จาก “กำนันเป๊าะถึงบิ๊กป้อม” ข้างหลังภาพ “สุชาติ ชมกลิ่น” “เสี่ยเฮ้ง” จาก “กรรมกร” สู่แคนดิเดต “จับกัง 1”

“ใจถึง-ได้ทุกลูก-พวกเยอะ” คือสโลแกน “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี พลังประชารัฐ – ประธาน ส.ส. ภายหลังได้รับความไว้วางใจให้มา “รับนโยบาย” จาก “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ประธานยุทธศาสตร์พรรค “บิ๊กบราเธอร์”

กว่าจะเป็น “เสี่ยเฮ้ง” ในวันนี้ – แคนดิเดตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อดีต “ส.อบจ.เมืองชลบุรี” ลง “ชิมลาง” สนามการเมืองระดับชาติในปี 2554 ในนามพรรคพลังชล – ส.ส.สมัยแรก

เมื่อถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปฏิวัติในปี 2557 ในช่วงที่นักการเมืองถูก “แช่แข็ง” จึง “เบนเข็มชีวิต” ไปทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กับ “วิมลจิต อรินทมะพงษ์” บุคคลที่เป็นทั้ง “หุ้นส่วนธุรกิจ-หุ้นส่วนชีวิต” ในนามบริษัท อรินสิริแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ ARIN ก่อนจะนำ ARIN บุกตลาดหลักทรัพย์ฯ

แม้จะลาออกจากกรรมการผู้จัดการ ARIN ทิ้งตำแหน่งซีอีโอ รับเงินเดือนเดือนละ 350,000 บาท ลาออกมาเป็น ส.ส.รับเงินเดือน 9 หมื่นบาท

สุชาติ ชมกลิ่น

แต่ “เสี่ยเฮ้ง” เกี่ยวดองกับ ARIN ทั้งในทางพฤตินัย-นิตินัย เพราะ “ถือหุ้นใหญ่” ARIN

“เสี่ยเฮ้ง” สะท้อนบรรยากาศของตลาดอสังหาริมทรัพย์ขณะนี้ว่า “หดตัวลง” เนื่องจากความเข้มงวดของธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยกู้ จากปล่อยกู้ได้ 110 เปอร์เซ็นต์ ลดลงเหลือ 80 เปอร์เซ็นต์

“วันนี้คนไทยไม่มีเงินเก็บ แต่พอมีเงินผ่อน ก็ต้องให้เขากู้ให้ได้ ถ้าเขากู้ไม่ได้ รอให้เก็บไม่ได้หรอก เขาก็ไปซื้อรถยนต์ก่อน คนก็ไม่มีบ้าน คนไม่กลัวดอกเบี้ยแพง แต่เขากลัวแบงก์ไม่ปล่อยกู้”

“วันนี้เศรษฐกิจประเทศไทยไม่มีสภาพคล่อง เงินไม่เดิน ARIN อยู่ได้เพราะหนี้สินน้อย ทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินเยอะ และไม่ต้องแข่งกับใคร เพราะตลาดของ ARIN คือคนในพื้นที่”

“ให้ ARIN มีกำไรไตรมาสละ 50-100 ล้านพอแล้ว ไม่ได้คาดหวังว่าจะให้โตเป็นหมื่นล้านเหมือนบริษัทอื่น”

“เสี่ยเฮ้ง” เปิดเผยเหตุผลการนำ ARIN เข้า “ตลาดหุ้น” เพราะต้องการให้ถูกต้องตามระบบทางธุรกิจ หนึ่ง หลบภาษีไม่ได้ สอง เมื่อกลับมาเป็น ส.ส.อีกครั้งจะได้ “คลีน”

“ถ้าเราไม่คลีน ไม่เป็นตัวอย่างให้กับเด็กรุ่นหลัง…นักการเมืองทำอะไรถึงรวย ไม่ทำธุรกิจเลย นักการเมืองโกงเขา นักการเมืองทำธุรกิจก็ไม่เสียภาษี ทำใจไม่ได้”

สุชาติ ชมกลิ่น

“วันนี้พอเราเป็นนักการเมือง เราก็เอาหลักธุรกิจมาคิด คิดกลับ ทำอย่างไรให้คนรากหญ้า ผู้ใช้แรงงานมีโอกาสให้ชีวิตดีขึ้นเท่านั้นเอง เราเป็นคนจนมาก่อน”

“เสี่ยเฮ้ง” เล่าย้อนวันวาน “เคยเป็นคนจน” แบกน้ำตาล-ข้าวสารอยู่ท่าเรืออ่าวไทย 7 ปี ชีวิตลำบาก รับเหมาเป็นกุลี ทำเรือสินค้าส่งออกข้าว น้ำตาลอยู่เกาะสีชัง

“ก่อนหน้านี้สมัยเรียนจบใหม่ๆ เป็นเซลส์ขายบ้าน เงินเดือน 5,500 บาท อยู่ 1 ปี ทำงานธนาคาร 1 ปี ออกมารับเหมา 7 ปี หลังจากนั้นมาทำหมู่บ้านจัดสรรเอง จาก 2 ห้อง เป็น 4 ห้อง เป็น 8 ห้อง”

“ด.ช.สุชาติ” เรียนจบจาก “โรงเรียนวัด” เป็น “นักกีฬาฟุตบอล” สโมสรโอสถสภา ได้เบี้ยซ้อมวันละ 120 บาท เบี้ยเลี้ยงแข่งวันละ 240 บาท มีเงินเดือนหลักพันบาท

“คุณพ่อ” มีอาชีพรับจ้าง-จับกัง “คุณแม่” มีอาชีพเป็น “แม้ค้าขายขนมครก” อยู่หน้าตลาดหนองมน

เรียนจบบัญชี เป็น “เซลส์ขายบ้าน” หมู่บ้านแคลิฟอร์เนีย เจ้าของหมู่บ้านคือ “สนธยา คุณปลื้ม” เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเป็น “เซลส์ขายบ้าน” อยู่ 1 ปีกว่า ก่อนจะไปเป็น “นายแบงก์” จนใช้วิชาบัญชี-เรียนรู้วิธีการสินเชื่อ

“ผมจำได้ภาพติดตา วันที่เขา (สนธยา) เป็นรัฐมนตรีช่วยอุตสาหกรรมครั้งแรก เขาฉลองที่หมู่บ้าน ผมเป็นเซลส์ขายบ้าน”

ทว่า “เสี่ยเฮ้ง” ชีวิตต้องหักเห เมื่อไปเจอ “บุคคลคนหนึ่ง” เมื่อครั้งทำงานเป็นฝ่าย Admin อยู่ท่าเรือแหลมฉบัง และขับรถยนต์ให้ผู้บริหาร-ผู้จัดการ และได้ “ติดสอยห้อยตาม” ไปทำงานรับเหมากุลี-เรือสินค้าอ่าวไทย 7 ปี

วันหนึ่ง “เสี่ยเฮ้ง” พบสัจธรรมอยู่ข้อหนึ่งว่า “วงการนี้คงอยู่ได้ไม่นาน” และได้อ่านหนังสือชื่อ “50 เจ้าสัว” ก่อนจะค้นพบตัวเอง โดยมี “หมู่บ้านกฤษฎานคร” เป็นต้นแบบ

ทว่า จังหวะ-โอกาสยังไม่เปิดทางให้ทำตามความฝัน

สุชาติ ชมกลิ่น

จุดเปลี่ยนของ “เสี่ยเฮ้ง” จาก “กรรมกร” สู่แคนดิเดตว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน “จับกัง 1” คือ การได้พบกับ “กำนันเป๊าะ” สมชาย คุณปลื้ม เจ้าบ้านแห่งบ้านใหญ่คุณปลื้ม

จุดเปลี่ยนในครั้งนั้น ทำให้ “เสี่ยเฮ้ง” พลิกชีวิตจาก “จับกัง” แต่งตัวลงสนามการเมืองท้องถิ่นเมื่ออายุ 26 เป็น “ส.จ.แสนสุข” โดยได้รับการสนับสนุนจาก “กำนันเป๊าะ” ต่อจากนั้นไป “หักปากกาเซียน” ไปเป็น “ส.จ.อ่างศิลา”

“การเมืองใหญ่แพ้หมดแล้ว และเหมือนจะถอดใจ แต่เราบอกว่า ไม่มีที่การเมืองใหญ่ที่หนึ่ง การเมืองท้องถิ่นที่หนึ่ง ต้องสู้พี่แป๊ะ (สนธยา) พี่แป๊ะต้องสู้”

สุดท้าย “เสี่ยเฮ้ง” ลงสู้เลือกตั้งการเมืองระดับชาติในปี 2554 ในนามพรรคพลังชล และชนะ-ได้เป็น ส.ส.ชลบุรี “สมัยแรก” หลังจากนั้นเกิดการปฏิวัติในปี 2557

“ชีวิตก็เหมือนละคร เหมือนนิยาย พ่อเป็นยาม แม่ขายขนมครก ใครจะคิดว่าจะมาเป็น ส.ส. มาถึงวันนี้ไม่คิดอะไร กำไรเท่าไหร่แล้ว ให้ชีวิตมีความสุขเข้าไว้ ทุกวันนี้แม่ผมเดินไปตลาด มีแต่คนยกมือไหว้หมด เพราะไม่เคยคดโกงใคร เป็นครอบครัวที่อบอุ่น ถึงจะจน แต่มีครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ”

หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ การปรับ “ครม.ประยุทธ์ 2/2” ที่คาดว่าจะราวปลายเดือนเมษายน ในฐานะเคยมีชื่อติดโผ ครม.ประยุทธ์ 2/1 – รมว.แรงงาน “เสี่ยเฮ้ง” ไม่ฝันไกล-แล้วแต่บุญวาสนาส่ง

“ผมไม่ได้คาดหวังไกลขนาดนั้น ผมหวังเพียงแต่วันนี้ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ในฐานะประธาน ส.ส.ให้ดีที่สุด เพื่อหล่อหลอมพรรคให้เป็นหนึ่ง ขึ้นตรงกับประธานยุทธศาสตร์ 4-5 ปี ต้องให้สลายหมด”

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ที่จะมีทั้งคนที่สมหวัง-ผิดหวัง “เสี่ยเฮ้ง” ในฐานะประธาน ส.ส. ยืนยันว่า กลุ่ม-ก๊วนภายในพรรคขึ้นตรงกับ พล.อ.ประวิตร-ประธานยุทธศาสตร์

สุชาติ ชมกลิ่น

“พรรคพลังประชารัฐก็เหมือนบริษัทโฮลดิ้ง มีบริษัทย่อย ผู้จัดการบริษัทย่อยต้องบริหารบริษัทย่อยให้มีกำไร สุดท้ายก็ต้องขึ้นตรงกับบริษัทแม่ ต้องฟังนโยบายบริษัทแม่”

“ที่ใครบอกว่า โอ้ย อยู่กับท่านประวิตร เดี๋ยวก็ได้เป็นรัฐมนตรี ไม่ใช่ นายกรัฐมนตรีคือ พล.อ.ประยุทธ์ คือคนพิจารณา ผมเองก็ไม่ได้คุยกับท่าน ผมอยู่แต่ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่เคยไปทำเนียบ ไม่เคยไปคุยกับท่าน” เขาตอบคำถามหลังจากออกจาก “บ้านใหญ่คุณปลื้ม” มาอยู่ “ก๊กบิ๊กป้อม” ผู้ที่ “เสี่ยเฮ้ง” เรียกว่า “นาย” คนที่สอง ต่อจาก “กำนันเป๊าะ”