ส่องเพื่อนบ้านมองเอเชียแปซิฟิกแบบทันเกม โดย รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย

ส่องเพื่อนบ้านมองเอเชียแปซิฟิกแบบทันเกม โดย รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย ผอ.สถาบันอาณาบริเวณศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ เวียดนามกับกลยุทธ์การค้าระหว่างประเทศที่ชาญฉลาด 

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐสภาสหภาพยุโรป หรือ อียู ลงมติให้การอนุมัติข้อตกลงการค้าเสรีกับเวียดนาม หรือที่เรียกว่า European Union – Vietnam Free Trade Agreement (EVFTA) นับเป็นประเทศที่สองในกลุ่มอาเซียนถัดจากสิงคโปร์ที่มีข้อตกลง FTA กับอียู ข้อตกลงนี้คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งจะมีผลทำให้ 65% ของสินค้าส่งออกจากอียูไปยังเวียดนาม และ 71% ของสินค้าส่งออกจากเวียดนามไปอียูลดภาษีระหว่างกันทันที ส่วนที่เหลือจะทยอยลดภาษีโดยใช้เวลาประมาณ 7 – 10 ปี

ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก จะเห็นได้ว่าเวียดนามมีข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ที่แตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน โดยเวียดนามมีความตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ (U.S.-Vietnam Bilateral Trade Agreement หรือ BTA) ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อียู และอาเซียน ครบทุกประเทศ รวมทั้งมีเขตการค้าเสรีภายใต้อาเซียน เช่น อาเซียน-จีน และอาเซียน-อินเดีย ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศที่ครบด้าน ครอบคลุมทุกตลาดที่มีความสำคัญต่อเวียดนามทั่วโลก การเปิดเสรีครั้งนี้จะทำให้เวียดนามสามารถกระจายการส่งออกของตนเองได้มากขึ้น และทำให้เวียดนามไม่ต้องพึ่งประเทศใดประเทศหนึ่งหรือกลุ่มประเทศใดเพียงประเทศเดียว ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ

นอกจากนี้ เวียดนามซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นคู่แข่งสำคัญของประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน ดังนั้น การมี FTA ก่อนกับอียูก็จะทำให้เวียดนามได้เปรียบประเทศคู่แข่งอย่างไทยมาก เพราะสินค้าที่เวียดนามส่งออกไปอียูก็จะมีราคาต่ำกว่าประเทศอื่น เนื่องจากเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า ขณะเดียวกันในตลาดเวียดนามเองก็จะมีสินค้าจากอียูที่เสียภาษีนำเข้าลดลง ซึ่งทำให้ผู้บริโภคในเวียดนามได้รับประโยชน์จากการมีสินค้าให้เลือกหลากหลายขึ้น และมีสินค้านำเข้าจากอียูที่ถูกลง และถ้ามองให้ลึกลงไปก็จะเห็นได้ว่า อันนี้ก็เป็นอีกโอกาสหนึ่งในการดึงอียูเข้ามาลงทุนในเวียดนามเพิ่มเติม เพราะอียูสามารถตั้งโรงงานผลิตสินค้าต่างๆ ในเวียดนามได้โดยนำเข้าวัตถุดิบบางอย่างจากอียูเข้ามาโดยเสียภาษีต่ำ และขณะเดียวกันก็สามารถส่งออกไปยังประเทศต่างๆ หรือกลุ่มประเทศที่เวียดนามมีเขตการค้าเสรีด้วย ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่เวียดนามก็จะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า FTA เวียดนาม-อียู นี้ ถือเป็นย่างก้าวสำคัญที่ทำให้เวียดนามเดินล้ำหน้าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนออกไปอีก

จะเห็นได้ว่า การที่เวียดนามมียุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศเช่นนี้ คือมี FTA ที่ครอบคลุมตลาดใหญ่ๆ ในทุกภูมิภาค ทั้งตลาดสหรัฐฯ อียู อินเดีย ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ทำให้เวียดนามสามารถปรับตัวภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกได้ดี เวียดนามจึงมีทางออกหรือมีตลาดส่งออกรองรับที่หลากหลาย จึงทำให้เวียดนามเป็นประเทศที่ยังสามารถรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงได้ โดยขยายตัวถึง 6.5% ในปี 2562 รวมทั้งการส่งออกที่ยังคงขยายตัวถึง 8.1% ภายใต้สถานการณ์เศรฐกิจของโลกที่ผันผวน และมีการกีดกันทางการค้า หรือ Protectionism มากขึ้นเรื่อยๆ