โควิดกับไอที : Digital Divide หรือ Digital Divine

ตอนนี้ขออนุญาต “เล่น” คำภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสักหน่อยนะครับ

ได้กล่าวในตอนที่ผ่านมาแล้วว่าโควิดจะออกหัว คือโรคลุกลามต่อไป หรือออกก้อย คือโรคสงบ ให้รอดูวิวัฒนาการของไวรัสตัวนี้ กับวิวัฒนาการของมนุษย์ มีนักไวรัสวิทยารายงานว่าเป็นไปได้ว่าเชื้อจะวิวัฒนาการแล้วมีความรุนแรงมากขึ้น คนจะตายมากขึ้น ผมว่าก็เป็นไปได้ด้วยความบังเอิญในระยะสั้น ๆ แต่การคัดเลือกสายพันธุ์จะทำให้ในที่สุดแล้วมีเชื้อที่รุนแรงน้อยลงแต่อยู่กับมนุษย์ได้นานขึ้น หรือมิฉะนั้นก็หายไป ส่วนมนุษย์ก็วิวัฒนาการด้วยระบบสังคมและเทคโนโลยี ทำให้ติดเขื้อไวรัสน้อยลง เช่น มีการเปลี่ยนพฤติกรรมด้าน work from home และ social distancing มากขึ้น ป้องกันด้วยหน้ากากอนามัยและล้างมือ มากขึ้น และตอนนี้ประเทศไทยก็เริ่มพัฒนา app บนมือถือ “ไทยชนะ” เพื่อใช้ในการควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

พัฒนาการทางเทคโนโลยีส่วนใหญ่ ไม่ใช่เพราะมนุษย์รุ่นใหม่ฉลาดหลักแหลมขึ้น แต่เป็นเพราะการสั่งสมความรู้ ส่งถ่ายจากรุ่นสู่รุ่นด้วยระบบการศึกษา การวิจัย และระบบสังคม ถ้าเราไม่มีพื้นฐานความรู้เรื่องไวรัส เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีสิ่งที่เรียกว่าเชื้อ SARS Cov -2 หรือเชื้อโควิดที่ว่าอยู่จริงความรู้พื้นฐานเรื่อง DNA (กรณีของโควิดคือ RNA) ได้พัฒนามาจนถึงจุดที่รู้ว่าจะพัฒนาวิธีตรวจวินิจฉัยให้แน่นอนเชื่อถือได้และใช้กับคนเป็นล้าน ๆ คน ได้อย่างไร

โชคดีที่ประเทศไทยมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จำเป็นในการควบคุมโรค ทั้งด้านระบาดวิทยาและห้องปฏิบัติการถ่ายทอดมาจากสากล ทำให้ไม่ถูกโควิดขวิดไส้กระจุย แต่เราคงไม่มีความสามรถพัฒนาและผลิตวัคซีนสำหรับโรคนี้ ต้องรอซื้อจากมหาอำนาจทางไบโอเทคอย่างเมกา/ยุโรป หรือ จีน/ญี่ปุ่น/เกาหลี ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะค้นคว้าและผลิตได้ผลจริงหรือไม่

 

ก่อนยุคฟองสบู่แตกปี 2540 ประเทศไทยกำลังจะเป็นมังกรตัวใหม่แห่งเอเซีย เนื่องจากมีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจได้หลากหลายสาขา หลังฟองสบู่แตกมังกรกลับกลายเป็นงูเขียวเหมือนเดิม คู่แข่งรอบบ้านไล่ตามจวนจะทัน อุตสาหกรรมที่เน้นแรงงานถูกย้ายไปยังประเทศที่ค่าแรงถูกกว่า ความสามารถในการแข่งขันที่หลากหลายลดลง การท่องเที่ยวกลายเป็นรายได้หลัก ไทยเริ่มรู้ว่าต้องพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า ไทยแลนด์ 4.0 ทั้งทางดิจิตอลและไบโอเทค แต่วิ่งไปได้ไม่ถึง 0.4 ก็โดนโควิดเจาะยางแตก แผนเศรษฐกิจทั้งหลายต้องดัดแปลงเป็นแผนใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูประเทศจอดรถถอดล้อเปลี่ยนยาง กว่าจะขับต่อไปได้ให้ถึง กม. 4.0 ต้องใช้เวลากี่ปีก็ไม่รู้

เทคโนโลยีที่นำมาใช้มากเป็นพิเศษเพื่อเร่งรัดไปสู่ 4.0 ได้เร็วหน่อยในช่วงโควิดขณะนี้ คือ เทคโนโลยีสารสนเทศ (information technology หรือ ไอที บางทีก็เรียก ไอซีที เพราะมี C คือ communication อยู่ตรงกลาง) ซึ่งพัฒนาต่อเนื่องจากการที่ประชาชนทุกคนมีเลขประจำตัว 13 หลักซึ่งผูกกับโทรศัพท์มือถือ บัญชีธนาคารและสิทธิอื่น ๆ ที่รัฐบาลสนับสนุน ขณะนี้กระทรวงดิจิตอลกำลังเริ่มโครงการแอ็พ “ไทยชนะ” บนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นการเริ่มใช้ไอทีในการควบคุมโรค นับว่าดีมากถึงแม้ว่าจะเริ่มช้าไปและใช้ในวงจำกัดเฉพาะศูนย์การค้าเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม

ไอทีมีแนวโน้มจะใช้กันอย่างกว้างขวางขึ้นมากในยุคโควิด ทั้งการประชุม การทำมาค้าขาย และการศึกษา ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีไอทีก็กำลังก้าวสู่ระบบ 5 G ซึ่งรวดเร็วขึ้นและในทีสุด Internet of Thing ซึ่งเกือบทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตประจำวันจะติดต่อกันผ่านอินเตอร์เน็ตหมด ไอทีจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการเยียวยาปัญหาโควิด

อินเตอร์เน็ตกลายเป็นเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับครัวเรือน สมัยก่อนภาษาอังกฤษเปรียบเทียบครอบครัวรวยกับจนว่า “The Haves and The Have Nots” ภาษาไทยน่าจะแปลเล่น ๆ ว่าพวกมั่งมีกับพวกมีมั่งไม่มีมั่ง ต่อมาเมื่อมีอินเตอร์เน็ตแพร่หลาย ก็เติมคำว่า Net ลงไปเกิดคำว่า “The Have Nets and the Have Nots” ซึ่งส่อความหมายว่า การมีอินเตอร์เน็ตให้ใช้จึงเป็นสัญญลักษณ์ของความมีอันจะกิน

 

ขอนอกเรื่องนิดนึง ถ้าเป็นคนไทยบางที Net ก็อาจจะหมายถึงเส้นสาย The Have Nets ของเราอาจจะหมายถึงพวกมีเส้นสาย ส่วนพวก The Have Nots จึงกลายเป็น ”เกาเหลา” คือ ไม่มีเส้นสาย หรืออาจจะไม่กินเส้น เข้ากับคนอื่นไม่ค่อยได้ แล้วแต่กรณี

The Have Nets and The Have Nots รวมกันเป็นสภาวะทีเรียกว่า Digital Divide คำว่า Digital ก็เหมือนกับอินเตอร์เน็ต “Digital Divide” หมายถึง ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมเศรษฐกิจที่เกิดคนบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ ชุมชนที่ร่ำรวยมีระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยต้นทุนที่ไม่สูงมาก ชุมชนที่ห่างไกลออกไปเข้าถึงอินเตอร์เน็ตยากและต้นทุนสูง ช่องว่างระหว่างเมืองใหญ่กับชนบทที่มีอยู่แล้วจึงขยายกว้างขึ้นด้วย Digital Divide

รัฐบาลทุกแห่งในโลกจึงพยายามขยายอินเตอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั่วประเทศ อย่างเช่นประเทศไทยมีโครงการ “อินเตอร์เน็ตชายขอบ” ครอบคลุมพื้นที่ชายแดนทุกแห่ง เพื่อลด Digital Divide

เดี๋ยวนี้ยุค 4G ระบบอินเตอร์ไปตามระบบโทรศัพท์มือถือ ต้นทุนที่จะให้ประชาชนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตอย่างทั่วถึงถูกลงไปมาก เรามีหมายเลขโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยที่ใช้อยู่มากกว่าจำนวนประชากรไทย ชีวิตความเป็นอยู่ที่มีอินเตอร์เน็ตดีขึ้น ลางคนอาจจะจะบอกว่า Digital Divide กำลังกลายเป็น Digital Divine หรือ เทพเจ้าดิจิตอล — คำนี้ยังไม่เห็นว่าที่ไหนเขาใช้กันนะครับ ในยุคโควิด เราหวังว่าเทพเจ้าพระองค์นี้โดนเฉพาะ 5G อาจจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นคืนได้อย่างรวดเร็ว

ยุคโควิดจะทำให้ Digital Divide กลับมาเพราะคนไทยที่ตกงานจะไม่มีเงินเติมเงินมือถือหรือเปล่า เรื่องนี้ต้องไปถามบริษัทที่ให้บริการ ผมเดาว่าอินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนมือถือได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตแล้ว คงมีคนที่เลิกใช้ไม่มากนัก รัฐบาลให้เงินมาเดือนละห้าพันบาท น่าจะพอเอาไปเติมเงินมือถือได้เดือนละ 150 – 300 บาท ซึ่งก็คือ 3-6% ของเงินช่วยเหลือ

ทางที่ดีรัฐบาลและพวกเราต้องขอร้องให้บริษัทเครือข่ายมือถือช่วยชาวบ้านโดยจัดให้มี hot spot ปล่อยสัญญาณให้มีอินเตอร์เน็ตใช้ให้ทั่วถึงกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้แน่ใจว่าโควิดไม่สร้างปัญหา Digital Divide มากเกินไป

 

ปัญหา Digital Divide อันดับแรกคือการเข้าถึงซึ่งกล่าวไปแล้ว ปัญหาระดับที่สองที่ต้องสนใจ คือ ความสามารถในการใช้งาน (capacity) ของแต่ละคน แต่ละวัย หรือแต่ละครัวเรือนที่ไม่เท่ากัน โดยเฉพาะการเสาะแสวงหาความรู้และวิธีการได้ประโยชน์ใหม่ ๆ บนอินเตอร์เน็ต ซึ่งขึ้นกับพื้นฐานการศึกษาและเชาวน์ปัญญาตลอดจนความสนใจ

สำหรับคนส่วนใหญ่ที่มีพื้นฐานอ่อน อินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางไปสู่การเพิ่มรายจ่ายมากกว่าเพิ่มรายรับ ทำอย่างไรรัฐบาลจึงจะช่วยให้ประชาชนชั้นล่างได้ใช้อินเตอร์เน็ตในการสร้างรายได้ให้ได้มากกว่ารายจ่าย เพื่อให้ Digital Divide เปลี่ยนเป็น Digital Divine

ยังมีอีกระดับหนึ่งในการประเมิน Digital Divide คือการประเมินผลลัพธ์ขั้นสุดท้าย (Net Outcome) ซึ่งก็คือ คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ผลลัพธ์เหล่านี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสมรรถนะในการใช้งานอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในของแต่ละคนและนโยบายรัฐบาล ขั้นสุดท้าของ Digital Divide คือการเกิด The Net Gainers and The Net Losers (“Net” ตอนนี้แปลว่าสุทธิหรือสุดท้าย คือ ผู้กำไรสุทธิ กับขาดทุนสุทธิ —- ผมคิดคำนี้มาเองเหมือนกันครับ)

ในวิชาฟิสิกส์ เมื่ออะตอมถูกยิงด้วยอนุภาคพลังงานสูง อะตอมก็จะแตกสลายเปลี่ยนคุณสมบัติทั้งทางเคมีและกายภาพไปเป็นสารอื่น ๆ

ในระดับมนุษยชาติ เมื่อสังคมถูกพลังการเปลี่ยนแปลงปะทะอย่างรุนแรง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนก็เปลี่ยนไป การปฏิวัติอุตสาหกรรมทุนนิยม ก่อเกิด The Haves and The Have Nots และ การปฏิวัติทางดิจิตอล ก่อเกิด The Have Nets and The Have Nots และ เราต้องดูต่อไปในยุคโควิดว่าจะมีกลุ่มไหนเป็น The Net Gainers and The Net Losers ในที่สุด