สมชัย ศรีสุทธิยากร | ประเด็นแห่งการแก้รัฐธรรมนูญ (3)

สมชัย ศรีสุทธิยากร

แก้อะไร ดูเหมือนจะเป็นคำถามที่ทุกคนอยากรู้

ฝ่ายหนึ่งบอกว่า ต้องแก้วิธีการการแก้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อให้แก้ยากแก้เย็น (มาตรา 256) ดังนั้น ต้องหาทางถอดสลักกุญแจที่ใส่ไว้หลายชั้นเกินความจำเป็นออกไป เพื่อให้วิธีการแก้รัฐธรรมนูญมีความอ่อนตัว ต่อไปจะได้สามารถแก้ไขได้โดยง่าย

ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็จะบอกว่า หากไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาในด้านเนื้อหาอย่างไระไปแก้วิธีการแก้ทำไม

ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นประเด็นถกเถียงกันว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาจริงหรือ เป็นปัญหาที่ถึงเวลาต้องแก้ไขแล้วหรือยัง หรือเพียงแค่การตั้งข้อรังเกียจว่า มีที่มาจากเผด็จการ ไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมในการร่างของประชาชนอย่างแท้จริง จึงเป็นเรื่องที่สมควรปฏิเสธและสมควรมีการแก้ไขใหม่ถึงขนาดต้องยกร่างใหม่กันทั้งฉบับ

ดังนั้น หากจะลองรวบรวมถึงสิ่งที่เป็นปัญหาในเชิงประจักษ์ เพื่อชี้ให้เห็นประเด็นที่สมควรแก้ไขในรัฐธรรมนูญ น่าจะมีอยู่หลายเรื่องหลายเรื่องหลายประเด็นที่นำไปสู่เหตุผลของการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งสามารถนำเสนอได้ดังต่อไปนี้

เรื่องที่ 1 บัตรใบเดียว วุ่นไม่รู้จบ

ประเด็นคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ ด้วยอิทธิฤทธิ์ของการออกแบบเลือกตั้งให้มีบัตรเลือกตั้งใบเดียวภายใต้ชื่อ “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” ที่ไม่ยอมให้คะแนนตกน้ำแม้แต่คะแนนเดียว ทำให้ต้องมีระบบในการคำนวณ ส.ส.ที่พึงจะมี และนำไปหักกลบลบจำนวนกับ ส.ส.ที่ได้รับเลือกจากเขตเลือกตั้ง หากจำนวนที่พึงมีมากกว่าจำนวนที่ได้จากการเลือกตั้ง ก็ให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นเท่ากับจำนวนดังกล่าว แต่หากจำนวนที่พึงมีน้อยกว่าจำนวน ส.ส.เขต ก็ไม่ได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่ม

อิทธิฤทธิ์นี้ทำให้พรรคเพื่อไทยกลายเป็นพรรคที่มี ส.ส.เขตมากที่สุดถึง 136 คน แต่ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว และทำให้เจตนาในการเลือกตั้งผิดเพี้ยน

แทนที่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งจะให้ความสำคัญแก่ผู้แทนในเขต กลับเป็นการเลือกพรรคที่ตนเองคิดว่าจะเข้าไปแก้ปัญหาบ้านเมือง หรือสนใจเพียงแค่ว่าเลือกพรรคนี้แล้วใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี

เป็นผลให้ผู้สมัครหน้าใหม่ในหลายพรรค แม้ไม่หาเสียงแต่ก็ได้คะแนนเป็นคะแนนสะสมของพรรคไปไม่ใช่น้อย

เรื่องที่ 2 ส.ส.ปัดเศษ เต็มสภา

วิธีการคำนวณแบบปัดเศษทศนิยมสี่หลัก ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และไปขยายวิธีการดำเนินการในมาตรา 128 ของ พ.ร.ป.ส.ส. นำไปสู่การทำให้พรรคการเมืองที่มีคะแนนรวมทั้งประเทศต่ำกว่าค่าเฉลี่ยคะแนนของพรรคการเมืองต่อ ส.ส. 1 คน (71,168 คะแนน) สามารถมี ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคเข้ามานั่งในสภาได้ถึง 11 พรรค

กลายเป็นประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์ถึงคำว่า “ส.ส.ปัดเศษ” เป็นประเด็นถกเถียงถึงความเหมาะสม และยังจะเป็นเหตุให้การเลือกตั้งในวันข้างหน้าจะมีพรรคการเมืองขนาดเล็กเกิดขึ้นมากมาย เพียงหวังแค่คะแนนหลักร้อยในแต่ละเขตเมื่อรวมทุกเขตจะกลายเป็นหลักหมื่น หากถึงสามหมื่นสี่หมื่นคะแนนก็มีสิทธิหวังผู้แทนฯ ปัดเศษกับเขาได้

เป็นการออกแบบที่มิได้ส่งเสริมให้พรรคการเมืองมีความยั่งยืนเข้มแข็ง

นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม

เรื่องที่ 3 คำนวณบัญชีรายชื่อใหม่ใน 1 ปี

ดีแล้วหรือ

การให้มีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ภายใน 1 ปี หลังจากวันเลือกตั้งทั่วไป ด้วยเหตุของการทุจริตการเลือกตั้ง ซึ่งเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 94 และ พ.ร.ป.ส.ส. มาตรา 131 ที่ขยายความไปถึงการทุจริตของผู้ไม่ได้รับเลือกตั้งด้วย ทำให้ผู้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหลายพรรคมีสภาพเดินเข้าเดินออกอยู่หลายครั้ง

เช่น หลังเลือกตั้งใหม่ เขต 8 จ.เชียงใหม่ ผู้เป็น ส.ส.ของไทรักธรรมต้องพ้นจากตำแหน่งหลังจากการเป็น ส.ส.ได้แค่ 3 วัน แต่พอหลังจากนั้นอีก 8 เดือน พอศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งต่อผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เขต 2 จันทบุรี เนื่องจากทุจริตเลือกตั้ง พรรคไทรักธรรมก็ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อกลับมา ได้เดินกลับเข้าสภาแบบงงๆ อีกครั้ง

ปรากฏการณ์ความวุ่นวายทำนองนี้ แม้จะมีไม่กี่กรณี แต่ต้องคิดดูว่าหากมีกรณีที่ กกต.ดำเนินการเรื่องการทุจริตการเลือกตั้งในเขตต่างๆ อย่างจริงจังเป็นสิบเป็นร้อยกรณี ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจะมีมากเพียงไร

ทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งรวมทั้ง กกต.เอง ก็ยังต้องภาวนาให้ขอให้ผ่าน 1 ปีไปโดยเร็วที่สุด

ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ ที่ถูกขับออกจากพรรคอนาคตใหม่

เรื่องที่ 4 โหวตสวนมติพรรคได้ ไม่กล้าขับ

มาตรา 101(9) ของรัฐธรรมนูญ ระบุเหตุของการสิ้นสุดสมาชิกภาพของ ส.ส. ว่า หากที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารและ ส.ส.ของพรรคมีมติไม่น้อยกว่าสามในสี่ สามารถขับให้พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคได้ ซึ่งเป็นมาตรการอย่างหนึ่งในการกำกับให้ผู้เป็น ส.ส.ต้องทำตามมติพรรคในเรื่องต่างๆ เช่น การลงมติในเรื่องสำคัญในสภา

แต่มาตรา 114 กลับระบุให้การทำหน้าที่ของ ส.ส.และ ส.ว.ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายหรือการครอบงำใดๆ

และในมาตรา 124 ก็ยังระบุว่า การออกเสียงลงคะแนนย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด เรียกว่า มติพรรคไม่เกี่ยว

สิ่งที่ตามมาจากการออกแบบดังกล่าว จึงเป็นเรื่องปรากฏการณ์ “งูเห่า” เต็มสภา เมื่อมีการลงมติสำคัญ เช่น การผ่านกฎหมายที่รัฐบาลแพ้ไม่ได้ จะมี ส.ส.ในพรรคฝ่ายค้านลงมติแตกต่างไปจากมติพรรค จะด้วยผลประโยชน์ตนหรือผลประโยชน์ชาตินั้นไม่อาจทราบได้

พรรคต้นสังกัดเองก็ไม่กล้าใช้กลไกตามมาตรา 101(9) ขับออกจากพรรค เนื่องจากในมาตราเดียวกันนั้น เขาสามารถหาพรรคอยู่ใหม่ได้ภายในสามสิบวันโดยไม่ขาดสมาชิกภาพ

เข้าทำนองเตะหมูเข้าปากหมา สมประโยชน์ผู้ตั้งใจโหวตสวนมติพรรค

15 รัฐมนตรี ลาออก เตรียมไปเป็นส.ว.ต่อ ร่วมถ่ายรูปกับ บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม

เรื่องที่ 5 ส.ว.มีไว้เพื่ออะไร

การออกแบบรัฐสภาให้มี ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง และมี ส.ว.ที่มีจากการคัดเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพต่างๆ เป็นไปเพื่อให้วุฒิสภาเป็นสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วยบุคคลที่มีความหลากหลายในวิชาชีพเพื่อให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารงานของรัฐบาล และคอยกลั่นกรองการออกกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรโดยอาศัยความรู้และประสบการณ์ที่มีของสมาชิกวุฒิสภา

แต่บทเฉพาะกาล มาตรา 269 ของรัฐธรรมนูญ กลับระบุให้ ส.ว.มี 250 คน มาจากการคัดเลือกของ คสช.เอง 194 คน มาโดยตำแหน่งที่เป็นข้าราชการฝ่ายความมั่นคง 6 คน และ จากการคัดเลือกของ คสช.ที่ผ่านการดำเนินการตามขั้นตอนของ กกต.อีก 50 คน วุฒิสภาจึงขาดความหลากหลายและกลายเป็นสภาที่ค้ำจุนอำนาจของรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า คสช.เก่าเท่านั้น

จึงไม่แปลกที่เห็นบทบาทในการให้สัมภาษณ์ของ ส.ว.บางท่านเป็นไปในลักษณะปกป้องนายกรัฐมนตรีที่เป็นอดีตหัวหน้า คสช.อยู่ตลอดเวลา เพราะเขาได้รับการแต่งตั้งจาก คสช.มากับมือ

และไม่แปลกที่จะเห็นการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นการลงมติเสียงเอกฉันท์ในวุฒิสภาที่จะเลือก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะรัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ได้ถูกออกแบบมาว่า ในห้าปีแรกของการมีรัฐสภา การให้ความเห็นชอบใครเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับเสียงข้างมากของสองสภา

ดังนั้น หากคุณไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ไม่ว่าพรรคคุณจะได้รับเลือกตั้ง ส.ส.มากที่สุดหรือเท่าไรก็ตาม ก็อย่าหวังเลยว่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

เรื่องราวที่เป็นปัญหาในรัฐธรรมนูญยังไม่จบ ในตอนหน้าจะได้นำเสนอต่ออีก 5 เรื่องครับ