จักรกฤษณ์ สิริริน : “ข้อดี” ของการ “นอนกรน”

“กรน” หรืออาการ “หยุดหายใจขณะหลับ” (Obstructive Sleep Apnea : OSA) เป็นโรคที่พบทั่วไปในผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป โดยร้อยละ 20 เป็นเพศชาย และร้อยละ 5 เป็นเพศหญิง

และเมื่ออายุมากตั้งแต่ 45-60 ปีขึ้นไป เพศชายพบร้อยละ 60 และเพศหญิงพบร้อยละ 40

จะเห็นได้ว่าอาการ “นอนกรน” นั้น “เพิ่มขึ้นตามอายุ”

ผู้ที่ “นอนกรน” คือคนที่ปัญหากล้ามเนื้อบริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ ผนังคอหอย หรือโคนลิ้น ซึ่งรวมเรียกว่า “ทางเดินหายใจส่วนบน” มีความ “แคบลง”

โดยเฉพาะ “คนอ้วน” ผู้มีเนื้อเยื่อผนังคอที่หนา มีโอกาส “กรนหนัก” กว่า “คนผอม”

และ “เสียงกรน” ที่น่ารำคาญ ก็เป็นอาการที่บ่งบอกถึงปัญหาทางเดินหายใจส่วนบนขณะหลับ

 

“เสียงกรน” ที่ได้ยิน คือเสียงอากาศที่เคลื่อนผ่านบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนอย่างยากลำบาก ส่งผลให้เกิดการสั่นสะเทือน และการสะบัดของกล้ามเนื้อ หรือเนื้อเยื่ออ่อนในส่วนนั้น

โดยทางเดินหายใจส่วนบนที่แคบลงนั้น ส่วนใหญ่เกิดจาก “ความหย่อนตัว” ของ “กล้ามเนื้อ” ทางเดินหายใจส่วนบนขณะที่เราหลับนั่นเอง

นอกจากนี้ “อาการกรน” อาจเกิดจากโพรงจมูกอุดตัน ไม่ว่าจะเป็นจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ผนังกั้นช่องจมูกคด เนื้องอกในโพรงจมูก ริดสีดวงจมูก หรือไซนัสอักเสบ เป็นต้น

และผู้ป่วยที่มี “เนื้องอก” หรือ “ซีสต์” ที่ใดที่หนึ่งของอวัยวะบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน ก็จะก่อให้เกิด “การกรน” ได้

เพราะ “เนื้องอก” หรือ “ซีสต์” จะไปอุดกั้นระบบทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้เกิดอาการ “หยุดหายใจขณะหลับ” เช่นกัน

และไม่เฉพาะ “คนแก่” ที่ “นอนกรน”

เพราะเราอาจพบ “การกรน” ในเด็กก็ได้ด้วย เนื่องจากต่อมทอนซิล หรือต่อมอะดีนอยด์โต

สิ่งที่น่ากลัวสุดๆ ของ “อาการกรน” ก็คือ ความสัมพันธ์ต่อภาวะ “หยุดหายใจขณะหลับ” ที่เกิดจากการอุดกั้นในทางเดินหายใจ “มาก”

ก่อให้เกิดการ “หยุดหายใจเป็นห้วง” ขณะนอนหลับนั่นเอง!

 

มีการแบ่งอาการนอนกรนหลักๆ ได้ 2 แบบ กล่าวคือ

1. “กรนธรรมดา”

ในทางการแพทย์ “กรนธรรมดา” ไม่จัดว่ามีอันตราย หากไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย

แต่ในทางครอบครัวแล้ว “ส่งผลกระทบต่อคู่ชีวิต” เป็นอย่างมาก ฮิๆ

เพราะเสียงกรนที่ดังนั้น รบกวนการนอนหลับของคนข้างๆ นั่นเอง

2. “กรนอันตราย”

“กรนอันตราย” คืออาการ “กรน” ที่มี “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ” ร่วมด้วย อันนี้ไม่ดีแน่!

เพราะผู้ป่วย “กรนอันตราย” จะมีอาการ “ง่วงมากผิดปกติ” ในช่วงกลางวัน เนื่องจากตอนกลางคืน “นอนไม่เต็มอิ่ม”

เพราะออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอ จากการ “หยุดหายใจเป็นห้วง” ขณะนอนหลับนั่นเอง!

และเพราะการ “ง่วงหนัก” ในตอนกลางวันนี่เอง ทำให้แนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

“ง่วงหนัก” เหมือนคนกินยาแก้แพ้ แก้หวัด ที่ห้ามขับรถ หรือทำงานกับเครื่องจักรนั่นเอง

อีกทั้ง “ชาวกรนอันตราย” ยังมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคอื่นๆ ตามมาอีกมากมายหลายโรค

ไม่ว่าจะเป็นความดัน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ หลอดเลือดในสมอง และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ!

 

อย่างไรก็ดี แม้จะมี “ข้อเสีย” มากมาย ที่เกิดจาก “การนอนกรน” แต่ก็มี “นักวิทยาศาสตร์อิสราเอล” ท่านหนึ่ง เสนอ “ข้อดี” ของการ “นอนกรน”!

หนังสือพิมพ์ The Daily Mail รายงานว่า มี “นักวิจัยชาวยิว” ท่านหนึ่ง ได้ค้นพบว่า “การนอนกรน” มี “ข้อดี” อยู่ด้วย

ท่านจึงชวนพวกเรา “กรนให้ดัง” เพื่อ “สุขภาพดี”!

The Daily Mail บอกว่า “นักวิทยาศาสตร์อิสราเอล” ท่านนี้ได้ทำการทดสอบเกี่ยวกับ “ภาวะการนอนกรน” กับกลุ่มตัวอย่าง สว. (สูงวัย) อายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 600 คน

ผลการวิจัยพบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่าง หรือราว 60% มีอัตราเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจาก “โรคนอนกรน” และ “หยุดหายใจขณะหลับ” น้อยกว่าผู้ที่ไม่เคยมีประวัติของ “การนอนกรน” มาก่อน

“นักวิจัยชาวยิว” ท่านนี้กล่าวต่อไปว่า เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ทฤษฎีเกี่ยวกับ “การนอนกรน” นั้น การ “หยุดหายใจเป็นห้วง” ขณะนอนหลับ ส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างรุนแรง

“อย่างไรก็ดี จากการศึกษาในครั้งนี้ ผมกลับพบว่าอาการหยุดชะงักในการลำเลียงเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ เป็นผลให้เกิดการหยุดหายใจอย่างคงที่”

สิ่งเหล่านี้ทำให้การทำงานของ “หัวใจ” และ “สมอง” มีความแข็งแรงขึ้น!

ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายคนเราสามารถรับมือกับอาการ “หัวใจวาย” หรือ “หลอดเลือดสมองเสียหาย” ได้ดีมากขึ้น! “นักวิทยาศาสตร์อิสราเอล” ปิดท้าย

 

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงความคิดเห็นจากผลการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งเท่านั้นนะ!

เพราะ The Daily Mail ได้เขียนปิดท้ายข่าวเอาไว้ว่า ศาสตราจารย์ Jim Horne หัวหน้าศูนย์นิทราเวชแห่งมหาวิทยาลัย Loughborough ได้เตือน “คนนอนกรน” ว่า “อย่าได้นิ่งนอนใจ”

“ไม่ว่าคุณจะ “กรนธรรมดา” หรือ “กรนอันตราย” ควรไปพบแพทย์โดยด่วน! และอย่าคิดว่า “การนอนกรน” จะส่งผลดีใดๆ เลย” ศาสตราจารย์ Jim Horne สำทับ

โดยทุกวันนี้มีการสร้างความตระหนักและนำเสนอแนวทางการรักษามากมายเกี่ยวกับ “การนอนกรน”

ไม่ว่าจะเป็นการใช้ “เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก” หรือ CPAP เพื่อขยาย “ทางเดินหายใจส่วนต้น” ไม่ให้ตีบแคบขณะหลับ

หรือจะเป็น “การใส่ฟันยางเสริม” Oral Appliance เพื่อเปิดทางเดินหายใจส่วนต้นให้กว้างขึ้น

รวมถึงการใช้ “ยาแรง” คือ “การผ่าตัด”

อย่างไรก็ดี ก่อนจะไปถึงขั้นการใช้ “ยาแรง” ยังมีรูปแบบการ “เยียวยาเสียงกรน” อีกหลายวิธี เช่น การ “นอนตะแคง”

การ “นอนตะแคง” นั้น “ลดเสียงกรน” ได้ เพราะการนอนหงายนั้น จะทำให้โคนลิ้นเคลื่อนตัวไปอุดกั้นทางเดินหายใจบริเวณลำคอ

 

ยังมีกลเม็ด “ลดกรน” โดย “อาหาร” ด้วยนะครับ ซึ่งก็มีกูรูได้บอกเอาไว้ว่า เป็นอีกวิธีหนึ่งซึ่งน่าสนใจ!

เริ่มต้นด้วย การซดเครื่องดื่มอุ่นๆ ก่อนนอน ไม่ว่าจะเป็นน้ำเต้าหู้ นมอัลมอนด์ น้ำผึ้งผสมน้ำอุ่น หรือน้ำสมุนไพร เช่น น้ำตะไคร้ น้ำขิง เป็นต้น

หรือจะเป็นการหมั่นรับประทานบรรดา “สมุนไพรลดกรน” ไม่ว่าจะเป็น “หอมแดง” ที่จะช่วยให้เกิดความชุ่มชื้นในลำคอ และช่วยให้ระบบหายใจทำงานได้ดี

และ “พริกขี้หนู” ที่นอกจากจะช่วยให้ทางเดินหายใจโล่งจากความเผ็ด และสร้างความชุ่มชื่นในลำคอให้กับเราแล้ว สาร Capsaicin ใน “พริกขี้หนู” จะช่วยลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อรอบหลอดลมอีกด้วย

หรือ “ใบแมงลัก” ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า “ใบแมงลัก” มีฤทธิ์บรรเทาหวัดและแก้อาการหลอดลมอักเสบได้ ดังนั้น การรับประทาน “ใบแมงลัก” บ่อยๆ จึงมีส่วนช่วยให้ระบบการหายใจทำงานดีขึ้นได้ครับ

ปิดท้ายกันที่ “ขิง” ที่นอกจากจะกิน “น้ำขิงอุ่น” กันก่อนนอนแล้ว การกินกับข้าวที่มีส่วนผสมของ “ขิง” ยังช่วยให้สดชื่น และระบบทางเดินหายใจก็จะทำงานสะดวกขึ้นมากทีเดียว!