คณิต ณ นคร | เมื่อประธานชมรมข้าราชการอัยการบำนาญ ส่งสารถึงอัยการสูงสุด (3)

เนื่องจากผู้เขียนเห็นว่า นักกฎหมายของไทยเรายังอ่อนด้อยในทางทฤษฎีกฎหมายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับ “กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”

เหตุนี้ผู้เขียนจึงได้รีบเร่งผลิตตำรา “กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” ในทางทฤษฎีขึ้นเล่มหนึ่งในทันที และผู้เขียนสามารถกระทำจนสำเร็จได้ทันก่อนปีการศึกษา 2528 นั้นเอง และก่อนเปิดการเรียนการสอนของ “สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา” ในปีนั้น

ที่ผู้เขียนต้องเร่งรีบในการผลิตตำราดังกล่าวมานั้น ก็เพื่อให้นักศึกษาของ “สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา” ได้มีเครื่องมือในการเรียนการสอน และในด้านการบรรยายของผู้เขียนนั้น ผู้เขียนก็ได้พยายามบรรยายให้เป็นทฤษฎี

ดังนั้น การบรรยายกฎหมายของผู้เขียนจึงเป็นการกระทำที่แตกต่างจากผู้บรรยายคนอื่นๆ ของสถาบันแห่งนี้ ซึ่งข้อนี้เป็นที่ทราบกันดีในวงการกฎหมายและนักศึกษากฎหมาย

การเขียนตำรา “กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” นั้น เป็นความตั้งใจของผู้เขียนมาตั้งแต่ขณะเมื่อผู้เขียนกำลังศึกษากฎหมายอยู่ ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

เพราะตามแนวการศึกษาของผู้เขียนนั้น ทางราชการกำหนดให้ศึกษาเน้น “กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” ผู้เขียนจึงต้องได้ทำ “วิทยานิพนธ์” หรือ Dissertation ในชั้นปริญญาเอก หรือ Doktor der Rechte (Doctor of Laws) ในด้าน “กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”

และความตั้งใจของผู้เขียนที่จะเขียนตำรากฎหมายลักษณะวิชาดังกล่าวเพิ่งประสบความสำเร็จเมื่อผู้เขียนได้รับเกียรติจาก “สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา” ดังกล่าวมาแล้วนี้เอง

ใน “คำนำ” ของหนังสือเล่มนี้นั้น ผู้เขียนจึงได้กล่าวเกี่ยวกับกฎหมายลักษณะนี้ว่า

กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิใช่หลักปฏิบัติ (rule) แต่เป็นกฎหมาย (law) การที่เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ในหลายเรื่องไม่ตรงกับทางปฎิบัติจึงเป็นธรรมดา เพราะหลักกฎหมายของประเทศประมวลกฎหมายเป็นเช่นนั้น และหลักกฎหมายบางอย่างเป็นสากล สิ่งสำคัญก็คือนักกฎหมายต้องเป็น “วิศวกร” มิใช่ “ช่างฝีมือ”

และเกี่ยวกับตำราเล่มนี้ “กลุ่มเนติธรรม” ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการผลิตตำราเล่มนี้ ก็ได้กรุณากล่าวยกย่องทั้งตำราและตัวผู้เขียนไว้ในหัวข้อ “จากเนติธรรม” อีกว่า

“กลุ่มเนติธรรมมีความสำนึกอยู่ทุกขณะว่า การเสริมสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และผู้ที่ทำความยุติธรรมอันแท้จริงให้ปรากฏได้คือ นักกฎหมายที่ยึดมั่นในหลัการแห่งกฎหมายอันเป็นสัจธรรม

ดร.คณิต ณ นคร เป็นนักกฎหมายที่ยึดมั่นในหลักการแห่งกฎหมายและมีแนวความคิดที่เด่นชัด ซึ่งจะเห็นได้จากบทความทางวิชาการ หรือการบรรยายวิชากฎหมายของท่าน ดังนั้น เมื่อ ดร.คณิต ณ นคร ได้เขียนตำรา “กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” เล่มนี้ขึ้น จึงเป็นตำราที่มีคุณค่าที่สุดที่ถ่ายทอดแนวความคิดอันเป็นหลักการแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้ปรากฏแก่นักกฎหมายทั่วไป

การที่กลุ่มเนติธรรมได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ดำเนินการจัดพิมพ์ตำรากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของท่าน จึงเป็นความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง กลุ่มเนติธรรมหวังว่าผู้ที่ได้ศึกษาตำรา “กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” เล่มนี้คงจะได้ช่วยกันทำความยุติธรรมอันแท้จริงให้ปรากฏแก่สังคมสืบไป”

และสุดท้าย ใน “หลังปก” ของตำราเล่มนี้ “กลุ่มเนติธรรม” ยังกล่าวเป็นการแนะนำอีกว่า

“หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มแรกในวงการกฎหมายไทยที่จะนำไปสู่การทำความเข้าใจกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามหลักและทฤษฎีเช่นที่กระทำกันในประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมาย ในการเรียบเรียงผู้เขียนได้นำคำพิพากษาศาลฎีกา ทั้งก่อนและหลังการใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาวิเคราะห์ประกอบ ทั้งยังได้สอดแทรกข้อคิดและคำวิจารณ์เพื่อการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในอนาคตไว้ด้วย หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสำหรับนักศึกษา นักกฎหมาย นักนิติศาสตร์ นักนิติบัญญัติ และผู้สนใจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทุกคน”

ก่อนที่ผู้เขียนจะได้กล่าวถึงเนื้อหาของบทความเรื่องนี้ต่อไป ผู้เขียนใคร่ขอกล่าวในที่นี้เสียก่อนว่า การที่ผู้เขียนยอมให้ผู้อื่นกล่าวชมตัวผู้เขียนนั้น ผู้เขียนทราบดีว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง แต่ผู้เขียนก็เห็นใจ “กลุ่มเนติธรรม” ที่ต้องยอมแบกรับความเสี่ยงในการลงทุนในครั้งนี้

ต่อไปนี้ผู้เขียนใคร่ขอวกกลับมากล่าวเกี่ยวกับเนื้อหาของบทความเรื่องนี้ต่อไปว่า

กรณีที่ผู้เขียนเองได้กระทำ และ “กลุ่มเนติธรรม” ได้กระทำไปนั้น ก็มีผลเกิดขึ้นและติดตามมาสำหรับทั้งตัวผู้เขียนและ “กลุ่มเนติธรรม” คือ

(1) ปรากฏว่ามีนักศึกษาที่ให้ความสนใจกับการบรรยายของผู้เขียนน้อยมากๆ กล่าวคือ มีผู้มาฟังการบรรยายของผู้เขียนเพียงประมาณ 20 คนเท่านั้น และปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นติดต่อกันมาทุกปี

(2) ตำรา “กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” ซึ่ง “สำนักพิมพ์เนติธรรม” ได้พิมพ์ครั้งแรกในปี 2528 เป็นจำนวน 3,000 เล่ม ในขณะที่นักศึกษาในขณะนั้นมีนักศึกษาประมาณ 7,000 คน ทำให้ “กลุ่มเนติธรรม” ค่อนข้างจะฝันหวานกันว่าคงจะได้พิมพ์ใหม่กันอีกในเร็ววันหรือในปีถัดมา

แต่ผลปรากฏว่าผู้ที่ซื้อไปอ่านมีเพียงนักศึกษาที่เรียนในชั้นปริญญาโททางนิติศาสตร์กับผู้เขียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนิสิตที่เรียนในชั้นปริญญาโททางนิติศาสตร์กับผู้เขียนที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีอยู่จำนวนประมาณหลักสิบเท่านั้นในทั้งสองแห่ง

ตำราเล่มนี้จึงเหลืออยู่ในปีแรกจำนวนกว่า 2,000 เล่ม เรียกว่า “เหลือเบะ”

และกว่าจะจำหน่ายหมดต้องใช้เวลานานถึง 7 ปีเศษ กรณีนี้จึงทำให้ชาวคณะผู้จัดพิมพ์ต่างหมดแรงและหมดกำลังทรัพย์ไปตามๆ กัน

กล่าวให้ชัดก็คือ “ขาดทุนกันยับเยิน”

อนึ่ง เกี่ยวกับตำราเล่มในการพิมพ์ครั้งแรกนี้ คุณเกริก วณิกกุล ได้กรุณาเขียนวิจารณ์ในทางบวกลงพิมพ์ในบทบัณฑิตย์ เล่ม 42 พ.ศ.2529 ซึ่งคุณเกริก วณิกกุล นั้น เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ และเป็นผู้พิพากษาศาลยุติธรรม

และสำหรับผู้เขียนเองแล้ว ผู้เขียนก็ไม่ได้ย่อท้อต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวเลย

ดังนั้น ในการออกข้อสอบตลอดระยะเวลาที่ผู้เขียนรับผิดชอบในการบรรยาย ผู้เขียนก็พยายามออกข้อสอบในทางทฤษฎีตลอดมา

และแล้วในปีที่เจ็ดของการบรรยาย ข้อสอบที่ผู้เขียนออกไปจำนวน 2 ข้อ ก็ได้รับเลือกให้เป็นข้อสอบทั้งสองข้อ

ผลปรากฏว่านักศึกษาของสำนักอบรมฯ ตอบข้อสอบทั้งสองข้อที่ผู้ออกไม่ได้ กรณีจึงสอบตกในลักษณะวิชานี้กันเป็นจำนวนมาก

และแล้วหลังจากนั้น หนังสือตำรา “กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” ที่พิมพ์ครั้งแรกนี้ก็ขายดีเป็น “เทน้ำเทท่า”

กล่าวคือ หนังสือที่เหลืออยู่อยู่ประมาณ 2,000 เล่มเศษ ก็จำหน่ายหมด และต้องพิมพ์จำหน่ายต่อไปจนเกือบจะเรียกว่าปีเว้นปี

ปรากฏการณ์ที่ผ่านมาจึงอาจกล่าวได้ว่า เป็นการประสบความสำเร็จในการ “ปฏิรูปนักกฎหมาย” ของผู้เขียน