ธเนศวร์ เจริญเมือง : ก่อนจะถึงวาระ 19 ปีจรัลลา

หลายปีมานี้ ผมเขียนถึงอ้ายจรัล มโนเพ็ชร – ศิลปินล้านนาแห่งยุคสมัย ทุกๆ วันที่ 3 กันยายน อันเป็นวันครบรอบการจากไป แต่ปีนี้เป็นวาระพิเศษ เพราะนี่จะครบวาระ 19 ปีแล้วหรือ และปีหน้าก็จะเป็นวาระสำคัญ คือ ครบรอบ 2 ทศวรรษของการจากไป

ผมเพิ่งตระหนักหลายสัปดาห์มานี้เองว่า ผมแก่ไปเกือบ 20 ปีแล้ว หลังจากอ้ายจรัลได้จากไป

และจนป่านนี้ ก็ยังไม่มีรูปธรรมใดๆ ที่จะทำให้เรารำลึกถึงอ้ายจรัลได้ นอกจากเสียงเพลงของเขาที่ได้ยินเป็นครั้งคราวตามที่ต่างๆ

ล่าสุด ก็มีนักร้องวัยรุ่นชายชาวเกาหลีร้องเพลง “พี่สาวครับ” ท่ามกลางเสียงกรี๊ดดังกึกก้องของสาววัยรุ่นไทย

พวกเธอกรี๊ดสนั่นเพราะหนุ่มหล่อเกาหลีร้องเพลงไทย

แล้วพวกเธอรู้จักเพลงนั้นไหม…???

ที่กระทบใจผมที่สุดก็คือ คำพูดของลูกสาวที่บอกว่า “พ่อ ถ้าหมดยุคของคนรุ่นพ่อ ก็คงจะไม่มีใครคิดจะทำอนุสาวรีย์ให้ลุงจรัลแล้วนะ เพราะคนเราแต่ละรุ่นมีความทรงจำและความประทับใจที่แตกต่างกัน”

เท่านั้นเองครับ ผมจึงชักชวนเพื่อนวัยเดียวกัน รุ่นๆ อ้ายจรัล คือ 60 ปีปลายๆ มาคุยกัน และได้ข้อสรุปว่าบัดนี้ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องลงมือ

 

นักธุรกิจชาวเชียงใหม่คนหนึ่งวางเงินบริจาคทันทีเป็นคนแรก 2 หมื่นบาท ผมกับอีก 2 คนไปเปิดบัญชีเมื่อ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมาด้วยเงินก้อนนั้น คนแรกคือ อ.แสวง มาละแซม นักประวัติศาสตร์ผู้มีผลงานโดดเด่นเรื่อง “คนยอง” และ ดร.วสันต์ จอมภักดี อาจารย์ด้านวิศวะ ที่ต่อสู้เพื่อแม่น้ำปิงและแม่ข่าอย่างแข็งขันตลอดมา ทั้ง 2 คนมีจุดยืนร่วมกันคือรักท้องถิ่น ชื่นชมและนับถือผลงานของอ้ายจรัล

เราตั้งโครงการ “จรัลรำลึก” ชักชวนคนรักท้องถิ่นจากวงการต่างๆ มาร่วมทำงานหลายๆ ด้าน รวมเรียกว่าคณะกรรมการจรัลรำลึก โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ

1. รณรงค์ให้ผู้คนเห็นความสำคัญของท้องถิ่น รัก หวงแหนและช่วยกันปกป้องท้องถิ่นของตน

2. ระดมทุนสนับสนุนการก่อสร้างอนุสาวรีย์ให้อ้ายจรัล มโนเพ็ชร

3. ผลักดันให้ระบบการศึกษาของรัฐลงมือจัดเนื้อหาท้องถิ่นศึกษาอย่างจริงจัง ไม่ใช่มีแต่คำพูด

เราตั้งกรรมการเป็นฝ่ายๆ ฝ่ายแรกคือไปเสาะหาสถานที่เหมาะสมสำหรับอนุสาวรีย์ของอ้ายจรัล ฝ่ายถัดไปคือ ฝ่ายออกแบบและจัดทำรูปปั้น ฝ่ายนี้ไปค้นคว้ามาแล้ว พบว่าค่าใช้จ่ายราว 4 แสนกว่าบาท

เราจึงตั้งเป้าไว้ที่ 5 แสนบาทถ้วน กรรมการมีหลายฝ่าย เช่น วิชาการ, ดนตรี, กิจกรรม, โฆษณา ฯลฯ

เราตกลงกันว่าจะไม่ถอนเงินออกจากสมุดบัญชีแม้แต่บาทเดียว เงินฝากต้องโปร่งใส และต้องเปิดเผยตัวเลขทุกๆ 3 วัน และถ้ามีเงินเหลือจากการสร้างอนุสาวรีย์ เราจะตั้ง “รางวัลจรัล มโนเพ็ชร” เพื่อมอบให้เยาวชนที่สนใจศึกษาด้านดนตรี-เพลงและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์

ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม ที่เราเปิดสมุดเงินฝาก สาขามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หมายเลข 667-434-933-7 ธนาคารไทยพาณิชย์ ท่ามกลางสถานการณ์ความยากลำบากทางเศรษฐกิจ เราขอรับการสนับสนุนคนละ 5-10-20 บาท จนถึงขณะนี้ 2 เดือนเศษผ่านไป สมุดบัญชีมีตัวเลขอยู่ที่ 207,257.30 บาท (ณ วันที่ 14 กรกฎาคม 2563)

นี่คือ น้ำใจจากคนไทยทั่วประเทศที่หลั่งไหลเข้ามา

เราหวังที่จะได้รับการสนับสนุนครบเป้าภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเริ่มก่อสร้างรูปปั้น ซึ่งจะใช้เวลาราว 5 เดือนเศษ ให้งานสร้างอนุสาวรีย์เสร็จภายในเดือนกรกฎาคม

พร้อมสำหรับวาระการรำลึกครบรอบ 2 ทศวรรษในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2564

 

อ้ายจรัล มโนเพ็ชร มีผลงานเพลงโดยขับร้องและแต่งเพลงไว้ 200 กว่าเพลง ในจำนวน 20 กว่าอัลบั้ม เพลงของอ้ายจรัลไพเราะ ภาษาคมคาย เข้าใจง่าย ร้องตามง่าย ได้รับความนิยมมากมายทั่วประเทศ เช่น เพลงอุ๊ยคำ ล่องแม่ปิง น้อยไจยา พี่สาวครับ สาวมอเตอร์ไซค์ เพื่อน รางวัลแด่คนช่างฝัน ฯลฯ

อ้ายจรัลภาคภูมิใจในความเป็นคนเมืองเหนือ เขาเชิดชูคนท้องถิ่น เขาพูดคำเมืองทุกครั้งในการออกแสดงไม่ว่าที่ภาคไหน เขาทำให้คนล้านนาภาคภูมิใจ มีสำนึกรักท้องถิ่น รักบ้านเกิด

อ้ายจรัล หน้าตาดี มีน้ำใจ ถ่อมตัว ชอบช่วยเหลือผู้อื่น เป็นกันเอง ชอบงานช่วยเหลือสังคม เล่นละครและแสดงหนังหลายเรื่อง ได้รับรางวัลทั้งจากการร้องเพลงและการแสดง เพลง “ศิลปินป่า” ของเขาคว้ารางวัลยอดเยี่ยมในการอนุรักษ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม

หลายเพลงของเขา โดยเฉพาะ “รางวัลแด่คนช่างฝัน” และ “ให้ฉันฝันต่อ” ปลุกเร้าใจให้เกิดความหวัง ที่จะอยู่ต่อไปเพื่อดูแลชีวิตและสังคมรอบตัว เป็น 2 เพลงที่ได้รับความนิยมจากผู้คนแทบทุกวงการ

เพลง “หมะเมียะ” และ “ล้านนา” สะท้อนให้เห็นความเป็นนักศึกษาค้นคว้า สนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

เพลง “อุ๊ยคำ” “ตากับหลาน” “ลุงต๋าคำ” “แม่ค้าป๋าจ่อม” และ “สามล้อ” สะท้อนให้เห็นหัวใจของเขาที่อยู่ข้างคนเสียเปรียบในสังคม

เพลง “ของกิ๋นคนเมือง” 2 ภาค ชี้ให้เห็นความเป็นนักสังคมวิทยาชั้นยอด เขาเรียงร้อยชื่ออาหารท้องถิ่นถึง 64 ชนิดอย่างที่ไม่เคยมีใครทำไว้ เพลง “มิดะ” ชี้ให้เราได้เห็นว่าเขาเคารพความหลากหลายของชาติพันธุ์ต่างๆ ในสังคม

เพลง “ดอกไม้เมือง” “แม่วัง” และ “ซึงสุดท้าย” ชี้ว่าเขาเป็นนักอนุรักษ์ ต้องการปกป้องดูแลสิ่งดีงามที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ให้ลูกหลาน

 

40 กว่าปีก่อน ใครจะคิดว่าเด็กหนุ่มคนหนึ่งดีดกีตาร์กล้าเอาเพลง “น้อยไจยา” อายุเกือบ 1 ศตวรรษมาร้องและอัดออกสู่สาธารณะ มีกี่คนที่รู้ว่า “ล่องแม่ปิง” “สาวเชียงใหม่” “อุ๊ยคำ” “พี่สาวครับ” และ “ตากับหลาน” คือเพลงที่จรัลนำเอาทำนองเพลงตะวันตกมาดัดแปลงให้เป็นเพลงท้องถิ่น ผสานของใหม่กับของเก่า

ชีวิตของเขาเป็นแบบอย่างในแทบทุกด้าน และเพราะต้องทำงานหนัก มีแต่คนเข้าหาเพื่อให้ทำงานหลายๆ แบบ สุขภาพจึงทรุดโทรม จรัลจึงจากไปด้วยวัยเพียง 50 ปีเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2544

ด้วยความเป็นคนเรียบง่าย ติดดิน และการเป็นศิลปินที่ใครๆ ก็รัก เราจึงคิดที่จะสร้างรูปปั้นแบบเขาเท่าตัวจริง ยิ้มพราย กำลังเล่นกีตาร์ มีซึงวางข้างๆ ใต้ร่มเงาแมกไม้ สายลมละมุน นั่งบนเก้าอี้ยาว เพื่อให้มีที่ว่างข้างๆ สำหรับคนที่รักเขาจะได้ไปนั่งใกล้ชิด สามารถถ่ายรูปด้วยได้

ส่วนสถานที่ตั้ง เรากำลังเปิดรับฟังความเห็น แต่ก็หวังว่าควรจะเป็นที่ใดสักแห่งที่อยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ เพื่อให้คนที่รักเขา ยังคงฟังและร้องเพลงของเขาได้ไปเยี่ยมอย่างสะดวก พร้อมดอกไม้ ได้ไปอยู่ใกล้ๆ ให้หายคิดถึง และได้จัดงานฟังเพลง และร่วมกันขับขานเพลงอันไพเราะของเขา บ่อยๆ ครั้ง

“มองดูดวงดาว ก็คงเป็นดาวดวงเดียวกัน มองดูดวงจันทร์ ก็เหมือนดั่งจันทร์ที่บ้านเรา ยามนี้ฉันเหงา…” (เพลง “คิดถึงบ้าน”) และ “จะปลอบดวงใจให้เธอหายร้าวราน จะเป็นสะพานให้เธอเดินไปแน่นอน จะเป็นสายน้ำเย็นดับกระหายยามโหยอ่อน…” (เพลง “รางวัลแด่คนช่างฝัน”)

และแน่นอน เวลาผ่านไปจนจะครบ 19 ปี ความยิ่งใหญ่ในด้านเสียงเพลง เนื้อเพลง เสียงกีตาร์ผสานกับเสียงสะล้อ ซึง ความสามารถรอบด้าน และอุปนิสัย-จิตใจอันดีงามของเขา จนกระทั่ง บัดนี้ ก็ยังไม่มีศิลปินคนเมืองคนใดมาแทนที่เขาได้

สำหรับคนจำนวนมาก จรัล มโนเพ็ชร คือ “ล้านนาคดี” สำหรับคนเมืองจำนวนมาก จรัล คือ ความภาคภูมิใจของคนล้านนา และสำหรับคนต่างจังหวัด ไม่ว่าจะอยู่ที่เถียงนาหรือบนดอยสูง หรือทำงานในเมืองกรุง

จรัล มโนเพ็ชร คือคนคนนั้นที่หลายๆ คนคิดถึง

 

จรัล มโนเพ็ชร ไม่ใช่เพียงศิลปินล้านนาที่ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัย ไม่ใช่เพียงศิลปินท้องถิ่นที่ยิ่งใหญ่ของคนต่างจังหวัด แต่เขายังเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของประเทศนี้ในรอบศตวรรษ

อ้ายจรัลรักธรรมชาติ ได้ต่อสู้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เขามีความฝันที่จะได้อยู่กับธรรมชาติหากเสียชีวิต ญาติๆ และคนใกล้ชิดก็ทำให้ความฝันนั้นของเขาเป็นจริง ในเดือนมกราคมปี 2545 อัฐิของเขาได้ถูกนำไปโปรยบนดอยหลวงเชียงดาว อันเป็นดอยที่สูงที่สุดอันดับ 3 ของประเทศ ตามที่เขาได้เอ่ยขอไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิต

ความฝันอันยิ่งใหญ่ของอ้ายจรัลประการหนึ่งคือ จะจัดสร้าง “หอศิลป์สล่าเลาเลือง” ขึ้นที่ลำพูนพิพิธภัณฑ์ที่จะรวบรวมชีวิตและผลงานของศิลปินล้านนาที่โดดเด่นเป็นแบบอย่าง ลำพูนซึ่งเป็นบ้านพักและสถานที่ทำงานในช่วงบั้นปลายชีวิตของเขา เพื่อให้คนล้านนาและคนทั่วประเทศได้ไปศึกษาเรียนรู้

ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตไม่นาน เขาได้ทุ่มเทฝึกสอนเยาวชนลำพูนด้านการแสดงละครและเขียนบทละคร ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตและแง่มุมต่างๆ ในท้องถิ่น

นั่นคือการนำเอาศิลปะมารับใช้ชีวิตและสังคม ยกระดับความรู้ ความคิด และความสามารถในการแสดงออกของเยาวชน เพื่อการเรียนรู้นำพาชีวิตต่อไป

 

บัดนี้มีข่าวดีว่า สภาวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน นำโดยพงษ์เทพ มนัสตรง และบารเมศ วรรณสัย ประธานและรองประธานสภา ได้รวมใจคนลำพูนและนำโดยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัย มีคนลำพูนบริจาคที่ดิน มีการระดมเงินจนสามารถสร้างพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวเป็นผลสำเร็จและจะเริ่มเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า สมตามความฝันของจรัล

ยังมีอีกฝันหนึ่ง นั่นคือ จรัล แต่งบทละครไว้เรื่อง “ซอมพอกับก๊อแกง” จรัลแต่งบทละครและฉากทั้งหมดเสร็จแล้ว รวมทั้งการทดสอบผู้แสดงส่วนใหญ่

น่าเสียดายที่เขาจากไปอย่างกะทันหัน นั่นจึงเป็นอีกฝันหนึ่งที่รอคอยการลงมือทำงานของพี่น้องเชียงใหม่-ลำพูนในปีหน้า

และแน่นอน ที่เวียงเชียงใหม่-บ้านเกิดเมืองนอนของเขา คนเมืองรอคอยอนุสาวรีย์ของลูกที่ดีเลิศ รอวันที่จะได้เห็นและสัมผัสรูปปั้นของศิลปินคนเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษ

ขอเรามาช่วยกันสานฝันของอ้ายจรัลให้เป็นจริง ให้รุ่งอรุณของวันใหม่ “ทุกครั้งที่ความมืดคลาย หมายถึงวันที่ดีกว่า คือโอกาสชีวิตให้เราฟันฝ่า ขอบฟ้าคือตะวัน” (เพลง “ลมเหนือ”)

“คือโอกาสชีวิตให้เราฟันฝ่า…” กี่ฟ้าจะฝ่าฟัน… ให้อนุสาวรีย์ของอ้ายจรัล มโนเพ็ชร ปรากฏเป็นจริงในวาระ 2 ทศวรรษที่อ้ายจรัลจากลา

และให้มวลพี่น้องคนเมืองและคนไทยทั่วประเทศได้เห็น “ดวงตะวันส่องเป็นแสงสีทอง…เมื่อดอกไม้แย้มบาน ให้คนหาญสู้ไม่หวั่น…คือรางวัลแด่ความฝันอันยิ่งใหญ่ให้…” ทุกๆ คน