บริสุทธิ์ ประสพทรัพย์ : วิวัฒนาการ สปป.ลาว บ่ฮีบ บ่ฟ้าว โหมดพัฒนาท่องเที่ยว

“ลาว” มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เกี่ยวพันไทยหลายสมัย เคยอิงกับ “อาณาจักรน่านเจ้า” ก่อนเป็นอาณาจักรล้านช้าง แล้วแตกกอเป็นล้านช้างหลวงพระบาง

ล้านช้างเวียงจันทน์ และล้านช้างจำปาสัก โดยไม่ขึ้นต่อกัน

ต่อมา…ตกอยู่กับ “อาณาจักรสยาม” นาน 114 ปี จนเกิดกรณีพิพาทฝรั่งเศส จำต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงคือลาวให้กับอินโดจีนฝรั่งเศส และฝั่งขวาอีกส่วนหนึ่ง

สงครามโลกครั้งที่ 2 ลาวแอบซ่องสุมกำลังจนกู้ชาติสำเร็จ หลังฝรั่งเศสแพ้เวียดนามในสงครามเดียนเบียนฟู จึงก่อตั้ง “ราชอาณาจักรลาว” แต่คราวนั้น

ไม่นานไฟสงครามปะทุระหว่างทหารป่า “ลาวซ้าย” นำโดยเจ้าสุภานุวงศ์ กับฝ่ายทหารเมือง “ลาวขวา” โดยเจ้าสุวรรณภูมา รบกันพักใหญ่ถึงยอมเจรจาสงบศึกตั้งรัฐบาลผสมสองฝ่าย

แต่ผสมได้สั้นมาก…เมื่อเจ้าสุภานุวงศ์ชิงเด็ดปีกผู้พี่สำเร็จเสียก่อน เมื่อ 2 ธันวาคม 2518

สถาบันกษัตริย์ลาวจึงสิ้นสุดลงตรงนั้น เจ้าใหญ่นายโตถูกเชิญไปเข้าค่ายสัมมนาเวียงชัย แบบไปไม่กลับ…ส่วนจะหายไปหนใดนั้น – บ่มีไผฮู้!?

พอเสร็จศึกก็สถาปนาบ้านเมืองเป็น “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)” และกำหนดให้ 2 ธันวาคมทุกปีเป็นวันชาตินับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

เหตุการณ์ “ลาวแตก” กดดันให้พี่น้องลาวส่วนหนึ่งลี้ภัยมาฝั่งไทย หวังไปต่อลมหายใจยังประเทศที่ 3 คืออเมริกา ฝรั่งเศส ที่กรรมตามสนองให้ต้องอุ้มชูชาวอินโดจีน หรืออินโดไชน่าคือลาว เวียดนาม กัมพูชา ซึ่งที่สุดอยู่ดีกินดีบนแผ่นดินที่ไม่ใช่ถิ่นเกิดผู้อพยพยุคนั้น

ด้าน สปป.ลาวไม่ลดละความพยายาม ปลุกชาวลาว ช่วยกันสร้างบ้านเมืองให้ “มั่นยืน”

บ่ฮีบ บ่ฟ้าว ไม่เร่งรีบพลิกแผ่นดินพัฒนาให้เกิดปัญหาตามมา โดยลาวใหม่ถือไทยเป็นกรณีศึกษา คัดเอาแต่สิ่งดีๆ เป็นต้นแบบ สิ่งไหนไม่ดีถือเป็นของต้องห้ามสำหรับ สปป.ลาว!

ไม่นาน…แผ่นดินที่เคยร้อนเป็นไฟถึง 65 ปี กลับร่มเย็นด้วยไออุ่นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ประชากรที่มี 6.8 ล้านคนในปี ค.ศ.2019 รัฐบาลคาดว่าจะเพิ่มเป็น 10 ล้านคนในปีนี้แน่นอน

มีนักลงทุนต่างชาติกับคนทำงานอีก 2 แสนคน จากจีน มาเลเซีย สิงคโปร์และไทย

มีเรื่องอยากฟ้อง…ไทยเคยได้รับสัมปทานตัดไม้ใต้น้ำ เหนือเขื่อน “น้ำงึม” แต่กลับถูกยกเลิกกลางคัน เพราะลักลอบตัดไม้เหนือน้ำ ส้มจึงหล่นใส่มาเลเซียแทนให้น่าอับอาย

หลังปัดกวาดบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว สปป.ลาวก็ยังล้มลุกกับการพัฒนาเทคโนโลยีโลกไซเบอร์ แต่ก็พร้อมเปิดตลาดท่องเที่ยวกับโลกภายนอกที่ห่างเหินมานาน

ด้วยมองว่า…ท่องเที่ยวเป็นปัจจัยแสวงหาเงินตราต่างประเทศ สามารถส่งเสริมให้เกิดสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างงานสร้างอาชีพ ลดระดับความยากจนให้กับประชาชน

 

แม้ว่า สปป.ลาวจะอ่อนแอในสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ เช่น มาตรฐานสนามบิน ถนน โรงแรมทันสมัย 5 ดาว หรือบุคลากรบริการคุณภาพ

แต่อาณาจักรแห่งนี้ก็ร่ำรวยวัตถุดิบคือทรัพยากร ที่พร้อมนำมาใช้เป็น “สินค้าท่องเที่ยว” พร้อมขายได้ แน่นอน…เพราะของค้าของขายแต่ละตัวล้วนสดใหม่ซิงๆ ทั้งนั้น และไม่ใช่สินค้ามือสองเสื่อมสภาพ จะเป็นธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ โบราณสถาน วัฒนธรรมประเพณี และกิจกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น

ขาดสิ่งเดียวที่อาเซียนทุกชาติมี แต่ลาวบ่มีคือทะเล

งานขายท่องเที่ยวเป็นของใหม่ ที่คนเมืองนี้อาจไม่คุ้นกับการนำมาใช้ จึงก่อให้เกิด “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ก่อนผ่านด่านตรวจลงตราหนังสือเดินทาง และทุกคนจะต้องแลกเงินสกุล “กีบ” ไปใช้จ่ายอย่างน้อยเท่ากับ 100 บาทไทย

ต้องมีคนลาวมารับรองคณะ ส่วนไกด์และรถนำเที่ยวให้ใช้คนกับรถลาวเท่านั้น!

นี่คือ…บทเริ่มต้นการหารายได้จากทัวริสต์ต่างชาติ ขณะไทยเคยแสดงเจตนารมณ์ช่วยพัฒนาสนามบินหลวงพระบางให้มีศักยภาพรับผู้โดยสารสูงขึ้น เพื่อเราจะได้จับมือขายคู่กัน

คำตอบคือ “ขอบใจ” แล้วสรุปสั้นๆ… “ลาวยังบ่พร้อมเด้อ”

การพัฒนาบุคลากรบริการลาว ไทยอีกนั่นแหละ…ชอบกินเผือก อาสาจัดอบรมพนักงาน บริการโรงแรม – ร้านอาหารให้ คำตอบคือ… “ลาวขอคิดโดยบ่มีกำหนด พร้อมมื้อใดจะเอิ้นให้”

เหตุปฏิเสธ…ไม่มีโจทย์ข้อใดมากไปกว่า เจ้าของประเทศติดกังวลเรื่องมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมทำลายบ้านเมือง ซึ่งมีพื้นที่เพียง 237,955 ตร.ก.ม. หากนักท่องเที่ยวเพิ่มจนเกินขีดความสามารถรองรับ หาได้รังเกียจไทย…ในฐานะ “เพื่อน” รั้วประเทศชิดติดกัน

อีกอย่าง…คนลาวไม่ชอบคำว่า “บ้านพี่เมืองน้อง” เพราะไม่ยอมรับไทยเป็น “อ้าย” ลาวเป็น “น้องหล่า” หรือตกเป็นมุขนักแสดงตลกไทย

 

อีกบริบทหนึ่ง…ที่ สปป.ลาว บ่ฮีบ บ่ฟ้าว พัฒนาปัจจัยพื้นฐานสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ก็ด้วยข้อจำกัดงบฯ บริหารประเทศ และเมื่อประชาชนยังอยู่อย่างธรรมชาติ จึงต้องรอเวลาพัฒนา ให้ค่อยๆ เยื้องย่างไปอย่างตามขั้นตอน

ไม่ผลีผลามโตเร็วเกินตัว และไม่ยอมเป็นเช่นคุณนายตื่นสาย แต่ได้เตรียมวางแผนก่อนวันดีเดย์สร้างสีสันแก่ประเทศ โดยคนลาวยุคใหม่ที่ผ่านการศึกษาจากสถาบันชั้นสูงในประเทศ และต่างประเทศ

กาลต่อมา…ใครจะไปเชื่อเล่าว่า “เสี่ยว” สปป.ลาว คือเวียดนาม กัมพูชา ยกเว้นเมียนมา ได้ถูกนำมามัดรวมให้เป็นหนึ่งเดียว หลังสงครามลุงโฮฯ สงบ ภายใต้แบรนด์ “อินโดไชน่า”

ที่ใครๆ ใคร่คบหาเป็นสะพานเชื่อมการท่องเที่ยว ซึ่งถูกผนึกเป็นสินค้าตัวใหม่เตรียมขาย

ไทยตีบทแตก…ชิงความเป็น “ฮับ” ทันที ด้วยแคมเปญ “เกตเวย์ ทู อินโดไชน่า” และ 2 Kingdoms 1 Destination ชวนคนมาเที่ยวไทย +กัมพูชา สัมฤทธิผลเป็นที่น่าพอใจ

สปป.ลาวก็เริ่มรู้ตัวเรื่องความพร้อม ลงมือสร้างเมนโรดหมายเลข 13 อย่างไม่รอช้า จากเหนือที่แขวงพงสาลีติดจีนตอนใต้ ลงมาทางแขวงบอลิคำไซ, บ่อแก้ว, หลวงพระบาง, คำม่วน

ต่อสะหวันนะเขต แล้วลงใต้สู่นครจำปาสัก, สาละวัน, อัตตะปือ เชื่อมเมืองสตรึงเตรง ชายแดนกัมพูชา เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักเดินทางท่องเที่ยว

รุกคืบด้วยยุทธศาสตร์เปิดตัวสินค้าเพื่อขาย อาทิ เมืองมรดกโลกหลวงพระบาง พระอุโบสถวัดเชียงทองสุดยอดสถาปัตยกรรมล้านช้าง วังเวียงชนบทกลางขุนเขา ประตูชัยเวียงจันทน์ วัดธาตุหลวง ป่าหินคล้ายป่าหินงามคุนหมิง พระธาตุอิงฮังแห่งอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์

ปราสาทหินวัดพู มรดกโลกแห่งที่ 2 ของจำปาสัก น้ำตกตาดผาส้วม (ห้องหอ) สีพันดอน น้ำตกหลี่ผีและคอนพะเพ็ง “ไนแองการ่าเอเชียอาคเนย์” และแหล่งโลมาอิรวดีที่เวินคาม

ต่อด้วยโหมดพัฒนาสนามบินนานาชาติวัดไต เวียงจันทน์ กับสนามบินนานาชาติหลวงพระบาง เพื่อเปิดทางวิ่งรับเครื่องบินขนาดใหญ่ขึ้น-ลงได้ สนามบินนานาชาติขนาดเล็กจำปาสัก

ในเมืองหลวงพัฒนาถนนสายใหม่ หนุนนักลงทุนสร้างโรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า ให้มีสีสันด้านท่องเที่ยว และเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 10 ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2547

อีกครั้ง…เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 25 ปี พ.ศ.2552

 

นี่คือ…ความสำเร็จบนแนวคิดบ่ฮีบ บ่ฟ้าว กับการเปิดบ้านรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกมาเยี่ยมยาม แล้วพัฒนาไปสู่การสร้างเวทีรองรับการประชุมสัมมนา และแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ

ซึ่งได้ชื่อว่าคือปัจจัยหลักที่สนับสนุนภาคท่องเที่ยว สปป.ลาว ต่อหน้าสังคมโลกยุคใหม่

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ…ปีที่ผ่านมีต่างชาติมาเที่ยว สปป.ลาวโตขึ้นถึง 4.5 ล้านคน มากสุดคือตลาดอาเซียน 3.22 ล้านคน เป็นไทย 2.04 ล้านคน เวียดนาม 1.10 ล้านคน ที่เหลือคือชาติอื่นๆ

จีนจิ๊บจ๊อย 4.22 แสนคน และเกาหลีใต้ อเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อังกฤษ ออสเตรเลีย

รัฐบาลยังตั้งเป้าอีกว่า 5 ปีข้างหน้า คอยดูจะเพิ่มให้ได้ 7 ล้านคน ยืนยันเชิงเย้ยหยันด้วยว่าข้อยหลงรบมา 65 ปี บ่มีประโยชน์อันใด…สู้หันมาพัฒนาประเทศไม่ได้ ถึง “มั่นยืน” เหมือนฝัน

เสียดายเมืองไทย…พัฒนาก้าวหน้าในอาเซียนมานาน เพิ่งมารบกันเมื่อสิบกว่าปีนี่เอง!?