บทความ : โรงเรียนอนุบาลจะรับมืออย่างไร ในยุค New Normal*

ผศ.ดร.สุทธิพรรณ ธีรพงศ์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ส่งผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของบุคคลและการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม รูปแบบการใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ ของบุคคลจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปจากเดิมเพื่อเอาชนะปัญหาการแพร่ระบาดของโรคระบาด COVID-19 และทุกคนต้องทำวิถีชีวิตใหม่นี้ให้เป็นเรื่องปกติ (New Normal) การปรับเปลี่ยนเกิดขึ้นในทุกมิติของชีวิต ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน สถานศึกษา และที่สาธารณะ

สิ่งที่เป็นโจทย์สำคัญสำหรับทุกคนคือเราจะปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อที่จะผ่านวิกฤตินี้ไปได้ และเราจะปกป้องความปลอดภัยของบุตรหลานในวัยอนุบาลได้อย่างไรเมื่อต้องไปโรงเรียน

คำถามที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ต้องการคำตอบ คือ โรงเรียนจะปลอดภัยสำหรับลูกหรือไม่ ในขณะที่โรงเรียนเป็นแหล่งรวมของเด็ก ๆ จำนวนมาก ซึ่งจัดว่าเป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูง และเด็กวัยนี้ไม่สามารถที่จะดูแลตนเอง ไม่มีวิจารญาณที่ดีในการตัดสินใจในการกระทำสิ่งต่าง ๆ ที่จะป้องปกตนเองให้ปราศจากเชื้อโรคได้ เด็กยังต้องการการดูแลที่ดีจากครู ถ้าโรงเรียนไม่มีระบบการจัดการที่ดี อาจก่อให้เกิดการแพร่กระจายของโรคดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว คำถามที่พ่อแม่ทุกคนต้องการคำตอบคือจะวางใจได้อย่างไรเมื่อลูกไปโรงเรียน

ดังนั้น การนำรูปแบบการดำรงชีวิตแบบใหม่มาใช้ในโรงเรียนอนุบาล New Normal in Preschool During COVID-19 และการเว้นระยะทางห่างทางสังคมของเด็กอนุบาล Ways to Social Distance at Preschool During COVID-19 จึงเป็นคำตอบสำหรับพ่อแม่

ความมั่นใจที่โรงเรียนอนุบาลมอบให้กับครอบครัว คือ“การจัดการเรียนรู้ยังคงดีเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือ

ความปลอดภัย” การบริหารจัดการแบบ New Normal คือ แนวทางที่จะสร้างความมั่นใจให้กับพ่อแม่  และนำมาซึ่งความไว้วางใจในโรงเรียนเช่นเดิม ด้วยการทำงานของโรงเรียนบนพื้นฐานข้อกำหนดทางสาธารณสุข และการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีให้กับเด็ก

มีระยะห่างทางสังคม ที่สำคัญคือต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างครอบครัวและโรงเรียน จึงจะสามารถป้องกันปัญหาการแพร่ระบาดของโรคได้

มิติใหม่ของโรงเรียน ทุกพื้นที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ในโรงเรียนต้องสะอาด ปราศจากเชื้อโรค ผ่านการทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรคทุกวัน โรงเรียนมีจุดคัดกรองบุคคลทุกคนก่อนเข้าสถานศึกษา มีจุดล้างมือและจุดฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ

การจัดการเว้นระยะห่างทางสังคม Social Distancing ในการเรียนรู้ โรงเรียนกำหนดอัตราส่วนพื้นที่ต่อจำนวนนักเรียนและครูผู้ดูแลเด็กที่เป็นไปตามข้อกำหนดของกระทรวงศึกษาธิการ และให้ความสำคัญกับการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็ก ที่คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก โดยใน 1 วันที่เด็กอยู่ที่โรงเรียน เด็กจะอยู่ในความดูแลของครูท่านเดิมจนกระทั่งกลับบ้าน

ส่วนการจัดกิจกรรมประจำวัน มีการปรับเปลี่ยนวิธีการ ตั้งแต่การกำหนดให้เด็กเว้นระยะห่างในการนั่ง กิจกรรมที่ต้องใช้อุปกรณ์

ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ครูต้องจัดหาอุปกรณ์ให้เพียงพอต่อจำนวนเด็ก ไม่ผลัดกันใช้ชิ้นเดียวกันใน 1 วัน ขณะทำกิจกรรมจะมีแผ่นใสกั้นระหว่างเด็กแต่ละคนในกรณีที่ต้องใช้โต๊ะตัวเดียวกัน หรือพื้นที่ใกล้ ๆ กัน แต่ทั้งนี้ ครูจะต้องสามารถมองเห็นเด็กทุกคนได้ตลอดเวลาในขณะทำกิจกรรม การจัดกิจกรรมกลางแจ้งครูต้องปรับกิจกรรมการเล่น เน้นกิจกรรมที่ต่างคนต่างเล่น ละเว้น

การเล่นเกมที่ต้องเล่นเป็นกลุ่มหรือเป็นทีม และการเล่นที่ต้องสัมผัสกัน ทั้งนี้ ครูต้องบริหารเวลาในการทำกิจกรรมของเด็ก ให้เหมาะสม เพื่อป้องกันการทำกิจกรรมที่เกิดขึ้นโดยที่ครูไม่สามารถควบคุมได้ ระบบการบริหารจัดการห้องต่าง ๆ ในโรงเรียน

มีการจัดลำดับการเข้าใช้บริการของนักเรียน เน้นการทำความสะอาดและการฆ่าเชื้อโรคหลังการใช้อย่างสม่ำเสมอ ด้วยการจัดบุคลากรเพื่อทำความสะอาดพื้นที่และวัสดุอุปกรณ์ทุกครั้งหลังการใช้

กิจกรรมลดความแออัดในยามเช้าและเย็น โรงเรียนมีระบบการรับส่งนักเรียน เพื่อลดความแออัดในการรับส่งนักเรียน โดยปรับระยะเวลาหรือเหลื่อมช่วงเวลาในการรับส่งเด็ก และกำหนดสถานที่ที่ไม่แออัดเพื่อป้องกันจำนวนผู้ปกครองที่มารับส่งเด็กในเวลาเดียวกัน

การใส่ใจสุขภาพบุคลากร บุคลากรในสถานศึกษาทุกคนมีวิถีปฏิบัติในเรื่องสุขอนามัยที่ดี โดยระมัดระวังตนไม่เข้าไปในสถานที่ที่เป็นสถานที่เสี่ยงของโรค สถานศึกษาจัดให้มีข้อมูลประวัติความเสี่ยงของบุคลากรและเด็กทุกคนย้อนหลัง 15 วัน เพื่อยืนยันสถานภาพความเสี่ยงของบุคลากรในโรงเรียน บุคลากรทุกคนในสถานศึกษาต้องสวมหน้ากากอนามัย ตลอดเวลาในการทำงานและแต่งตัวให้รัดกุมเพื่อป้องกันตนเองจากการสัมผัสสารคัดหลั่งที่มาจากเด็ก เวลาเด็กร้องไห้หรือในสภาวะสุดวิสัยที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ต่าง ๆ  และมีการล้างมือทำความสะอาดร่างกายอย่างสม่ำเสมอ

การเตรียมการก่อนเปิดเรียน โรงเรียนควรมีการติดต่อสื่อสารกับครอบครัวและเด็ก ๆ ในขณะที่โรงเรียนยังไม่เปิด เพื่อให้พวกเขารู้จักใบหน้าของครูและสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูและผู้ปกครอง อาจใช้กิจกรรมการไปพบเด็กที่บ้านหรือติดต่อสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์หรือวิดีโอคอลตามความเหมาะสม

กิจกรรมที่ควรละเว้นในช่วงนี้ คือ ยกเลิกกิจกรรมที่เด็กต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ โดยโรงเรียนอาจขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้รับเด็กกลับไปนอนกลางวันที่บ้าน กรณีที่ครอบครัวมีความจำเป็นต้องให้เด็กนอนกลางวันที่โรงเรียน ครูต้องจัดสถานที่สำหรับนอนกลางวันด้วยการเว้นระยะห่างและมีอากาศถ่ายเทสะดวก พื้นที่และเครื่องนอนต้องสะอาด ผ่านการฆ่าเชื้อ
ทุกวัน

ความสำเร็จในต่อสู้กับไข้หวัด COVID-19 เกิดขึ้นได้จากการสร้างบรรยากาศและความคิดเชิงบวกแก่ผู้ปกครองและเด็กให้ตระหนักถึงความสำคัญและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมโรค การสร้างความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างครู และผู้ปกครองในการทำงานจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ครู ผู้ปกครอง และเด็กผ่านวิกฤติ COVID-19 ไปด้วยกัน