คณิต ณ นคร | เมื่อประธานชมรมข้าราชการอัยการบำนาญ ส่งสารถึงอัยการสูงสุด (4)

3.การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

ในบทความเรื่องที่ผู้เขียนได้นำเสนอโดยผ่านหนังสือ “มติชนสุดสัปดาห์” ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้เขียนได้กล่าวว่า

ความพยายามของผู้เขียนที่กระทำตลอดมาตั้งแต่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศเมื่อปี 2520 ก็คือ “ความพยายามที่จะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเรา” แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะขาดความร่วมมือจากบุคคลในกระบวนการยุติธรรมและจากทุกฝ่ายรวมทั้งประชาชนทั่วไปด้วย

เกี่ยวกับ “ศาลพิจารณา” (Trial Court) เพียงเรื่องเดียวนั้น ผู้เขียนเห็นว่านักนิติศาสตร์ของไทยเรายังมีความเข้าใจกันไม่ถ่องแท้นัก หรือไม่เข้าใจกัน หรือแกล้งไม่เข้าเลยก็ว่าได้

เพราะการกระทำของผู้เขียนเป็นการกระทำที่กระทบต่อ “วงการศาลยุติธรรม” เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา “วงการศาลยุติธรรม” ในความเห็นของผู้เขียนได้กระทำอยู่เพียงอย่างเดียว คือ พยายามขยายอาณาจักร หรือขยาย bureaucracy กันตลอดมา และเพิ่มจำนวนผู้พิพากษากัน

จน ศาสตราจารย์ หลวงจำรูญเนติศาสตร์ อดีตประธานศาลฎีกา และอดีตรัฐมนตรียุติธรรม ถึงกับกล่าวว่า

“การเพิ่มจำนวนผู้พิพากษา (ในศาลสูง) มิได้ดูที่สมุฏฐาน แต่เป็นการกระทำเพื่อขอไปที”6

ในความเห็นของผู้เขียนนั้น การจัดตั้งศาลทุจริตและประพฤติมิชอบเมื่อเร็วๆ นี้ ก็เป็นตัวอย่างที่ดีอันหนึ่ง

นักนิติศาสตร์ไทยในสถาบันการศึกษา กล่าวคือ คณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย กับนักกฎหมายที่มีส่วนร่วมใน “สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา” ก็ยังเข้าใจกฎหมายต่างกันอย่างมาก

และดูเหมือนนักนิติศาสตร์ในสถาบันการศึกษาจะดำเนินความคิดตามนักกฎหมายใน “สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา” เสียแหละมาก

ในบทความที่ลงพิมพ์ใน “มติชนสุดสัปดาห์” กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ผู้เขียนได้กล่าวถึงการปฏิรูปกฎหมายในอดีตว่ามีสองครั้ง

ครั้งแรก คือ การปฏิรูประบบราชการในยุคสมัยในหลวงรัชกาลที่ 5 และ

ครั้งที่สอง คือ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2540

โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้กล่าวถึง มาตรา 236 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่บัญญัติว่า

“มาตรา 236 การนั่งพิจารณาคดีของศาลต้องมีผู้พิพากษาหรือตุลาการครบองค์คณะ และผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งมิได้นั่งพิจารณาคดีใด จะทำคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยคดีนั้นไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

การปฏิบัติตามบทบัญญัตินี้ในปัจจุบัน ผู้เขียนก็เห็นว่าจะไม่ค่อยเต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าใดนัก

ในบทความที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ผู้เขียนได้กล่าวแล้วว่าการที่องค์คณะพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นมีผู้พิพากษา 2 คนนั้น ก็มีที่มาที่ไป

โดยผู้เขียนได้กล่าวในบทความเรื่องดังกล่าวว่าเกิดจากเหตุผลสองประการ คือ

(1) เมื่อเดิมเราสามารถผลิตนักฎหมายได้น้อยมาก และ

(2) ความไม่สะดวกในการคมนาคมในบ้านเมือง

ทางแก้เกี่ยวกับ “การผลิตนักกฎหมายได้น้อยมาก” ในอดีตนั้น ก็มีกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมในปี 2477 เปิดโอกาสให้มีการตั้ง “สำรองผู้พิพากษา”

เพื่อ “นั่งเป็นสำรองผู้พิพากษา” ให้ครบองค์คณะพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นได้

กล่าวคือ ตามกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเก่านั้น

บังคับให้ “สำรองผู้พิพากษา” ทำหน้าที่เป็น “ศาลพิจารณา” (Trial Court) ไม่ใช่เพียงลงนามรับรู้การทำงานของ “ผู้พิพากษาชีพ”

ส่วนทางแก้เกี่ยวกับ “ความไม่สะดวกในการคมนาคมในบ้านเมือง” ก็คือ

การเปิดโอกาสให้มี “ทนายความชั้นที่ 2” เพื่อแก้ไขปัญหาที่ความผิดอาญาบางฐานกำหนดให้ศาลต้องตั้งทนายความให้จำเลย

แต่ครั้นเมื่อเรามีกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลฉบับใหม่ในเวลาต่อมา “วงการศาลยุติธรรม” ก็ละเลยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไปเสียสิ้น

จนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้รื้อฟื้นเรื่อง “องค์คณะของผู้พิพากษา” ขึ้นมาว่ากันอีก อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่ได้ผลอีกเช่นเคย จนผู้เขียนเคยกล่าวความว่า

“กฎหมายของเราหลังจากการปฏิรูปเมื่อปี 2540 นั้น ดีไม่แพ้กฎหมายของประเทศใดในโลก แต่นักกฎหมายของเราจำนวนหนึ่งยังแย่อยู่ ดังนั้น ผู้ที่เป็นลูกหนี้ชั้นต้นจึงมิใช่ใครอื่น แต่คือ สถาบันการศึกษา”

6ดู หลวงจำรูญเนติศาสตร์ “แนวความคิดการปรับปรุงราชการศาลยุติธรรม” วารสารกฎหมายธุรกิจบัณฑิตย์ ฉบับที่ 6 มกราคม – มิถุนายน 2549; หรือ ดู คณิต ณ นคร “เรื่องเดียวกัน” ใน กระบวนการยุติธรรมในมุมมองของ คณิต ณ นคร พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์วิญญูชน พิมพ์เดือนตุลาคม 2556 หน้า 135-159