จักรกฤษณ์ สิริริน : จาก TeleLife ถึง Workation “ทำงานในวันเที่ยว” ตอบโจทย์ “ชีวิตวิถีใหม่”

ก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ดูเหมือนกระแส Work from Everywhere จะได้รับการพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในระดับหนึ่ง

เห็นได้จากความเฟื่องฟูของธุรกิจ Co-working Space และร้านกาแฟน้อยใหญ่ต่างติดตั้งสัญญาณ Wi-fi ให้ลูกค้าได้ใช้กันฟรีๆ รองรับการนั่งทำงานกันยาวๆ

จากปัญหาการจราจร และการเกิดขึ้นของ Start-up รวมถึง SME ที่เกิดขึ้นมากตามยุคสมัยของคน Generation ใหม่ อีกทั้งสำนักงานหลายแห่งก็ให้การสนับสนุน Work from Everywhere

และพลันเมื่อ COVID บุกโลก คำว่า Work from Home ได้กลายเป็นศัพท์ที่สังคมต่างให้ความสำคัญ เนื่องจากบริษัทห้างร้านทั้งหมดถูก Lockdown จากนโยบาย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”

ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา “มนุษย์เงินเดือน” จำนวนมากได้สร้างความคุ้นเคยกับมาตรการ Work from Home กันเป็นอย่างดี จนหลายคนปรับตัวได้ และกลายเป็น “ชีวิตวิถีใหม่” หรือ New Normal ในการทำงาน

 

ผมเคยเขียนถึงประเด็นที่คล้ายๆ กันนี้อย่างน้อย 2 ครั้งใน “มติชนสุดสัปดาห์” ไม่ว่าจะเป็น “จาก Ikigai ถึง Xiaomi : เรามีชีวิตอยู่เพื่อมีชีวิต” หรือ “จาก Slow Life ถึง Slowbalisation กับความแตกสลายทางชนชั้น”

ที่พูดถึง “ชีวิตวิถีใหม่” ที่ไม่ต้องเร่งรีบ และการมี Lifestyle สอดคล้องกับยุคสมัย

ในบทความ “จาก Slow Life ถึง Slowbalisation กับความแตกสลายทางชนชั้น” ผมได้กล่าวถึง Hygge หรือ “ฮุกกะ” ศิลปะการหาความสุขจากสิ่งรอบตัว

“ฮุกกะ” เป็นหลักคิดจากหนังสือ The Little Book of Hygge : The Danish Way to Live Well เขียนโดย Meik Wiking ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความสุขแห่งประเทศ “เดนมาร์ก”

นอกจาก Hygge ของ “เดนมาร์ก” แล้ว “สวีเดน” ก็มีปรัชญาคล้ายๆ กันคือ “การหาความสุขให้เจอ ด้วยวิธีการของแต่ละคน” เรียกว่า Lagom

ซึ่งทั้ง “สวีเดน” และ “เดนมาร์ก” คือชาว Nordic หรือคน “สแกนดิเนเวีย”

ในแนวคิดนี้ นอกจากหนังสือ The Little Book of Hygge : The Danish Way to Live Well ของ Meik Wiking แล้ว ยังมีอีกตำราหนึ่งซึ่งพูดในประเด็นเดียวกัน

นั่นคือ Digital Nomads : How to Live, Work and Play Around the World ผลงานการเขียนของ Andr? Gussekloo และ Esther Jacobs

 

Andre Gussekloo เป็นนักเขียนฮอลแลนด์ ส่วน Esther Jacobs เป็นนักประพันธ์ฝรั่งเศสครับ

ศัพท์ Nomads นั้นหมายถึง “การร่อนเร่” หรือ “พเนจร” เมื่อนำมารวมกับคำว่า Digital จึงกลายเป็น “ชีวิตวิถีใหม่ในโลกอินเตอร์เน็ต”

แปลไทยเป็นไทยก็คือ ชาว Digital Nomads เป็นเผ่าพันธุ์ที่ใช้ชีวิตแบบชาว Nomadic

ซึ่งผมคิดว่า น่าจะเป็นการเล่นคำให้พ้องไปกับวิถีชีวิตแบบชาว Nordic อันมี Hygge ของ “เดนมาร์ก” และ Lagom ของ “สวีเดน”

เป็นแบบฉบับของ Lifestyle นั่นเอง

 

ส่วน TeleLife นั้น เป็นคำที่ผมคิดขึ้นเอง เนื่องจากที่ผ่านมาเห็นศัพท์แสงเกี่ยวกับ Tele มากมาย

โดยเฉพาะ Teleconference หรือ Video Conference ที่หมายถึง “การประชุมทางไกล” โดยเฉพาะในช่วง Work from Home ที่ผ่านมา

หลายคนอาจลืมไปแล้วว่าในอดีตเราต่างคุ้นเคยกับคำว่า Tele กันมามากมาย

ไม่ว่าจะเป็น Telegraph “ตะแล้ปแก๊ป” หรือ “โทรเลข” Telephone ก็คือ “โทรศัพท์” และ Television ก็คือ “โทรทัศน์” หรือ TV

หรือจะเป็นคำว่า Telemedicine ที่หมายถึง “การรักษาโรคทางไกล” ในท้องถิ่นทุรกันดาร สามารถใช้ ICT สื่อสารกับแพทย์ในส่วนกลางได้ รวมถึงคำว่า Tele-consultation หรือ “การให้คำปรึกษาแบบทางไกล”

และคำว่า Telebanking หรือ Mobile Banking คือ “การทำธุรกรรมธนาคารผ่านโทรศัพท์มือถือ” ที่หลายท่านคุ้นเคย

ดังนั้น TeleLife จึงแปลว่า “ชีวิตวิถีเคลื่อนที่” ซึ่งตอบสนองคน Generation ใหม่ โดยเฉพาะ Start-up ที่ใช้บ้านเป็นสำนักงาน หรือ Home Office

และวิถีชีวิตแบบ TeleLife มักไม่ยึดติดกับสถานที่ สามารถเดินทางไปด้วยทำงานไปด้วย หรือนั่งทำงานที่ไหนก็ได้นั่นเองครับ

 

ส่วนคำว่า Workation นั้น หมายถึงการ “ทำงานในวันเที่ยว” ครับ

Workation เป็นการเล่นคำ มีที่มาจากศัพท์ 2 ตัวคือ Work ที่แปลว่า “งาน” หรือ “การทำงาน” กับคำว่า Vacation ซึ่งหมายถึง “วันหยุด” หรือ “วันเที่ยว”

Workation จึงมีความหมายว่า “ทำงานไปด้วย-พักร้อนไปด้วย” ไม่เสียเที่ยว

ดังนั้น Hygge ก็ดี Lagom ก็ดี Digital Nomads ก็ดี หรือ TeleLife และ Workation ก็ดี ล้วนให้ความหมายไปในทิศทางเดียวกัน

คือ “ทำงานในวันเที่ยว” และ “หาความสุขให้เจอ ด้วยวิธีการของแต่ละคน” ตอบโจทย์ “ชีวิตวิถีใหม่” หรือ New Normal ในยุค Post-COVID

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Workation ที่ต้องถือว่า แม้จะไม่ใช่ศัพท์ที่ใหม่มาก แต่การถูกหยิบยกมาพูดถึงในเวลานี้ก็สอดคล้องกับสถานการณ์ COVID-19 พอดี

ที่หลายประเทศได้ผ่อนคลายมาตรการ Lockdown เปิดให้ผู้คนสามารถท่องเที่ยวกันภายในประเทศได้เหมือนก่อน COVID จะบุกโลก

เมื่อมาผนวกกับนโยบาย Work from Home หรือ Work from Everywhere ก็ยิ่งขับเน้นความน่าสนใจของ Workation มากยิ่งขึ้นไปอีก

เพราะนอกจากความหมายของ Workation จะครอบคลุม “ทำงานในวันเที่ยว” แล้ว

ยังมีนัยถึง “การทำงานโดยไม่แคร์สถานที่” คล้ายๆ กับปรัชญาของ Digital Nomads อยู่บ้างเหมือนกัน

 

สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของ Generation ใหม่ หรือชาว Start-up ที่อยากเป็นเจ้าของกิจการ-เกลียดสถานะลูกจ้าง-และไม่ชอบทำงานประจำ

รวมไปถึงชาว Content Creator หรือ YouTuber ทั้งหลาย

โดยเฉพาะอาชีพ “ขายของออนไลน์” ซึ่งสามารถ Work from Everywhere ได้ทุกที่-ทุกเวลา

คน Generation ใหม่จึงเป็นมนุษย์ TeleLife ที่ไม่ต้องแคร์นายจ้าง เนื่องจากทุกคนอยากเป็น “เจ้านายตัวเอง”

Workation จึงตอบโจทย์อย่างมากกับการ “ทำงานในวันเที่ยว” ครับ

ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ร้านกาแฟ” และ Co-working Space ดังที่กล่าวไปในตอนต้น

 

กระนั้นก็ดี ใช่ว่าชาว “มนุษย์เงินเดือน” จะ Workation แบบคน Generation ใหม่ไม่ได้

หากสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย ที่บางบริษัทห้างร้านยังอนุญาตให้ Work from Home “มนุษย์เงินเดือน” ก็สามารถ Workation ได้เช่นกันครับ

เพราะบางคนก็งานหนัก-งานยุ่งเป็นทุนเดิมกันอยู่แล้ว ทั้งๆ ที่ลาพักร้อนแต่ก็ยังต้องปั่นงานส่งเจ้านาย

อีกทั้ง “มนุษย์เงินเดือน” ยุคนี้ ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงปากท้อง จากสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำอยู่แล้วก่อน COVID-19 บุก ยิ่งยุคหลัง COVID เศรษฐกิจยิ่งทรุดหนัก

“มนุษย์เงินเดือน” หลายคนจึงแสวงหา “อาชีพที่ 2” เพื่อรองรับรายจ่ายค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ

Workation จึงสามารถตอบโจทย์ของ “มนุษย์เงินเดือน” ได้ทั้งสองส่วนครับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Workation ได้ตอบโจทย์ทุกข้อของคน Generation ใหม่ ที่ขอเพียงมีสัญญาณ Wi-fi หรือเน็ตมือถือแรงๆ พวกเขาก็ TeleLife ได้อย่างไม่แคร์โลก

เพราะคน Generation ใหม่ สามารถทำงานไปด้วย ท่องเที่ยวไปด้วย บางคนยังเรียนไปด้วย แถมงานที่ทำก็มากกว่า 1 อาชีพอีกต่างหาก

ดังนั้น หลายคนที่เคยแปลกใจว่าทำไมจึงมีคนต่างชาติจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น Content Creator หรือ YouTuber มานั่ง “ขายของออนไลน์” กันที่ “ร้านกาแฟ” และ Co-working Space ในบ้านเรากันอย่างหน้าดำคร่ำเครียด

เพราะยุคนี้เป็นยุคทองของ TeleLife นั่นเองครับ!