ปัญญาชนสยาม “กามนิต วาสิฏฐี” และ “วาชศรพ” ต้นตระกูลเนติบริกร

พระยาอนุมานราชธน หรือ “ยง เสฐียรโกเศศ” ปัญญาชนสยาม ผู้มีความรู้อย่างมหัศจรรย์ หลากหลายสาขา ด้วยวุฒิการศึกษามัธยมปลายจากโรงเรียนอัสสัมชัญ

ด้วยปัญญาที่แตกฉานทั้งภาษาไทย นิรุกติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี มานุษยวิทยา รัฐศาสตร์ ศาสนาและประเพณี โดยเฉพาะวิชาวัฒนธรรม เคยเป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8

อีกทั้งสกุล “เสฐียรโกเศศ” นั้นก็ได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

ด้วยตำแหน่งแห่งชีวิตเริ่มที่เสมียน ใน “โรงแรมโอเรียนเต็ล” จำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษจาก “พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าปฤษฎางค์” และมิสเตอร์นอร์แมน แมกซ์เวลล์ (Norman Maxwell)

เป็นข้าราชการในกรมศุลกากรที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้รับพระราชทานยศ “พระยา” ตั้งแต่วัย 36 ปี

ภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตย ที่เริ่มหน่อใหม่ “พระยาอนุมานราชธน” ได้รับการแต่งตั้งเป็น 1 ใน 70 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว ก่อนถูกปลดในปีถัดมา

ด้วยบารมีของปัญญาชนสยามนาม “หลวงวิจิตรวาทการ” ชักชวนให้ “พระยาอนุมานราชธน” ได้กลับเข้ารับราชการ กระทั่งเกษียณอายุราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร และถูกแต่งตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิกในยุค 2490

ในทางการเมือง พระยาอนุมานราชธนทำงานในตำแหน่งใกล้ชิดกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นที่โปรดปราน แถมเป็น “Ghost writer” ในงานเขียนของ “สามัคคีชัย” และ “2475” ซึ่งเป็นนามปากกาของจอมพล ป.

พระยาอนุมานราชธนผลิตวรรณกรรม ผลงานวิชาการ สารคดีและบันเทิง งานแปลและเรียบเรียงที่เลื่องชื่อ 1 ใน 200 เรื่องคือ “กามนิต-วาสิฏฐี” แปลจากเรื่อง The Pilgrim Kamanita by John E. Logie ร่วมกับ “นาคะประทีป หิโตปเทศ”

ในวรรณกรรม “กามนิต-วาสิฏฐี” อันเลื่องชื่อ มีตัวละครหนึ่งที่ “อ.เจตนา นาควัชระ” ตั้งข้อสังเกตว่า “เป็นต้นตระกูลเนติบริกร” ที่สืบทอดมาอยู่ในฉายาของนักกฎหมายในฝั่งฟากรัฐบาล

ตัวละครนั้นชื่อว่า “วาชศรพ”

“ต้นตระกูลเนติบริกรคือวาชศรพ ทุกวันนี้มีอยู่ในสภามหาวิทยาลัยทุกแห่ง ที่ตีความเข้าข้างตัวเอง ตีความตามคนขอมา เหมือนอาจารย์ขององคุลิมาล นามวาชศรพนี้เอง” อ.เจตนาเปรียบเทียบ

ตอกย้ำโดย “อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์” ที่บอกว่า “วาชศรพนั้นมีชื่อไทยคล้ายคนที่เป็น “รัฐมนตรี” !

ตอนหนึ่งของ “กามนิต-วาสิฏฐี” ที่กล่าวถึง “วาชศรพ” ในฐานะเป็นครูขององคุลิมาล

“กามนิตได้เข้าไปคลุกคลีด้วยในฐานะเหยื่อที่ถูกจับเรียกค่าไถ่ แต่วาชศรพต้องชะตากับกามนิต แนะนำความรู้ให้กามนิตจนเป็นมิตรกัน”

“วาชศรพ” มีชาติกำเนิดในฤกษ์ดาวโจรเช่นเดียวกับองคุลิมาล แต่ด้วยเป็นบุตรของพราหมณ์ มีภูมิความรู้ เมื่อได้เป็นมิตรกับองคุลิมาล และได้กลายเป็น “ครู” ของหมู่โจร

หน้าที่ของ “วาชศรพ” ตามปากคำในกามนิต คือ

“…อย่างหนึ่ง เป็นครูผู้ทำพิธีบูชายัญ พวกโจรนับถือมากไม่แพ้ที่นับถือองคุลิมาลผู้เป็นหัวหน้า เพราะถ้าไปปล้นสะดมได้มากก็ถือว่าผู้นี้เป็นผู้ทำการบูชาดี อีกอย่างหนึ่ง เป็นผู้สอนลัทธิศาสนาว่าด้วยวิชาโจร ไม่ใช่จะสอนฝ่ายในวิชาการโจรอย่างเดียว ยังสอนถึงธรรมจรรยาโจรด้วย ตามที่ได้สังเกต รู้สึกประหลาดใจไม่น้อยที่เห็นพวกโจรเหล่านี้มีธรรมะอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว พวกโจรเหล่านี้ก็มีศีลธรรมไม่เลวไปกว่าคนอื่น”

“การแสดงลัทธิต่อพวกโจรชุมนุมกันในที่ว่าง เป็นทุ่งกลางป่านั่งล้อมกันเป็นวงอัฒจันทร์ซ้อนกันหลายแถว ส่วนตัวครูซึ่งชื่อวาชศรพ นั่งขัดสมาธิ แสงเดือนฉายแลเห็นศีรษะโล้น ดูไม่ผิดอะไรกับครูผู้สอนพระเวทให้แก่ศิษย์ในอาศรมกลางป่า แต่ว่าศิษย์ผู้ฟังในที่นี้ล้วนมีหน้าดุร้ายคล้ายสัตว์ป่า มากกว่าเป็นศิษย์ชนิดที่อยู่ในอาศรม”

“ถึงเวลาที่เล่านี้ข้าพเจ้ายังนึกจำได้ชัดเจน ได้ยินเสียงพวกโจรดังหึ่งๆ อยู่ในป่า ดังหึ่งใหญ่แล้วก็เบาลงๆ จนเป็นเสียงคล้ายลมพัด แล้วก็มีเสียงหึ่งใหญ่อีกคล้ายเสียงเสือคำราม แต่ที่ได้ยินชัดเจนเหนือเสียงหึ่งคือเสียงวาชศรพ ซึ่งเป็นเสียงทุ้มดัง อันเป็นเสียงทายาทสืบมาจากพราหมณ์อุท์คาดา ผู้อ่านพระเวทแต่ครั้งดึกดำบรรพ์”

วาระสุดท้ายของ “วาชศรพ โจรผู้ดีมีความรู้สูง” ถูกทางการปราบปรามและตัดหัวเสียบประจาน

กามนิตรำพึงว่า

“ข้าพเจ้าเป็นผู้เห็นเขานำวาชศรพมาเสียบประจานไว้ ณ ที่ตรงนี้ ศีรษะยังเสียบอยู่บนประตูเมือง ตั้งแต่วาชศรพได้รับโทษทรมานด้วยราชทัณฑ์ ก็ได้ชำระล้างบาปหมดจดแล้ว บัดนี้ได้ขึ้นสวรรค์ ไม่มีดวงใจด่างพร้อยอะไรอีก วิญญาณของวาชศรพ ณ บัดนี้ คอยดูแลป้องกันคนเดินทางให้พ้นภัยจากโจรผู้ร้าย ยิ่งกว่านั้น มีผู้คนเขาพูดว่า เมื่อวาชศรพยังประพฤติเป็นโจรอยู่ ก็เป็นผู้ดีมีความรู้สูงและประพฤติตนเป็นคนสำเร็จ เพราะเป็นผู้รอบรู้พระเวทขึ้นเจนใจ อย่างน้อยเขาก็ว่ากันดั่งนี้”

อนึ่ง บทสนทนาอันเข้มข้นนั้นยกมาจากสองปัญญาชนชั้นนำของไทยคือ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และ อ.เจตนา นาควัชระ เกิดขึ้นในวาระเปิดตัวโครงการจัดพิมพ์ “กามนิต-วาสิฏฐี” ของเสฐียรโกเศศและนาคะประทีป ที่โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ข้อเขียนนี้เป็นเพียงเสี้ยวนาทีของบทสนทนาอันล้ำค่าทางปัญญาแห่งยุคสมัย

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา กล่าวถึงวรรณกรรม “กามนิต-วาสิฏฐี” ว่า ” มีปริศนาธรรมอันล้ำลึกซ่อนอยู่มากกว่าที่เราคิด ปีนี้จึงเป็นปีที่ openbooks จะเชิญชวนท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาอ่าน “กามนิต” ใหม่ผ่านการอรรถาธิบายหลากหลายมิติ เพื่อให้ท่านได้ลิ้มรสอันลุ่มลึกของวรรณกรรม ที่เราทุกคนล้วนเคยผ่านตามา แต่ไม่เคยได้สัมผัสมธุรสที่ว่านั้น

เปรียบดั่งผึ้งน้อยที่บินไปมาในเมืองใหญ่ สัมผัสฝุ่นควันมากมาย หากแต่ไม่เคยสัมผัสรสปทุมมาแห่งคงคาสวรรค์ ทิพยรสนั้นมีอยู่แล้วเบื้องหน้า หากเรามิรู้ค่า จึงมิอาจเข้าถึงรสอันเป็นทิพย์นั้น”