามาที่ศูนย์ฯ เพิ่มจำนวนมากขึ้น มีนายทหารเข้ามาสั่งการ ปรับ
เก็บขยะ และทำความสะอาด แต่ด้วยพื้นที่กว้างและเวลาคงไม่มาก เขาจึงสั่งกั้นเชือกแยกเขต แบ่งส่วนเท่าที่พอจะทำได้
พอบ่าย ทั้งทหาร ข้าราชการ ยิ่งมากันมากขึ้น รวมทั้งมีชาวบ้านคนไทยมากัน
หลายร้อยคน
อัปสรและเพื่อน ที่มีสภาพแข็งแรง พอเดินเหินได้บ้าง จึงถูกเกณฑ์ให้ข้ามแนวเชือก
ไปนั่งรวมกับคนอื่นๆ ตั้งแต่บ่าย เพื่อนของเธอแอบไปสอบถามทหาร ได้ความว่า พระราชินีและเจ้าฟ้าชายของคนไทย จะเสด็จมาเยี่ยมศูนย์ฯ ในตอนก่อนค่ำ
ฝนที่ตกหนักในช่วงเช้า ดูจะช่วยให้อากาศที่ร้อนอบอ้าว เย็นสบายขึ้น พอบ่าย
ฝนที่ตกหนัก ก็เบาลง กลายเป็นฝนพรำ และหยุดหายไปเมื่อมีเสียงเฮลิคอปเตอร์ดังมาแต่ไกล
และค่อยๆ บินตรงมาลงตรงสนามหญ้าริมชายหาด
ทันทีที่เครื่องจอดสนิท อัปสรเห็นสาวสวยคนหนึ่ง สวมชุดเสื้อกางเกงสีครีมและหมวกฟาง
ก้าวออกจากเครื่อง เดินตรงมาที่พวกเธอนั่งแถวรอ โดยมีชายหนุ่มร่างสูงโปร่ง สวมชุดทหาร
สีเขียวลายพรางเดินนำ คอยระแวดระวังอยู่ไม่ห่าง
บรรดาทหาร ข้าราชการ ต่างแสดงความเคารพ คนไทยต่างส่งเสียงทรงพระเจริญ
ในขณะที่ชาวบ้านต่างพึมพำเบา ด้วยตื่นเต้นเสมือนว่า มีนางฟ้าจากสวรรค์ ลงมาเยี่ยมเยือนโลกมนุษย์ มีแต่อัปสรที่รู้ดีว่า นางฟ้าของเธอในวันนั้น คือพระราชินี ส่วนทหารหนุ่มคนนั้น คือ เจ้าฟ้าชาย ผู้เป็นมิ่งขวัญของคนไทย
นางฟ้าเดินทักทายเพื่อนร่วมค่ายผู้ลี้ภัยฯ ทุกคนต่างก้มกราบเหมือนกราบพระ
มีอยู่ตอนหนึ่ง นางฟ้าหันไปคุยกับทหารที่ติดตามมา ดูเหมือนว่าจะมีข้อโต้แย้ง เพราะเธอ
ได้ยินบางคำว่า อันตราย ไม่ปลอดภัย แต่ในที่สุด นางฟ้าและเจ้าชายก็เดินข้ามแนวเชือก
ไปอีกฝั่ง ฝั่งที่เป็นที่ตั้งของเต็นท์ที่พักของพวกเธอ ทำให้เกิดความโกลาหล เพราะไม่ได้อยู่
ในแผนที่เตรียมการเอาไว้
เธอจำได้ว่า ทั้งขบวนหายไปนาน กว่าจะย้อนกลับมาขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ก่อนที่นางฟ้า
จะจากไป เธอเห็นนางฟ้าพูดคุยกับทหาร ตำรวจ และข้าราชการอยู่นาน ที่เธอมารู้ภายหลังว่า พระราชินีของคนไทย มีพระราชเสาวนีย์สั่งการ พร้อมกำชับว่า จะกลับมาดูผลงานอีกครั้ง
หลังจากวันนั้น ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายภายในศูนย์ฯ มีการสร้างโรงเรือนไม้ไผ่ขนาดใหญ่ขึ้นมาหลายหลัง เพื่อใช้เป็นโรงพยาบาล ศูนย์อำนวยการ และโรงเรียน ส่วนเต็นท์
ที่พักทั้งหมดถูกโยกย้ายไปยังที่เนิน ตั้งตรงเป็นแถวแนว รวมทั้ง มีเต็นท์ห้องน้ำอยู่เป็นระยะ มีจุดทิ้งขยะที่มีทหารจะมาขนไปทิ้งทุกวัน มีการขุดร่องน้ำให้น้ำระบายออกนอกพื้นที่ รวมทั้งสิ่งที่ทำให้ทุกคนปลื้มปิติ ยิ่งนัก คือ พระราชินีฯ ได้พระราชทานพระพุทธรูปองค์ใหญ่สีแดง
ให้พวกเธอและผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ได้กราบไหว้บูชา
นับแต่นั้นมา หลวงพ่อแดงองค์นี้ ได้คุ้มครองดูแลผู้คนในศูนย์ฯ ให้อยู่รอดปลอดภัย
และมีความสุข บรรดาเพื่อนร่วมชาติที่ลี้ภัยมาด้วยกันนั้น เมื่อความเป็นอยู่ดีขึ้น ร่างกายที่
บอบช้ำจากการเดินทางหนีตายก็ฟื้นตัว สำหรับอัปสร เมื่อผู้ดูแลรู้ว่า เธอและเพื่อนเรียนแพทย์มา จึงขอให้ช่วยงานร่วมกับคณะแพทย์ของสภากาชาดไทย คอยรักษาผู้เจ็บป่วย ดูแลสุขอนามัย โดยเฉพาะการพูดคุยสื่อสารกับคนชาติเดียวกัน
แม้ว่า ภาระของเธอและเพื่อนจะหนักหนา ตามจำนวนและสภาพผู้ลี้ภัย แต่ก็มีส่วนร่วม
ให้วันเวลาผ่านไปเร็ว จนไม่มีเวลานึกถึงเรื่องเลวร้ายที่ผ่านมา รวมทั้งเรื่องของความหวัง
ที่จะเกิดขึ้นต่อไป
แม้ว่าร่างกายอัปสรจะแข็งแรง แต่จิตใจก็ยังเศร้าหมอง เมื่อคิดถึงเรื่องต่างๆ รวมทั้ง
ข่าวคราว ที่ได้ยินจากผู้ที่เพิ่งเดินทางมาถึง เธอจำได้ว่า เธอไม่เคยมีความสุข หรือแม้แต่จะยิ้มเลยสักครั้ง ในหลายอาทิตย์ที่ผ่านมา
จนกระทั่งวันหนึ่ง ขณะที่เธอเร่งรีบจะไปศูนย์อำนวยการ เพื่อขอรับเวชภัณฑ์ ข้าวของ
ไว้ไปใช้ในโรงพยาบาล ก็มีชายหนุ่มเดินเข้ามาชน จนเธอล้ม ข้าวของตกกระจาย
รณชัย : ขะ ขอโทษครับ
อัปสร : ไม่รู้จักดูทาง มัวแต่ก้มหาอะไรรึ
รณชัย : คะ ครับ ผมกำลังก้มหาหมุดที่ปักไว้น่ะครับ
ขอโทษจริงๆ ครับ ผมไม่ได้แก้ตัวนะ
ผมยอมรับผิด
อัปสร : อือ รู้จักรับผิดก็ดี แต่ก็ต้องระวังบ้าง
รณชัย : ครับ คุณหมอ แล้วคุณหมอเป็นอะไรไหมครับ
อัปสร : ทำไม คุณเป็นหมอเหรอ จะมาดูแล
ประโยคสุดท้ายนี้ ทำให้ชายหนุ่มออกอาการเขิน และอมยิ้มในความร้ายกาจของเธอ
ที่ยังต่อว่าทั้งๆ ที่เขาขอโทษไปแล้ว
รณชัย : ผมไม่ใช่หมอคน แต่เป็นหมอบ้าน
จริงๆ คงช่วยอะไรหมอ ไม่ได้ครับ
เพียงแต่อยากทำอะไรชดเชย ที่ทำให้หมอล้มน่ะครับ
เอาเป็นว่า ผมช่วยถือของและเดินไปส่งคุณหมอ
จะคอยดูว่ามีอะไรหรือใคร ขวางทางอีกหรือเปล่า
เป็นครั้งแรกที่หญิงสาวรู้สึกแช่มชื่น ด้วยมีชายหนุ่มพูดคุยด้วย ด้วยน้ำเสียงที่ห่วงใย ต่างไปจากเสียงอื่นที่ได้ยินในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา เธอรู้สึกว่า ระยะทางไปถึงโรงพยาบาล เพียงไม่กี่สิบเมตร ก็ช่วยให้จิตใจดีขึ้นอย่างมาก
อัปสร : ขอบคุณค่ะ ถึงแล้วค่ะ
รณชัย : ไม่เป็นไรครับ ยกโทษให้ผมด้วยนะครับ
อัปสร : อ้อ ที่ว่าเป็นหมอบ้านนั้น รักษาอะไรเหรอ
รณชัย : โทษทีผมเล่นคำน่ะครับ ผมเป็นสถาปนิก
มาช่วยเขาออกแบบศูนย์ที่จะสร้างใหม่
ตรงอีกฝั่งของหนองน้ำ ใกล้ชายหาดน่ะครับ
เขาให้ผมมาดูสภาพที่เป็นอยู่ปัจจุบัน เพื่อจะได้ออกแบบ
ให้ตรงกับการใช้สอย
พรุ่งนี้ ผมก็จะต้องเข้าไปดูอาคารโรงพยาบาลเหมือนกัน
อัปสร : งั้นพรุ่งนี้คงได้เจอกันอีก
รณชัย : เหรอครับ สวัสดีครับ
ชีวิตอัปสรในศูนย์ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยของสภากาชาดไทย เขาล้าน ดีขึ้นเป็นลำดับ
จากร่างกายซูบผอม เนื่องจากไม่ได้รับประทานอาหารและน้ำพอเพียง เป็นร่างกายแข็งแรง
ทำงานรักษาผู้ป่วยได้ จากจิตใจที่เศร้าหมอง เนื่องจากพลัดถิ่น และพรากจากครอบครัว
เป็นจิตใจที่นิ่ง สงบ แต่ก็ยังอมทุกข์
แต่เมื่อได้พบปะกับชายหนุ่มคนไทย ร่างกายเริ่มเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล จิตใจเริ่มสดใส
สดชื่นและเป็นสุข

คงเป็นเพราะหน้าที่การงาน แม้จะเป็นงานหนักในการดูแลรักษาเพื่อนร่วมชาติ ที่เป็น
ผู้ลี้ภัยด้วยกัน ซึ่งมีจำนวนมากมาย แต่ด้วยจิตใจที่แน่วแน่และมั่นคง เธอตั้งใจรักษาทุกคนอย่างเต็มที่ จำนวนคนที่ฟื้นสภาพ แข็งแรง พอที่จะเดินทางไปยังประเทศต่างๆ เริ่มทยอย
ออกจากศูนย์ไปเรื่อยๆ หลายคนส่งข่าวมาให้กำลังใจ หลายคนส่งอาหารและขนมมาให้
ซึ่งเธอก็นำไปแจกจ่ายให้กับคนไข้ และคนอื่นที่ยังไม่ได้เดินทางไปไหน
ยามว่างเว้นจากภาระ ตอนนี้เธอก็มีสถาปนิกหนุ่มคนไทยไว้พูดคุย เธอเองแอบพอใจ
ชายหนุ่มที่ทุ่มเทให้กับงานก่อสร้างอาคารอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ปรับปรุงเพิงไม้เดิม เป็นโรงเรือน
ไม้ไผ่หลายหลัง จนกระทั่งเริ่มงานก่อสร้างอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ ให้เธอและคนในศูนย์ฯ ได้ใช้งานอย่างสะดวกสบาย
ทั้งหมดคงเป็นเพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระราชินีของคนไทย ทำให้รัฐบาลและทหารที่เคยผลักดันให้ผู้ลี้ภัยย้อนกลับไปในเขมร เพื่อไม่ให้เกิดข้อพิพาทกับรัฐบาลพอลพต
หรือผลักไสลงเรือไปในทะเล เพื่อไม่ให้เป็นภาระ ซึ่งมีข่าวกลับมาเรื่อยๆ ว่า … โบทพิเพิล
ถูกโจรสลัดปล้นบ้าง ถูกพายุพลัดจมบ้าง มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่รอนแรมไปไกลถึงฝั่งมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย แต่ก็ยังมีปัญหากับคนในพื้นที่อีกเช่นกัน
ทั้งหมดนี้ มาจากพระราชเสาวนีย์ที่ว่า
ให้สภากาชาดไทย ช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม
อีกทั้งพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ เข้าช่วยเหลือ
ทำให้ภาคเอกชน บริษัทห้างร้าน แม้แต่แม่ค้าในตลาดคลองลึกและตราด ร่วมบริจาคเงินสมทบ
หรือรวมพลังมาช่วยทำงานในศูนย์ฯ
เช่นเดียวกับสภาพศูนย์ฯ ตอนที่พระราชินีเสด็จครั้งแรก กับครั้งที่สอง ที่สาม ต่างกัน
ลิบลับ พื้นที่ถูกจัดแบ่งเป็นสัดส่วน ส่วนพักอาศัย ส่วนรักษาพยาบาล ส่วนอำนวยการ
ยังมีโรงเรียน โรงฝึกอาชีพ โรงเลี้ยงเด็กเล็ก จากเต็นท์ผ้าใบ กลายเป็นเพิงไม้ไผ่ โรงเรือนไม้ไผ่ และอีกไม่นาน ก็จะเป็นอาคารถาวร
เช่นเดียวกับจิตใจของอัปสร จากที่เคยว้าเหว่ หมดหวัง กลับมามีชีวิตชีวา มีความหวัง
นอกจากได้ดูแลรักษาผู้คนจนแข็งแรงแล้ว เธอยังได้ข่าวจากพ่อและแม่ ที่เรียกร้องให้เธอ
เดินทางไปสมทบที่ปารีส เพียงแต่เธอเห็นว่า ถ้าอยู่ในศูนย์ เธอยังช่วยเหลือผู้คนได้ จึงต่อรอง
ขออยู่ต่ออีกระยะ

แต่ที่ไม่ได้บอกพ่อแม่ก็คือ เธอกับชัย กลายเป็นคู่ผสมเชื้อชาติและอาชีพที่ลงตัว
ต่างให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ต่างสร้างเสียงหัวเราะให้กันและกัน จนชีวิตสุขสันต์
เสมือนไม่ได้อยู่ศูนย์ผู้ลี้ภัย
รณชัย : คิดอะไรอยู่ ยิ้มให้ใครหรือ
อัปสร : อ๋อ ปะ เปล่าค่ะ
สร ยิ้มเหรอ ก็คิดอะไรเรื่อยเปื่อย
รณชัย : คิดถึงผมบ้างไหม
อัปสร : มะ ไม่ ไม่เลย
คิดทำไม
รณชัย : อ้าว ผมคิดไปคนเดียวละสิ
อัปสร : คงงั้นมั๊ง
อัปสร ไม่อยากสร้างความหวังให้กับชายหนุ่ม ด้วยเธอรู้ว่า เรื่องรักครั้งนี้ คงจะเป็นเพียงฝนที่ตกลงมาให้ความชุ่มฉ่ำ อีกไม่นาน ฝนก็จะหยุดตก เธอจะต้องจากไปสมทบกับพ่อแม่
และน้องที่ปารีส
ความรักของเธอ ก็แค่ฝนที่ตกพรำพรำ เท่านั้นเอง

4.
คริสเตียง : คิดถึงเรื่องอะไรหรือ
ซอญญา : ถึงเธอนะสิ
คริสเตียง : อา ขอบใจมาก
แต่ขอบใจฉันเรื่องอะไร
ซอญญา : ก็อุตส่าห์เดินทางมาด้วยกันไง
คริสเตียง : ต้องเป็นผมที่ขอบคุณ
ผมชอบที่นี่มาก
อัปสร ไม่อยากทำร้ายจิตใจหนุ่มผมทอง ที่อยู่ด้วยกันมานาน จึงจำใจโกหก ไม่อยากบอกว่า กำลังคิดถึงชายหนุ่มอีกคนหนึ่ง ที่เธอเคยมีความสัมพันธ์ สมัยที่อยู่ที่ศูนย์ฯ นี้
เมื่อสี่สิบปีก่อน
เสียดายว่า ความรักครั้งนั้นของเธอ ไม่เหมือนในนิยายที่จบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง แบบว่า
เขาและเธอครองรักกันตลอดไป
ด้วยปลายปีนั้น เธอตัดสินใจเดินทางไปหาพ่อและแม่ที่ปารีส เมื่องานรักษาพยาบาล
ที่ศูนย์ฯ เข้ารูปเข้ารอย มีแพทย์และพยาบาลประจำการ ในขณะที่จำนวนผู้ลี้ภัยลดน้อยลง แต่เหตุผลสำคัญ คือ งานออกแบบศูนย์ฯบางส่วนแล้วเสร็จ ชายหนุ่มของเธอต้องกลับไปประจำที่สำนักงานในกรุงเทพฯ ความรักของคนทั้งสอง จึงห่างจางตามระยะทาง
ด้วยความรู้ที่ร่ำเรียนมา ด้วยประสบการณ์และงานที่ทำในศูนย์ฯ ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศส
รับเธอเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลเมืองดิจง Dijon เมืองที่รัฐบาลจัดให้ชาวเขมรและลาว
อพยพ ตั้งรกรากและทำงานในโรงงาน หรือไร่นาในพื้นที่ใกล้เคียง
งานที่โรงพยาบาลไม่มาก และไม่หนักเท่ากับที่เธอเคยทำมาที่ศูนย์ฯ ยังมีเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์พร้อม เพียงแต่ในระยะแรก เธอจะมีปัญหาเรื่องภาษาบ้าง แต่ไม่ใช่กับคนไข้ หากเป็นพวกแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ด้วยกัน แต่ด้วยพื้นความรู้ภาษาฝรั่งเศส ที่เธอเคยเรียนสมัยมัธยม และเคยมาแลกเปลี่ยนหนึ่งปีที่เมืองปุย เธอจึงปรับตัวเข้าได้อย่างรวดเร็ว
การมาประจำที่เมืองดิจง ทำให้เธอต้องห่างจากพ่อแม่และน้องที่อยู่ปารีส และต้องพัก
ในพื้นที่โรงพยาบาลตามลำพัง จนเป็นที่มาของเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับ หนุ่มผมทอง ที่เดินทางด้วยกันครั้งนี้

คริสเตียงเป็นสถาปนิกที่ดูแลปรับปรุงอาคารโรงพยาบาล เพื่อให้ทันสมัยและรองรับอุปกรณ์เครื่องมือใหม่ได้ เธอและคริสเตียงได้สานสัมพันธ์ จนตกลงใจใช้ชีวิตร่วมกัน
เพียงแต่ว่า ความยากลำบากเมื่อในอดีต ตอนที่ลี้ภัยจากพนมเปญมาไทยนั้น ทำให้มดลูก
ของเธอมีปัญหา ไม่สามารถมีคริสเตียงน้อยหรืออัปสรน้อยได้
โชคดีว่า คริสเตียง เป็นคนรุ่นใหม่ ไม่อยากมีลูกพอดี เลยกลายเป็นว่า ทั้งสองคน
ใช้ชีวิตร่วมกัน ต่างคนต่างทำงาน พอมีเวลาก็จะพากันเดินทางท่องเที่ยวในฝรั่งเศสบ้าง
ในยุโรปบ้าง ในอเมริกาบ้าง แล้วแต่เวลาจะอำนวย
เหมือนกับคราวนี้ ที่เธอขอลางานได้นานถึงหนึ่งเดือน ขณะที่งานของคริสเตียง
ที่ออกแบบก็ก่อสร้างแล้วเสร็จ งานใหม่ยังไม่เริ่ม ทั้งสองจึงมีเวลาเหลือเฟือ ที่จะเดินทาง
มาเมืองไทย ให้เวลาอัปสรฟื้นความหลังที่ผ่านมานาน
ซอญญาหรืออัปสร : ชัย นี่คริสเตียง
คริสเตียง เซต์ ชัย มองนามี
ชัย : สวัสดี เอ้อ บองชุ เอ้อ บองอเพส์มิดี
คริสเตียง : ซาวา โอโน สาหวาดดี คับ
หญิงสาวรีบแนะนำ ชัย ทันทีที่ คริสเตียง เดินเข้ามา ดูเหมือนว่า วัยของชายหนุ่ม
ทั้งสองนั้นใกล้เคียงกัน แต่สีผิวและสีผมต่างกัน รวมไปถึงปริมาณเส้นผม ที่เพื่อนหนุ่มคนไทย หรือ อดีตคนรัก ยังมีอยู่มากกว่า เพื่อนหนุ่มคนเทศ หรือ คนรักในปัจจุบัน ที่เหลืออยู่น้อย
ซอญญาหรืออัปสร : อา ลุย อิล เลต์ อาชิเตค
อ้อ เขาเป็นสถาปนิกเหมือนกัน
คริสเตียง : เซต์ แวร์ จริงหรือ
ชัย : จริงหรือครับ งั้นอย่าบอกเขานะครับ
ว่าผมเป็นสถาปนิกออกแบบอาคารหลังนี้
เดี๋ยวจะหาว่าสถาปนิกไทยไร้ฝีมือ
ทำหลังคารั่ว
คริสเตียง : แฟลิซิตาซออง เซต์ บาติมองต์ เซต์ เทสแองเทอเรสซองต์
อัปสรหรือซอญญา : เสียใจค่ะ คงต้องแนะนำ เพราะเขาบอกว่า
ขอแสดงความยินดี อาคารหลังนี้น่าสนใจมาก

ชัย : จริงหรือครับ
อัปสรหรือซอญญา : ไม่เชื่อ ก็คุยกันเองสิ
มองซิเออร์ ปกกัว ตัว ลุย ดี ตัวแมม อง อองเกลย์
(ที่รัก ทำไมไม่บอกเขาเองเป็นภาษาอังกฤษ)
คริสเตียง : ดักกอร์ (ตกลง)
ผมชอบอาคารหลังนี้มาก
ชัย : ขอบ … ขอบคุณ
มันก็แค่อาคารหลังเล็กๆ เท่านั้น
คริสเตียง : บัต มานิฟิค (แต่ก็ยอดเยี่ยม)
ชัย : ขอบ … ขอบคุณ
อัปสรหรือซอญญา : งั้น ชัยก็พาชมอาคารสิ จะได้อธิบายที่มาที่ไปของอาคาร
อองวา วัว เลอบาติมงต์ (เราไปดูกัน)
เขาจะช่วยอธิบายให้เราฟัง
ชัย คือ เพื่อนที่คอยช่วยเหลือ เมื่อสี่สิบปีก่อน
คริสเตียง : เขาคือเพื่อนเก่า
คนที่เคยพูดถึงหลายครั้ง
อัปสรหรือซอญญา : ใช่ค่ะใช่
คริสเตียง : รอผมด้วย ผมจะไปเอากล้องถ่ายรูปที่อยู่ในรถ
แล้วเราค่อยเริ่มชม
ระหว่างนี้คุณสองคนจะได้คุยกัน
ระหว่างที่ชายหนุ่มผมทอง เดินกลับไปที่รถ เพื่อเอากล้องถ่ายรูปนั้น จึงเป็นโอกาสให้
ชายหนุ่มหญิงสาวผมดำสูงวัยสองคนได้คุยกันตามลำพัง
อัปสร : เป็นไงบ้าง สบายดีสินะ
รณชัย : สบายดีครับ แต่ก็ตามอายุนะครับ
อัปสร : เหมือนกัน ก็ตามสภาพ
รณชัย : แต่ยังแข็งแรง เดินทางไกลมาเมืองไทยได้

อัปสร : ก็ไม่แน่ใจว่า ต่อไปจะได้มาอีกไหม
ว่าแต่ว่า มาทำอะไร
ตอนโน้น ก้มหน้าหาหมุด
ตอนนี้ เงยหน้าหารอยน้ำรั่ว
รณชัย : โห ยังจำได้อีกหรือ
ก็ตลกดีนะ ทุกครั้งที่เจอกัน ไม่ก้ม ก็เงย
อัปสร : จะบอกว่า ไม่ได้ตั้งใจละสิ
รณชัย : ปะ เปล่า คงเป็นพรหมลิขิตมากกว่า
อัปสร : แล้วเป็นไง สมหวังไหม
รณชัย : มะ ไม่
อัปสร : เปล่า หมายถึง รอยรั่วที่ว่า
รณชัย : เปลี่ยนเรื่องก็ไม่บอก อ๋อ เจอครับ ตรงรอยต่อหลังคากระจก
ที่นี่ฝนตกหนักและนาน ซิลิโคนที่ใช้สู้ไม่ไหว
อัปสร : อ๋อ หลังคากระจกด้านบน ที่เหมือนกับปิรามิดที่ลูฟว์
ปารีสคงมีฝนน้อย เลยไม่มีปัญหา
รณชัย รู้สึกทึ่ง ที่หญิงสาวนึกไกลไปถึงอาคารพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ ที่ปารีส ต้นทางของ
การออกแบบอาคารศาลาราชการุณย์หลังนี้ที่เคยได้ยินมา
อาจารย์ของรณชัย เล่าว่า ตอนที่ได้รับงานออกแบบ อาคารหลังเล็กๆ ที่อยู่ไกลมากถึงตราด อีกทั้งงบประมาณก็จำกัด แต่เมื่อเป็นสิ่งที่อุปนายิกาสภากาชาดไทย สมเด็จพระกนิษฐา
ธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งในตอนนั้น ยังเป็น
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะทำถวายในวโรกาสครบห้ารอบของ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งในตอนนั้นคือ
สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ องค์นายิกาสภากาชาดไทย ซึ่งหมายความว่า ยังมีเรื่องเวลาจำกัดเพิ่มขึ้นมาอีก
ทุกวันนี้ รณชัยถือว่าเป็นโชค ที่อาจารย์ชวนให้ร่วมงาน เพราะรณชัยเคยรู้เรื่องราว
ของศูนย์ผู้ลี้ภัยเขาล้านอย่างดี โดยเฉพาะความทุกข์ยากของผู้ลี้ภัย ยังดีว่า อาจารย์ไม่รู้เรื่อง
ความรักที่เกิดขึ้นกับแพทย์หญิงผู้ลี้ภัย

รณชัย จึงช่วยทำงานค้นคว้าเรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนที่เขาจะเดินทางไปทำงานที่เขาล้าน เรียนรู้เพิ่มเติมถึงสภาพเลวร้าย ยากลำบากของผู้ลี้ภัย
เรียนรู้ถึงพระมหากรุณาธิคุณขององค์นายิกาสภากาชาดไทย ที่ดลบันดาลให้ผู้คนกว่า
สองแสนคนรอดปลอดภัยจากมนุษย์ด้วยกัน
ด้วยงบประมาณที่มีอยู่ อาจารย์จึงออกแบบอาคารขนาดเล็ก ขนาดกว้างยาว
แปดสิบเมตร อาคารชั้นเดียวที่มีหลังคาดาดฟ้าคอนกรีต เพื่อให้ผู้เข้าชมอนุสรณ์สถานแห่งนี้ ขึ้นไปมองสภาพพื้นที่ที่เคยเป็นค่ายผู้ลี้ภัย รำลึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้น
เมื่อตัวอาคารมีผนังปิดทึบทั้งสี่ด้าน มีเพียงช่องระบายอากาศเล็กๆ จึงมีช่องเปิด
ตรงกลางดาดฟ้า ให้แสงธรรมชาติส่องสว่างในเวลากลางวัน และแสงไฟฟ้าจากภายใน
จะส่องสว่างให้เห็นแต่ไกลในเวลากลางคืน
อาจารย์มาเล่าให้ฟังภายหลังว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
แม่งานครั้งนั้น เป็นองค์ผู้ทรงวินิจฉัยรูปแบบหลังคากระจก ที่จะครอบช่องเปิดโล่ง เพื่อไม่ให้
ฝนตกลงไป โดยทรงเลือกรูปทรงหัวเม็ด เครื่องยอดเสาในงานสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์
โดยรณชัยนำมาออกแบบติดตั้งโครงเหล็ก ทาสีทอง และกรุกระจกหนาสีทองเช่นกัน ที่เป็นดั่งโคมไฟนำทางให้ผู้ลี้ภัย
ยิ่งรณชัยเล่าถึงสภาพค่ายผู้ลี้ภัยในระยะแรก ที่ยังมีเนินดินสูง ที่ช่วยป้องกันกระสุนปืน
ของเขมรแดง จากบนเขาลงมาที่ศูนย์ฯ อาจารย์จึงปรับพื้นที่ด้านหน้าอาคารให้เป็นเนินดิน
ที่ลาดออกไปทั้งสองข้าง
ส่วนประตูทางเข้า รณชัยยังจำได้ว่า ต้องเปลี่ยนแบบไปมาหลายครั้ง เพื่อให้ตอบรับ
กับอาคาร ทั้งภายในภายนอก จนในที่สุด อาจารย์เลือกเอาช่องว่างเล็กๆ ระหว่างก้อนกำแพงหนาสูง เป็นทางเข้า โดยบอกรณชัยว่าจะได้ดูแลเหมือนว่าเป็นช่องทางที่ผู้ลี้ภัยเข้ามาหลบซ่อน
ด้วยทำเลไกลจากนครหลวง ด้วยสภาพอากาศที่ฝนตกเกือบตลอดเวลา ทำให้
งานก่อสร้างค่อยๆ ดำเนินไป แต่ก็ไร้อุปสรรค ด้วยองค์พระผู้เป็นแม่งานเสด็จมาวางศิลาฤกษ์
เมื่อเริ่มการก่อสร้าง ทรงมาตรวจผลงาน ระหว่างก่อสร้างอีกสองครั้ง จนกระทั่งการก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จพร้อมถวายองค์มหาราชินี ผู้มีพระกรุณาธิคุณต่อชีวิตผู้คนสองแสนคน
จนเป็นอนุสรณ์สถาน ประกาศเกียรติคุณให้โลกรู้ถึงคุณงามความดีดังกล่าว
ด้วยเดชะบารมี ด้วยพระทัยที่เอาใจใส่ ตั้งแต่เริ่มจนถึงวันพระราชพิธี เปิดให้ผู้คนเข้าชม คงจะทำให้อาคารหลังนี้ออกมาสวยงาม และที่สำคัญ ได้รับรางวัลเหรียญทองสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2536
5.
อัปสร : ดูสิ เดินหายไปไหนแล้วก็ไม่รู้
รณชัย : เห็นเดินไปทางด้านโน้น คงหามุมถ่ายรูป
อัปสร : คริสเตียงคงชอบ ยิ่งได้ฟังชัยเล่าเรื่อง ยิ่งตื่นเต้น ถ่ายใหญ่เลย
รณชัย : ครับ ดีใจครับ ที่มีคนชอบ
ยิ่งเป็นสถาปนิกด้วย
อัปสร : เออ … นี่ มาสำรวจคนเดียวหรือ
รณชัย : ครับ มาคนเดียว ไม่ได้มาสองคนเหมือน …
อัปสร : ค่ะ อัปสรโชคดี ที่เจอคริสเตียง ที่ดิจง
บังเอิญว่าเป็น อาร์คิเตคเหมือนกัน
รณชัย : สงสัยว่าชอบ …
อัปสร : สรคิดว่า คงเป็นเพราะสถาปนิก
ชอบคิดฝันถึงเรื่องดี ที่ยังไม่เกิดขึ้น
ถึงอาคารสวยๆ ที่ยังไม่สร้าง
เป็นพวกมองไปข้างหน้า
ไม่เหมือนพวกหมอ ที่จะรักษาใคร
ก็จะสอบถามประวัติ เช็คเรื่องราวที่ผ่านมา
อยู่กับความเป็นจริง น้ำหนัก อุณหภูมิ
รวมไปถึง ภาพเอกซเรย์ปอด หัวใจ อะไรที่อาจเป็นปัญหา
รณชัย : ก็เลยจมอยู่กับอดีต คิดถึงคน …
อัปสร : ใช่สิ ไม่เหมือนสถาปนิก ลืมคนเก่า เมื่อเจอคนใหม่
รณชัย : แต่สำหรับผม เรื่องนี้ คงเป็นเพราะความประทับใจในอดีต
เลยพบคนใหม่ ที่เป็นหมอเหมือนกัน
เขามีงานทำทุกวัน
ผมเลยอิสระ ไปไหนมาไหนได้
อัปสร : แล้วตอนนี้มี รณชัยจูเนียร์ตัวเล็ก กี่คนแล้ว
รณชัย : คนเดียว เป็นผู้หญิง ตอนนี้เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว
เลยมีสังคมของตนเอง ไม่ค่อยไปไหนกับพ่อแม่
อัปสร : ดีใจด้วยนะ เสียดายที่เรา …

รณชัย : เอาอีกละ เรื่องที่ผ่านมา หรือเป็นอยู่ ก็ปล่อยให้เป็นไป
เหมือนดินฟ้าอากาศ ฝนที่ตก บางครั้งก็หนัก บางครั้งก็เบา
บางครั้งก็นาน บางครั้งก็แป๊บเดียว
แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร
ฝนที่ตก นำมาซึ่งความชุ่มฉ่ำแก่ผืนดิน
เหมือนฝนที่เคยตกที่นี่ เมื่อหลายปีก่อน
ทำให้จิตใจของเราชุ่มฉ่ำ ทั้งในตอนนั้น และในตอนนี้
อัปสร : ก็จริง เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตอนนั้น โหดร้ายยิ่งนัก
มาถึงวันนี้ จะมีใครรู้บ้าง
แม้แต่คนเขมรคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านเกิด หรืออยู่ในต่างแดน
ก็ไม่ได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น
เหมือนพายุที่พัดกระหน่ำ
ต้นไม้หักโค่น เสียหายมากมาย
แต่พอพายุสงบ ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป
มันขึ้นอยู่ว่า เราจะมองตอนไหน
รณชัย : ผมว่า มันขึ้นอยู่กับเวลา สถานที่ และตัวตน
เหมือนสถาปัตยกรรม
ถ้าสิ่งก่อสร้างใด สอดคล้องกับ เวลาและสถานที่
ก็จะเป็นผลงานที่มีคนชื่นชม
เหมือนอย่างตอนนั้น ท่ามกลางความวุ่นวายทั้งปวง
การตัดสินพระทัยของพระราชินี
เหมาะกับเวลาและสถานที่ ก็นำพาให้ทุกคนพ้นภัย
อัปสร : เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างแท้จริง

สิงหาคม 2563

สายฝนบนแผ่นดินรัก / 110863 / 04