จักรกฤษณ์ สิริริน : #ผนนนลนจยกม

ไม่เพียงส่งผลเสียต่อสุขภาพและชีวิต อาทิ หัวใจวาย ความดันสูง เส้นเลือดสมองแตก ไตเสื่อม ซึมเศร้า เบาหวาน โรคอ้วน ฯลฯ

การ “นอนน้อย” ยังไปไกลถึงอัลไซเมอร์ เตะปี๊บไม่ดัง กระทั่งประสาทหลอน!

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า การเข้านอนก่อน 5 ทุ่ม ทำให้ระบบของถุงน้ำดีทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพสำหรับการขับของเสียออกจากร่างกาย

โดยเฉพาะช่วงเวลาสำคัญที่สุดก็คือช่วงตี 1 ถึงตี 3 เป็นชั่วโมงพักผ่อนของตับที่ทำงานอย่างหนักมาตลอดวันกับภารกิจกำจัดสารพัดสารพิษให้กับเรา

และห้วงตี 3 ถึงตี 5 เป็นช่วงที่ปอดต้องการพักผ่อนนอนหลับมากที่สุด ดังนั้น หากเราอดนอนในช่วงนี้ก็จะทำให้ปอดทำงานหนักโดยไม่จำเป็นนั่นเองครับ

ทางที่ดีก็คือ ควรเข้านอนก่อน 4 ทุ่ม เพราะหลายท่านกว่าจะหลับจริงๆ ก็อาจต้องใช้เวลาถึงครึ่งชั่วโมง หรือหนักหน่อยก็ 1 ชั่วโมง และใช้เวลาต่อไปอีกระยะหนึ่งที่กว่าจะ “หลับลึก” หรือ N3

โดยช่วง “หลับลึก” นี้เองที่ร่างกายของเราจะทำการหลั่ง Growth Hormone ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เสริมสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อให้แข็งแรง รวมทั้งผลิตระบบภูมิคุ้มกันสำคัญต่างๆ นั่นเองครับ

ดังนั้น เราจึงควรเข้านอนก่อน 4 ทุ่ม และตื่นราวๆ ตี 5 หรือ 6 โมงเช้า ก็จะทำให้ชั่วโมงนอนของเรามีความเหมาะสม คือประมาณ 8 ชั่วโมง

 

นอกจากนี้ การ “นอนน้อย” ยังทำให้การผลิต Cytokines ซึ่งมีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรียและไวรัสลดน้อยถอยลง ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำอย่างน่าตกใจ

ที่สำคัญก็คือ Cytokines นี้ คือส่วนสำคัญที่ช่วยให้เรานอนหลับได้ดีอีกด้วย

ดังนั้น หากเรา “นอนน้อย” จะส่งผลโดยตรงต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ไม่สามารถผลิต Cytokines รวมถึงสารเคมีอื่นๆ ที่ช่วยป้องกันเราจากบรรดาเชื้อโรคต่างๆ ได้นั่นเอง

ครับ, ภาวะ “นอนน้อย” แม้จะเป็นเรื่อง Basic ที่ “ใครๆ ก็รู้” แต่ที่ได้หยิบยกเอามาพูดถึงก็เนื่องมาจากว่า มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งมีความน่าสนใจเกี่ยวกับสภาวการณ์ “นอนน้อย”

ที่นอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังส่งผลกระทบถึงหน้าที่การงานอีกด้วย

โดยเฉพาะคนที่เป็น “ผู้นำ”

 

ดร. Christopher M. Barnes ศาสตราจารย์ด้านการจัดการจาก Foster School of Business มหาวิทยาลัย Washington คือผู้นำเสนอทฤษฎี Sleepless Leadership หรือ “ภาวะผู้นำนอนน้อย” ครับ

ศาสตราจารย์ ดร. Christopher กล่าวในทำนองว่า #ผนนนลนจยกม

“ผู้นำนอนน้อยลูกน้องจะแย่กันหมด”

#ผนนนลนจยกม ความหมายก็คือ หากผู้นำพักผ่อนไม่เพียงพอ จะส่งผลโดยตรงต่อสภาวะอารมณ์ในช่วงเวลางาน ศาสตราจารย์ ดร. Christopher กล่าว และว่า

ข้อมูลจากงานวิจัยหลายชิ้นชี้ตรงกันว่า ผู้บังคับบัญชาที่อดนอน มักหงุดหงิด โมโหง่าย และไวต่อความรู้สึก และอยู่ในอาการง่วงเหงาหาวนอนอย่างหนักหน่วง

“ผลจากการศึกษาของผมพบว่า คนที่นอนน้อย เปรียบได้กับคนที่ดื่มเหล้าเกินข้อกำหนดของกฎหมายจราจร หรือเมาไม่ขับเลยทีเดียว” ศาสตราจารย์ ดร. Christopher กระชุ่น

เขาเสริมอีกว่า ยิ่งหาก “ผู้นำ” คนใดนอนน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน รุ่งเช้าเขาจะออกอาการกระฟัดกระเฟียดกับลูกน้องเสมอ

“การนอนหลับพักผ่อนไม่ถึง 6 ชั่วโมง ส่งผลเสียกับผู้นำอย่างคาดไม่ถึง ตั้งแต่การไม่ได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากลูกน้อง ไปจนถึงบอร์ดก็จะไม่ไว้วางใจในตัวคุณในที่สุด”

 

Dr. Stuart McFarlane นักวิจัยจาก Royal Melbourne Institute of Technology University (RMIT) ประเทศออสเตรเลีย เสริมว่า หากเรานอนไม่เต็มอิ่ม แน่นอนว่าเราจะตื่นเช้าพร้อมกับความงัวเงียและมึนงง

“ทางการแพทย์เรียกอาการเฉื่อยชา และก่งก๊งนี้ว่า Sleep Inertia หรือ S.I.” Dr. Stuart บอก

ศาสตราจารย์ ดร. Christopher สำทับว่า แทบไม่น่าเชื่อ ว่า การ “นอนน้อย” ของ “ผู้นำ” นั้น นอกจากพนักงานจะงอแงแล้ว ศรัทธาที่เด็กในทีมมีต่อคุณก็จะลดลงอย่างฮวบฮาบ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ใต้บังคับบัญชามีแนวโน้มที่จะทุจริตมากเป็น 2 เท่า!

“ผมได้สร้างแบบจำลองทัศนคติที่ดีต่อการนอนหลับของผู้นำขึ้นมาเพื่อทดสอบประสิทธิผลการทำงานเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพการนอน ผลการทดลองชี้ว่า หากผู้นำพักผ่อนเพียงพอ ผลลัพธ์จากการทำงานจะเป็นบวก” ศาสตราจารย์ ดร. Christopher บอก

และเมื่อผู้บังคับบัญชานอนหลับพักผ่อนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ผู้ใต้บังคับบัญชาก็จะนอนหลับมากขึ้นอย่างน่าประหลาดใจเช่นกัน เขากล่าว

 

ศาสตราจารย์ ดร. Christopher M. Barnes บอกต่อไปอีกว่า จากการค้นคว้านี้ ถ้า “ผู้นำ” Sleep อย่างเพียงพอ จะส่งผลทันทีต่อประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลในการทำงานอย่างชัดเจน

“แน่นอนว่าภาวะนอนน้อยส่งผลกระทบถึงมนุษย์ทุกรูปนามโดยไม่มีข้อโต้แย้ง ยิ่งหากเป็นผู้นำด้วยแล้ว จะส่งผลสะเทือนมากกว่าหลายเท่า” ศาสตราจารย์ ดร. Christopher กล่าว และว่า

แน่นอนอีกเช่นกัน อาการเพลีย ปวดหัวหนึบหนับ อันเป็นผลมาจากการอดนอนของผู้นำ ย่อมสร้างความเหนื่อยล้ามากในช่วงกลางวัน

“อารมณ์ผู้นำจึงแปรปรวนหนัก ไหนจะแรงกดดันจากหลายฝ่ายบนตำแหน่งที่สูงในองค์กร และมีแนวโน้มที่ลูกน้องจะดูถูกเหยียดหยามเป็นอย่างมาก”

ความฉุนเฉียวของผู้นำที่นอนน้อยส่งผลถึงบุคลิกภาพของเขาโดยตรง นอกจากหน้าจะนิ่ว คิ้วจะขมวด เสน่ห์ที่เคยมีก็จะหายไปในทันที

“ทางแก้ก็คือ ผู้นำควรกำหนดตารางชีวิตที่แน่นอน ซึ่งเป็นวิธีที่โบราณและ Basic ที่สุด นั่นคือ เอา 24 ชั่วโมงมาหาร 3 ก็จะได้ 8 ชั่วโมงทำงาน 8 ชั่วโมงกับเรื่องส่วนตัว และ 8 ชั่วโมงที่ต้องพักผ่อน” ศาสตราจารย์ ดร. Christopher ทิ้งท้าย

 

มาถึงตรงนี้ เชื่อว่าแฟนพันธุ์แท้ “มติชนสุดสัปดาห์” หลายท่านคงนึกถึงประเพณี “งีบกลางวัน” ของประเทศลาว

วัฒนธรรมดังกล่าวตรงกับธรรมเนียมหนึ่งของสเปนที่มีชื่อว่า Siesta หรือการ “งีบกลางวัน” ราว 40 นาทีหลังมื้อเที่ยง

หลังกิจกรรม Siesta ชาวสเปนจะรู้สึกกระชุ่มกระชวยกระฉับกระเฉงขึ้นอีกครั้ง พร้อมที่จะเริ่มงานช่วงบ่ายอย่างกระปรี้กระเปร่าเฉกเช่นยามเช้าที่ผ่านมา

ผลจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนอน ทั้ง Sleepless Leadership ของศาสตราจารย์ ดร. Christopher M. Barnes ทั้ง Sleep Inertia หรือ S.I. ของ Dr. Stuart McFarlane และทั้งประเพณี Siesta ของชาวสเปน

อาจนำมาสู่แนวความคิดติดตั้ง Sleeping Pods หรือ “เตียงฝักถั่ว” เอาไว้ใน Office ชั้นนำระดับโลก เช่น Google สำนักงานใหญ่ และอีกหลายแห่ง

นอกจากนี้ Sleeping Pods ยังเป็นที่นิยมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นสนามบินยักษ์ใหญ่ในหลายทวีป หรือโรงแรมสมัยใหม่ในหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น อีกด้วย

แต่หากสำนักงานไหนทุนน้อยไม่พอจะซื้อ Sleeping Pods มาใช้ก็โปรดรณรงค์ให้ “ผู้นำ” ของคุณปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการพักผ่อน โดยขอให้พวกเขานอนหลับวันละอย่างน้อย 6 ชั่วโมง

เพราะเมื่อตื่นเช้าขึ้นมาจะได้ไม่เกิดภาวะ Sleep Inertia งัวเงีย หงุดหงิด อารมณ์เสีย และเหวี่ยงทันทีที่เดินเข้าสำนักงาน

คนรอบข้างจะได้ทำงานอย่างมีความสุข สดชื่นสดใสกันไปตลอดทั้งวันครับ!