คณิต ณ นคร : “คณากร เพียรชนะ” และหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษา

ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (1)

เมื่อเร็วๆ นี้ในสังคมไทยเรามีการถกเถียงกันอย่างมากเกี่ยวกับ “ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ” (The Independence of the Judiciary) อันสืบเนื่องมาจากการที่ผู้พิพากษาของศาลยุติธรรมนายหนึ่งที่รับราชการที่ศาลจังหวัดยะลาได้ทำร้ายตนเองโดยใช้อาวุธปืนยิงตัวเอง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562

ตามข่าวกล่าวว่า สาเหตุของการยิงทำร้ายตนเองดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาพิพากษาคดีเรื่องหนึ่งในความรับผิดชอบของผู้พิพากษาของศาลยุติธรรมท่านนั้น แต่ถูกแทรกแซงจากอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ถึงแม้ผู้พิพากษาท่านดังกล่าวจะปลอดภัยจากการบาดเจ็บแล้วก็ตาม แต่ท่านก็ถูกโยกย้ายไปรับราชการที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่โดยมีคดีติดตัว ทั้งคดีวินัยและคดีอาญา แม้กระนั้นก็ตามผู้เขียนเห็นว่าการถกเถียงกันก็ไม่น่าจะยุติลง

และแล้วปัญหาก็ไม่อาจยุติลงได้จริงๆ เพราะเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2563 นี้เองผู้พิพากษาท่านนี้ได้ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองอีก เหตุเกิดที่บ้านของท่านเองที่จังหวัดเชียงใหม่ และคราวนี้ถึงแก่ความตายจริงๆ

ดั่งนี้ ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักวิชาการจึงใคร่ขอถือโอกาสนี้กล่าวถึง “ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ” (The Independence of the Judiciary) เพื่อทำความเข้าใจให้กับสังคมเรา

โดยผู้เขียนจะได้กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวนี้ในบริบทสากลก่อน ต่อจากนั้นก็จะได้กล่าวถึงในบริบทของไทยเรา

การกล่าวถึงเรื่อง “ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ” (The Independence of the Judiciary) ก็เพื่อให้เกิด “การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” นั่นเอง และผู้เขียนจะขอกล่าวถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” ในมิติอื่นๆ ด้วย

 

1.ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการในบริบทสากล

“ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ” (The Independence of the Judiciary) นั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากในกระบวนการยุติธรรม เหตุนี้ สหประชาชาติจึงได้วางหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ใน United Nation”s Basic Principles on the Independence of the Judiciary1 หรือ

“หลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ”

และสหประชาชาติได้วางหลักการพื้นฐาน เป็นเรื่องใหญ่ๆ ไว้ 7 ข้อด้วยกัน คือ

ข้อที่ 1 ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ (Independence of the judiciary)

ข้อที่ 2 เสรีภาพในการแสดงความเห็นและการรวมตัวของผู้พิพากษาตุลาการ (Freedom of expression and association)

ข้อที่ 3 คุณสมบัติ การสรรหาและการฝึกอบรม (Qualifications, selection and training)

ข้อที่ 4 เงื่อนไขของการทำหน้าที่และระยะเวลาของการทำหน้าที่ (Conditions of service and tenure)

ข้อที่ 5 ความลับและความปลอดภัยในการทำหน้าที่ (Professional secrecy and immunity)

ข้อที่ 6 วินัย การให้พักการทำหน้าที่ และการให้พ้นจากหน้าที่ (Discipline, suspension and removal)

ข้อที่ 7 เป็นหน้าที่ของแต่ละสมาชิกสหประชาชาติที่จักต้องกำหนดพื้นฐานในการที่จะให้ผู้พิพากษาตุลาการสามารถกระทำหน้าที่ของตนได้

 

ข้อที่ 1 ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ

ต่อไปนี้ผู้เขียนใคร่ขอนำเสนอเรื่อง “ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ” (Independence of the judiciary) ในข้อที่ 1 ก่อน ส่วนในข้ออื่นๆ จะได้กล่าวถึงเป็นลำดับไป

ดังกล่าวมาแล้วว่า “ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ” (The Independence of the judiciary) เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากในกระบวนการยุติธรรม เหตุนี้ สหประชาชาติได้วางหลักการเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้รวมทั้งหมด 7 เรื่องด้วยกัน โดยกล่าวไว้ดังต่อไปนี้

เรื่องที่ 1 ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ (The Independence of the Judiciary) นั้น รัฐจักต้องกำหนดเป็นหลักประกันไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายของรัฐ และกำหนดให้เป็นหน้าที่ขององค์กรทั้งหลายของฝ่ายรัฐและองค์กรอื่นๆ ที่จักต้องให้ความเคารพและดูแล “ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ” (The Independence of the Judiciary)

เรื่องที่ 2 ผู้พิพากษาตุลาการจักต้องพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของตนด้วยความเป็นกลาง บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและสอดคล้องกับกฎหมาย โดยข้อจำกัดใดๆ โดยปราศจากอิทธิพลที่ไม่ถูกต้อง โดยปราศจากแรงจูงใจที่มิชอบ โดยปราศจากความกดดัน โดยปราศจากการข่มขู่ โดยปราศจากความกลัวหรืออิทธิพล ทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม จากผู้ใดหรือด้วยเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น

เรื่องที่ 3 ผู้พิพากษาตุลาการจักต้องมีอำนาจเหนืออรรถคดีนั้น และจักต้องมีอำนาจและหน้าที่อย่างแท้จริงที่จะชี้ว่าเรื่องที่ตนจักต้องกระทำนั้นอยู่ในอำนาจของตนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

เรื่องที่ 4 ผู้พิพากษาตุลาการทุกคนจักต้องไม่ถูกแทรกแซงในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ทั้งจักต้องพิจารณาพิพากษาอรรถคดีโดยไม่เกรงกลัวว่าคดีอาจเปลี่ยนแปลงได้ในภายหลัง หลักการดังกล่าวจะต้องไม่ถูกกระทบกระเทือน

เรื่องที่ 5 ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาพิพากษาโดยศาลที่ก่อตั้งขึ้นโดยกฎหมาย ศาลทั้งหลายจักต้องใช้อำนาจหน้าที่ที่กำหนดโดยวิธีพิจารณาของกฎหมาย และจักต้องไม่สร้างหรือทดแทนโดยวิธีอื่นอันมิได้บัญญัติไว้ในกฎหมาย

เรื่องที่ 6 หลักการแห่งความอิสระของผู้พิพากษาตุลาการต้องได้รับการตัดสินอย่างเป็นกลางและเคารพในสิทธิของทุกฝ่าย

เรื่องที่ 7 เป็นหน้าที่ของรัฐสมาชิกที่จะสร้างองค์กรที่จะชี้ขาดให้สามารถดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่

———————————————————————————————–
1ดู คณิต ณ นคร กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พิมพ์ครั้งที่ 9 สำนักพิมพ์วิญญูชน กุมภาพันธ์ 2561 ผนวกที่ 8 หน้า 912-915