เปิดโรงเรียนประถมและศูนย์เด็กเล็กเร็วกว่าแผนเดิมดีไหม

รัฐบาลประกาศใน พรก.ฉุกเฉินให้เลื่อนเปิดภาคการศึกษาแรกไปเป็นต้นเดือนกรกฎาคมเนื่องจากการระบาดของโควิด อันนี้ทำตามกระแสของโลกหรือเปล่าไม่รู้

จีนเป็นประเทศแรกที่ปิดเรียนทั้งประเทศสังเวยโควิดเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ตามด้วยประเทศเพื่อนบ้านทางเหนือ คือ มองโกเลีย

จากนั้นเมื่อโควิดระบาดเข้าอิตาลี ตะวันออกกลาง ยุโรปและอเมริกาเมื่อต้นมีนาคม อิหร่านเป็นประเทศเดียวที่ปิดโรงเรียนทั้งประเทศ ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่ว่ามาปิดเฉพาะเขตที่มีการระบาด กลางเดือนมีนาคม ประเทศทั่วโลกปิดโรงเรียนบางส่วนหรือทั้งหมด (ไทยอยู่ในกลุ่มนี้)

ต้นเดือนเมษายนทั่วโลกเหลือเพียงสองประเทศที่ปิดโรงเรียนบางส่วน คือ อเมริกาและออสเตรเลีย ประเทศที่เหลือปิดโรงเรียนหมดทั่วประเทศ

ต้นพฤษภาคม ประเทศที่คิดว่าตัวเองไม่แพ้โควิดแล้ว ได้แก่นิวซีแลนด์ และยุโรปตอนเหนือ ก็เปิดโรงเรียน จีนเองต้นตำรับก็เปิดโรงเรียนยกเว้นบางมณฑลที่ยังมีการระบาดอยู่

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือ เวียดนาม ซึ่งประเมินว่าเป็นประเทศที่ควบคุมโควิดได้ดี(กว่าไทยนิดหน่อย) มีรายงานผู้ป่วยต่ำสิบตลอดเดือนเมษายน และเกือบไม่มีผู้ป่วยใหม่เลยในเดือนต่อมา ยกเว้น 7 รายในวันที่ 7 และ 25 รายในวันที่ 15 พฤษภาคม ก็ประกาศเปิดโรงเรียนทั่วประเทศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ทั่วโลกหวาดกลัวโควิดเกินไป หรือว่า นิวซีแลนด์ ยุโรปเหนือ และเวียดนามเสี่ยงเกินไป

 

การปิดโรงเรียนน่าจะมาจากเหตุผลทางระบาดวิทยาใหญ่ ๆ สองประการ

ประการแรก เกรงว่าโรงเรียนอาจจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโควิด เพราะมีนักเรียนอยู่ด้วยกันมากเป็นเวลานาน
ประการที่สอง ถ้าปิดโรงเรียน จะช่วยลดการเคลื่อนไหวของประชากรจากการเดินทางไปส่งและรับนักเรียน ลดการสัมผัสในกลุ่มประชาชนและลดการแพร่โรค

เมื่อเร็ว ๆ นี้ฝรั่งเศสและเกาหลีที่ทดลองเปิดโรงเรียนก็ต้องรีบปิดโรงเรียนเมื่อมีโรคโควิดในเด็กนักเรียน แต่นั่นเป็นตัวอย่างเล็ก ๆ ถ้าสามกลุ่มประเทศข้างต้นดำเนินการไปสักระยะหนึ่งแล้ว เราอาจจะเห็นว่าเปิดโรงเรียนเพิ่มการระบาดโควิดจริงหรือไม่ ผมเดาว่ามีผลบ้าง แต่อาจจะไม่มากอย่างที่กลัว เพราะเหตุผลทางระบาดวิทยาที่จะกล่าวต่อไป

ส่วนการปิดโรงเรียนช่วยลดการเดินทางรถติดในเมืองนั้นจริงแน่ ๆ แต่รถติดทำให้โรคโควิดกระจายหรือเปล่ายังไม่แน่

หลักฐานทางระบาดวิทยาเรื่องโควิดกับเด็กส่วนใหญ่บ่งบอกว่าอาจจะไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เด็กที่ติดเชื้อเป็นเพียง 5% ของกลุ่มผู้ติดเชื้อทั้งหมด เด็กมีอาการป่วยรุนแรงและมีอัตราตายน้อยกว่าผู้ใหญ่ และการสอบส่วนโรคเกือบจะไม่พบว่าผู้ใหญ่ติดเชื้อเพราะไปรับเชื้อจากเด็ก ในทางตรงกันข้าม เด็กต่างหากที่รับเชื้อจากผู้ใหญ่

งานวิจัยที่ว่าโควิดแพร่ในโรงเรียนกว้างขวางขนาดไหนและกระจายออกสู่ชุมชนมากเพียงไรยังไม่มี เพราะโรงเรียนส่วนใหญ่ปิดหมด

การวิจัยวัณโรคที่ระบาดระเบิดในโรงเรียน (school outbreaks) ในมณฑลกว่างซีประเทศจีนกว่าร้อยโรงเรียนซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของลูกศิษย์ของผมคนหนึ่งพบว่า วัณโรคในโรงเรียนเริ่มต้นจากเด็กที่มีครอบครัวป่วยเป็นวัณโรค เด็กรับเชื้อมาจากบ้านแล้วมาแพร่ในโรงเรียน ทั้งนี้เพราะในประเทศจีน (ซึ่งก็เหมือนประเทศไทย) การสอบสวนควบคุมวัณโรคไม่เข้มงวดเหมือนการสอบสวนควบคุมโควิด

งานภาคสนามของเราโดยนักศึกษาไทยพบว่ามีเพียงร้อยละ 50 ของผู้สัมผัสโรค ซึ่งน่าจะได้รับเชื้อวัณโรคจากผู้ป่วยในบ้านเท่านั้น ที่ได้รับการเอ็กซเรย์ การควบคุมโรค(ทั้งวัณโรคและโควิด)ในโรงเรียน จึงต้องเริ่มต้นจากการควบคุมโรคที่บ้าน โควิดเป็นโรคระบาดเฉียบพลัน วัณโรคเป็นโรคระบาดเรื้อรัง หลายอย่างไม่เหมือนกัน แต่คาดว่าที่เหมือนกันคือโรคแพร่จากบ้านเข้าสู่โรงเรียน

 

การปิดโรงเรียนมีผลกระทบต่ออนาคตของครัวเรือนต่างกันตามเศรษฐฐานะ ครัวเรือนที่มีฐานะดีในเมืองจะมีวัฒนธรรมให้เด็กได้แสวงหาความรู้จากอินเตอร์เน็ต (กลุ่ม “Have Nets” ตามบทความที่แล้ว) และอาจจะเชิญครูหรือติวเตอร์มาสอนพิเศษที่บ้านระหว่างที่โรงเรียนยังไม่เปิด หรืออาจจะสมัครเรียนหลักสูตรออนไลน์ในประเทศอื่น ๆ ที่เจริญกว่าประเทศไทย เพื่อปูทางไปสู่การศึกษาต่อในต่างประเทศ ส่วนครัวเรือนชั้นล่าง เป็นกลุ่ม “Have Nots” นอกจากไม่มีเน็ตแล้วยังไม่มีอย่างอื่นที่จำเป็นอีกหลายอย่างโอกาสทางการศึกษาหายไปเป็นเดือน การสำรวจผู้ปกครองโรงเรียนเทศบาลหาดใหญ่ซึ่งเป็นเมืองที่มีฐานะดีที่สุดของภาคใต้พบว่าผู้ปกครองไม่ถึงครึ่งที่มีอินเตอร์เน็ตและพอจะหาคอมพิวเตอร์มาให้ลูกเรียนออนไลน์ได้

เข้าเรื่องการศึกษาที่ลดความเหลื่อมล้ำกันดีกว่า นั่นคือการศึกษาของเด็กเล็กทั้งปฐมวัย และ ประถมศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

ในปี 1970 มีเด็กวัยนี้ถึงกว่า 1 ใน 4 ของโลก คือ 28% ไม่จบประถมศึกษา

ต้นสหัสวรรษ สหประชาชาติมี Millennium Development Goal หรือเป้าหมายการพัฒนาแห่งทศวรรษจะกำจัดความยากจนให้หมดจากโลก จบโครงการปี 2015 ยังมีเด็กไม่จบชั้นประถมเหลืออีก 9% หรือราว 60 ล้านคน พวกนี้ส่วนใหญ่อยู่ในเขตที่มีการสู้รบ และ/หรือ รัฐล้มเหลว (failed states)

 

สำหรับเด็กยากจน ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนไม่ได้เป็นแค่ที่ให้เด็กมาเรียนและมาเล่นเท่านั้น ที่นี่เป็นที่ซึ่งเด็กได้รับความปลอดภัยจากความรุนแรงในครอบครัว และกลุ่มอาชญากรรมในชุมชน โครงการต่าง ๆ ของรัฐและองค์กรการกุศลทำให้โรงเรียนส่วนใหญ่มีสภาพแวดล้อมทั้งสุขาภิบาลและสุนทรียภาพที่ดี สำหรับเด็กยากจน ที่นี่เป็นที่ซึ่งเด็กมีโอกาสได้รับอาหารที่มีคุณค่าซึ่งทางบ้านอาจจะไม่สามารถหาให้ได้ด้วยขีดจำกัดทางเศรษฐกิจและความรู้

สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วและสังคมเมืองบ้านเรา นอกจากช่วยเด็ก ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนยังช่วยผู้ปกครองให้มีเวลาทำงานหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเลี้ยงลูก รัฐบาลในยุโรปเหนือเร่งเปิดโรงเรียน ไม่ใช่เพราะกลัวพัฒนาการของเด็ก แต่ต้องการให้ประชาชนหนุ่มสาวได้ดำเนินกิจการงานของตน พยุงเศรษฐกิจของชาติไม่ให้ตกต่ำจากโควิดมากเกินไป

ประเทศไทยดูเหมือนจะคิดตรงกันข้ามกับสิ่งที่ผมนำเสนอมาข้างบน ยุทธศาสตร์การศึกษายุคโควิดระบาดที่กระทรวงศีกษาธิการแสดงมาบน website แสดงถึงว่าเรากำลังเน้นการเรียนผ่านอินเตอร์เน็ตทั้งแผงการศึกษาด้วยความหวาดกลัวโควิด ยังไม่ทราบว่าการต่อเวลา พรก.ฉุกเฉิน มีผลต่อการเปิดโรงเรียนหรือไม่

 

สำหรับเด็กโต วัยรุ่น และ นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัย ผมเห็นด้วยว่าการเรียนทางอินเตอร์เน็ตซะบ้างน่าจะเป็นเรื่องดี เพราะเด็กโตควรรู้จักหาความรู้ด้วยตนเองซึ่งส่วนใหญ่อยู่บนอินเตอร์เน็ต เด็กโตไม่ค่อยเป็นภาระที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องดูแล โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยจะเปิดหรือไม่ ไม่ค่อยมีผลต่อการทำงานของพ่อแม่ เพราะไม่ต้องคอยรับส่งและช่วยทำการบ้านมากนัก ส่วนที่จะต้องระวังมากกว่า คือปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่น ซึ่งปรกติจะเป็นกลุ่มอายุที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง แต่สถิติในช่วงโควิดการฆ่าตัวตายน่าจะมาจากวัยแรงงานซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจมากกว่า

แต่ที่กระทรวงศึกษาวางยุทธศาสตร์ว่าให้เด็กเล็กเรียนทางอินเตอร์เน็ตด้วยและให้พ่อแม่ช่วยสอนทำหน้าที่เป็นครูอยู่ที่บ้าน ผมไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนยากจนทั้งในเมืองและชนบทด้วยเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว อินเตอร์เน็ตไม่สามารถให้ความปลอดภัยความอบอุ่นจากความรุนแรงในครอบครัวและอาชญากรรมที่จะเพิ่มขึ้นจากความยากจน อินเตอร์เน็ตไม่สามารถทดแทนสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและสุนทรียะของโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก และการเรียนทางอินเตอร์เน็ตโดยให้พ่อแม่สอนแทนครูเป็นการถ่วงพ่อแม่ทำให้ไม่สามารถใช้เวลาไปทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวได้

ความมั่นคงของมนุษย์ที่สำคัญของมนุษย์รุ่นปัจจุบันอยู่ที่ขีวิตความเป็นอยู่ ความมั่นคงของอนาคตอยู่ที่คุณภาพของประชากรรุ่นใหม่ สภาความมั่นคงแห่งชาติและกระทรวงศึกษาธิการควรทบทวนเวลาเปิดเรียนของศูนย์เด็กเล็กและประถมศึกษาในเขตยากจน การเปิดเรียนช้าและใช้อินเตอร์แทนโรงเรียนน่าจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อชุมชนและเป็นปัญหาความมั่นคงของชาติด้วย

กลับมาที่ระบาดวิทยาอีกครั้ง โควิดมาจากคน โดยเฉพาะคนเดินทาง พื้นที่อาเซียนในแผ่นดินใหญ่รวมทั้งไทยมีการระบาดของโควิดไม่มาก หลายจังหวัดของโควิดไม่เคยมีผู้ป่วยโควิดเลย ในจังหวัดที่มีการระบาดก็ไม่มีกรณีศึกษาเลยว่าโรงเรียนแพร่โรคสู่ชุมชนและครัวเรือน ข้อมูลทางระบาดวิทยาเหล่านี้ควรมาใช้ในการวางแผนในการจัดการศึกษาของแต่ละพื้นที่ซึ่งมีระบาดวิทยาของโควิดไม่เหมือนกันและมีพื้นฐานเศรษฐฐานะของครัวเรือนต่างกัน ผมเคยเปรียบว่าไทยเราเหมือนเต่าหดหัวอยู่ในกระดองด้วยกลัวภัยโควิด เมื่อโควิดซาลงหน่อยแล้ว ก็ต้องโผล่หัวออกจากกระดองมาหาอาหารเลี้ยงชีพกันอดตาย นั่นก็คือการมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งเรากำลังเริ่มอยู่ นอกจากอาหารยาไส้แล้ว เรายังต้องการโรงเรียนประถมและศูนย์เด็กเล็กไว้ยาใจ และยาสมอง เด็ก ๆ และพ่อแม่เด็กในเขตยากจนต้องการให้รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลับมาดูแลเร็วหน่อย

แล้วเรื่องนี้เกี่ยวกับงานสาธารณสุขอย่างไร? เกี่ยวข้องอย่างยิ่งครับ ฝ่ายสาธารณสุขขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ดูและสุขภาพศูนย์เด็กเล็กและการประถมศึกษา จะต้องเตรียมการต้อนรับการเปิดภาคเรียน ฝึกอบรมครูและพี่เลี้ยงให้ได้ตามมาตรฐานกรมอนามัย แน่นอนศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนที่สงสัยว่าอาจจะมีการระบาดของเชื้อโควิดจะต้องปิด แต่คงไม่ใช่ปิดทั้งประเทศ

โควิดไม่ค่อยได้มาจากเด็กเล็ก ๆ หรอกครับ ไม่ต้องกลัวมาก ถ้าพื้นที่ของท่านไม่ใช่เขตระบาด และยังเป็นพื้นที่ยากจนหรือกำลังจะยากจนลงจากโควิด ขอความกรุณาอ่านเรื่องนี้และกลับไปหารือกับชุมชนและพ่อแม่และผู้ปกครองว่าข้อเสนอของผมมีเหตุมีผลพอหรือไม่